Advance search

บ้านทุ่งคาพะเนียง, ซอยพะเนียง

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกเป็นชุมชนชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก สภาพแวดล้อมชุมชนในปัจจุบันมีขุมเหมือง แสดงถึงร่องรอยความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมแร่ดีบุก 

หมู่ที่ 5
พะเนียงแตก
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
20 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
14 ก.พ. 2024
บ้านพะเนียงแตก
บ้านทุ่งคาพะเนียง, ซอยพะเนียง

ในอดีตบริเวณชุมชนเป็นทุ่งหญ้าคาและป่าพรุมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น มีต้นเนียงกระจายไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านได้เข้ามาอาศัย แล้วตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ว่า "ทุ่งคาเนียง" ต่อมาชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีผู้นำหมู่บ้านทุ่งคาเนียงผู้เป็นที่เคารพของชาวบ้านในละแวกนี้ ได้ฝันว่า มียักษ์ 3 ตน กลิ้งโอ่งลงมาในหมู่บ้าน เพื่อให้ทับชาวบ้านตาย แต่โชคดีที่โอ่งกลิ้งลงมาชนกับต้นเนียงแตกเสียก่อน ชาวบ้านทุกคนจึงรอดชีวิต หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก" ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน


บ้านทุ่งคาพะเนียงแตกเป็นชุมชนชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก สภาพแวดล้อมชุมชนในปัจจุบันมีขุมเหมือง แสดงถึงร่องรอยความรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรมแร่ดีบุก 

พะเนียงแตก
หมู่ที่ 5
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.91629980717642
98.37190110950138
เทศบาลตำบลรัษฎา

ในอดีตชุมชนบริเวณนี้ เป็นทุ่งหญ้าคาและป่าพรุมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นโดยเฉพาะต้นเนียง ต่อมาชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยแล้วตั้งชื่อตามสภาพพื้นว่า "ทุ่งคาเนียง" ชาวบ้านเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีผู้นำหมู่บ้านทุ่งคาเนียงเป็นที่เคารพได้ฝันว่า มียักษ์ 3 ตน กลิ้งโอ่งลงมาในหมู่บ้าน เพื่อให้ทับชาวบ้านตาย แต่โชคดีที่โองกลิ้งลงมาชนกับต้นเนียงแตกเสียก่อน ชาวบ้านทุกคนจึงรอดชีวิต ผู้นำหมู่บ้านจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก" และได้เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน "หมู่บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก" มีการตั้งถิ่นฐานประมาณ 100 ปีกว่า คนกลุ่มแรกที่มาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเป็นคนจีน ชื่อ นายเหล่าหลู่น แช่ตัน ต่อมามีหลายชุมชน ประกอบด้วย 

บริเวณชุมชนสามแยกศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ มี สภาพเป็นชุมชนเมือง ชุมชนบ้านบน (แหล่งที่ตั้งสำนักงานทำเหมืองสูบ) ชุมชนบ้านใต้ (ชุมชนชาวจีน) และ ชุมชนบ้านตีน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม หมู่บ้านศรีสุชาติ 1 หมู่บ้านศรีสุชาติ 5 หมูบ้าน เหมแก้ว หมู่บ้านอิราวดีบายพาส หมู่บ้านร๊อกกาเด้นท์ หมู่บ้านท๊อปแลนด์ หมู่บ้านใบไม้ หมู่บ้านสามกองทาวน์ จากที่กล่าวมาข้างต้นคือชุมชนเกิดใหม่ สร้างบ้านจัดสรร

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองภูเก็ต ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ลักษณะภูมิประเทศ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสลับที่ราบ มีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 1 ของตำบลรัษฎา มีถนนสายหลัก 2 สาย ได้แก่ ถนนสายสามกอง – สะปำ (ถนนประชาอุทิศและถนนเฉลิมพระเกียรติ ) ทางหลวง แผ่นดิน หมายเลข 402 สายเลี่ยงเมือง บริเวณพื้นที่มีขุมเหมืองที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุก จึงกลายเป็นขุมน้ำที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ ปัจจุบันเทศบาลนครภูเก็ตยังได้นำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ ให้บริการประชาชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตอีกด้วย

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีการขยายตัวของชุมชน การคมนาคม สะดวก สามารถเดินทางติดต่อกับชุมชนหลายชุมชน มีหน่วยงานราชการ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต โรงเรียนบ้านทุ่งคา บ้านจัดสรร ห้องแถว บ้านเช่า โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ ประชากรมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น อาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการ รับเหมาก่อสร้าง เกษตรกร การท่องเที่ยวเป็นต้น

อาณาเขตติดต่อ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตเทศบาลนครภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ ห่างจากอำเภอเมืองภูเก็ต ประมาณ 5 กิโลเมตร 

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีพื้นที่ติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดภูเก็ต มีถนนสายเลี่ยงเมืองหรือถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นถนนสายหลักในการคมนาคม เป็นย่านเศรษฐกิจของตำบลรัษฏา จากอดีตมีสภาพเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกที่มีชื่อเสียง แต่ในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างบ้านจัดสรร อพาร์ทเม้นท์ ห้องเช่า โรงแรม ห้างสรรพสินค้า กลายเป็นสังคมเมือง มีบางส่วนเพียงเล็กน้อยยังคงป่าพรุ และขุมเหมืองไว้เป็นร่องรอยให้คงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุมชน 

ในอดีตชุมชนบ้านทุ่งคาพะเนียงแตก เป็นชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาวจีนที่ประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก ในยุคแรกเปิดพื้นที่ในการทำเหมืองค่อนข้างกว้าง เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งแร่ดีบุกจำนวนมาก ชาวจีนที่อพยพเข้ามาพบแหล่งแร่ดีบุกจึงขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุก ด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ทำให้กลุ่มชาวจีนได้บุกเบิกพื้นที่ทำเหมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีขุมน้ำหลงเหลือร่องรอยการทำเหมืองและยังน้ำในขุมไปใช้ประโยชน์ถึงปัจจุบันนี้

คนกลุ่มแรกที่มาอยู่อาศัยเป็นชาวจีน ชื่อ นายเหล่าหลุ่น แช่ตัน และผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองแร่ก็สร้างบ้านอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานเพียงไม่กี่ครัวเรือน ด้วยสภาพพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเหมาะแก่การสร้างบ้านอยู่อาศัย ต่อมามีการสร้างบ้านจัดสรรมากขึ้นประชากรเพิ่มขึ้นจึงถูกพัฒนาเป็นหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน เช่น ชุมชนสามแยกศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ มีสภาพเป็นชุมชนเมืองชุมชนบ้านบน (แหล่งที่ตั้งสำนักงานทำเหมืองสูบโบราณ) ชุมชนบ้านใต้ (ชุมชนชาวจีน) และชุมชนบ้านตีน เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม 

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 10,509 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 4,876 คน ประชากรหญิง 5,633 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน รองลงมาเป็นคนไทย ประชากรอาศัยเป็นครอบครัวขยายและชุมชนภายนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพ มีทั้งห้องเข่า ซื้อบ้านจัดสรร ความสัมพันธ์ในชุมชนค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามสภาพเป็นสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่ ส่วนชุมชนเดิม ๆ ก็มีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่บ้าง

บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก จากการสำรวจข้อมูลพบว่า เป็นแหล่งสำคัญในการทำแร่ดีบุกมาก่อนการทำเหมืองแร่ดีบุกและเมื่อสงครามเลิกบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ตอบแทน ขุนเลิศโภคารักษ์ (ตันเค่หลิม) ในที่ดินของเหมืองที่เรือขุดไม่สามารถเข้าถึงได้จึงทำให้สามารถสร้างฐานะที่มั่นคงได้ในระยะเวลาเพียง 10 ปี (พ.ศ.2493-2502) (วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต 2542, หน้า 365) ต่อมาประชากรในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพจากการทำเหมืองแร่มาประกอบอาชีพ รับจ้าง รับราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับเหมา ท่องเที่ยวและอื่น ๆ ปัจจุบันในชุมชนมีโรงงานผลิตเส้นหมี่หุ้น เส้นขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว ส่งออกสู่ตลาดภายนอกและตลาดในชุมชน เป็นต้น

โครงสร้างองค์กรชุมชน

การบริหารจัดการหมู่บ้านโดยมีการเลือกตั้งผู้นำชุมชนมีคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

  • นายพิสุทธิ์ ตันมณี ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5
  • นางสาวขนบพร ทิพย์กำเนิด ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายสมโภชน์ จงเจียมใจ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายพิทยา ขวัญทองยิ้ม ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายเรืองฤทธิ์ นาวารักษ์ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายบุญช่วย เกิดทรัพย์ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายภีระพงศ์ พิสิทธิ์คุณานนท์ ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน
  • นายธนบดี วงศ์ชโรธร ตำแหน่ง คณะกรรมการหมู่บ้าน

 

กลุ่มความเชื่อ/ความศรัทธา 

ศาลเจ้ายกเค้เก้งศาสนสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีองค์พระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้ง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ให้ความเคารพนับถือในองค์พระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้ง 

จากคำบอกเล่า นายชาญณรงค์ สุขสมบรูณ์ ผู้เลื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระจ้อสู่ก้ง เล่าว่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีศาลเจ้าตั้งอยู่บนเนินดิน เกิดจากขุดหาแร่ คัดแยกทรายออกจึงถมสูงเป็นเนินดิน ชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ได้สร้างศาลเพียงตา ประดิษฐานรูปเคารพขององค์พระจ้อสู่ก้ง และเทพอื่น ๆ ไว้ร่วมด้วย ต่อมามีการยกเลิกการทำเหมืองแร่เนื่องจาก หัวหน้างานเหมืองแห่งนี้ได้ทำการฉีดล้างคันดิน บริเวณศาลเพียงตาพบสายแร่เป็นจำนวนมาก ทำให้ศาลเพียงตาได้พังลง จึงเกิดเหตุการณ์ มหัศจรรย์ขึ้นคือ มีอีกาดำฝูงใหญ่ จำนวนกว่าร้อยตัว รุมจิกหัวหน้างานคนดังกล่าว ทำให้ยกเลิกการทำเหมืองไปในที่สุด ต่อมามีผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระจ้อสู่ก้งคือนายตันฮ่ายหลาม ได้มอบที่ดินและอาคารไม้สองชั้นให้แก่ศาลเจ้าศาลเจ้ายกเค้เก้งประดิษฐานพระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้ง ในอดีตบริเวณศาลเจ้ามีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้ศาลเจ้าโค่นล้มลงบนหลังคาอาคารศาลเจ้า จากนั้น นายวินัย แซ่ซ้อ (จิ้นเบ๋ง) ได้บูรณะอาคารศาลเจ้าขึ้นใหม่พร้อมสร้างรูปเคารพพระจ้อสู่ก้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ผู้มีจิตเลื่อมใสได้ต่อเติมและสร้างอาคารศาลเจ้าขึ้นใหม่อีกครั้งทดแทนอาคารหลังเดิมที่ทรุดโทรม ในปัจจุบัน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักของชาวไทยเชื้อสายจีนจนถึงปัจจุบัน

วัดรัษฎาราม, วัดสามกอง เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนในชุมชนหมู่ที่ 5 บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก

ประเพณีรดน้ำผู้สูงอายุ จะจัดขึ้นในวันสงกรานต์เช้าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ประเพณีถือศีลกินผัก ระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำถึง 9 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติจีน

ประเพณีลอยกระทง วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จัดขึ้นแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปีสวดกลางบ้าน (คืนวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี) ตรุษจีน (เดือน 1 ขึ้น 1 ค่ำ) ตามปฏิทินจันทรคติจีน

วันเทศกาลปีใหม่ ของชาวไทยจัดขึ้นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี 

วันเช็งเม้งหรือวันไหว้บรรพบุรุษ ชาวไทยเชื้อสายจีน จัดขึ้นเดือน 5 ของทุกปี เพื่อแสดงถึงความกตัญญูตามความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน

1.นายชาญณรงค์ สุขสมบูรณ์ 

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านพะเนียงแตก

เป็นผู้สนใจในด้านประวัติความเป็นมาประเพณีถือศีลกินผัก อนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ตามแบบโบราณ ทั้งยังร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของศาลเจ้ายกเค้เก้ง สละเวลา ทุนทรัพย์ อุทิศตนเพื่อสาธารณะกุศล ศึกษาประวัติความเป็นมาของเทพเจ้าทุกองค์ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมและครอบครัว ปัจจุบันเป็นประธานศาลเจ้ายกเค้เก้งได้สนับสนุนประเพณีถือศีลกินผักอนุรักษ์และสืบทอดให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง 

2.นายประสงค์ ชลศิริ อายุ 48 ปี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2518

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านพะเนียงแตก

นายประสงค์ ชลศิริ เป็นผู้สนใจในด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องประเพณีถือศีลกินผัก ทั้งยังร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของศาลเจ้ายกเค้เก้ง และเป็นผู้เผยแพร่ประเพณีถือศีลกินผัก อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีกินผักจากบิดา ซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลเจ้ายกเค้เก้ง

ทุนทางวัฒนธรรม 

ศาลเจ้ายกเค้เก้งซอยพะเนียง เป็นศาสนสถานประดิษฐานประติมากรรมองค์พระ(กิ้มซิ้น)ใช้ประกอบพิธีกรรมประจำปีตามประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน รูปเคารพของพระเชงจุ้ยจ้อซูก้งที่มีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนที่อื่น ๆ ในภูเก็ต คือ รูปเคารพพระเชงจุ้ยจ้อสู่ก้งขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากขี้แร่ผสมมวลสารทั้งองค์ เป็นที่สักการะของคนในชุมชนมาช้านาน

วัดรัษฎาราม วัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สร้างเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2540 เป็นสถานที่สำหรับพุทธศาสนิกชนในชุมชนเข้าไปทำบุญและปฏิบัติธรรม ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยปัจจุบันมี พระครูรัษฎากิจจาภิวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

วัดสามกอง หรือ วัดสามัคคีสามกอง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดย พระมงคลวิสุทธิ์ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ได้ธุดงค์ไปที่บ้านสามกอง และท่านเห็นว่าชุมชนแห่งนี้ ควรจะมีการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ประกอบศาสนพิธี บรรดาสาธุชน ลูกศิษย์และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่างก็ร่วมกันสนับสนุนการก่อสร้างวัดแล้วเสร็จ เป็นศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชน ในชุมชนเข้าไปทำบุญและปฏิบัติธรรม ในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ

อาหาร ลูกชิ้นปลาภูเก็ต (อ๋วน) เก็จมุกดา ส่งจำหน่ายทั่วประเทศ มีประวัติความเป็นมาคือ เป็นการนำภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำลูกชิ้นปลา ซึ่งทำมาจากปลากล้วยญี่ปุ่นแท้ 100% ไม่ผสมแป้ง และวัตถุกันเสีย มีโอเมก้า-3 ลูกชิ้นผลิตด้วยกรรมวิธีที่สดสะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภคผ่านการรับรองจาก อย. และฮาลาล นอกจากนั้นยังได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว อีกด้วย

ใช้ภาษาไทยถิ่นภาคใต้และภาษาจีนฮกเกี้ยนในการสื่อสาร


ความเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว ประชากรในชุมชนมาจากหลายพื้นที่มาอยู่อาศัยเพื่อการประกอบอาชีพ จากชุมชนดั้งเดิมเป็นกลุ่มคนจีน ทำเหมืองแร่ในอดีต เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองก็สร้างบ้านอยู่อาศัยเรื่อยมา แต่ปัจจุบันมีบ้านจัดสรร ห้องเช่า โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ขยายออกอย่างรวดเร็ว 

ประชากรต่างวัยมากขึ้นผู้สูงอายุอาจจะถูกทอดทิ้งมากขึ้น เป็นปัญหาสังคมในอนาคตเพราะวัยหนุ่มสาวเป็นช่วงวัยทำงาน อีกประเด็นประชากรแฝงอาจจะมาจากการเช่าห้องพักเป็นไปเพื่อการศึกษาเนื่องจากเป็นสถานที่ใกล้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง และอาจมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยเพื่อการประกอบอาชีพเช่นกัน

ศาลเจ้าซอยจ้อสู่ก้งซอยพะเนียง (ยกเค้เก้ง)

ศาลเจ้ายกเค้เก้งจ้อสู่ก้งซอยพะเนียง เป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมถือศีลกินผักหรือเจี๊ยะฉ่าย และเป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อ ความศรัทธาของคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

โรงเรียนบ้านทุ่งคา 

ได้ขยายการศึกษาภาคบังคับครบทุกตำบลตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เด็ก ๆ ในละแวกนี้ไปเรียนที่โรงเรียนบ้านกู้กู ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 34 กิโลเมตร ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางจึงต้องอาศัยโรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง จนต่อมาคุณศิลป์ บุณยขจร เจ้าของเหมืองแร่และเป็นคหบดีได้บริจาคที่ดินจำนวน 12 ไร่ 39 ตารางวา คิดเป็นมูลค่า 600,000 บาท เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี โดยมีนายชิต นุ้ยภักดี นายอำเภอเมืองภูเก็ต และนายจำลอง สวนคุณานนท์ ศึกษาธิการอำเภอเมืองภูเก็ต ให้ความร่วมมือและประสานงานอย่างดี 

  • ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2502 ได้ลงมือวางผังขุดหลุมก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวรแบบ 005 จำนวน 4 ห้องเรียน กว้าง 7 เมตร ยาว 36 เมตร ต่อมาได้ต่อเติมอาคารเรียนยาวอีก 6 เมตร ตลอดจนก่อสร้างบ่อน้ำ หอถังเก็บน้ำ เครื่องสูบน้ำ ส้วม และประปาของโรงเรียน โรงเรียนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยงบประมาณที่ได้งบจัดสรรและการช่วยเหลือจากชุมชน
  • ในปีการศึกษา 2521 โรงเรียนได้ขยายการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อมาในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนได้เปิดขยายโอกาสชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นปีแรก และในปีการศึกษา 2548 ได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปัจจุบัน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เทศบาลตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ต. (2562). แผนพัฒนาหมู่บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก หมู่ที่ 5 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประจำปี พ.ศ. 2563. https://rasada.go.th/ 

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2544). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.