Advance search

บ้านโนนคูณ

บ้านโคกกลาง

บ้านโนนคูณ มีจุดเด่นในหมู่บ้านคือโรงน้ำดื่ม เนื่องจากในอดีตหมู่บ้านโนนคูณไม่มีแหล่งดื่มที่สะอาดและประหยัดต่อสมาชิกในชุมชน สมาชิกในชุมชนต้องเข้าไปซื้อน้ำในตลาด หลังจากที่ชาวบ้านได้มองเห็นปัญหาจึงเสนอเรื่องให้ทางเทศบาล จึงเกิดโรงน้ำดื่มประจำหมู่บ้านขึ้นนับตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบันประมาณ 30 ปี

หมู่ที่ 11
บ้านโนนคูณ
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
ศิราณี ศรีหาภาค
4 เม.ย. 2023
วีรภัทร ศรีทำบุญ
4 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
19 เม.ย. 2023
บ้านโนนคูณ
บ้านโคกกลาง

ชื่อหมู่บ้านมาจากลำห้วยวังคูณ จึงตั้งชื่อว่า "บ้านโนนคูณ"


ชุมชนชนบท

บ้านโนนคูณ มีจุดเด่นในหมู่บ้านคือโรงน้ำดื่ม เนื่องจากในอดีตหมู่บ้านโนนคูณไม่มีแหล่งดื่มที่สะอาดและประหยัดต่อสมาชิกในชุมชน สมาชิกในชุมชนต้องเข้าไปซื้อน้ำในตลาด หลังจากที่ชาวบ้านได้มองเห็นปัญหาจึงเสนอเรื่องให้ทางเทศบาล จึงเกิดโรงน้ำดื่มประจำหมู่บ้านขึ้นนับตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบันประมาณ 30 ปี

บ้านโนนคูณ
หมู่ที่ 11
โนนสะอาด
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
วิสาหกิจชุมชนบ้านโนนคูณ โทร. 08-1047-9055, เทศบาลโนนสะอาด โทร. 0-4310-5041
16.51679
102.3195
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด

บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 11 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ชื่อหมู่บ้านมาจากลำห้วยวังคูณ จึงตั้งชื่อว่าบ้านโนนคูณ เริ่มแรกมี 65 หลังคาเรือน ปัจจุบันมี 98 หลังคาเรือน บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 11 เดิมเป็นบ้านโคกกลาง หมู่ที่ 5 เดิมนายพรยุ่นดร เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันได้มองเห็นปัญหาของบ้านโคกกลาง เป็นหมู่บ้านใหญ่ ดูแลไม่ทั่วถึง ปี พ.ศ. 2525 จึงขอแยกทางใต้ของหมู่บ้านเป็นบ้านโนนคูณ หมู่ที่ 11 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่หมู่บ้าน 70 ไร่ และมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับบ้านหนองลมพุก หมู่ที่ 6 ทางทิศตะวันออกติดกับบ้านดอนหัน หมู่ที่ 9 ทางทิศใต้ติดกับลำห้วยวังคูณ ทางทิศตะวันตกติดกับบ้านโคกกลาง 

ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนาข้าว ต่อมาในปี 2538 ได้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง มีการให้เงินทุนในการปลูกอ้อย และมีการรับซื้อเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านหันมาทำไร่อ้อย โดยปัจจุบัน มีชาวบ้านทำนาข้าว คิดเป็น 30% และทำไร่อ้อย คิดเป็น 70% 

ลำดับผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของหมู่บ้านโนนคูณหมู่ 11

  • ปี พ.ศ. 2525 - 2528 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 มีนายแหล้ ทองโม้ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีนายหนูเคน ใจดี และนายวีระเดช มูลวาจ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และนายประสิทธิ ขอมภูเขียวเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นายเลื้อน จันทร์ชื้น เป็นอสม.

  • ปี พ.ศ. 2528 - 2543 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายหนูเคน ใจดี
  • ปี พ.ศ. 2543 - 2557 ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 คือ นายอุดร วงษ์ษาหาญ 
  • ปี พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 คือ นายสัญญา ใจกล้า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คือ นายศราวุธ เนาหนองไผ่ และนายอานนท์ ดอนเสี้ยว ประธาน อสม. คือ นายสุรพล ดอนเสี้ยว และผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายปัญญา อุ่นแก้ว

หมู่บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 11 ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 70 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร ทำนาข้าว คิดเป็น 30% และทำไร่อ้อย คิดเป็น 70%

อาณาเขตหมู่บ้าน

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านหนองลุมพุก ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนมะลิวัลย์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 9 บ้านดอนหัน ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านโคกกลาง ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

สภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านเป็นที่ราบซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร เช่น ทำไร่อ้อย ทำนาข้าว มีดินร่วนและดินทราย มีลำห้วยวังคูณเป็นลำห้วยเก็บน้ำภายในหมู่บ้านใช้ในการเกษตร สภาพทั่วไปของพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์

ลักษณะภูมิอากาศ แบบร้อนชื้นมี 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม และอากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี ช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน อาจทำให้ไม่สะดวกในการคมนาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วง เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี แต่ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ

สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชน 

ลักษณะบ้านเรือนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ ส่วนใหญ่มีรั้วแบ่งอาณาเขตของบ้านชัดเจน มีทั้งบ้านแบบเป็นบ้านไม้ที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง บ้านที่ชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน บ้านปูนชั้นเดียวและสองชั้น การระบายอากาศในตัวบ้านดี สิ่งแวดล้อมรอบบ้านมีการปลูกต้นไม้ใหญ่และมีการปลูกผักสวนครัวไว้เกือบทุกครัวเรือน ในครัวเรือนค่อนข้างสะอาดและขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ นิยมใช้ส้วมนั่งยอง และบางบ้านใช้ชักโครก ชุมชนสะอาดน่าอยู่ บริเวณหรือสถานที่ที่เป็นส่วนรวมสะอาด จากการร่วมมือกันดูแลของชาวบ้าน มีถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตลาดผ่านทุกซอยในหมู่บ้านและผ่านหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งมีการวางท่อระบายน้ำถนนตัดผ่านทุกสายเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังภายในหมู่บ้าน 

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเขตของชุมชน มีป่าชุมชน เป็นป่าไม้ที่มีในชุมชนเป็นไม้นานาชนิด มีลำห้วยวังคูณเป็นลำห้วยเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร เป็นลำห้วยจึงอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

สาธารณูปโภคในชุมชน น้ำดื่มส่วนมากจะเป็นน้ำดื่มกรองอยู่ที่ศาลากลางหมู่บ้าน โดยเป็นของกองทุนหมู่บ้าน มีการซื้อน้ำถังในบางบ้าน และส่วนน้อยมีรองน้ำฝนไว้ใช้ในโอ่งขนาดใหญ่ มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี ใช้น้ำจากระบบประปาของหมู่บ้าน เปิดใช้ได้ตลอดเวลาและรองไว้ใช้ให้เพียงพอทั้งวัน มีการใช้น้ำได้หลายระบบจึงมีเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้

การคมนาคม บ้านโนนคูณ หมู่ที่11อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด ซึ่งมีทั้งหมด 14หมู่บ้าน การเดินทางเข้าสู่จังหวัดขอนแก่นมีเส้นทางการคมนาคมสะดวกเป็นทางลาดยางจากบ้านโนนคูณถึงตัวจังหวัดขอนแก่น โดยรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทาง โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 รถโดยสารประจำทางสายล่มสัก - ขอนแก่น, ชุมแพ - ขอนแก่น, เมืองเลย - ขอนแก่น รวมระยะทางจากบ้านโนนคูณถึงตัวจังหวัดขอนแก่น 58 กิโลเมตร

แหล่งบริการและแหล่งประโยชน์ต่าง ๆ ในชุมชน

แหล่งประโยชน์ในชุมชน

  • วัดสระทอง มีเจ้าอาวาส เป็นวัดมหานิกาย ปัจจุบันมีพระภิกษุจำพรรษาทั้งหมด 3 รูป
  • วัดป่าเมตตาหลวง เป็นที่พักพระภิกษุ
  • มีโรงเรียนในหมู่บ้าน คือ โรงเรียนโคกกลางโนนคูณโนนศิลา เขตพื้นที่บริการ หมู่ที่ 5 บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 6 บ้านหนองลุมพุก หมู่ที่ 11 บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 13 บ้านโนนศิลา หมู่ที่14 บ้านโนนสว่าง
  • มีร้านค้าในหมู่บ้าน 5 แห่ง ร้านขายอาหาร 2 แห่ง ร้านตัดผมชาย 1 แห่ง ไม่มีร้านซ่อมรถในหมู่บ้าน
  • ไม่มีตลาดนัดในหมู่บ้าน แต่จะไปตลาดบ้านโคกกลางทุกวันจันทร์
  • สุขศาลา 1 แห่ง
  • ประปาหมู่บ้าน 2 แห่ง
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลโนนสะอาด 1 แห่ง

แหล่งบริการทางด้านสุขภาพ

แพทย์แผนปัจจุบัน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด ตั้งอยู่ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งที่ให้บริการสุขภาพของคนในชุมชนระดับปฐมภูมิ โดยรับผิดชอบจำนวนประชากรทุกกลุ่มอายุในพื้นที่จำนวนหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน หมู่ที่ 4 บ้านหนองแก หมู่ที่ 5 บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 8 บ้านโนนหินเห่ หมู่ที่ 9 บ้านดอนหัน หมู่ที่ 11 บ้านโนนคูณ หมู่ที่ 13 บ้านโนนศิลา และหมู่ที่ 11 บ้านหนองตาไก้ ตำบลกุดกว้าง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น โดยมีบุคลากรทั้งหมด 7 คน ตามภาระงานที่รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข และผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปิดให้บริการทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ให้การดูแลประชาชน ให้คำปรึกษา ออกเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง ดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม ตั้งแต่ที่ยังไม่ป่วย ให้การรักษาขณะป่วยและฟื้นฟูสุขภาพให้หายป่วย ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน

โรงพยาบาลหนองเรือ เป็นแหล่งบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิ

แพทย์ทางเลือก มีการใช้สมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน การซื้อยากินเอง

แพทย์ชาวบ้าน หมอสมุนไพร ปราชญ์ชาวบ้าน

ประชากรของบ้านโนนสะอาดมีจำนวนทั้งหมด 377 คน เพศชาย 187 คน เพศหญิง 190 คน จำนวนครัวเรือน 88 ครัวเรือน พบว่า โครงสร้างอายุของประชากรอายุ 0-14 ปี มีประมาณร้อยละ 30.9 อายุ 15-64 ปี มีประมาณร้อยละ 148.82 และอายุ 65 ปีขึ้นไป มีประมาณร้อยละ 20.28

พบว่าเป็นพีระมิดแบบหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าแสดงว่าจำนวนคนเกิดและจำนวนคนตายลดลง ทำให้รูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำหรือมีโครงสร้างประชากรลดลง จากปลายพีระมิดคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้สูงอายุมากมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และเกิดภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประชากรในช่วงอายุ 55 - 54 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.26 ประชากรในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ29.34 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยร้อยละ 10 พบว่า ชุมชนบ้านโนนคูณกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน จะส่งผลผลต่อตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่าง ๆ รายได้ต่อหัวของประชากร การออมและการลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงานและผลิตภาพของแรงงาน ทำให้วัยแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดค่าแรงสูงขึ้นและขาดแรงงาน ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุจะทำให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ด้านสังคมคือ เกิดผู้ภาวะพึ่งพิงผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งมากขึ้นเนื่องจากวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

กรรมการหรือองค์กรการทำงานและการบริหารจัดการของกรรมการ มีลักษณะการทำงานคือ มีการจัดประชุมลูกบ้าน การแจ้งปัญหา และการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

ระบบข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน (Information system) ประชาชนในหมู่บ้านรับทราบข้อมูลข่าวสารโดยการประชาสัมพันธ์จากหอกระจายเสียงของผู้ใหญ่บ้าน การประชาสัมพันธ์ของ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และจากป้ายประกาศต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะดวก เข้าใจง่าย และทั่วถึง

การรวมกลุ่มประชาชนจำนวนกลุ่มทุกประเภทจำนวน 10 กลุ่ม

  1. กลุ่มอาชีพ 6 กลุ่ม 
  2. กลุ่มน้ำปะปา
  3. กลุ่มโรงน้ำดื่ม เกิดจากการปัญหาน้ำดื่มในชุมชนไม่มีน้ำดื่มต้องซื้อน้ำดื่มที่ตลาด ทางหมู่บ้านจึงเสนอเรื่องให้เทศบาล จึงได้งบประมาณจากทางเทศบาลมาจัดทำโรงน้ำดื่ม โดยการซื้อเครื่องกรองน้ำปะปามากรองเป็นน้ำดื่มและให้กดน้ำดื่มถังละ 5 บาท ได้น้ำสะอาดและประหยัดค่าใช้จ่าย
  4. กลุ่มเกษตรอินทรี
  5. กลุ่มขยะ จัดทำโครงการเก็บค่าขยะของหมู่บ้าน ได้งบประมาณจากทุกหลังคาเรือน บ้านแต่ละหลังจะมีถังขยะประจำบ้าน และทางเทศบาลจะเป็นผู้ดำเนินการเก็บขยะ
  6. กลุ่มรถไถ่หมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นในหมู่บ้านเมื่อเวลามีการรับจ้างก็จะไปช่วยกัน เงินที่ได้ก็จะมาแบ่งกันในกลุ่ม รถไถ่ที่มีเกิดจากเงินที่สมาชิกในกลุ่มรวมเงินกันซื้อเอง
  7. กลุ่มฉางข้าว เป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งปันข้าวให้กับสมาชิกในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มมีที่นาและสมาชิกแต่ละคนจะแบ่งข้าวขึ้นฉางข้าวและเมื่อเวลาที่สมาชิกในกลุ่มไม่มีข้าวกินก็จะมายืมข้าวและจะคิดเป็นดอกเบี้ยเพิ่มเรื่อยๆ  
  8. กลุ่มออมทรัพย์ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสัจจะ ของเทศบาล
  9. กลุ่มผู้สูงอายุ 1 กลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมต่างๆตามเทศกาล เมื่อมีงานที่ต้องใช้เงิน ก็จะออกเงินกันเองในกลุ่ม
  10. กลุ่มสภาเด็กและเยาชน 1 กลุ่ม

ด้านวัฒนธรรม

  • เดือนอ้าย : บุญขึ้นปีใหม่ จัดทุกวันที่ 1 มกราคมของทุก ๆ ปี จะมีการสวดมนต์ข้ามปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคม และทำบุญตักบาตรและฟังธรรมในวันที่ 1 มกราคม เชื่อว่าการทำบุญปีใหม่จะช่วยให้ได้รับสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตในปีนั้น ๆ 
  • เดือนยี่ : บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้น เพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรจังหัน นอกจากข้าวจี่แล้วก็จะนำ "ข้าวเขียบ" (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเอง และที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาวไปถวายพระที่วัด หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดก เรื่องนางปุณทาสีเป็นเสร็จพิธี
  • เดือนสาม : บุญเผวดหรือบุญพระเวส ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ บุญนี้จะทำติดต่อกันสามวัน วันแรกจัดเตรียมสถานที่ตกแต่งศาลาการเปรียญ วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จะมีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์ และการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ส่วนวันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่ ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวายอานิสงฆ์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี
  • เดือนสี่ : บุญประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ ในวันนี้พระสงฆ์นำพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้ที่หอสรง ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอมมาร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง นอกนี้มีการสรงน้ำพระสงฆ์และผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ 
  • เดือนหก : บุญเบิกบ้าน บุญชำระล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร เมื่อทำบุญนี้แล้วเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกและบ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะจะได้ทำนาและปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารต่าง ๆ ได้ตามฤดูกาล พร้อมกับขอหินกรวดในพิธีไปโปรยใส่หลังคาบ้านแต่ละบ้านเพื่อขับไล่ผีสางสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านและขอน้ำมนต์ในพิธีไปดื่มกินอาบน้ำชำระร่างกายเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว
  • เดือนเจ็ด : บุญเทียนพรรษาเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา จะมีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวรและเทียนพรรษา จัดขบวนแห่เทียน เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีลรับพร ฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ
  • เดือนเก้า : บุญข้าวสาก เป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ โดยจะมีการจัดเตรียมอาหารบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบองหรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็ก ๆ อีกห่อหนึ่ง สำหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนำไปทำบุญที่วัด 
  • เดือนสิบ : บุญออกพรรษา บุญออกพรรษาหรือประเพณีตักบาตรเทโว จะมีการจุดประทีปโคมไฟ และทำบุญตักบาตร โดยชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญกฐิน จะมีเจ้าภาพจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า ชาวบ้านจะนำเครื่องบริวารกฐิน ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน มาตั้งวางไว้ในที่เปิดเผยเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือชาวบ้านใกล้เคียงนำสิ่งของ เช่น เสื่อ หมอน ปัจจัย ฯลฯ มาร่วมสมทบ วันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนขบวนไปสู่วัดที่ทอด เมื่อนำองค์กฐินไปถึงวัดจะมีการแห่เวียนประทักษิณรอบวัดหรือรอบพระอุโบสถ 3 รอบ จึงนำผ้ากฐินและเครื่องประกอบอื่น ๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่โบสถ์ เมื่อทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริวารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ทำพิธีรับแล้วเป็นเสร็จพิธีสามัคคี

ด้านเศรษฐกิจ

  • ทำนา : เริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม
  • ทำไร่ : เริ่มทำตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน
  • รับจ้างทั่วไป : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
  • ลูกจ้าง : เริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม

1.นายสัญญา ใจกล้า

เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน โดยเป็นผู้นำชุมชนที่มีศักยภาพและเป็นผู้นำด้านสุขภาพ รวมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านโนนคูณ

เกิด ปี พ.ศ. 2517 อายุ 46 ปี สมรสกับนางลพบัวลี ต้นสีนนท์ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน

ที่อยู่ 148 หมู่ 11 หมู่ 11 บ้านโนนคูณ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

นายสัญญา ใจกล้า เกิดปี พ.ศ. 2517 อายุ 46 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านโนนคูณโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดาและมารดา นายสัญญา ปี พ.ศ. 2536 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านโคกกลาง หลังจากเรียนจบแล้ว ปี พ.ศ. 2537 ได้มาทำไร่ ทำนา เลี้ยงควายและทำอาชีพเจียระไนพลอย ปี พ.ศ. 2538 ได้บวชที่วัดสระทอง 1 พรรษา หลังจากลาสิกขานายสัญญาได้ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เป็นงานโรงงานใยสังเคราะห์ พอประมาณปี พ.ศ. 2544 ได้เจอกันกับภรรยาซึ่งเป็นคนอำเภอภูเวียง ทำงานเย็บผ้าอยู่ที่โรงงานและได้แต่งงานในปีนั้นกับนางลพบัวลี ต้นสีนนท์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 1 คน ปี พ.ศ.2550 ได้กลับจากกรุงเทพมหานครมาอยู่บ้าน มีบทบาทในหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งตอนนั้นนายอุดร วงษ์ษาหาญ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ปี พ.ศ. 2557 ได้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เริ่มมีผลงานจากการเริ่มทำสวัสดิการช่วยเหลืองานศพละ 2,000 บาท ถ้ามีการเสียชีวิตของคนในหมู่บ้านจะใช้เงินจากกองทุนหมู่บ้านไปมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต และทำกลุ่มประปาหมู่บ้านโดยให้ชาวบ้านใช้น้ำฟรี 1 ปี หลังจากนั้นให้เก็บครัวเรือนหลังละ 100 บาท ปี พ.ศ. 2563 ได้ของบจากสสส. มาช่วยสร้างบ้านพอเพียงให้กับชาวบ้านที่มีสภาพบ้านไม่แข็งแรงจำนวน 1 หลัง ปี พ.ศ. 2564 ตอนนี้กำลังของบประมาณในการสร้างบ้านพอเพียงอีกจำนวน 2 หลัง ให้กับชาวบ้านที่มีสภาพบ้านไม่แข็งแรง เพื่อให้ชาวบ้านได้รับบ้านที่มีความปลอดภัย

2.นายอุดร วงษ์ษาหาญ

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2497 อายุ 66 ปี เป็นบุตรของพ่อลี วงษ์ษาหาญ กับแม่แจ้ วงษ์ษาหาญ มีพี่น้องทั้งหมด 2 คน พ่ออุดรเป็นบุตรคนที่ 1 และสมรสกับนางบู้ วงษ์ษาหาญ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน 

ที่อยู่ 157 หมู่ 11 บ้านโนนคูณ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

นายอุดร วงษ์ษาหาญ เกิดเมื่อวันที่ 19 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านโนนคูณโดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา และน้องสาวอีก 1 คน พ่ออุดรจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านดอนหัน หลังจากเรียนจบได้มาทำไร่ทำนา เลี้ยงวัว ควาย ประมาณ 50 ตัว ช่วยบิดามารดา พ่ออุดรเล่าว่าเนื่องจากสมัยก่อนเป็นโคก จึงมีการเลี้ยงวัว ควายเยอะ เมื่อปี 2518 พ่ออุดรได้บวชที่วัดสระทอง 1 พรรษา หลังจากลาสิกขาพ่ออุดรได้ลงไปทำงานเหมืองแร่ที่ภาคใต้ประมาณ 3 เดือน พอประมาณปี พ.ศ. 2519 พ่ออุดรได้แต่งงานกับแม่บู้ วงษ์ษาหาญ จากการที่พ่อกับแม่หาคู่ให้ มีบุตรด้วยกัน 4 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 1 คน ปัจจุบันเหลือบุตรอยู่ 3 คน เนื่องจากบุตรชายคนสุดท้องประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 24 ปี

เมื่อปี พ.ศ. 2522 พ่ออุดรอายุได้ประมาณ 25 ปี ได้ประกอบอาชีพเสริมรายได้เป็นช่างตัดผม โดยจะขับรถเร่ตัดผม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนศิลา บ้านโนนคูณ บ้านโคกกลาง บ้านหนองนกพุก-โนนสว่าง โดยคิดค่าบริการเป็น เด็กหัวละ 3 บาท ผู้ใหญ่หัวละ 5 บาท จากนั้นพ่ออุดรได้เริ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2535 จากการที่ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นสอบถามจากชาวบ้านว่าใครเหมาะสมจะมาเป็นผู้ช่วย ชาวบ้านจึงเสนอและเลือกให้พ่ออุดรรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพ่ออุดรได้ไปเป็นวิทยาการสอนตัดผมที่โรงเรียน ไปขับรถ 6 ล้อขนของที่จังหวัดสมุทรปราการ และไปขับรถรับจ้างขนอ้อย จากนั้นเมื่อปี 2543 พ่ออุดรได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และเริ่มมีผลงานจากการเริ่มทำกองทุนหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้พาชาวบ้านเริ่มทำโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ โดยซื้อวัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาลซึ่งจะเป็นพวกกากอ้อย โดยจากการรับสมัครสมาชิกลงหุ้นกับชาวบ้าน ซึ่งในปีแรกที่เริ่มทำมีสมาชิกทั้งหมด 43 คน เนื่องจากชาวบ้านยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะได้ผลดีหรือไม่ หลังจากนั้น 1 ปี เริ่มเห็นผลมากขึ้น ชาวบ้านจึงให้ความร่วมมือมากยิ่งขึ้นและมีการแบ่งเงินปันผลทุกปี

หลังจากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553 ได้มีการทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบลด ละ เลิกบุหรี่ โดยมีการประกวดกันทุกปี แข่งขันกัน 6 จังหวัด โดยจะไปแข่งขันที่โรงแรมโฆษะ โรงแรมเจริญธานีบ้าง โดยโครงการประกวดได้รับรางวัลเป็นอันดับ 2 ซึ่งปีแรกมีคนเลิกบุหรี่ได้จำนวน 21 คน โดยพ่ออุดรจะมีของรางวัลเป็นแรงจูงใจให้เลิกบุหรี่ซึ่งรางวัลสำหรับคนที่ทำได้จะเป็นซึงนึ่งข้าว และในระหว่างนั้นได้ทำหน้าที่ อสม. ร่วมด้วยจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 ได้นำงบประมาณจากการทำปุ๋ย มาซื้อรถไถ รถตัดอ้อย รถคีบอ้อย เป็นของหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้ครบวาระการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ปัจจุบันพ่ออุดรได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลโนนสะอาด ประธานกองทุนหมู่บ้าน อสม. โดยรับผิดชอบ 6 ครัวเรือน มีส่วนร่วมในชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ช่วยเหลือชุมชนและชาวบ้านมาตลอด ซึ่งพ่ออุดรนับเป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยพัฒนาทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เสริมจากการทำปุยอินทรีย์ในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เป็นส่วนรวมจากกองทุนหมู่บ้าน ฌาปนกิจของหมู่บ้าน หุ้นจากกองทุนกู้ข้าวเปลือก หุ้นน้ำดื่ม หุ้นรถไถ รถตัดอ้อย รถคีบอ้อย หุ้นเครื่องเสียงของหมู่บ้าน และยังมีโครงการดีดีอย่างโครงการหมู่บ้านต้นแบบลด ละ เลิกบุหรี่ ทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพดียิ่งขึ้น

3.นางคำพอง ชัยกิจ

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2512 อายุ 52 ปี เป็นบุตรของพ่อสายทอง สงเวียง กับแม่ส่วน สงเวียง มีพี่น้องทั้งหมด 3คน แม่คำพองเป็นบุตรคนที่ 2 และสมรสกับนายวิทยา ชัยกิจ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน

ที่อยู่ 81/5 หมู่ 11 บ้านโนนคูณ ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติด้านการศึกษาและการทำงาน

นางคำพอง ชัยกิจ เกิดเมื่อวันที่ 29 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2512 ภูมิลำเนาเป็นคนบ้านโนนคูณ โดยกำเนิด อาศัยอยู่กับบิดามารดา พี่สาว 1 คน และน้องสาวอีก 1 คน แม่คำพองจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนโคกกลาง ไปศึกษาต่อกศน. ที่โนนสะอาดจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างเรียนได้ทำไร่ทำนาช่วยบิดามารดา หลังจากเรียนจบได้มาทำไร่ทำนาช่วยบิดามารดาเหมือนเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2534 แม่อายุได้ 21 ปี ได้เจอกับพ่อวิทยา ชัยกิจ ตอนเทศกาลวันสงกรานต์ เป็นคนตำบลเดียวกัน และได้แต่งงานกัน มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด ได้ทำอาชีพทำไร่ทำนาด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2536 สามีได้เป็นอสม.ก่อน แม่คำพองได้ไปช่วยงานอสม. แทนเป็นประจำ เนื่องจากสามีได้ไปทำงานประจำ พอเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2549 แม่คำพองจึงได้เป็นอสม. ต่อจากสามีจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้ไปขับร้องสรภัญญะเกี่ยวกับสุขภาพ ในโครงการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่น เวียนกันในตำบล (12 วัด) ที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จนถึงปี พ.ศ. 2562 เกิดเหตุการณ์จากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 จึงได้มีการงด จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้ร่วมทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบลด ละ เลิกบุหรี่ จนได้รับรางวัลอันดับ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ทำโครงการหมู่บ้านสร้างสุขของหมอสมรัก จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2560-2563 ได้เป็นผู้นำในการออกกำลังกายของชุมชน จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้เป็น CG เน้นดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ซึ่งทางรพ.สต. คัดเลือกไปเป็น ได้รับการอบรม 70 ชั่วโมงที่โรงพยาบาลหนองเรือ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 แม่คำพองได้รับรางวัล อสม. ดีเด่นสาขาทันตะ จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้รับรางวัล อสม. ดีเด่นสาขาสุขภาพจิตในชุมชน จากนั้นประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้รับตำแหน่งอสม. เป็นโครงการของจังหวัด ร่วมกับสาธารณสุขให้ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน เน้นผู้ป่วย Stroke ได้รับการอบรมตามหลักสูตร 70 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลขอนแก่น เป็นรุ่นแรกที่ได้ไปอบรม ปัจจุบันแม่คำพองได้ดำรงตำแหน่งอสม. โดยรับผิดชอบ 4 ครัวเรือน เป็นอสม. เป็น CG มีส่วนร่วมในชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ช่วยเหลือชุมชนและชาวบ้านมาตลอด ซึ่งแม่คำพองนับเป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพ ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ดูผู้ป่วยตามบ้าน ทั้งเป็นแกนนำในการออกกำลังกาย ทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดียิ่งขึ้น

ทุนกายภาพ มีป่าชุมชน เป็นป่าไม้ที่มีในชุมชนเป็นไม้นานาชนิด  มีลำห้วยวังคูณเป็นลำห้วยเก็บน้ำภายในหมู่บ้านเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการทำเกษตร เป็นลำห้วยจึงอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว อาจมีการใช้น้ำที่ไม่เพียงพอในการทำเกษตร ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี

ทุนเศรษฐกิจ กองทุนสนับสนุนในชุมชน ได้แก่ กองทุนกู้ยืมเงิน (กองทุนเงินล้าน) กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์

ทุนมนุษย์ แพทย์ชาวบ้าน เช่น หมอสมุนไพร ปราชญ์ชาวบ้าน 

ผู้คนในชุมชนบ้านโนนคูณใช้ภาษาไทยและตัวอักษรไทยในการพูด อ่าน เขียน


ชุมชนบ้านโนนคูณได้เข้าร่วมโครงการชาวโนนคูณร่วมใจ ต้านภัยโรคเบาหวานความดัน ข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยบ้านโนนคูณ จากฐานข้อมูลของ รพ.สต.โนนสะอาด ปี 2563 พบว่าประชาชนมีปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 9.9 โรคความดันโลหิตสูงจำนวน 41 คน คิดเป็นร้อยละ 21.35 จำนวน มีอัตราผู้ป่วยรายใหม่ของโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 0.52  จากข้อมูลการโยงใยปัญหาของโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากจุดเริ่มต้นจากภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานนั่นเอง

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด ได้ให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนในบ้านโนนคูณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันมีผลต่อภาวะสุขภาพของประเทศโดยรวมด้วย จึงได้จัดทำโครงการชาวโนนคูณร่วมใจ ต้านภัยโรคเบาหวานความดัน ให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง และประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งเมื่อเกิดความตระหนักทางสุขภาพแล้วจะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ของกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ลดภาวะความเจ็บป่วย ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของระดับประเทศ รวมเป็นการสร้างประเทศให้เข้มแข็งและแข็งแรงอีกด้วย

ในชุมชนบ้านโนนคูณมีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ร้านพรไก่ย่าง ครัวบ้านสวน ประสิทธิ์ไก่ย่าง (เจ้าเก่า) และวัดสมบูรณ์บ้านโนนคูณ

จากการสำรวจข้อมูลของนักศึกษาจากวิทยาลัยบรมราชชนนี ขอนแก่น