Advance search

สังคมพหุวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา และส่วนราชการอื่น ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หมู่ที่ 6
ลังกงษี
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ขวัญจิต ศรีจำรัส
30 ก.ค. 2023
อัจจิมา หนูคง, สรวิชญ์ ชูมณี
30 ส.ค. 2023
จิรัชยา สีนวล
14 ก.พ. 2024
บ้านลักกงษี

เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี โดยในสมัยก่อนบ้านลักกงษีมีนายทุนเหมืองแร่เข้ามาประกอบกิจการ เหมืองสูบเป็นธุรการของชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ พื้นที่ทำเหมืองแร่จะอยู่ห่างจากถนนบายพาสเล็กน้อย และได้มีการสร้างอาคารที่ทำการและที่พักคนงานของคนทำเหมือนแร่ ซึ่งคนจีนจะเรียกอาคารสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ว่า “กงษี” ปากทางเข้ากงษีจะมีการปักหลักไม้ทาสีเพื่อเป็นเครื่องหมายให้จำได้ว่าเป็นไม้หลักปักทางเข้ากงษีเหมืองแร่ ซึ่งได้เรียกกันว่า “หลักกงษี” ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “ลักกงษี” จึงได้ขนามนามหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านลักกงษี” 


สังคมพหุวัฒนธรรม เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา และส่วนราชการอื่น ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ลังกงษี
หมู่ที่ 6
รัษฎา
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.916191691095176
98.39262306333481
เทศบาลตำบลรัษฎา

"หมู่บ้านลักกงษี" เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานกว่า 100 ปี สมัยก่อนบ้านลักกงษีมีนายทุนเหมืองแร่เข้ามาประกอบกิจการเหมืองสูบ เป็นธุรกิจของกลุ่มชาวจีนพื้นที่ทำเหมืองแร่อยู่ห่างจากถนนสายบายพาสเล็กน้อยและได้มีการสร้างอาคารที่ทำการและที่พักคนงานทำเหมืองแร่ เรียกอาคารสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ว่า “กงษี” ปากทางเข้ากงษีจะมีการปักหลักไม้ทาสีเพื่อเป็นเครื่องหมายให้จำได้ว่าเป็นไม้หลักปักทางเข้ากงษีเหมืองแร่ซึ่งได้เรียกกันว่า “หลักกงษี” ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “ลักกงษี” บ้านลักกงษี ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เดิมเป็นที่ตั้งของห้างจีน หรือบริษัทของชาวจีน 6 ห้าง

เดิมสภาพพื้นที่บ้านลักกงษี เป็นที่ราบลุ่ม ลำรางท้ายรางเหมืองแร่เก่า ผู้คนที่อาศัยอยู่เดิมคือกลุ่มชาวจีนที่ประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุกต่อมาหลังจากสิ้นสุดยุคสมัยการประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุกชาวบ้านจากภายนอกเดินทางเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ และได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เดิมจากพื้นที่ท้ายรางเหมืองแร่เป็นหมู่บ้านจัดสรรคนในชุมชนปลูกสร้างบ้านเรือนตามแบบของชุมชนเมือง สังคมเมืองมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นประชากรหลั่งไหลเข้ามาอาศัยมากขึ้นเนื่องจากเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเดินทางสะดวกและเป็นที่ตั้งของสถานศึกษา สถาบันทางการเงินและบริษัทห้างร้านค้าปลีก-ส่งขนาดใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต ในปัจจุบัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเกาะแก้ว 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนเทพกษัตรี 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทุ่งคาพะเนียงแตก
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เทศบาลนครภูเก็ต และคลองสามกอง

ลักษณะทางกายภาพ

เป็นพื้นที่ราบลุ่มป่าพรุ อดีตเคยเป็นพื้นที่เหมืองแร่ลักษณะเป็นเหมืองสูบและเป็นป่าพรุ ในอดีตทำให้กลุ่มคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ต่อมาประชากรจากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น โดยถมที่ดินบริเวณขุมเหมือง และป่าพรุ สร้างบ้านเรือน อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่ที่ติดต่อกับหมู่ที่ 5 บ้านพะเนียงแตกและติดต่อกับตำบลเกาะแก้วมีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา มีหน่วยงานราชการ เช่นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สถานีกระจายกระแสไฟฟ้า จังหวัดภูเก็ตและมีห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เช่น บริษัทซุปเปอร์ชีปจำกัด ห้างสรรพสินค้าโลตัส เป็นต้น

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ระบุจำนวนประชากร ชุมชนบ้านลักกงษี มีจำนวนประชากร รวมทั้งสิ้น 7,297 คน ชาย 3,287 คน หญิง 4,010 คน ประชากรมีความหลากหลายทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการ รับเหมาก่อสร้าง บ้านเช่า ธุรกิจนำเที่ยว บริการรถเช่า และธุรกิจโรงแรม มีกลุ่มประชากรนักศึกษาเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อการศึกษา และกลุ่มคนวัยทำงานในการประกอบอาชีพในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีจำนวนมากมีความเป็นอยู่แบบสังคมเมือง คือต่างคนต่างอยู่  

จากการสำรวจและสัมภาษณ์ นายวริทธิ์ จุลภักดิ์ ได้เล่าถึงความเป็นมาของสังคมดั้งเดิมของการตั้งถิ่นฐาน เกิดจากคนจีนเข้ามาทำเหมืองแร่ในอดีต เมื่อหมดยุคเหมืองแร่ได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ปัจจุบันหมู่บ้านลักกงษีไม่ค่อยมีผู้สูงอายุ มีกลุ่มคนหนุ่มสาวกลุ่มคนวัยทำงาน

ประชากรหมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี มีการอยู่อาศัยร่วมกันแบบสังคมเมือง วัยทำงาน ไม่ค่อยมีผู้สูงอายุ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ เข้ามาประกอบอาชีพ ประชากรดั้งเดิมมีจำนวนน้อย จึงไม่มีการรวมกลุ่ม มีลักษณะต่างคนต่างพึ่งตนเองและไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน 

โครงสร้างองค์กรชุมชน ส่วนการบริหารจัดการในชุมชนมีการเลือกตั้งผู้นำชุมชนโดยมีคณะกรรมการบริหาร ดังนี้

  • นายวิชิต รอดแก้ว  ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 
  • นายวริทธิ์ จุลภักดิ์  ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน 
  • นายมโน แก้วดี  ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน       
  • นายกมล เชื้อชาติ  ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน    
  • นางยุพิน ต่างใจ ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน         
  • นางวันดี นาคกลับ  ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน    
  • นายอดิสร สังขวรกุล  ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน  
  • นายนรสิงห์ อรรถธรรม ตำแหน่ง กรรมการหมู่บ้าน 

ด้านกลุ่มศรัทธา/ศาสนา

ความเชื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่ ประชาชนต่างคนต่างไปร่วมกิจกรรมทางศาสนากับพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากหมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี ไม่มีศาสนสถาน วัด มัสยิด ศาสนิกชนในพื้นที่จึงเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา ในศาสนสถานชุมชนใกล้เคียง ตามความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละศาสนาตามที่ตนเองสะดวกหรือกลับไปร่วมกิจกรรมในประเพณีสำคัญต่าง ๆ ในภูมิลำเนาเดิม

ประชากรหมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ตามประเพณีความเชื่อ ทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม รวมไปถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ยังคงยึดมั่นในการดำรงรักษา คำสอนในศาสนาของตน ความเชื่อ ความศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยมีลักษณะที่โดดเด่นเห็น ได้ชัดเจน คือ 

กลุ่มคนไทยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ยังคงประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับพื้นที่ใกล้เคียงที่ตนเองอาศัยอยู่ กลุ่มที่เป็นคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาอาศัยก็จะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนในการเดินทางกลับไปเพื่อถือโอกาสไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ในภูมิลำเนาเดิม 

กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน 

ยังคงยึดถือสืบทอดปฏิบัติตามประเพณี ความเชื่อ ที่ปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน เช่น ประเพณีถือศีลกินผัก ก็จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมยังศาลเจ้าใกล้เคียงกับพื้นที่ของตนเองตามความศรัทธา

1.นายวริทธิ์ จุลภักดิ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2518 มีบิดาชื่อ นายวิเชียร จุลภักดิ์ มารดาชื่อ นางอัมพร จุลภักดิ์ พี่น้อง 6 คน ชาย 5 คน หญิง 1 คน และมีบุตร 1 คน 

บทบาทและความสำคัญในชุมชนบ้านลักกงษี

เป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สนใจในประวัติศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งยังส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางให้แก่คนในชุมชน ในการแจ้งข่าวสาร ประสานงานต่าง ๆให้แก่ชุมชน เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี พัฒนาพื้นที่ในชุมชนอยู่เสมอ เป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่ไว้วางใจของคนในชุมชนนำหลักการบริหารที่ดีมาใช้ในการเป็นผู้นำในชุมชน

หมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจ มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ซุปเปอร์ชีป โลตัส และตลาดชุมชน โรงแรมขนาดกลาง โรงแรมขนาดเล็ก ห้องเช่า อพาร์ทเม้น ห้องพัก บ้านเช่า เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ฤดูฝน น้ำไม่ท่วม ปลอดภัยจากอุทกภัยและภัยธรรมชาติ การคมนาคมสามารถติดต่อกับพื้นที่อื่น ๆ ได้สะดวก ใช้ระยะเวลาไม่นานในการเดินทางไปสนามบินนานาชาติภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร

ใช้ภาษาไทยพื้นถิ่นภาคใต้ในการสื่อสาร


ชุมชนมีการหลั่งไหลกันเข้ามาของบุคคลภายนอกมากยิ่งขึ้น มีการแบ่งแยกพื้นที่กันมากขึ้น และระบบความคิดของคนยุคใหม่ในสังคมติดต่อสื่อสารกันอย่างไร้พรมแดน ส่งผลให้ความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เข้าสู่สังคมที่มีการแข่งขันสูง ครอบครัวมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้ง ขาดการแสดงความเคารพนับถือ ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันลดน้อยลง

โรงงานแทนทาลัม

เป็นโรงงานถลุงขี้ตะกรันดีบุก หรือ สะแหลกดีบุก เป็นแร่ที่สามารถขายได้ในราคาดี เพราะมีแร่โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ ซึ่งเป็นแร่ยุทธปัจจัยใช้สำหรับทำยานอวกาศหรือหัวจรวดและขีปนาวุธต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เสียดสีของอากาศได้สูงมาก แร่โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ มีราคากิโลกรัมละ 60-70 บาทและเมื่อนำมาผ่านกระบวนการสกัดต่อจนได้ 'แร่แทนทาลัม' จะมีราคาสูงกว่าแร่แทนทาไลต์หรือขี้ตะกรันดีบุกประมาณ 40-50 เท่า เมื่อชาวบ้านทราบว่า 'ขี้ตะกรัน' เป็นของมีราคาจึงทำให้บรรดานายทุนต่าง ๆ ยื่นประมูลต่อทางการขอขุดถนนเก่า ๆ ทุกสายในตัวเมืองภูเก็ต

โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อขุดเสร็จแล้วจะสร้างถนนใหม่ทดแทน ส่วนบ้านที่ปลูกสร้างอยู่บนเตาถลุงที่มีขี้ตะกรันฝังอยู่มาก ๆ ก็จะถูกรื้อหรือทุบพื้นทิ้งเพื่อขุดเอาขี้ตะกรันดังกล่าวขึ้นมา ในขณะนั้นคนภูเก็ตสามารถทำรายได้จากการขุดขาย 'ขี้ตะกรันดีบุก' หรือรับจ้างขุด สูงถึงวันละ 180 บาท โดยในวันที่ 28 ธันวาคม 2522 บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท โดยมีโครงการก่อสร้างโรงงานที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงานในปี 2526 จนก่อสร้างแล้วเสร็จ แสดงถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ในอดีตและปัจจุบันโรงงานของบริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่เป็นโรงหล่อเสาปูนและหล่อพิมพ์เสาซีเมนต์ของบริษัทฉลองคอนกรีตจำกัด

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เทศบาลตำบลรัษฎา จังหวัดภูเก็ต. (2562). แผนพัฒนาหมู่บ้านประจำปี พ.ศ.2563 หมู่ที่ 6 บ้านลักกงษี ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต[ออนไลน์]. สืบค้น 30 กรกฏาคม 2566. https://rasada.go.th/

ภูเก็ตสารสนเทศ. (ม.ป.ป.). ภูเก็ต. [ออนไลน์]. สืบค้น 30 กรกฏาคม 2566. https://phuketcity.info

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต. https://www.facebook.com/