วัดแหลมทรายและชุมชนเก่าแก่ในเขตเมืองเก่าสงขลา ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
วัดแหลมทรายและชุมชนเก่าแก่ในเขตเมืองเก่าสงขลา ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
บริเวณพื้นที่ที่ตั้งชุมชนในอดีตพื้นดินมีลักษณะเป็นดินทรายขาว เป็นพื้นที่ป่าชายเลนชาวบ้านจะเรียกว่า ป่าปี ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ที่พบได้มากในบริเวณป่า และพืชอีกชนิดหนึ่งที่พบได้คือต้นลำภู ดอกจะมีสีชมพูเป็นเส้นฝอย สามารถนำมารับประทานกับข้าวยำได้ พื้นที่ป่าปีในปัจจุบันจะเริ่มตั้งแต่บริเวณถนนทะเลน้อย ตำรวจน้ำ ตำรวจภาค 9 และตำรวจภูธร ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์พบปลากระบอกและปูดำชุกชุม เมื่อเวลาผ่านไปก็มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาฝั่งถนนแหล่งพระรามตลอดแนว ไปจนถึงริมทะเลตรงข้ามกับสำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 ในปัจจุบัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดจังหวัดสงขลา หมู่บ้านและวัดแหลมทราย ก็ได้เป็นที่พักของญี่ปุ่น เป็นคลังพัสดุคลังน้ำมันและอื่น ๆ และได้มีการโจมตีกันกับฝ่ายตรงข้าม ญี่ปุ่นก็ได้ทิ้งระเบิดลงมาในบริเวณรอบ ๆ วัดแหลมทรายและหมู่บ้านวัดแหลมทราย มีทั้งหมด 7 ลูก แต่ระเบิดไม่ทำงาน ชาวบ้านจึงมีความเชื่อและศรัทธาต่อวัดมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในบริเวณริมทะเลสาบสงขลา และอ่าวไทย ลักษณะชุมชนเป็นพื้นที่ราบ มีพื้นที่ทั้งหมด 233,079.30 ตารางเมตร และมีเขตพื้นที่ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนชลเจริญ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ 108-112. ถนนราชดำเนิน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ 32/1 ถนนราชดำเนิน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ 147-148 ถนนราชดำเนิน
ชุมชนแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีจำนวนครัวเรือนภายในชุมชนทั้งหมด 333 ครัวเรือน โดยมีจำนวนประชากร แบ่งเป็นประชากรชาย 274 คน และประชากรหญิง 263 คน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 537 คน
ชุมชนแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และรับจ้างทั่วไป มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 209,892 (บาท/ปี) และรายได้บุคคลเฉลี่ย 124,512 (บาท/ปี) และมีการรวมกลุ่มของสมาชิกในสังคมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนี้
- กลุ่มสานเส้นพลาสติก
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อนช่วยเพื่อนชุมชนแหลมทราย
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
- ชมรมผู้สูงอายุแหลมทราย
- กลุ่มประมงฟื้นฟูทะเลไทย
- กลุ่มอนุรักษ์กลองยาว
วัดแหลมทรายและชุมชนแหลมทราย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างสรรค์และจัดการดูแลสังคมในช่วงระยะเวลารอบปี ตัวอย่างเช่น
- กิจกรรมออกกำลังกายของกลุ่ม อสม. และสมาชิกในชุมชน
- กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติชุมชนวัดแหลมทราย
- การประชุมคณะกรรมการชุมชนประจำเดือน
- กิจกรรมถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝน
- กิจกรรมทำบุญชุมชนประจำปี
ชุมชนแหลมทรายกับวัดแหลมทราย เป็นสิ่งที่คู่กันมาตั้งแต่ในอดีต วัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาโดยตลอด โดยมีพระราชรัตนโมลีหรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากชื่อท่านเจ้าคุณเส้ง ซึ่งท่านเป็นพระนักพัฒนาในอดีต วัดอยู่ร่วมกับชุมชนด้วยความรัก สามัคคีและความผูกพันกันมา เริ่มจากการจัดหาทุนเพื่อนำเงินมาพัฒนาวัด โดยจัดให้มีรำวง งานฤดูร้อนและงานตักบาตรเทโวขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสงขลา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียนประเพณีที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น
- การแทงหยวก ที่นั่งสรงน้ำท่านเจ้าคุณในวันสงกรานต์
- การทำว่าว โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน (นายมิตร บุญราศีอายุ 96 ปีปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
- วงกลองยาว
กลองยาวของชุมชนวัดแหลมทรายในอดีตเคยได้รับการยอมรับของชาวสงขลา มีชื่อเสียงมาก ชนะการประกวดหน้าพระที่นั่งเมื่อสมัยก่อน เรื่องของการตีกลองยาว จังหวะการตีต่าง ๆ จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนวัดแหลมทรายหรือเชื้อสายในอดีต เรียกว่า ลูกแหลมทราย
1.นางอุบล แสนพัน สมุนไพร/หมอพื้นบ้าน ด้านการนวดแผนไทย
2.นางกลอยใจ เครือรัตน์ ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
3.นายประทิน เพชรรัตน์ ด้านงานฝีมือ
4.นายกมลพันธ์ กุณฑโร ด้านงานฝีมือ งานดอกไม้
5.นางทิมพร เรืองศิริเดช ด้านงานฝีมือ ตัดเย็บผ้าไหม
6.นางนันทวัลย์ ถนัดอักษร ด้านการถนอมอาหาร
7.นายวิรัติ หนูแก้ว ด้านพิธีกรรมทางศาสนา
8.นายธรรมนันท์ เซ่งขิม ด้านพิธีกรรมทางศาสนา
ทุนเศรษฐกิจ
- กองทุนแม่ของแผ่นดิน
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อนช่วยเพื่อนชุมชนแหลมทราย
ทุนกายภาพ
- ทะเลสาบสงขลา
- ทะเลอ่าวไทย
ทุนวัฒนธรรม
- วัดแหลมทราย
- ป้อมปืนใหญ่
- เขาตังกวน
เขาตังกวน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองสงขลา เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต จากยอดเขาตังกวนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาได้โดยรอบ บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมือง สงขลาซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินหลวงให้เป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์ ในเดือนตุลาคมทุกๆ ปี จะมีงานพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ และประเพณีตักบาตรเทโว และประเพณีลากพระของจังหวัดสงขลา
ประภาคาร เป็นอาคารที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาตังกวน สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้าง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธินเป็นผู้เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440
ศาลาพระวิหารแดง จากลานพระเจดีย์หลวงมีทางเดินลงบันไดมายังศาลาพระวิหารแดง ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440
ลานชมวิวเขาตังกวน จากยอดเขาตังกวนก็จะมองเห็นวิวของเมืองสงขลาได้แบบ 360 องศา มีที่นั่งให้นั่งชมวิว ลานชมวิวแห่งนี้มีรูปหลวงปู่ทวดอยู่กลางลานบนฐานที่ยกสูงขึ้นไป ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวงจะมองเห็นตัวเมืองสงขลาได้กว้างไกล ทั้งวิวตัวเมืองและทะเลสาบสงขลา รวมทั้งหาดสมิหลาด้วย
วัดแหลมทรายเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสงขลา มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของบุคคลโดยทั่วไป พระเครื่องวัดแหลมทรายมีชื่อเสียงและผู้คนมีความต้องการไว้บูชามาก เช่น
- พระโสฬส รุ่น 1
- พระมหานิยม (สำหรับบุรุษ) /พระมหานิยม (สำหรับสตรี)
- พระโสฬสพิมพ์ซุ้มกอ
- พระพุทธโสฬสมงคล (กริ่ง)
- กระภควัมบดี โสฬสมงคล (โสฬส รุ่นที่ 2)
- พระภัยนิรันด์ (กริ่ง)
- พระปิดทวาร ทั้ง 9 (โสฬสรุ่น 3)
- พระพุทธชินรา
- พระบรรจุดินจากปูชนียสถาน
- รูปหล่อพระครูวิจารย์ศิลาคุณ (เนื้อผง)
- พระสังขจาย
- หลวงพ่อพะโค๊ะ (ทองเหลือง) /หลวงพ่อพะโค๊ะ (ผง)
- เหรียญหลวงพ่อพะโค๊ะ /หลวงพ่อพะโค๊ะ (แบบสี่เหลี่ยม)
- พระสมเด็จ 3 ชั้น
- พระขุนแผน
- พระนางพญา
- หลวงพ่อรัศมี
- เหรียญพระราชรัตนโมลี
- รูปหล่อท่านเจ้าคุณฯ (ทองเหลือง) /รูปหล่อท่านเจ้าคุณฯ (ผง)
- ล็อคเก็ตท่านเจ้าคุณฯ (สมัยเป็นพระราชรัตนโมลี) มี ๒ แบบ /แหวนพระรัตนโมลี
ชุมชนวัดแหลมทราย เทศบาลนครสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพัน 2567. จาก https://www.facebook.com/
ไปด้วยกัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพัน 2567. จาก https://www.paiduaykan.com/
เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนแหลมทราย เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพัน 2567. จาก https://www.songkhlacity.go.th/
วัดแหลมทราย. (2566). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพัน 2567. จาก https://www.facebook.com/