การจัดการท่องเที่ยวโยชุมชนเพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้กิน อยู่ อย่างพอเพียง ควบคู่กับอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทใหญ่ไว้ไม่ให้สูญหายเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คงอยู่
สันนิษฐานว่าคำว่า “ปอน” เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “พร” เนื่องจากเป็นชุมชนทางชาติพันธุ์ทำให้การออกเสียงในภาษาไทยไม่ชัดเจน มีความหมายที่สื่อถึงเมืองที่มีสิริมงคล บางข้อมูลสันนิษฐานคำว่า "ปอน" หมายถึง พญา หรือ เป็นเมืองใหญ่ หรือ ผู้ปกครองเป็นพญาที่ยิ่งใหญ่
การจัดการท่องเที่ยวโยชุมชนเพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้กิน อยู่ อย่างพอเพียง ควบคู่กับอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทใหญ่ไว้ไม่ให้สูญหายเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คงอยู่
บ้านเมืองปอนแต่เดิมตั้งแต่เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำน้ำปอน ตรงเชิงเขาดอยเวียง มีนายน้อยสี เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมามีชาวพม่ากลุ่มหนึ่ง นำโดยนายธรรมะ และนายป๊ะ ได้มาชักชวนให้นายน้อยสีและชาวบ้านที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นพรรคพวกของตนเพื่อไปโจมตีนครพิงค์ (จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน) แต่นายน้อยสีและพรรคพวกไม่ยอมร่วมมือด้วย ทำให้นายธรรมะและนายป๊ะโกรธมาก ถึงกับขู่ว่าจะพาพรรคพวกมาโจมตีบ้านเมืองปอนให้ได้ นายน้อยสีเห็นว่าถ้าตั้งรับอยู่ที่เดิมอาจจะเสียที่แก่พม่าได้โดยง่าย จึงได้ปรึกษาหารือกับพวกชาวบ้าน โดยมีนายติ๊บ นายน้อยสุข จองแมน จองริน จองมูหริ่ง จองสิริ จองแอ จองกี และน้อยเมืองขอนเป็นผู้ช่วย ได้ทำการตกลงว่าจะย้ายเมืองปอนขึ้นไปอยู่บนดอยเวียง เพราะลักษณะของดอยเวียงเป็นภูเขาสูง เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึก หลังจากย้ายหมู่บ้านแล้ว ก็ได้วางแผนป้องกันหมู่บ้านโดยการทำกับดักต่าง ๆ เช่น ป้อมหนาม ป้อมหิน ป้อมทรายคั่ว ป้อมปืนต่าง ๆ เมื่อพม่ายกพวกมาจริง ๆ จึงไม่สามารถตีเมืองปอนได้
เมื่อเจ้านครพิงค์ทรงทราบข่าวที่ชาวเมืองปอนชนะพม่า จึงได้ส่งทูตมานำเอาผู้นำหมู่บ้านลงไปนครพิงค์ มีนายน้อยสี นายจองมอน นายจองหริ่ง และนายจองแอ เป็นนายร้อยรองจากพระยาไพศาล แล้วให้กลับมาปกครองเมืองปอนต่อไป ต่อมาอีก 5 เดือนหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผ่านไป พระยาไพศาลได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าทำเลที่ตั้งของดอยเวียงเป็นดอยสูง ทำให้ยากลำบากต่อการประกอบอาชีพ ทั้งยังขาดแคลนน้ำ และอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีข้าศึกมารุกรานอีกแล้ว จึงตกลงกันย้ายหมู่บ้านลงมาตั้งทางทิศตะวันตกของลำน้ำปอน คือ หมู่บ้านเมืองปอนในปัจจุบันนี้ (องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน, ม.ป.ป.)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่เงา และตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่โถ อำเภอแม่ลาน้อย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลขุนยวม และตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นภูเขาและป่าไม้ โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทุรกันดาร มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน และมีที่ราบบริเวณลุ่มน้ำปอนสำหรับสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ แม่น้ำปอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยการตั้งบ้านเรือนนั้นจะตั้งเป็นกลุ่มก้อนเรียงรายติดกับเนินเขาซึ่งเป็นที่ดอนจากเหนือไปทางใต้ พื้นที่แวดล้อมไปด้วยทุ่งนาและภูเขารอบด้าน มีลำน้ำปอนเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงผ่านกลางแอ่งทางด้านทิศตะวันออกของตัวชุมชน มีหุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านเมืองปอนจะมีลักษณะทางกายภาพเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแต่เนื่องจากมีจำนวนครัวเรือนและประชากรมาก จึงได้มีการแบ่งการปกครองย่อยออกเป็นสองชุมชนย่อย คือ หมู่ 1 และหมู่ 2 ด้านสภาพอากาศมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
บ้านเมืองปอนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือ บ้านเมืองปอนหมู่ที่ 1 และบ้านเมืองปอนหมู่ที่ 2 โดยข้อมูลประชากรตำบลเมืองปอนจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรบ้านเมืองปอน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ดังนี้
- บ้านเมืองปอนหมู่ที่ 1 มีประชากร 652 คน แยกเป็นประชากรชาย 332 คน ประชากรหญิง 320 คน จำนวนครัวเรือน 352 ครัวเรือน
- บ้านเมืองปอนหมู่ที่ 2 มีประชากร 656 คน แยกเป็นประชากรชาย 344 คน ประชากรหญิง 312 คน จำนวนครัวเรือน 352 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านเมืองปอนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม มีการปลูกพืชจำพวก ข้าว ถั่วเหลือง พริก กระเทียม ฯลฯ และมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาชีพเสริมด้านงานหัตถกรรม เช่น การเย็บผ้าตัดไทใหญ่ โดยชาวบ้านเมืองปอนจะมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 20,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์บ้าง แต่ในหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีความเหนียวแน่นตามขนบธรรมเนียมประเพณี และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทยใหญ่อยู่ไม่น้อย ชาวบ้านยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายทำนา เพาะปลูก ทำไร่ทำสวน และที่สำคัญคือประชาชนในหมู่บ้านมีความสามัคคีซึ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ด้วยปัจจัยดังกล่าวมานี้ ส่งผลให้บ้านเมืองปอนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ด้วยการชูวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ จึงได้มีการก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชนขึ้น ทำให้เกิดรายได้เล็ก ๆ ภายในครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้กิจกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชาวบ้าน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทใหญ่ไว้ไม่ให้สูญหาย ทางหนึ่งนั้นเพื่อเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่วนอีกทางหนึ่งก็เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษไว้ให้คงอยู่ ไม่ให้เสียศูนย์ การสาธิตชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยจะแบ่งฐานกระจายอยู่ในหมู่บ้านตามจุดต่าง ๆ เช่น การสาธิตวิธีทำจองพารา สาธิตการตัดเย็บเสื้อไตใหญ่ สาธิตการจักสานเครื่องมือ เครื่องใช้จากหวาย การนวดแผนโบราณ การทำข้าวปุ๊ก ฯลฯ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาพักหมู่บ้านเมืองปอน ส่วนมากจะเป็นแนวโฮมสเตย์พักร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ได้อารมณ์คลุกคลีเรียนรู้วิถีชีวิตไปในตัว
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อไตเมืองปอน
กลุ่มตัดเย็บเสื้อไตเมืองปอน เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มสตรีภายในชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอกู้เงินงบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชน เพื่อพัฒนาขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าจากภูมิปัญญาในชุมชน คือ การตัดเย็บเสื้อผ้าของชาวไทใหญ่ แรกเริ่มชาวบ้านตัดเย็บเสื้อผ้าไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ต่อมาได้กลายเป็นอาชีพเสริมของแม่บ้านและสตรีของชาวเมืองปอน ภายหลังได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเมืองปอน ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อชาวไตทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมีการพัฒนาออกแบบตามยุคสมัยและความนิยม สมัยจนสามารถยกระดับรูปแบบของเสื้อให้มีความทันสมัยและได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 3 ดาวใน พ.ศ 2546 ความสำคัญของการรวมกลุ่มครั้งนี้ ส่วนหนึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงการสร้างและยกระดับเศรษฐกิจให้กับชุมชน
บ้านเมืองปอนมีวัดเมืองปอนเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางศาสนา ชาวบ้านยึดมั่นในความเชื่อที่มีต่อพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีปฏิทินทางวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบการผลิตทางเกษตร เนื่องจากบ้านเมืองปอนมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นธรรมชาติส่วนใหญ่ ทำให้ยึดเอาความเชื่อในธรรมชาติผสานเข้ากับประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนา ทั้ง 12 เดือน ดังนี้
- เดือนที่ 1 : ประเพณีกาบซอมอู หรือบุญข้าวใหม่ จะนำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาประกอบอาหารหรือ ขนม แล้วนำไปทำบุญถวายพระที่วัด
- เดือนที่ 2 : ประเพณีเหลินก๋ำ หรือประเพณีการเข้าปริวาสกรรม อยู่ในช่วงระหว่างการบำรุงพืชและผลผลิตที่ได้ปลูกไว้
- เดือนที่ 3 : ประเพณีปอยหลู่ข้าวหย่ากู๊ คือ การถวายข้าวเหนียวแดง เป็นประเพณีที่มีความผูกพันกับการทำเกษตรกรรมภายในหมู่บ้านมาช้านาน โดยชาวบ้านเชื่อว่าการทำนาต้องมีการระลึกถึงบุญคุณของพระแม่โพสพที่ได้คุ้มครองให้ผลิตผลภายในหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์
- เดือนที่ 4 : ประเพณีปอยส่างลอง เป็นประเพณีแสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ โดยจะมีการอุปสมบทลูกชาย เพื่อดำเนินตามรอยพระพุทธเจ้า เป็นการค้ำจุนศาสนามิให้เสื่อมตามกาลเวลา
- เดือนที่ 5 : ปอยเหลินห้า หรือปอยซอนน้ำ ในเทศกาลนี้จะเป็นการสรงน้ำพระ เพื่อเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกินต่อพระพุทธศาสนา
- เดือน 6 : ปอยจ่าตี่ หรือการทำบุญก่อเจดีย์ทราย มีการถวายข้าวซอม หรือข้าวมธุปายาส เป็นการสะเดาะเคราะห์และขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อใช้ในการทำการเกษตร
- เดือน 7 : ประเพณีเหลินเจ็ด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านเมืองปอนจะเริ่มหว่านกล้าและเตรียมดินในการเพาะปลูกข้าว
- เดือน 8 : เริ่มการดำนาในวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งเป็นเทศกาลเข้าพรรษา มีการทำบุญเข้าพรรษาที่วัดควบคู่ไปกับการทำนา
- เดือน 9 : ชาวบ้านจะดำเนินการเพาะปลูกให้เสร็จภายในเดือนนี้พร้อมทั้งดูแลบำรุงรักษาพืชผลไปด้วย
- เดือน 10 : ประเพณีแฮนซอมต่อหลวง จะมีการนำข้าวสาร พืช และผลไม้ต่าง ๆ ไป รวม ไว้ที่วัด และจะ ช่วยกันจัดทำการแกะสลักผลไม้ให้สวยงามเพื่อถวายพระสงฆ์
- เดือน 11 : ประเพณีสำคัญ คือ ประเพณีออกพรรษา ในช่วงก่อนออกพรรษาคนในชุมชนจะทำการสร้างจองพารา (ปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่กลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา) มีลักษณะเป็นไม้ไผ่จักสานมัดเป็นรูปคล้ายปราสาทติดกระดาษแกะสลักอย่างสวยงามเพื่อนำขึ้นไปบูชา
- เดือน 12 : ถวายเทียนจุดโคมลอยเพื่อเป็นการบูชาแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ผ้าทอไตใหญ่บ้านเมืองปอน
ผ้าทอไทใหญ่ หรือไตใหญ่ ถือเป็นภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของชาวไทใหญ่ ชาวบ้านเมืองปอนจึงได้นำภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดตัวมา นำมาพัฒนา สร้างสรรค์เป็นรายได้ แต่เดิมการทอผ้าเป็นเพียงงานหัตถกรรมในครัวเรือนเท่านั้น แต่ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้หัตถกรรมผ้าทอกลายเป็นสินค้าประจำชุมชน โดยผ้าทอไตใหญ่บ้าเมืองปอนนั้นเป็นผ้าทอจากฝ้าย มีการปัก เย็บ และฉลุลายสวยงาม มีทั้งแบบคอจีนและคอกลม จุดเด่นอยู่ที่บริเวณกระดุมมีการตัดเย็บแบบตีเส้น ซึ่งอาจเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ผ้าทอไตใหญ่บ้านเมืองปอนมีความแตกต่างจากผ้าทอไตใหญ่ชุมชนอื่น ปัจจุบัน ได้มีการรวมกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อไตบ้านเมืองปอนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเสื้อไตเมืองปอนให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทันต่อยุคสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน
ภาษาพูด : ภาษาไทใหญ่ หรือภาษาฉาน
ภาษาเขียน : อักษรไทใหญ่ อักษรพม่า อักษรไทย
แม้ว่าปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อไตเมืองปอน จะเติบโตขึ้นมากเพียงใด ทว่า กลับยังคงประสบปัญหาในการวางแผนด้านการตลาดอย่างชัดเจน คือ โดยปกติแล้วกลุ่มฯ จะนำสินค้าออกไปจัดแสดงตามหน่วยงานราชการ ทำให้มีความสนใจเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ซึ่งบางครั้งในการออกจะแสดงสินค้าก็มักมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และรายได้ที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ก็ได้กำไรไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ยอดขายของกลุ่มมีน้อย และสินค้าที่จัดแสดงจะมีเฉพาะผ้าทอซึ่งมีรูปแบบไม่หลากหลาย รวมถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งค่าฝ้าย ค่าวัตถุดิบ ทำให้ได้กำไรน้อย ไม่ถึงเป้าหมายตามที่ทางกลุ่มฯ ตั้งไว้ ส่งผลให้การกระจายรายได้ภายในกลุ่มเป็นการกระจายรายได้ที่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกของกลุ่ม ส่งผลให้ในปัจจุบัน หมู่บ้านยังคงมีการผลิตผ้าทอ แต่ไม่ได้นำออกขายในนามกลุ่ม แต่เป็นการขายในลักษณะขายตรงไปสู่พ่อค้าคนกลาง โดยไม่ผ่านกลุ่มและกลุ่มไม่ได้กำไรจากการขายแต่อย่างใด
การท่องเที่ยวโดยชุมชน-ชุมชนบ้านเมืองปอน. (2555). สืบค้น 25 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/
นนทนันท์ นาคสมบูรณ์. (2560). การจัดการความรู้การทำจองพาราบ้านเมืองปอน ตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์. (ม.ป.ป.). เสื้อไตเมืองปอน กลุ่มตัดเย็บเสื้อไตเมืองปอน. สืบค้น 25 มกราคม 2567, จาก https://www.ar5ethnics.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. สืบค้น 25 มกราคม 2567, จาก https://muangpon.go.th/
อารี วิบูลย์พงศ์. (2548). กลุ่มตัดเย็บเสื้อไตบ้านเมืองปอน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
MGR Online. (2559). ยลเสน่ห์ “บ้านเมืองปอน” เรียนรู้ชีวิตชาวไทยใหญ่ เรียบง่ายไม่เหมือนใคร. สืบค้น 25 มกราคม 2567, จาก https://mgronline.com/