โนนศิลาถิ่นน่าอยู่ แก้วกู่ชัยมงคลคู่เมือง ลือเลื่องเสมาหินยุคทวารวดี มากมีผักปลอดสาร นมัสการหลวงปู่ชม แหล่งอุดมป่าโคกห้วยทราย
เล่ากันว่าแต่เดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ของบ้านโคกกลาง ม.5 มีเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ชาวบ้านได้ ประชุมตกลงกันว่า จะเก็บที่ดังกล่าวไว้เพื่อสร้างโรงเรียนให้เด็กมีสถานที่เรียน (เพราะในขณะนั้นยังใช้ศาลาการเปรียญวัดสระทองเป็นอาคารเรียนชั่วคราว) และต่อมาได้มีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านโคกกลาง เพราะว่าบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันมาก ทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง ซึ่งหมู่บ้านที่แยกมาตั้งใหม่นั้นในครั้งแรก ชื่อว่า “บ้านภูมูลเบ้า” (ตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตรซึ่งมีภูเขาดินเตี้ยอยู่ในหมู่บ้าน)และในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านโนนศิลา”
โนนศิลาถิ่นน่าอยู่ แก้วกู่ชัยมงคลคู่เมือง ลือเลื่องเสมาหินยุคทวารวดี มากมีผักปลอดสาร นมัสการหลวงปู่ชม แหล่งอุดมป่าโคกห้วยทราย
เทศบาลตำบลโนนสะอาด เดิมเป็น “สภาตำบลโนนสะอาด” จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งได้จัดตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 โดยให้เรียกชื่อว่า“สภาตำบล” ซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสะอาด เล่ากันว่าแต่เดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ของบ้านโคกกลาง ม.5 มีเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ชาวบ้านได้ ประชุมตกลงกันว่า จะเก็บที่ดังกล่าวไว้เพื่อสร้างโรงเรียนให้เด็กมีสถานที่เรียน (เพราะในขณะนั้นยังใช้ศาลาการเปรียญวัดสระทองเป็นอาคารเรียนชั่วคราว) และต่อมาได้มีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านโคกกลาง เพราะว่าบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันมาก ทำให้การปกครองไม่ทั่วถึง ซึ่งหมู่บ้านที่แยกมาตั้งใหม่นั้นในครั้งแรก ชื่อว่า “บ้านภูมูลเบ้า” (ตั้งชื่อตามสภาพภูมิศาสตรซึ่งมีภูเขาดินเตี้ยอยู่ในหมู่บ้าน)และในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านโนนศิลา” และยังคงจะใช้สถานที่สาธารณะประโยชน์แห่งนี้สร้างเป็นโรงเรียนของบ้านโนนศิลา พ.ศ. 2534 ได้มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านโคกกลาง ม.5 บ้านโนนคูณ ม.11 บ้านโนนศิลา ม.13 ณ ศาลาประชาคมบ้านโคกกลาง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างอาคารสภาตำบลโนนสะอาดขึ้นบนที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านโคกกลาง ม.5 โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล เป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง
- นายทวีศิลป์ คำภิบาล กำนันตำบลโนนสะอาด ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร
- นายสุวิทย์ สวัสดิ์มูล ครูโรงเรียน ดำรงตำแหน่ง เลขานุการประธานกรรมการบริหาร
หมู่บ้านโนนศิลา เดิมพื้นที่เป็นภูเขาน้อย มีภูเขาล้อมรอบบ้าน 9 ลูก ต่อมามีผู้คนออกมาสร้างบ้านเป็นที่อยู่อาศัย และเริ่มมีผู้คนเข้ามาสร้างบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการปรับพื้นที่ ปรับหน้าดินจากพื้นที่สูงเป็นพื้นที่ราบให้สามารถดำรงชีวิตได้ เดิมเป็นพื้นที่ของบ้านโคกกลาง หมู่ที่ 5 คุ้มภูมูลเบ้า แต่เนื่องจากเป็นหมู่ใหญ่ทางราชการดูแลไม่ทั่วถึงจึงแยกออกมาตั้งเป็นหมู่ 13 บ้านโนนศิลา เมื่อปีพุทธศักราช 2535 มีประมาณ 30 ครัวเรือน และได้แต่งตั้ง นายประเสริฐ จุลวรรณ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุ 60 ปี ต่อมาเป็นนายสมควร อุ่นน้อย ปีพุทธศักราช 2555 ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันหมู่บ้านโนนศิลามี 76 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 359 กว่าราย
บ้านโนนศิลา หมู่ที่ 13 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 500 ไร่ ที่อยู่อาศัย 100 ไร่
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านโคกกลาง
- ทิศใต้ ติดกับ เทศบาลกุดกว้าง
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านดอนหัน
- ทิศตะวันตก ติดกับ เทศบาลหนองแก
ลักษณะทางธรณีวิทยา ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไปสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ทำนาและทำสวน สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำได้ดีเหมาะสำหรับทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำสาธารณะ คือ คลองบุนา หมู่บ้านจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น แหล่งน้ำใต้ดินจะรองรับด้วยหินแข็งเป็นหินดินดาน หินทรายแข็ง หินกรวดมน คุณภาพน้ำดี
ลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน : เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งในรอบ 10 ปี มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 40.5 องศาเซลเซียส มีฝุ่นละอองจากการคมนาคม ในถนนบางสายในหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณติดถนนมะลิวัลย์
- ฤดูฝน : เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของทุกปี ช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังตามถนน ในบางปีมีปริมาณน้ำฝนมาก น้ำจะกักเก็บไว้ที่หนองสาธารณะในหมู่บ้าน
- ฤดูหนาว : เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไปจะมีอากาศหนาวจัดในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี อุณหภูมิทั้งปีเฉลี่ยต่ำสุด 18.3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 11.9 – 15.6 องศาเซลเซียส ซึ่งในเดือนดังกล่าวจะอยู่ในฤดูหนาว โดยในเดือนธันวาคมและมกราคม อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในรอบ 10 ปี 11.9 องศาเซลเซียส
สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและชุมชน
จากการสำรวจบ้านโนนศิลา หมู่ที่ 13 พบว่ามีจำนวนประชากร 359 คน มีจำนวนครัวเรือน 76 ครัวเรือน ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนชนบท มีลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ผสมปูน อยู่กันอย่างเป็นระเบียบมีการแบ่งอาณาเขตกันอย่างชัดเจน ตัวบ้านมีทั้งบ้านแบบเก่าและแบบใหม่ ซึ่งบ้านแบบเก่าจะเป็นบ้านไม้ มีสภาพมั่นคงแข็งแรง ส่วนบ้านแบบใหม่จะเป็นชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน การระบายอากาศในตัวบ้านมีทั้งดี และไม่ดี และบ้านอีกส่วนหนึ่งจะเป็นตึกแถว สิ่งแวดล้อมรอบบ้านมีต้นไม้อยู่จำนวนหนึ่ง สิ่งแวดล้อมในครัวเรือนแต่ละครัวเรือนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละครัวเรือน ทุกหลังคาเรือนมีห้องน้ำ มีทั้งถูกสุขลักษณะ และยังไม่ถูกสุขลักษณะในบางครัวเรือน ส่วนมากนิยมใช้ส้วมชักโครกและส้วมนั่งยอง สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนและถนนหนทางสะอาด จัดเป็นคุ้ม ง่ายต่อการดูแลประสานงานและการร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน บริเวณสถานที่เป็นส่วนรวมมีความสะอาด ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันดูแลของชาวบ้านทุกคน ในชุมชนจะไม่มีถังขยะ ซึ่งระบบการกำจัดขยะในหมู่บ้านจะเป็นการแยกขยะแล้วนำไปเผาเอง และมีบางส่วนที่นำไปทิ้งเองที่เทศบาลหนองแกได้จัดไว้ให้ ทำให้ชุมชนมีปริมาณขยะน้อย ในส่วนของการระบายน้ำในหมู่บ้านจะมีท่อระบายน้ำตามเส้นทางสายหลักของหมู่บ้าน แต่ภายในซอยของชุมชนไม่มีท่อระบายน้ำ ทำให้ในบางจุดพบน้ำขัง
แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเขตของชุมชน
ทรัพยากรน้ำ มีแหล่งน้ำสาธารณะ 1 แห่งบริเวณท้ายหมู่บ้าน คือ คลองบุนา เป็นแหล่งน้ำประจำหมู่บ้านใช้ในการประกอบเกษตรกรรมของหมู่บ้าน
สาธารณูปโภคในชุมชน
น้ำดื่มส่วนมากจะซื้อน้ำถัง น้ำใช้ ใช้น้ำประปาของหมู่บ้านเพียงอย่างเดียวซึ่งเพียงพอต่อการใช้ตลอดปี เกือบทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ หมู่บ้านโนนศิลา หมู่ที่ 13 อยู่ในเขตให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังานน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์
บ้านโนนศิลา หมู่ที่ 13 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในเขตปกครองของตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 500 ไร่ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร บ้านมีลักษณะเป็นบ้านไม้ส่วนมากแต่เริ่มมีบ้านปูนสร้างขึ้นใหม่ บ้านแบ่งส่วนขอบเขตชัดเจนโดยการสร้างกำแพงมาก มีแผนที่เดินดินประกอบไปด้วย ครัวเรือนทั่วไป 76 ครัวเรือน วัด 1 แห่ง โรงสีข้าว 2 แห่ง บ้านอสม.จำนวน 11 หลัง และยังปรากฏแหล่งประโยชน์ที่สำคัญดังตารางที่ 1
การคมนาคม
การเดินทางติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงอำเภอหรือจังหวัดโดยเฉพาะกับสถานบริการสุขภาพที่สำคัญ
บ้านโนนสะอาดอยู่ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาดประมาณ 3.2 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโรงพยาบาลหนองเรือประมาณ 15 กิโลเมตร ส่วนมากชาวบ้านจะใช้รถส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทางมารับบริการ การเดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลขอนแก่นส่วนมากชาวบ้านจะใช้รถส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทางมีบางส่วนที่ขี่รถโดยสารประจำทางไป และหมู่บ้านมีรถประจำทางผ่าน ขอนแก่น-เมืองเลย และขอนแก่น-หล่มสัก ราคา 42 บาท แต่หากครัวเรือนใดที่ไม่มีรถส่วนตัว หรือไม่สามารถเดินทางมาได้จะจ้างรถของคนในหมู่บ้าน ในกรณีที่ฉุกเฉินจะใช้รถกู้ภัยจากเทศบาลตำบลโนนสะอาด
พาหนะและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนจำนวนพาหนะและความถี่ในการให้บริการชุมชน
ระยะทางในการเดินทางระยะทางจากบ้านโนนศิลาถึงโรงพยาบาลขอนแก่น 62 กิโลเมตร หากต้องการไปรถโดยสารจะต้องออกมารอรถอยู่ที่หน้าตลาดหนองแก เพื่อเข้าในตัวจังหวัดขอนแก่น โดยรถสายจะมีค่าใช้จ่ายที่ 42 บาท ถ้าหากต้องการไปโรงพยาบาลหนองเรือจะต้องเดินทาง 15 กิโลเมตร ส่วนมากจะเดินทางโดยรถส่วนตัว
สภาพถนนในแต่ละฤดูกาล
ถนนภายในหมู่บ้านถนนส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีตและถนนบางสายเป็นถนนลูกรัง ทำให้การสัญจรสะดวกมากขึ้น ในฤดูหนาวและฤดูร้อนทางค่อนข้างดีมีฝุ่นเล็กน้อย หากในหน้าฝนอาจจะมีถนนลื่นบ้างเล็กน้อย
จำนวนประชากร 359 คน เพศชาย 198 คน เพศหญิง 161 คน จำนวนครัวเรือน 76 ครัวเรือน
หมู่บ้านโนนศิลามีประชากรทั้งหมด 359 คน เพศชาย 198 คน เพศหญิง 161 คน จำนวน 76 ครัวเรือนจากโครงสร้างอายุของประชากร พบว่า ช่วงอายุ 0-4 ปี มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 4.19 ช่วงอายุ 5-14 ปี มีประชากรคิดเป็นร้อยละ13.09 ช่วงอายุ 15-59 ปี มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 67.98 อายุ 60 ปีขึ้นไป มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 14.76
จากแผนภูมิที่ 1 แสดงพีระมิดจำนวนประชากร พบว่า เป็นพีระมิดแบบหดตัว (Constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นพีระมิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานพีระมิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆแคบเข้าคล้ายรูปดอกบัวตูม ซึ่งจากฐานพีระมิด แสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำหรือมีโครงสร้างประชากรลดลง จากปลายพีระมิดคาดการณ์ได้ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนสูงขึ้น เกิดภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ประชากรในช่วงอายุ 50-54 ปี มีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 9.75 มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และพบว่าประชากรช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 14.76 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยร้อยละ 10 พบว่า หมู่บ้านโนนศิลาได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่างๆ รายได้ต่อหัวของประชากร การออมและการลงทุน งบประมาณของรัฐบาล การจ้างงานและผลิตภาพของแรงงาน ทำให้วัยแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดค่าแรงสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุจะทำให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ผลกระทบต่อด้านสังคม คือ เกิดภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งสูงขึ้น เนื่องจากประชากรวัยทำงานต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุ เมื่อมีอัตราของภาวะพึ่งพิงที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้วัยแรงงานต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลกลุ่มประชากรนี้ ทำให้แรงงานตลาดอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ประชากรทั้งหมดของบ้านโนนศิลา หมู่ 13 ตำบลโนนศิลา นับถือศาสนาพุทธ และเชื้อชาติไทย จำนวน 257 คน คิดเป็นร้อยละ 100
การจัดระเบียบการปกครองหมู่บ้านของบ้านโนนศิลา หมู่ที่ 13 มีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ทำหน้าที่ปกครองราษฎรในเขตหมู่บ้าน โดยมีที่มาจากการเลือกของราษฎร คณะกรรมการหมู่บ้าน 9 คน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน คณะกรรมการ 6 คน บ่งบอกถึงการจัดตั้งหมู่บ้านตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ จัดเป็นประเภทหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
การรวมกล่มของชุมชน มี 8 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มกองทุนเงินล้าน 1 กลุ่ม
- กลุ่มกองทุนปุ๋ย 1 กลุ่ม
- กลุ่มกองทุนเจียระไนพลอย 1 กลุ่ม
- กลุ่มสตรี 1 กลุ่ม
- กลุ่ม อสม. 1 กลุ่ม
- กลุ่มแกนนำออกกำลังกาย 1 กลุ่ม
- กลุ่มปะปา 1 กลุ่ม
- กลุ่มธนาคารข้าว 1 กลุ่ม
ระบบข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน (Information System) ในหมู่บ้านรับทราบข้อมูลข่าวสาร โดยรับฟังการประชาสัมพันธ์จากหอกระจายข่าวของผู้ใหญ่บ้านและผู้นำกลุ่มอื่น รวมทั้งจากป้ายประกาศต่างๆ ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะดวก เข้าใจง่าย และทั่วถึง
ปฏิทินชุมชนบ้านโนนศิลา ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมด้านสังคมและอาชีพหลักของชุมชนบ้านโนนศิลา อันดับ 1 คือ อาชีพ อาชีพรับจ้างทั่วไป ทำสวน ทำนา ค้าขาย ตามลำดับ สำหรับด้านวัฒนธรรมพบว่าประเพณีพิธีกรรมความเชื่อวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชนมีกิจกรรมประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อตลอดทั้งปี ดังนี้
- วันขึ้นปีใหม่ ชุมชนเกิดความรื่นเริงสนุกสนานได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด
- วันมาฆบูชา การไปวัดตักบาตรทำบุญ เป็นการบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
- บุญข้าวจี่ จัดขึ้นเพื่อจะได้นำข้าวใหม่ ที่ได้จากการทำนาในแต่ละปีไปถวายพระผู้ทรงศีลได้ฉันก่อนเสมอ เพื่อความเป็นมงคลและเพิ่มผลผลิตในปีต่อไป
- บุญมหาชาติ จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ในวันเดียว โดยเชื่อว่าผู้ใดปฏิบัติได้จะพบพระศรีอริยะเมตไตร
- ประเพณีสงกรานต์ จัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณแก่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และครู อาจารย์ โดยการนำน้ำอบ น้ำหอมไปสรงน้ำให้ผู้สูงอายุ
- บุญเลี้ยงศาลปู่ตา หรือประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประเพณีความเชื่อของชาวอีสาน เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาน (Supernaturalism) ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ผี”
- บุญเบิกบ้าน (บุญชำระบะเบิก) จัดขึ้นเพื่อขับไล่สิ่งเสนียดจัญไรตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้านและขณะเดียวกันเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านได้
- วันวิสาขบูชา การเข้าวัดทำบุญตักบาตร เนื่องด้วยเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว
- วันอาสาฬหบูชา เป็นการไปวัดทำบุญตักบาตร เนื่องในวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
- วันเข้าพรรษา จัดขึ้นเพื่อนำเทียนและผ้าจำพรรษาไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้มีใช้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน
- บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นเพื่อนำห่อข้าวซึ่งมีอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ไปวางไว้ให้ผีบรรพบุรุษ นำไปกินโดยเชื่อว่าในคืนเดือนเก้าดับนี้ประตูนรกจะเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์
- บุญข้าวสาก จัดขึ้นเพื่อให้ข้าวกล้าในนางอกงามและได้ผลบริบูรณ์ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อว่า “ผีตาแฮก” ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษาข้าวกล้าในนาให้ได้ผลดี
- วันออกพรรษา จัดขึ้นเพื่อจุดประทีป โคมไฟ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า
- ลอยกระทง จัดขึ้นเพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และเพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
ประโยชน์ของปฏิทินชุมชน
- ปฏิทินเศรษฐกิจ การทำปฏิทินเศรษฐกิจจะช่วยให้ทราบรายละเอียดอาชีพและช่วงเวลาของการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังช่วยให้เข้าใจพลวัตและความหลากหลายทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากเศรษฐกิจในระบบทั่วไปที่พบเห็นได้ในเมือง
- ปฏิทินสังคม/วัฒนธรรม การทำปฏิทินสังคม/วัฒนธรรมถือเป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวบ้านโนนศิลา การจัดทำปฏิทินนี้จะช่วยให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจจารีต ประเพณี และวิถีชีวิตตลอดจนระบบคุณค่าที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านได้
1.นายสมควร อุ่นน้อย อายุ 52 ปี ปัจจุบันอาศัยที่บ้านเลขที่ 139 บ้านโนนศิลา ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2511 ที่บ้านหนองรุมพุก ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพี่น้อง 8 คน เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายบัว อุ่นน้อย และนางพัน อุ่นน้อย อาศัยอยู่ที่ บ้านหนองรุมพุก ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นนิสัยร่าเริง มีความรับผิดชอบ เรียนจบชั้น ป.6 ที่โรงเรียนหนองลุมพุก ตำบลโนนสะอาด เป็นคนเรียนดี และได้เรียนต่อ กศน. ถึงชั้น ม.3 แต่เนื่องจากฐานะทางครอบครัวค่อนข้างยากจนจึงไม่เรียนต่อ ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำนาเพราะเห็นพ่อแม่ลำบาก ควบคู่ไปกับรับจ้างทั่วไปเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ เมื่อปีพุธศักราช 2530 แต่งงานกับนางเมลี อุ่นน้อย ตอนอายุ 20 ปี จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านโคกกลาง คุ้มภูมูนเบ้า ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และเปิดร้านขายของชำที่บ้านของตนเอง ต่อปีพุธศักราช 2535 ได้แยกออกมาตั้งเป็นบ้านโนนศิลา ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จึงได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปีพุธศักราช 2544 เศรษฐกิจฝืดเคือง จึงไปทำงานที่ประเทศไต้หวันที่โรงงานทอผ้า ประมาณ 2 ปี กลับมาอยู่ที่บ้านมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประมาณ 2 ปี ปีพุธศักราช 2548 ไปทำงานโรงกลึงประเทศเกาหลี ประมาณ 5 ปี แล้วกลับมาลงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน และได้เป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อพุธศักราช 2555 และดำเนินตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบัน
2.นายธีรวุฒ อยู่ดี อายุ 49 ปี ปัจจุบันอยู่ที่บ้านเลขที่ 101/2 บ้านโนนศิลา หมู่ 13 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2514 มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายหนูกาย อยู่ดี และนางหลอด อยู่ดี อาศัยอยู่กับบิดามารที่บ้านโนนศิลา ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เป็นคนอารมณ์ดี รักครอบครัว ขยันทำมาหากิน แต่มีความขัดแย้งเรื่องมรดกกับพี่น้อง เคยศึกษาที่โรงเรียนโคกกลางนูนคูณ จบชั้น ป.6 แต่เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจในครอบครัวไม่ดี ออกจากโรงเรียนมาบวชเรียนอยู่ที่วัดบ้านศิลา จนจบนักธรรมชั้นเอก เมื่ออายุ 21 ปี เข้าเกณฑ์ทหารได้ใบแดง ได้สึกออกมาเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี หลังออกเกณฑ์ทหาร ทำอาชีพเกษตรกร เมื่อปีพุธศักราช 2537 แต่งงานกับนางศรศรี อยู่ดี หลังแต่งงานมีลูกด้วยกัน 2 คน ชื่อนางสาวรุ่งฤดี อยู่ดี อายุ 25 ปี จบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายทวีศักดิ์ อยู่ดี อายุ 21 ปี กำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปีพุธศักราช 2553 เศรษฐกิจไม่ดี หันมาทำโรงสีข้าวควบคู่ไปกับทำการเกษตรมาถึงปัจจุบัน
ทุนกายภาพ ทรัพยากรน้ำ มีแหล่งน้ำสาธารณะ 1 แห่งบริเวณท้ายหมู่บ้าน คือ คลองบุนา เป็นแหล่งน้ำประจำหมู่บ้านใช้ในการประกอบเกษตรกรรมของหมู่บ้าน
ทุนเศรษฐกิจ กองทุนเงินล้าน กลุ่มธนาคารข้าว
ชุมชนบ้านศิลาได้เข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านโนนศิลาร่วมแรงร่วมใจ ลดขยะ ลดโรคจากการสำรวจชุมชนบ้านโนนศิลา หมู่ 13 ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณขยะในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ประมาณ 4.8 ตันต่อเดือน เนื่องจากหลายๆปัจจัยของชุมชน ได้แก่ ปัจจัยบุคคล ได้แก่ ไม่มีมาตรการบังคับ คนในชุมชนขาดความตระหนัก คนในชุมชนพร่องความรู้เรื่องวิธีการจัดการขยะ ร้อยละ 5 แหล่งรับซื้อขยะและแหล่งกำจัดขยะ ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอในการเดินทางไปกำจัดขยะในแหล่งขยะที่อยู่ไกลจากชุมชน ปัจจัยด้านแหล่งกำจัดขยะ ได้แก่ ไม่มีถังขยะ ร้อยละ 35 ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ท่อระบายน้ำในชุมชนไม่เพียงพอ จึงทำให้มีการจัดการขยะไม่ถูกวิธี ซึ่งชุมชนมีวิธีการจัดการขยะในครัวเรือน ได้แก่ เผา ร้อยละ 70 นำไปทิ้ง ร้อยละ 55 นำไปขาย ร้อยละ 90 การคัดแยกขยะไม่ถูกวิธี ร้อยละ 10 ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่ตามมาคือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง น้ำเน่าเสีย ดินเสื่อมสภาพ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน รวมถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะนำโรค สิ่งสำคัญที่สุดคือ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชน เช่น คนในชุมชนป่วยเป็นโรคหอบหืด ร้อยละ 3.62 ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ร้อยละ 0.84 เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงภาวะสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ จึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้านโนนศิลาร่วมแรงร่วมใจ ลดขยะ ลดโรค เพื่อนำร่องในการบริหารจัดการขยะ สร้างมูลค่าขยะให้เป็นรายได้เสริมแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้วิธีการคัดแยกขยะ การจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติและป้องกันแหล่งที่มาของโรคที่เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยในอนาคตต่อไป
ชุมชนบ้านโนนศิลามีจุดที่น่าสนใจอื่นๆเช่น ร้านหมาล่ารสเด็ด ครัวแสนนา ร้านบ้านเพื่อน และ วัดนทีศิลาราม
พิมพ์พรรณ ศิลปะสุวรรณ. (2557). ทฤษฎี ปรัชญา ความรู้สู่การปฏิบัติในการพยาบาลอนามัยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
ไพบูลย์ โล่ห์สุนทร. (2558). ระบาดวิทยา (Epidemiology). พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศิราณี อินทรหนองไผ่. (2554). กระบวนการพยาบาล:เครื่องมือนักจัดการสุขภาพองค์รวมเพื่อวิวัฒน์และพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิ. พิมพ์ครั้งที่ 5. มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ศิวพร อึ้งวัฒนา และพรพรรณ ทรัพย์ไพบูลย์กิจ. (2555). การพยาบาลชุมชน. เชียงใหม่: โครงการตำรา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สกุณา บุญนรากร. (2556). การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 5. สงขลา: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์.
อาภาพร เผ่าวัฒนา และคณะ. (2563). สุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน : การประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.