ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา กับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และพัฒนากลายเป็นชุมชนเมืองในปัจจุบัน
สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ปะตีน" เป็นภาษาท้องถิ่นที่หมายถึงทิศใต้ และคำว่า "เมรุ" ซึ่งมีที่มาจากการตั้งเมรุเผาศพพระญาติของเจ้าเมืองในอดีต ต่อมาเมื่อมีการตั้งเป็นชุมชนและวัดจึงใช้ชื่อว่า "ตีนเมรุ" หมายถึงเมรุที่อยู่ทางทิศใต้
ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา กับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และพัฒนากลายเป็นชุมชนเมืองในปัจจุบัน
ชุมชนวัดตีนเมรุหรือชุมชนตีนเมรุ เป็นชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 12 ไร่เศษ ในอดีตเป็นพื้นที่ป่าที่มีถนนตัดผ่าน ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยมากนัก จากคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนให้ข้อมูลว่า เจ้าเมืองสงขลามีพระธิดาชื่อ ศรีสุดา แต่ทรงสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในการจัดงานพระศพได้มีการเคลื่อนพระศพมาตามถนน ไปยังเมรุที่ตั้งวัดบริเวณสุดปลายทางสถานีรถไฟสงขลา เพื่อประกอบพิธีศพของพระธิดา ตั้งแต่นั้นมาก็ได้เรียกชื่อว่าถนนศรีสุดา และวัดตีนเมรุศรีสุดาราม และต่อมาก็มีผู้คนเข้ามาลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีสถานที่ราชการหลายหน่วยงานในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของเมือง และทางราชการจึงได้ประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนของเทศบาลนครสงขลาเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2529 โดยใช้ชื่อว่า "ชุมชนวัดตีนเมรุ"
ชุมชนวัดตีนเมรุ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 362,152.70 ตารางเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนไชยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนปละท่า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนศรีสุดา
ชุมชนวัดตีนเมรุ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 645 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น 1,291 แบ่งเป็นประชากรชาย 620 และประชากรหญิงจำนวน 671 คน
ชุมชนวัดตีนเมรุ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการค้าขาย อาชีพรับราชการ และอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยประชากรมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 295,123 (บาท/ปี) และรายได้บุคคลเฉลี่ย 116,398 (บาท/ปี)
วัดตีนเมรุศรีสุดาราม
วัดตีนเมรุศรีสุดาราม เป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชนตีนเมรุมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านเล่ากันว่าในอดีตมีพระภิกษุชื่อ "ขรัวบ่อทอง/ขรัวทอง" ได้เดินทางธุดงมาและพักค้างอยู่ในบริเวณนี้เพื่อพำนักอยู่ปริวาสกรรม และต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2320 มาจนถึงปัจจุบัน
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). ชุมชนวัดตีนเมรุ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.songkhlacity.go.th/
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. วัดตีนเมรุศรีสุดาราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/4811