ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา ย่านธุรกิจการค้า และสถานบันเทิงในอดีต และประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญของชุมชนที่น่าสนใจ
บริเวณชุมชนศรีสุดา ในอดีตมีเพียงถนนเส้นเล็ก ๆ ตัดผ่านชุมชน ซึ่งไม่ได้มีชื่อเรียกแต่อย่างใด ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเคลื่อนขบวนพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระนามว่า "ศรีสุดา" ผ่านมายังถนนสายนี้ เพื่อไปทำพิธีพระราชทานเพลิงศพยังสถานีรถไฟ (บริเวณถนนปละท่าในปัจจุบัน) ชาวบ้านจึงเรียกถนนสายนี้ว่าถนนศรีสุดาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และสถานที่ในการทำพิธีพระราชทานเพลิงศพทิศเหนือติดตรงกับทางเข้าวัดซึ่งตั้งอยู่บนถนนนาสาร จึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดตีนเมรุศรีสุดาราม"
ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา ย่านธุรกิจการค้า และสถานบันเทิงในอดีต และประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญของชุมชนที่น่าสนใจ
บริเวณชุมชนศรีสุดา ในอดีตมีชื่อเรียกว่าหมู่บ้านผีสำราญ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้าง และเป็นที่ร่ำลือว่ามีผีดุ ต่อมาเมื่อชุมชนขยายตัวมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นก็ได้มีเปลี่ยนชื่อเป็นชุมชนศรีสำราญ ในบริเวณชุมชนมีเพียงถนนเส้นเล็กๆ ตัดผ่านชุมชน ซึ่งไม่ได้มีชื่อเรียกแต่อย่างใด ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเคลื่อนขบวนพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระนามว่า "ศรีสุดา" ผ่านมายังถนนสายนี้ เพื่อไปทำพิธีพระราชทานเพลิงศพยังสถานีรถไฟ (บริเวณถนนปละท่าในปัจจุบัน) ชาวบ้านจึงเรียกถนนสายนี้ว่าถนนศรีสุดาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และสถานที่ในการทำพิธีพระราชทานเพลิงศพทิศเหนือติดตรงกับทางเข้าวัดซึ่งตั้งอยู่บนถนนนาสาร จึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดตีนเมรุศรีสุดาราม"
ถนนศรีสุดาในสมัยก่อนประชาชนมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ประกอบอาชีพค้าขาย หาเช้ากินค่ำแบบสามัญชนทั่วไป แต่ความทรงจำของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกว่าถนนศรีสุดาเป็นถนนของคนกลางคืน ซึ่งเกิดจากการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมประมงย่านศรีสุดาในอดีต จึงเป็นย่านที่สัมพันธ์กับการเป็นที่เที่ยวยามค่ำคืนของลูกเรือชาวประมง ทำให้เกิดการเติบโตของย่านโสเภณี ร้านอาหาร สถานบริการหรือสถานบันเทิง ถนนศรีสุดาในอดีตเป็นแค่ถนนเส้นเล็กๆ ไม่ได้เจริญเหมือนในปัจจุบัน ตามรายทางส่วนใหญ่ก็จะเป็นบ้านสองชั้นที่ปล่อยให้เหล่าโสเภณีได้เช่า จนกลายเป็นสถานที่ทำมาหากินของเหล่าโสเภณี
คนเก่าแก่ในอดีต ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตั้งแต่ถนนศรีสุดาจนถึงโรงสีแดง เป็นย่านโสเภณีเกือบทั้งหมด ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจึงเปิดร้านขายของชำเพื่อทำมาหากิน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเหล่าโสเภณีที่มาจับจ่ายซื้อของกินของใช้ และได้มีการบอกเล่าว่าเหล่าโสเภณีส่วนใหญ่ในย่านนี้มักจะเป็นคนที่มาจากภาคอีสาน ส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยความเต็มใจ เพราะต้องการมีเงินมีรายได้ แต่ก็มีบ้างที่ถูกหลอกมา หรือถูกพ่อแม่ขายมาเพื่อแลกเงิน ซึ่งชาวบ้านมักจะมีคำติดปากไว้เรียกเหล่าโสเภณีในย่านนี้ว่า "พวกตกเขียว" จึงกล่าวได้ว่าย่านถนนศรีสุดา คือ สีสันยามราตรีแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลาที่มีผู้คนมาท่องเที่ยวและทำงานกันมากทั้งจากลูกเรือชาวประมงและผู้คนที่หลงใหลในการท่องเที่ยวกลางคืน
นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การเข้ามาของธุรกิจเรือน้ำมัน นำพาผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยโดยเฉพาะชาวตะวันตก ส่งผลให้ย่านถนนศรีสุดากลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการเป็นย่านธุรกิจการค้าและด้านความบันเทิง ส่งผลให้ภาพด้านลบเกี่ยวกับถนนศรีสุดาได้จางหายไปจากความทรงจำของผู้คน ดังนั้น ถนนศรีสุดาจึงถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของย่านนี้ในอดีตได้เป็นอย่างดี นอกจากภาพร้านค้า ร้านอาหาร ผับบาร์ ที่ปรากฏยามค่ำคืนแล้ว ย่านถนนศรีสุดาคือพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองสงขลาที่มีผู้คนจากส่วนต่างๆ เข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่อย่างหนาแน่น
ชุมชนศรีสุดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเมือง มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 149,661.80 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มใกล้กับทะเลสาบสงขลา มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนสะเดา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนไชยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
ชุมชนศรีสุดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเมืองที่มีจำนวนครัวเรือนอยู่อาศัยทั้งสิ้น 462 ครัวเรือน แบ่งประชากรออกเป็น ประชากรชาย 271 คน ประชากรหญิง 333 คน รวมมีประชากรทั้งหมดจำนวน 604 คน
ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนศรีสุดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นหลัก เนื่องจากเป็นชุมชนเมืองที่มีความเจริญทางด้านสภาวะเศรษฐกิจ บางส่วนประกอบอาชีพด้านธุรกิจการบริการต่างๆ และนอกจากนี้ยังมีประชากรที่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อเลี้ยงชีพ โดยมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 330,555 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 131,250 บาท/ปี และเนื่องจากเป็นชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ชุมชนจึงมีการรวมตัวกันของสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอาชีพของตนเอง
ชุมชนศรีสุดา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นย่านชุมชนเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลา และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัด โดยพื้นที่ชุมชนศรีสุดาได้รับความร่วมมือจากทางจังหวัดในการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมวันสงกรานต์ของจังหวัดสงขลาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
โดยชุมชนศรีสุดาจัดงานสงกรานต์ขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีการใช้ชื่องานในแต่ละปีในชื่อต่างๆ เช่น "ศรีสุดามหาสงกรานต์" "สงกรานต์ศรีสุดา" ฯลฯ เพื่อให้คนในชุมชนศรีสุดา และชุมชนใกล้เคียงรวมถึงนักท่องเที่ยว ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี และวัฒนธรรมของไทย มีการจัดพิธีกรรมทางศาสนา รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การประกวดเทพีสงกรานต์สาวประเภทสอง จัดการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
1.นายแปลก มนตรี ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม นายหนังตะลุง
2.นายอมรเทพ ธนพัฒน์สกุลชัย ปราชญ์ชุมชนด้านหัตถกรรม จักสาน/ทำว่าวไทย
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนศรีสุดา เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
ศาลากลางจังหวัดสงขลา. (2558). เทศบาลนครสงขลาจัดงานแถลงข่าว "สงกรานต์ศรีสุดา" ประจำปี 2558. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhla.go.th/
HATYAI FOCUS. (2566). ถนนศรีสุดา บ่อยาง (สงขลา) ในอดีต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/
MGR online. (2555). “ศรีสุดามหาสงกรานต์” ครึกครื้น รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ร่วมสืบสานประเพณี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://mgronline.com/