Advance search

ชมนาขั้นบันได วิวข้าวดอยผืนใหญ่โอบล้อมด้วยเทือกเขาตระการตา หนึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในโครงการปงผาง escape 

ผาด่าน
ทากาศ
แม่ทา
ลำพูน
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.พ. 2024
บ้านผาด่าน

มีเรื่องเล่าว่าในอดีตหมู่บ้านนี้เคยเป็นด่านทหารของพระนางจามเทวีมาก่อน จึงเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านผาด่าน” 


ชมนาขั้นบันได วิวข้าวดอยผืนใหญ่โอบล้อมด้วยเทือกเขาตระการตา หนึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในโครงการปงผาง escape 

ผาด่าน
ทากาศ
แม่ทา
ลำพูน
51170
18.36439514
99.03763622
เทศบาลตำบลทากาศเหนือ

บ้านผาด่าน เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2390 จนถึงปัจจุบัน ผาด่านจึงมีอายุเกือบ 300 ปี ในสมัยแรกมีชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านแม่เรียงพัฒนา ซึ่งในปัจจุบันคืออําเภอเสริมงาม จังหวัดลําปาง ต่อมาบางส่วนได้แยกย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยแม่สะแง๊ะ อยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี ก็ย้ายไปอาศัยอยู่บ้านห้วยแม่อมฮึก และมาอยู่ที่บริเวณลําห้วยผาด่าน อําเภอแม่ทา จังหวัดลําพูน อยู่ได้ประมาณ 5-6 ปี จึงได้ขยับย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณที่เป็นที่ตั้งชุมชนในปัจจุบัน โดยเริ่มแรก ผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มีเพียง 5 ครัวเรือน จากนั้นจึงอพยพตามกันมาเรื่อย ๆ จนขยายใหญ่เป็นหมู่บ้านดังเช่นปัจจุบัน

ขณะเดียวกันคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนก็มีตํานานเรื่องเล่าที่เล่าให้ลูกหลานฟังว่า เดิมทีบ้านผาด่านมีชื่อว่า “พอฮุ่ยถ่า” เป็นชื่อเรียกตามลักษณะของป่าไม้ที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ในภาษาปกาเกอะญอ คําว่า “พอ” แปลเป็นภาษาไทยว่า ดอกไม้ “ฮุ่ย” แปลว่า ต้นไม้ รากไม้ ส่วนคําว่า “ถ่า” แปลว่า สบ ห้วย ซึ่งในอดีตมีต้นไม้หอมชนิดนี้อยู่บนภูเขา ชาวบ้านจึงใช้ชื่อต้นไม้หอมเป็นชื่อของหมู่บ้าน และต่อมามีคนเมืองกลุ่มหนึ่งเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านผาด่าน” เพราะจากคําบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าราว 700 ปีก่อน หมู่บ้านนี้เคยเป็นด่านทหารของพระนางจามเทวีมาก่อน จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านผาด่าน” จนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านผาด่าน ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ตําบลทากาศ อําเภอแม่ทา จังหวัดลําพูน อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตําบลทากาศเหนือ การเดินทางจากหมู่บ้านผาด่านไปสู่อําเภอแม่ทา หรือเดินทางไปสู่ตัวจังหวัดลําพูน สามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวได้ตลอดเส้นทาง เพราะเส้นทางทั้งหมดจะเป็นถนนคอนกรีตและถนนลาดยางในบางจุด นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจําทางได้ โดยขึ้นรถสายบ้านทา-ลําพูน หากต้องการเข้าตัวเมือง หรือขึ้นรถสายบ้านทา-แม่ทา ในกรณีที่เดินทางไปตัวอําเภอแม่ทา บ้านผาด่านมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดอยแช่ หมู่ที่ 3 ตำบลทากาศ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่สะแง๊ะ หมู่ที่ 15 ตำบลทากาศ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ป่าสงวนแห่งชาติ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านป่าเลา หมู่ที่ 9 ตำบลทากาศ

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านผาด่านตั้งอยู่ในพื้นที่ราบหุบเขา พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านมีภูเขาและลําธารล้อมรอบ ทรัพยากรธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร ยังคงมีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าบางชนิดที่สามารถนํามาประกอบอาหารและใช้ประโยชน์ได้ ลําน้ำสําคัญสายหลักที่ชุมชนใช้อุปโภคบริโภค คือ ลําห้วยผาด่าน ซึ่งไหลมาจากจังหวัดลําปางผ่านหมู่บ้านผาด่านก่อนจะไหลไปสู่บ้านป่าเลาและเขตตําบลทาขุมเงิน อําเภอแม่ทา

สภาพภูมิอากาศ

บ้านผาด่านสามารถแบ่งสภาพภูมิอากาศออกเป็น 3 ฤดู โดยแบ่งเป็นฤดูหนาว 4 เดือน ฤดูร้อน 3 เดือน และฤดูฝน 5 เดือน ดังนี้

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม

ทรัพยากรป่าไม้

บ้านผาด่าน มีทรัพยากรป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากพอสมควร คนในชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาของป่าเพื่อนํามาประกอบอาหาร สมุนไพร ยารักษาโรค เชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย เช่น ไม้สัก ไม้แดง หญ้าคา ยางไม้ ฟืน ว่าน ไพร รากไม้ เห็ด หน่อไม้

ทรัพยากรดิน

ทรัพยากรดินในพื้นที่บ้านผาด่าน ยังมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถที่จะทําการเพาะปลูกข้าวไร่ ทําสวนลําไย ปลูกผักสวนครัว และให้ผลผลิตในระดับดี

ทรัพยากรน้ำ

แหล่งน้ำสําคัญของชุมชน คือ ลําห้วยผาด่าน เป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในชุมชนมาโดยตลอด คนในชุมชนสามารถใช้น้ำในการอุปโภคได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็มีลําห้วยสายเล็ก ๆ ไหลล้อมรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลา ปู หอย ซึ่งคนในชุมชนสามารถนําสัตว์เหล่านี้มาประกอบอาหารได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภายในชุมชนปัจจุบันประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เนื่องจากประชากรในหมู่บ้านมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชนมีเพียงแหล่งเดียว และด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรนี้ ทําให้จํานวนสัตว์น้ำเริ่มมีอัตราลดน้อยลงเรื่อย ๆ วิถีการพึ่งพิงตลาดภายนอกจึงเริ่มขึ้น

ข้อมูลประชากรตำบลทากาศจากสำนักทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 10 บ้านผาด่าน มีประชากรทั้งสิ้น 521 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 277 คน ประชากรหญิง 244 คน และจำนวนครัวเรือน 197 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

การประกอบอาชีพในชุมชนบ้านผาด่านมีอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งการที่ใครประกอบอาชีพอะไรนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในด้านอายุและการศึกษาเป็นสําคัญ ในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอายุมากแล้ว วิถีชีวิตผูกพันและพึ่งพิงกับป่ามาโดยตลอด คนกลุ่มนี้จะเข้าไปเก็บของในป่ามาเพื่อประกอบอาหารเป็นหลัก และเมื่อเหลือจึงนํามาขาย ของป่าที่นิยมนํามาขาย เช่น งา เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน และอาชีพที่เป็นที่นิยม คือ การขายมะหมื่น ของป่าชนิดหนึ่งที่สามารถเข้าไปเก็บในป่าได้ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม หลังจากที่เก็บมาจากป่าแล้วต้องนํามาทุบเพื่อเอาเมล็ดข้างในออก ก่อนนําไปตากให้แห้งแล้วจึงนําไปขาย มะหมื่น 1 ลิตรขายได้ 20 บาท ในแต่ละวันจะสามารถทุบได้ประมาณ 3 ลิตร ซึ่งก็เท่ากับได้เงินวันละ 60 บาท ในแต่ละสัปดาห์จะมีคนนอกหมู่บ้านเข้ามารับซื้อ 1-2 ครั้ง เมื่อหมดฤดูของมะหมื่นในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะเปลี่ยนมาเก็บครั่งขาย รวมถึงการทําเครื่องจักสาน ซึ่งสามารถขายได้ชิ้นละประมาณ 200-300 บาท เป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของวัยผู้สูงอายุ

ทางด้านวัยกลางคนนั้นมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ลักษณะเด่นของการทำนาของชาวปกาเกอะญอบ้านผาด่าน คือ การทำนาแบบขั้นบันได ซึ่งในปัจจุบัน นาขั้นบันไดนี้ได้กลายเป็นหนึ่งจุดเด่นของชุมชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านผาด่านตามเส้นทางการท่องเที่ยว ปงผาง escape (เส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3 หมู่บ้านปกาเกอะญอในเขตเทศบาลตำบลทากาศเหนือ ได้แก่ บ้านปงผาง บ้านแม่สะแง๊ะ และบ้านผาด่าน) แต่วัตถุประสงค์หลักมักเพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าการขาย เมื่อว่างจากฤดูทำนาจะเลี้ยงวัว ควาย โดยเจ้าของจะเริ่มขึ้นไปเอาวัว ควายลงมาจากภูเขา มีกลุ่มพ่อค้าเข้ามารับซื้อควายเป็นจํานวนมาก คนที่มีควายมากหรือมีความจําเป็นที่ต้องใช้เงินก็จะขายควายในช่วงนี้ ส่วนคนที่ไม่มีวัวควายก็ลงไปรับจ้างที่หมู่บ้านอื่น เช่น ตัดแต่งกิ่งลําไย เก็บลําไย ก่อสร้าง หรือบางส่วนที่เหลือจะทํางานอยู่ที่บ้าน เช่น แกะสลักไม้ ทอผ้า ฯลฯ

ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันส่วนใหญ่นิยมเข้าไปเป็นพนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลําพูน และโรงงานอื่นในตัวจังหวัด เช่น โรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานกระเป๋า โดยเดินทางไป-กลับ เป็นประจำทุกวัน ทั้งนี้ ยังมีแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถออกไปทํางานรับจ้างภายนอกหมู่บ้านได้ เช่น มีภาระเรื่องการเลี้ยงลูก ต้องดูแลบ้าน ทางบริษัทจะมีการส่งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้บุคคลเหล่านี้ที่ประสงค์อยากทำงานแต่มีภาระไม่สามารถเดินทางได้ เป็นการรับเหมางานจากโรงงานหรือบริษัทมาทำที่บ้าน แม้ว่าการรับเหมางานจากโรงงานหรือบริษัทมาทําที่บ้านจะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า แต่แรงงานก็พอใจในค่าจ้าง เนื่องจากเห็นว่าดีกว่าไม่มีงานทํา

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าบ้านผาด่านเป็น 1 ใน 3 หมู่บ้าน ในโครงการ ปงผาง escape โครงการท่องเที่ยวชุมชนปกาเกอะญอ 3 ชุมชน (บ้านปงผาง บ้านแม่สะแง๊ะ และบ้านผาด่าน) ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยเทศบาลตำบลทากาศเหนือ โดยจุดเด่นที่เป็นจุดขายของบ้านผาด่านในโครงการท่องเที่ยวนี้ คือ บ้านผาด่านตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง รายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และทัศนียภาพนาขั้นบันไดที่งดงามตระการตา มีร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านค้าชุมชนเล็ก ๆ ทั่วหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีเส้นทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง ตั้งแต่ลำธารน้ำห้วยแม่ขนาดที่ไหลขนาบตลอดตัวหมู่บ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำ พักผ่อนฟังเสียง สูดกลิ่นธรรมชาติได้อย่างเต็มปอด รวมถึงลานกางเต็นท์ ที่สามารถมองเห็นความงดงามของนาขั้นบันไดอันเป็นไฮไลท์สำคัญของการท่องเที่ยวบ้านผาด่านได้อย่างชัดเจน

บ้านผาด่านมีประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อที่สืบทอดมาจากอดีต และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงสอดคล้องกับหลักความเชื่อเรื่องผีและบรรพบุรุษผสมผสานกับกระแสความทันสมัยที่เข้ามาสู่ชุมชน เช่น การแต่งงาน การเลี้ยงผี การขึ้นบ้านใหม่

ประเพณีการแต่งงาน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นสืบทอดต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การแต่งงานระหว่างหนุ่มสาวใช้ชุดพื้นเมืองในการประกอบพิธี (ปัจจุบันบางคู่เริ่มใส่ชุดไทยประยุกต์ตามสมัยนิยม) การแต่งงานจะจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย มีการมัดมือ การอวยพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วยอาหารพื้นบ้านที่สามารถทําขึ้นอย่างง่าย ๆ ภายในหมู่บ้าน มีการร้องรําทําเพลงเพื่ออวยพรคู่บ่าวสาว

ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ มีการเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นไปทำพิธีกรรมบนบ้านเพื่อเป็นการอวยพรให้บ้านนี้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเสร็จพิธีกรรมดังกล่าวก็ถือเป็นอันเรียบร้อย แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลังจากพิธีทางความเชื่อตามหลักผีและบรรพบุรุษเสร็จสิ้นลง บางบ้านเริ่มมีการนําพิธีทางพระพุทธศาสนาเข้ามาใช้ร่วมด้วย โดยนิมนต์พระมาทําพิธีขึ้นบ้านใหม่ สะเดาะเคราะห์ พรมน้ำมนต์ และเจิมบ้านใหม่ต่อจากพิธีกรรมตามความเชื่อของบรรพบุรุษ

นอกจากประเพณีดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเพณีผูกข้อมือ บุญข้าวใหม่ เลี้ยงผีประจำปี (เดือนกุมภาพันธ์) รดน้ำดำหัว เลี้ยงผีหมู่บ้าน (เดือนมิถุนายน) เลี้ยงผีต้นน้ำ เลี้ยงผีบ้าน และเดปอทู (สะดือต้นไม้) ซึ่งประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านผาด่านอยู่ในปัจจุบัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านผาด่านเดิมเป็นคนปกาเกอะญอทั้งหมด แม้ว่าในปัจจุบันมีบางส่วนเลือกแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ แต่เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนต้องเรียนรู้และทําความเข้าใจในภาษาปกาเกอะญอเช่นกัน ภายในครอบครัวและชุมชนจึงยังคงใช้ภาษาปกาเกอะญอในการสื่อสารกันเป็นหลัก

ส่วนการติดต่อสื่อสารด้วยภาษาอื่นนั้น เนื่องจากในปัจจุบันมีพ่อค้าจากภายนอกเข้ามาค้าขายในหมู่บ้านบ่อยครั้ง ทําให้ชาวบ้านบางส่วนที่ติดต่อทําการค้ากับบุคคลเหล่านี้สามารถพูดคุยและสื่อสารกับคนภายนอกเป็นคำเมือง (ภาษาเหนือ) ได้ แต่หากสื่อสารด้วยภาษาไทยกลาง คนกลุ่มนี้จะเข้าใจและไม่เข้าใจบ้างในบางคำส่วนชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้ติดต่อทําการค้าด้วยก็ยังคงสื่อสารได้เพียงภาษาปกาเกอะญอเช่นเดิม และจะสามารถสื่อสารเป็นภาษาคำเมืองได้เพียง 4-5 ประโยคเท่านั้น ด้านกลุ่มวัยกลางคนที่ออกไปทํางานในนิคมอุตสาหกรรมหรือออกไปรับจ้างภายนอกหมู่บ้านและเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานของภาครัฐ จะสามารถติดต่อสื่อสารได้ทั้งภาษาปกาเกอะญอ คำเมือง และภาษาไทยกลางได้เป็นอย่างดี เพราะมีโอกาสในการได้ยิน ได้ฟัง ได้พูดคุยกับคนภายนอกอยู่เป็นประจํา ทําให้สามารถติดต่อสื่อสารได้หลายภาษา อีกทั้งปัจจุบันภายในหมู่บ้านเริ่มมีโทรศัพท์ วิทยุเข้ามา ทําให้คนภายในชุมชนได้ฝึกภาษาจากการฟังและพูดเพิ่มมากขึ้น


ในอดีตชุมชนบ้านผาด่านปกครองกันเองภายใต้ระบบผู้นำทางพิธีกรรมและระบบอาวุโส ผู้นำทางพิธีกรรมและผู้นำอาวุโสเป็นผู้ปฏิบัติตามประเพณีนิยมและออกกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น กฎข้อห้ามของหมู่บ้าน หลักคําสอน เด็กถูกสอนให้ประพฤติดี คนหนุ่มสาวต้องเชื่อฟังผู้อาวุโส โดยยึดโยงระหว่างคําสอนกับความเชื่อเรื่องผีและบรรพบุรุษ เพื่อให้คนในชุมชนยําเกรงและไม่กล้าปฏิบัติตนในทางไม่ดี ผู้นำที่เป็นทางการเป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบการตัดสินใจภายในชุมชน อํานาจการตัดสินใจอยู่ที่หมอผีประจําเผ่าและกลุ่มผู้อาวุโสเป็นหลัก

การเลือกผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าเผ่า ผู้นำทางประเพณี ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำด้านอื่น ๆ มีหลักสําคัญอยู่ 5 ประการ  คือ

1. ต้องเป็นคนในหมู่บ้าน เกิดและโตภายในชุมชน

2. มีความรู้ความสามารถสูง ฉลาดรอบรู้ ในกรณีที่เป็นผู้นำเผ่าก็จะต้องมีความรอบรู้ในระเบียบประเพณีทางด้านพิธีกรรม ในกรณีเป็นผู้ใหญ่บ้านก็ต้องมีความรอบรู้ในด้านการปกครอง

3. เป็นผู้มีฐานะ ขยันทํามาหากิน

4. ยุติธรรม มีเมตตา

5. อายุ 30-40 ปี และมีครอบครัวแล้ว เนื่องจากคนในชุมชนปกาเกอะญอมองว่า เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความรอบคอบ ใจเย็นกว่าคนอายุน้อย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอํานาจหน้าที่ของผู้นำที่เป็นทางการก็เริ่มมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น ผู้ใหญ่บ้านทําหน้าที่ในการเป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐ เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ทําให้ชุมชนได้รับรู้สถานการณ์ภายนอกในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น และเป็นผู้ดําเนินงานโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐให้ประสบผลสําเร็จ เช่น การประชุมประชาคม การระดมความคิดเห็น การพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและศักยภาพการเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือให้คนในชุมชนร่วมกันดําเนินกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายมา (เบญจมาภรณ์ ทองน้อย, 2557 : 47)


การคมนาคมในหมู่บ้าน ถนนส่วนใหญ่ยังเป็นถนนลูกรัง มีบางส่วนที่เป็นถนนคอนกรีต คนในชุมชนส่วนใหญ่นิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทางเข้าออกพื้นที่นอกและในหมู่บ้าน เพราะมีความสะดวกมากกว่า ขณะเดียวกันผู้คนบางส่วนที่ออกไปทํางานที่นิคมอุตสาหกรรมในตัวจังหวัดลําพูน หันมาใช้บริการรถรับส่งที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของ รับคนงานภายในหมู่บ้านเพื่อไปส่งที่นิคมอุตสาหกรรมและตนเองก็ทํางานที่นิคมเช่นเดียวกันก่อนที่จะรับคนงานและกลับมาพร้อมกัน หรืออีกบางส่วนก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวขับออกไปทํางานด้วยตนเอง


ปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในชุมชนบ้านผาด่าน แต่ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ประการหนึ่งที่เห็นจะเด่นชัดที่สุด คือ วัฒนธรรมการแต่งกาย การแต่งกายของคนในชุมชนบ้านผาด่าน มีทั้งแบบที่แต่งกายแบบดั้งเดิมและตามแบบสมัยนิยม กลุ่มคนที่ยังคงแต่งกายในแบบดั้งเดิมอยู่คือวัยสูงอายุที่เป็นผู้หญิง เพราะคุ้นเคยกับการแต่งกายเช่นนี้มาตั้งแต่เล็กจนโต แต่ผู้สูงอายุผู้ชายนั้นชื่นชอบเสื้อผ้าตามสมัยนิยมมากกว่า โดยให้เหตุผลว่าสวมใส่สบายและสวยงามกว่าเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม

การแต่งกายตามแบบสมัยนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทภายในชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เดิมผู้หญิงวัยกลางคนที่เคยแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงตามที่ผู้เป็นแม่แสดงให้เห็น แต่เมื่อคนกลุ่มนี้เริ่มออกไปทํางานภายนอกหมู่บ้านมากขึ้น ต้องใส่เสื้อผ้าตามที่หน่วยงานหรือสังกัดที่ทำงานกําหนด ต้องทําตัวให้กลมกลืนกับคนทั่วไปมากขึ้น บทบาทและความนิยมในการใส่ชุดดั้งเดิมก็เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในปัจจุบัน เห็นเพียงเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ ที่ออกไปเรียนหนังสือใส่ชุดประจําเผ่าในทุกวันอังคารตามที่โรงเรียนกําหนด เพื่อให้เด็ก ๆ เยาวชนเกิดความภาคภูมิใจและรักษาอัตลักษณ์ในการเป็นปกาเกอะญอเอาไว้

เช่นเดียวกับรูปแบบการสร้างบ้าน ในอดีตชาวบ้านผาด่านนิยมสร้างบ้านโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ไม้ไผ่ หญ้าคา ฯลฯ โดยสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ติดกับพื้น ภายในเป็นที่โล่ง มีทั้งส่วนของห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว รวมอยู่ ด้วยกันภายในบ้าน ต่อมาคนในชุมชนเริ่มมีความรู้ในเรื่องของการตัดไม้และสามารถเลื่อยไม้ออกมาเป็นแผ่นได้ จึงมีการนําไม้แผ่นมาสร้างบ้านผสมผสานกับการสร้างบ้านแบบดั้งเดิม หลังจากนั้นก็เริ่มมีสังกะสีเข้ามา แล้วก็เริ่มมีกระเบื้อง ปูน กระจก และวัสดุอุปกรณ์ใหม่ ๆ ขณะเดียวกันรูปแบบของบ้านก็ปรับเปลี่ยนตามสมัยนิยม ประโยชน์ใช้สอย และรสนิยมของเจ้าของบ้านมากยิ่งขึ้น ด้านล่างส่วนใหญ่เป็นใต้ถุนสําหรับนั่งเล่นหรือรับแขกได้ ภายในตัวบ้านจะมีห้อง 1 ห้อง เป็นห้องนอนสําหรับพ่อแม่ ลูกมักนอนกับพ่อแม่ในห้องนั้นด้วย จนเมื่อแต่งงานมีครอบครัวจึงออกไปสร้างบ้านหลังใหม่สําหรับครอบครัวของเขาเช่นกัน ส่วนห้องครัวกับห้องน้ำจะแยกออกจากตัวบ้าน แบ่งเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนในบริเวณใกล้ ๆ ตัวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ผสมปูน หลังคาใช้กระเบื้อง บ้างก็ใช้เสาปูน บ้างก็ยังใช้เสาไม้ แต่วัสดุสมัยนิยมนี้ก็นับว่ามีความคงทนถาวรมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน


ดอยผาเมือง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เบญจมาภรณ์ ทองน้อย. (2557). ผลกระทบของกระบวนการพัฒนาต่อยอดความมั่นคงทางอาหารในชุมชนบ้านผาด่าน หมู่ที่ 10 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน. ประกาศนียบัตรบัณฑิต, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Pongpangescape. (ม.ป.ป.). เที่ยวผาด่านด้วยตัวเอง. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.pongpangescape.com/

ที่นี่ลำพูน. (2566). นาขั้นบันได บ้านผาด่าน อ.แม่ทา ลำพูน. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/