ตำนานแห่งขุนเขา "ลัวะดอกแดง" แห่งบ้านป่ากำ หมู่บ้านกลางเขาอำเภอบ่อเกลือ หนึ่งในแปดดอยแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์ดีของจังหวัดน่าน
เหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าป่ากำ เนื่องจากในพื้นที่หมู่บ้านมีต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นไผ่หลิว ชาวบ้านเรียกว่า "ต้นกำ" ซึ่งชาวบ้านจะใช้เป็นหลอดดูดเหล้าอุ (สุราพื้นบ้านที่ทำกันเองในช่วงงานเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน) จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อต้นไม้ว่า “ป่ากำ”
ตำนานแห่งขุนเขา "ลัวะดอกแดง" แห่งบ้านป่ากำ หมู่บ้านกลางเขาอำเภอบ่อเกลือ หนึ่งในแปดดอยแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์ดีของจังหวัดน่าน
บ้านป่ากําเป็นหมู่บ้านของชาวลัวะ (เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ลัวะดอกแดง มาจากประเพณีกินดอกแดงหลังเก็บเกี่ยวข้าวไร่เสร็จใหม่ ๆ) ซึ่งอพยพมาจากตอนเหนือของประเทศลาว เนื่องมาจากเกิดสงครามปล้นเมือง ผู้คนอพยพผ่านมาทางบ้านห้วยโทน (ปัจจุบันคือ บ้านห้วยโทนหมู่ที่ 2 ตําบลดงพญา อําเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนลาว) มาตั้งหลักแหล่งทํากินอยู่ที่บ้านห้วยป๋อ (ปัจจุบันคือบ้านบ่อเกลือเหนือ จังหวัดน่าน) ต่อมามี 3 ครอบครัวที่แยกย้ายออกจากบ้านห้วยป๋อมาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านป่ากำ โดยการนำของ นายหมื่น ใจปิง เนื่องจากบริเวณบ้านป่ากำมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ต่อมานายหมื่น ใจปิงและเพื่อนบ้านได้พากันออกไปแสวงหาทําเลในการทําไร่แห่งใหม่ที่บ้านน้ำแพะ ตําบลบ่อเกลือใต้ อําเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บ้านป่ากำและบ้านน้ำแพะจึงมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน นับถือผีเดียวกัน และเป็นเครือญาติกัน
ในส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านนั้น เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านป่ากำมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นกํา มีลักษณะคล้ายต้นไผ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ชาวบ้านจะนําต้นกําที่แก่และได้ขนาดมาทําหลอดเหล้าอุในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของเผ่า เช่น พิธีปลูกแฮก (พิธีตั้งที่สิงสถิตผีไร่) พิธีกินดอกแดง (พิธีเฉลิมฉลองผลผลิตการทําไร่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวของทุก ๆ ปี ส่วนในภาษาลัวะจะเรียกบ้านป่ากำว่า “เจียงน๊อกโปง” (บ้านน้ำคั้น, น้ำผุด) เพราะบริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้านจะมีน้ำผุดออกจากภูเขา สามารถใช้ดื่มกินได้ และชาวบ้านป่ากำให้ความเคารพบ่อน้ำนี้มาก จนได้ตั้งหอผีเจ้าตาขึ้นในบริเวณแหล่งน้ำนี้ด้วย
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขุนน้ำจอน ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านปางกบ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสะว้าเหนือ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสะกุ่น ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านป่ากํา ตั้งอยู่บนภูเขาสูงชันสลับหุบเขาน้อยใหญ่ ทําให้พื้นที่บ้านป่ากําไม่มีพื้นที่ราบ ในบริเวณหุบเขายังมีแหล่งน้ำที่สําคัญหลายสาย เช่น ห้วยจอน ห้วยขากบ ห้วยนง แต่แม้ว่าจะมีห้วยอยู่มากมาย ทว่า ชาวบ้านไม่ได้นํามาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร เนื่องจากชาวบ้านป่ากําจะทําการเพาะปลูกอยู่บนภูเขา อาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทําการเกษตร ส่วนน้ำในห้วยต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งอาหาร เช่น หาปลา และใช้เป็นแหล่งน้ำให้สัตว์เลี้ยง
สภาพอากาศ
สภาพอากาศในพื้นที่บ้านป่ากำสามารถจำแนกได้ 3 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และฤดูหนาวจะอยู่ระหว่างเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ สภาพอากาศโดยทั่วไปของบ้านป่ากำค่อนข้างเย็นสบาย ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด และในตอนเวลาเช้าของทุกวันจะมีหมอกขึ้นบริเวณหุบเขาตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-08.00 น.
ชาวบ้านป่ากําทั้งหมดในหมู่บ้านใช้นามสกุล “ใจปิง” ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านจะนับสายตระกูลผีฝ่ายมารดา มี 2 สายตระกูลผี คือ ตระกูลผีอาเยอ และตระกูลผีอาเปอ คนในตระกูลผีเดียวกันจะรักกันมาก หรือแม้ต่างผีก็มีความรักกันไม่แพ้ผีเดียวกัน เนื่องจากการแต่งงานของคนในหมู่บ้านจะแต่งงานข้ามกัน 2 สายผีทําให้ทุกบ้านเกี่ยวดองกัน
ในส่วนของการสร้างครอบครัว เรียกว่า การลงตั้งบ้านใหม่ (การแยกจากบ้านเดิมไปสร้างบ้านใหม่) เกิดจากหลายกรณี เช่น คนในบ้านมีเรื่องขัดแย้งภายในบ้านเพราะอยู่กันหลายครอบครัว ดังนั้น คนในบ้านจึงจําเป็นต้องแบ่งกันลงตั้ง หรือไปสร้างบ้านใหม่ อย่างไรก็ตาม การลงตั้งบ้านใหม่ไม่ได้หมายถึงการตัดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวบ้านเก่ากับบ้านใหม่ แต่โดยปกติจะยังคงความสัมพันธ์เหมือนที่เคยทํามาเมื่อครั้งที่อยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะลูกต้องแบ่งอาหารการกินสําหรับผู้เป็นพ่อเป็นแม่ เพราะถือเป็นหน้าที่ของลูกที่ควรปฏิบัติต่อพ่อแม่ที่ถือปฏิบัติมาช้านาน
ลัวะ (มัล, ปรัย)ชาวบ้านป่ากำมีอาชีพหลัก คือ ทําไร่ แต่รายได้หลักที่เป็นตัวเงิน คือ การไปรับจ้างต่างหมู่บ้านหรือต่างจังหวัด การทําไร่ของชาวบ้านป่ากําจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการทําเกษตรเพื่อยังชีพ ในไร่ทุกไร่ของชาวบ้านจะปลูกพืชพันธุ์ชนิดเดียวกันเกือบทั้งหมด พันธุ์ข้าวที่ปลูกในไร่ เช่น พันธุ์ข้าวดอ ข้าวกลาง ข้าวใหญ่ มีการปลูกข้าวเจ้าไร่ไว้บ้างแต่ไม่มาก บางบ้านปลูกข้าวเจ้าไร่ไว้เลี้ยงไก่ การทำข้าวไร่ของชาวบ้านป่ากำ จะตัดไม้ เผาไร่ สักข้าวปลูกใหม่ทุกปี เครื่องมือในการทำไร่ คือ ลุ่งหรือเกอทุงที่ใช้สักหรือกระทุ้งลงบนพื้นดิน แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป ปล่อยให้ข้าวขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว จะใช้วิธีการรูดเมล็ดข้าวจากรวงใส่ในตะกร้า ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมของชาวลัวะปรัย
นอกจากข้าวแล้ว ในไร่บางไร่ยังปลูกพืชแซมกับข้าวไร่ไว้หลายชนิด เช่น กาแฟ เผือกดํา เผือกแดง เผือกขาว มันพร้าว มันอ่อน มันเล็ก มันแกว มันหอม มันสําปะหลัง ขิง ข่า ตะไคร้ ผักหอมพื้นบ้าน มะนอย (บวบ) บวบพันธุ์พื้นบ้าน ข้าวโพดแดง ข้าวโพดขาว ข้าวโพดเล็ก ข้าวโพดแตก (สาลีพุ) พริกใหญ่ (พันธุ์พื้นบ้าน) พริกสั้น พริกเล็ก มะเขือป้อม มะเขือยาว แฟง แตงไทย ถั่ว ฟักทอง ถั่วลันเตา ถั่วฝักสั้น ถั่วฝักยาว ดอกแดง (คล้ายดอกหางไก่ ปลูกไว้สําหรับพิธีกินดอกแดง) และพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด
นอกจากทําไร่แล้ว อาชีพหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเลี้ยงสัตว์และหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านป่ากำส่วนมากจะเลี้ยงไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและเลี้ยงไว้รับประทาน ส่วนที่เหลือจึงขาย สัตว์ที่เลี้ยง ได้แก่ ไก่ หมู วัว ควาย โดยเฉพาะไก่และหมูเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้ประจําบ้านมาโดยตลอด เพราะไก่และหมูใช้ทําผี ในอดีตการเลี้ยงวัวไม่สามารถกระทําได้ เพราะผิดผีหรือกํา ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา ได้มีคนในหมู่บ้านไปรับจ้างเลี้ยงวัวที่บ้านสะว้า (สะว้าเหนือ-สะว้าใต้) และบางส่วนได้มีนํามาฝากเลี้ยงไว้ที่บ้านป่ากำ ปัจจุบันจึงมีการเลี้ยงวัวในหมู่บ้านได้แล้ว วัวที่เลี้ยงมีทั้งวัวส่วนตัวและวัวรับจ้างเลี้ยง การรับจ้างเลี้ยงวัวมีเงื่อนไขอยู่ว่า เลี้ยงวัว 10 ตัว เมื่อสิ้นปีจะได้ค่าตอบแทนเป็นวัว 1 ตัว หรือบางบ้านเอาค่าจ้างเป็นเงินก็มี
ศาสนาและความเชื่อ
บ้านป่ากําเป็นชุมชนที่คนในชุมชนยังคงนับถือผีอย่างเหนียวแน่น มีหมอฮีตเป็นผู้ดูแลและนำประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีต่าง ๆ โดยการเลี้ยงผีมักมีความสัมพันธ์กับการทําไร่ในแต่ละปี ผีที่ชาวบ้านให้ความนับถือ คือ ผีฮีต เป็นผีประจําตระกูล ในอดีตบ้านปากำมีฮีต 3 ฮีต คือ ฮีตอาซัง อาเยิร และอาเปิร แต่ฮีตอาซังและอาเปิรเจ้าของบ้านฮีตได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านน้ำแพะและได้นําเอาผีฮีตอาซังและอาเปิรไปด้วย ปัจจุบันบ้านป่ากําจึงเหลือเพียงผีฮีตอาเยิรที่บ้านนายขอด ใจปิงเท่านั้น ส่วนฮีตอาเปิรคนในบ้านป่ากำจะไปเลี้ยงที่บ้านน้ำแพะเมื่อถึงวันเลี้ยงผีตามฤดูนั้น ๆ
ประเพณีในรอบปี
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ในปฏิทินลัวะ) ทำพิธีเสี่ยงทายหาไร่ใหม่ ถางไร
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ในปฏิทินลัวะ) เกี่ยวคา ไพรคา สร้างบ้านใหม่
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ในปฏิทินลัวะ) เผาไร่ ซ่อมแซมบ้าน กินดอกแก้ม เลี้ยงผีเรือน
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ในปฏิทินลัวะ) ล้อมรั้วไร่ ปลูกมัน ทำความสะอาดไร่ เริ่มฤดูเพาะปลูกใหม่
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ในปฏิทินลัวะ) ปลูกข้าวดอ ข้าวโพด พืชผักต่าง ๆ
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ในปฏิทินลัวะ) ประเพณีปลูกแฮก สงกรานต์ลัวะ (เลี้ยงผีตา)
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ในปฏิทินลัวะ) ประเพณีกินข้าวโพด รับขวัญข้าวตั้งท้อง เลี้ยงผีไร่
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ในปฏิทินลัวะ) ประเพณีรับขวัญข้าวตั้งท้อง
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ในปฏิทินลัวะ) ประเพณีกินข้าวดอ เริ่มฤดูเก็บเกี่ยว
- เดือนตุลาคม (เดือนเจียง ในปฏิทินลัวะ) กินข้าวเม่า ข้าวฮาง ทำยุ้งฉาง
- เดือนพฤศจิกายน (เดือนยี่ ในปฏิทินลัวะ) ลงแขกรูดข้าว ขนข้าวใส่ยุ้งฉาง เลี้ยงผีขวัญข้าว เลี้ยงผีไร่
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ในปฏิทินลัวะ) รื้อห้างที่ไร่ กินดอกแดง
ประเพณีกินดอกแดง หรือประเพณีเฉลิมฉลองข้าวใหม่ ที่มาของชื่อเรียก “ลัวะดอกแดง” พิธีดอกแดง หมายถึง การเอาดอกไม้สีแดง คือ ต้นหงอนไก่ ที่เอาเมล็ดผสมไว้ในข้าวเปลือกแล้วหว่านพร้อมกันเมื่อฤดูกาลหว่านข้าว พอข้าวสุก หงอนไก่ก็ผลิดอกเหมือนกัน การทำพิธีดอกแดงก็เหมือนกับการรับขวัญข้าว บอกกล่าวผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีดิน ผีฟ้า ให้รู้ว่าจะเอาขวัญข้าวกลับบ้าน (ไปใส่ไว้ในยุ้ง) โดยให้แม่บ้านมานำดอกไม้ ข้าวสุก น้ำ และไข่ ไปบอกกล่าวตามจุดต่าง ๆ ของไร่ และใช้สวิงช้อนขวัญทุกมุมไร่ ส่วนผู้ชายก็ต้องไปเรียกขวัญกลับคืนมาในทุกมุมที่ได้ทำพิธีตอนปลูกแฮก โดยจะไม่มาที่ไร่นี้อีกแล้ว และทุกอย่างต้องเอากลับบ้านทั้งหมดภายในวันเดียวกันนี้ เมื่อทุกครอบครัวกลับมาจากรับขวัญที่ไร่เรียบร้อย ก็มารวมตัวกันบริเวณลานกลางบ้าน เพื่อช่วยกันทำดอกโหด โดยใช้ไม้ไผ่ ดอกโหด ดินเหนียว และเชือก เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่จะมีเฉพาะในวันกินดอกแดงเท่านั้น เชื่อว่าการเล่นดอกโหดก็เป็นการไล่ความโชคร้ายออกไปจากหมู่บ้าน เก็บไว้แต่สิ่งดี ๆ และบอกให้รู้ว่าวันนี้เป็นวันกินดอกแดงที่สืบทอดกันมานานแสนนาน
วัฒนธรรมการแต่งกาย
บ้านป่ากำ เป็นหมู่บ้านที่อนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณของชาติพันธุ์ทั้งการแต่งกาย การเจาะหู การเคี้ยวหมาก การแต่งกายของบ้านป่ากําในอดีตประมาณ 40 ปีมาแล้ว ผู้ชายจะสวมเสื้อสีดําเข้มหรือสีน้ำเงินเข้มแขนยาว นุ่งผ้าต้อยสีน้ำเงิน (นุ่งคล้าย ๆ โจงกระเบน) โพกผ้าสีแดง ผู้หญิงจะสวมเสื้อสีดําเข้มหรือสีน้ำเงินเข้ม ใช้เข็มกลัดกลัดเสื้อ (เข็มซ่อนปลาย) ใส่ผ้าถุงสีเข้มดํา-แดงสลับกัน เครื่องประดับและการแต่งกายทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะเจาะหูให้มีรูขนาดใหญ่ สวมแหวนเงินและกําไลข้อมือเงินและทองเหลือง
ปัจจุบันชาวบ้านป่ากําแต่งกายตามสมัยนิยม เสื้อผ้าที่สวมใส่ส่วนมากได้จากการบริจาคของคน ภายนอก หรือซื้อมาในราคาถูก เมื่อเด็กชายและหญิงอายุได้ 3 ขวบจะเจาะหูแล้วร้อยด้วยไม้เฮี้ยไว้ เมื่อโตขึ้นจึงมีขนาดรูติ่งหูที่ใหญ่ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าถุง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ การเกล้าผมแบบโบราณก็ยังเห็นอยู่ในหญิงสาวจนถึงวัยชรา แต่การนุ่งผ้าแบบดั้งเดิมในปัจจุบันจะเห็นได้ในงานประเพณี หรือการจัดแสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านในเขตตําบลและอําเภอบ่อเกลือเท่านั้น
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนของบ้านป่ากําจะตั้งตามแนวยาวของสันเขาลาดยาวลงไปทางทิศเหนือ การเลือกที่อยู่อาศัยหมอฮีตจะเป็นผู้เลือกให้โดยวิธีการเสี่ยงทาย ปัจจุบันป่ากํามีสองคุ้ม คือ บ้านใต้และบ้านบน สาเหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะเรียกตามสภาพการตั้งของบ้านเรือน คือ บ้านบนจะตั้งอยู่บนเขา ส่วนบ้านใต้จะอยู่ลาดเขาต่ำลงมา การสร้างบ้านยังคงเป็นรูปแบบเดิม บ้านทุกหลังจะมีลักษณะบ้านแบบเดียวกัน คือ เป็นบ้านยกพื้น หลังคามุงด้วยหญ้าคาจนถึงพื้นดิน เพราะเชื่อกันว่าป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้าย สิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในบ้าน และห้ามคนอื่นเข้าไปในห้องนอน
ชาวบ้านป่ากำใช้ภาษาลัวะในการสื่อสารกันภายในชุมชน การติดต่อกับคนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม เช่น บ้านสะว้า หรือบ้านอื่น ๆ จะพูดคําเมือง การติดต่อราชการในท้องที่ใช้คําเมือง ประชากรในหมู่บ้านปัจจุบันจึงสามารถพูดได้หลายภาษาทั้งลัวะมัล ลัวะปรัย และคําเมือง นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาษาไทยในศูนย์การเรียนชุมชนบ้านป่ากำ เยาวชนในชุมชนจึงสามารถพูดสื่อสารภาษาไทยได้บ้าง
ห้องเรียนภูเขา ห้องเรียนชีวิตบ้านป่ากำ
บ้านป่ากำ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามไหล่เขา เมื่อมองจากด้านบน ชีวิตของผู้คนที่นี่แทบจะไม่ออกมาพบปะผู้คนภายนอก มีเพียงบางครั้งนำสิ่งของมาแลกข้าวของเครื่องใช้จำเป็นกลับไปหมู่บ้าน การที่ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและวิถีชีวิตที่รักสันโดษ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่หากจะให้เด็ก ๆ ในชุมชนลงไปเรียนหนังสือในโรงเรียนพื้นราบนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง ทว่า การศึกษาหาได้เริ่มต้นด้วยการบังคับ เมื่อไม่ลงมาเรียน จึงมีการแก้ปัญหาด้วยการยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้านป่ากำ เพื่อให้เด็ก ๆ เยาวชนในชุมชนได้รับการศึกษา อย่างน้อยที่สุดก็คือการศึกษาขั้นพื้นฐาน ห้องเรียนภูเขาบ้านป่ากำแห่งนี้เป็นหนึ่งในสาขาย่อยของโรงเรียนบ้านสะว้าซึ่งอยู่ห่างไป 8 กิโลเมตร การเกิดขึ้นของห้องเรียนภูเขาบ้านป่ากำหาได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสอนให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ แต่ยังสอนวิชาชีวิตให้เขาเติบโต และรู้จักความงดงามของวิถีชีวิต เพื่อจะได้รักษาเอกลักษณ์ของชาวลัวะป่ากำเอาไว้ และเน้นเรื่องความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ ปลูกฝังความคิดว่าการปลูกข้าวตามขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมสภาพปัจจุบัน เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ห้องเรียนภูเขาบ้านป่ากำแห่งนี้จึงไม่ได้สอนเพียงแค่วิชาอ่านเขียน แต่ยังสอนวิชาชีวิตให้กับคนในชุมชนด้วย
ดอยภูคา
นิทัศน์ ป้องขันธ์. (2548). ลัวะถือ “กำ” : กรณีศึกษาบ้านป่ากำ หมู่ที่ 5 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
หัสชัย บุญเมือง และคณะ. (ม.ป.ป.). เส้นทางของคนภูเขาและเงาแห่งจารีตบ้านป่ากำ ลัวะดอกแดง. (ม.ป.ท.).
ไม่กี่บาทBackpacker. (2563). บ้านป่ากำ สัมผัสวิถีชีวิตดอยสูง จังหวัดน่าน. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://th.readme.me/
สรรวดี เจริญชาศรี. (2553). การศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ กรณีศึกษาบ้านป่ากำ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. รายงานการวิจัย. สถาบันเทคโนโลยีพระจุลจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.