ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ริมทะเลอ่าวไทย กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองสงขลา และตำหนักเขาน้อยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่ตั้งของตำหนักเขาน้อย จึงใช้จุดเด่นของพื้นที่มาตั้งเป็นชื่อชุมชน
ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ริมทะเลอ่าวไทย กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองสงขลา และตำหนักเขาน้อยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ชุมชนหลังตำหนักเขาน้อยในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีสภาพพื้นดินที่มีสภาพเสื่อมโทรม ไม่มีเส้นทางเข้าออก การสัญจรไปมาในพื้นที่มีความยากลำบาก พื้นที่ของชุมชนเป็นดินโฉนดและบางส่วนเป็นที่ดินของพื้นที่ราชพัสดุ ที่ประชาชนได้เข้าไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชน และได้ประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2537 และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ในการดูแลและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในชุมชน ทั้งถนน คูระบายน้ำ และอื่น ๆ ให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำหนักเขาน้อย จึงได้นำชื่อตำหนักมาตั้งเป็นชื่อชุมชน
ชุมชนหลังตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อยู่ในการปกครองของเทศบาลนครสงขลา เป็นพื้นที่ราบใกล้กับทะเลอ่าวไทย ทะเลสาบสงขลา และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวหลักของจังหวัด โดยชุมชนหลังตำหนักเขาน้อยมีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 747,771.20 ตารางเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสะเดา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนสุขุม ถนนรามวิถี
ชุมชนหลังตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในชุมชนมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 404 ครัวเรือน โดยมีประชากรชายจำนวน 434 คน และประชากรหญิงจำนวน 445 คน มีจำนวนประชากรรวมในชุมชนทั้งหมด 879 คน
อาชีพหลักของประชากรในชุมชนหลังตำหนักเขาน้อย ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสงขลา เช่น ตำหนักเขาน้อย หาดสมิหลา รูปปั้นนางเงือก แหลมสนอ่อน ฯลฯ อาชีพค้าขายจึงช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ประชากรบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วย โดยมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 279,741 (บาท/ปี) และรายได้บุคคลเฉลี่ย 93,483 (บาท/ปี)
1.นายเธียรชัย เธียรประสิทธ์ ปราชญ์ชุมชนด้านแพทย์แผนไทย
2.นางอุบล สร้อยแก้ว ปราชญ์ชุมชนด้านแพทย์แผนไทย
3.นางสาวขนิษฐา แตงอ่อน ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม (ดนตรีไทย)
4.นายแส แสงพงศ์ ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม (ดนตรีไทย)
5.นางกัลยา ไชยศร ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรม (ขับร้องเพลงไทยเดิม)
6.นายจรัญ อินทนุ ปราชญ์ชุมชนด้านงานฝีมือ (ช่างก่อสร้าง)
7.นายปราโมทย์ อินทนุ ปราชญ์ชุมชนด้านงานฝีมือ (ช่างทาสี)
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กับบริเวณชุมชน
- ตำหนักเขาน้อย
- หาดสมิหลา
- รูปปั้นนางเงือก
- แหลมสนอ่อน ฯลฯ
พระตำหนักเขาน้อย
พระตำหนักเขาน้อยตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขาน้อยด้านทิศใต้ด้านหน้าติดกับถนนสะเดา ในเขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2453-2458) และอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ. 2458-2468) รวมระยะเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองสงขลา 15 ปี พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเมื่อปีกุน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 สร้างโดยสถาปนิกชาวอิตาลี ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงยุโรป 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูนโครงหลังคาเป็นไม้ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยใช้เงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ในการก่อสร้างประมาณ 4,000 บาท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จประทับ ณ พระตำหนักเขาน้อย จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และได้มอบพระตำหนักเขาน้อยให้เป็นสมบัติของทางราชการ อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของจังหวัดสงขลา พระตำหนักเขาน้อยเคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2458 และ พ.ศ. 2460 กระทั่งต่อมาใน พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักเขาน้อย คราวเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวภาคใต้ใน พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระตำหนักเขาน้อย ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 111 ตอนที่ 20 ง วันที่ 10 มีนาคม 2537 หน้า 21 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 99.6 ตารางวา ทางจังหวัดสงขลาได้ปรับปรุงบูรณะพระตำหนักเขาน้อยให้เป็นจวนที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
วัดเขาน้อยเทียมสวรรค์
ในพื้นที่บริเวณเดียวกันกับพระตำหนักเขาน้อย ชุมชนหลังตำหนักเขาน้อย ยังเป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และเป็นวัดสำคัญคู่เมืองสงขลามาตั้งแต่อดีต สถาปัตยกรรมภายในวัด คือ พระอุโบสถหลังเก่า สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ ประทับนั่งหันหลังให้กัน เป็นพระที่สร้างด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อเขาน้อย และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของชุมชนในละแวกนั้น
ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้. (ม.ป.ป.). เขาน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.me-fi.com/
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.)ชุมชนหลังตำหนักเขาน้อย เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
สำนนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). พระตำหนักเขาน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา. (2565). พระตำหนักเขาน้อย. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www2.m-culture.go.th/songkhla/