Advance search

วัดใต้

พื้นที่วัดเก่าแก่จากแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชุมชนในบริเวณโดยรอบกับความเข้มแข็งของสมาชิกในชุมชน สู่พัฒนาการของสังคมเมืองในปัจจุบัน

วัดดอนรัก
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
16 ก.พ. 2024
วัดดอนรัก
วัดใต้

เดิมบริเวณที่ตั้งวัดดอนรักเป็นพื้นที่เนินสูง และเป็นป่าต้นรัก เมื่อมีการใช้พื้นที่ในการสร้างวัดจึงใช้ชื่อวัดว่า "วัดดอนรัก"


พื้นที่วัดเก่าแก่จากแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชุมชนในบริเวณโดยรอบกับความเข้มแข็งของสมาชิกในชุมชน สู่พัฒนาการของสังคมเมืองในปัจจุบัน

วัดดอนรัก
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
7.2031319420093824
100.5903831499895
เทศบาลนครสงขลา

ชุมชนวัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่อยู่คู่วัดดอนรัก ซึ่งเป็นวัดสำคัญและวัดเก่าแก่ของเมืองสงขลาอีกหนึ่งวัดมาตั้งแต่อดีต ในช่วงแรกเริ่มประชากรที่อยู่อาศัยในบริเวณของชุมชนได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มสมาชิก ร่วมกันจัดตั้งเป็นชมรมวัดดอนรัก ในช่วงปี พ.ศ. 2534 เพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และกลุ่มสมาชิกในชุมชน โดยจัดให้มีการช่วยเหลือดูแลสมาชิกชมรมในด้านต่าง ๆ จนผู้คนเห็นความสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มชมรม และกิจกรรมที่ร่วมกันทำ จึงสนับสนุนและผลักดันส่งเสริมให้จัดตั้งเป็นชุมชน และเทศบาลนครสงขลาจึงได้ดำเนินการและประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนวัดดอนรัก เมื่อปี พ.ศ. 2547

ชุมชนวัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 173,095.00 ตารางเมตร ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นพื้นที่สูง บางส่วนเป็นที่ลุ่ม มีน้ำขัง และอยู่ใกล้กับทะเลสาบสงขลา โดยมีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนจะนะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนสงขลาบุรี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนทะเลสาบ

ชุมชนวัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีจำนวนครัวเรือนอยู่อาศัยทั้งหมด 785 ครัวเรือน จำนวนประชากรแบ่งเป็น ชาย 622 คน ประชากรหญิง 754 คน รวมประชากรทั้งหมดจำนวน 1,376 คน

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนวัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีสภาพเศรษฐกิจในสังคมเมืองที่ดี ผู้คนจึงประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการค้าขาย รับจ้าง และให้บริการต่างๆ และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย ประชากรบางส่วนจึงมีอาชีพเกี่ยวกับการประมง ประมงพื้นบ้าน และรับจ้างทั่วไป ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยประชากรในชุมชนวัดดอนรักมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 409,512 (บาท/ปี) และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 126,829 (บาท/ปี)

ชุมชนวัดดอนรักเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีความรักสามัคคีกันในชุมชนเป็นอย่างดี จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมรวมกัน เช่น

  • กลุ่มสมาชิก อสม. ชุมชนวัดดอนรัก
  • กลุ่มสมาชิกผู้ตัดเย็บเสื้อผ้า
  • กลุ่มสุขภาพ สมาชิกกีฬา ออกกำลังกาย นันทนาการ
  • กลุ่มผู้ประกอบอาชีพการค้าขาย

ชุมชนวัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่อยู่คู่วัดดอนรัก ซึ่งเป็นวัดสำคัญและวัดเก่าแก่ของเมืองสงขลา ประกอบกับประชากรของชุมชนมีความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ ในกลุ่มองค์กรสังคมเป็นอย่างดี จึงทำให้ชุมชนและวัดมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นร่วมกันตามประเพณีเทศกาลท้องถิ่น อยู่เป็นประจำตามแต่ละรอบปี เช่น

  • กิจกรรมวันสงกรานต์ - รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
  • ประเพณีบุญเดือนสิบ
  • เทศกาลเข้าพรรษา - ออกพรรษา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

เนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย ทรัพยากรธรรมชาติจากทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย จึงเป็นแหล่งทุนสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนยังมีแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ บริเวณกำแพงเมืองเก่าสงขลา และมีสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจท้องถิ่นคือ ถนนคนเดินเทศบาลนครสงขลา

วัดดอนรัก

วัดดอนรัก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2391 ชาวบ้านเรียกว่า "วัดใต้" โดยมีเจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ ให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้ ๆ กับจวน ตามคำปรารภของนางศรีเนี่ยว (แม่ยาย) เพื่อสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศล เจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ จึงได้แบ่งที่ดินหลังจวนซึ่งเป็นป่าต้นรักและเป็นเนินสูง ให้ตั้งวัด และใช้ชื่อว่า "วัดดอนรัก" ได้จัดสร้างกุฏิ วิหาร และอุโบสถ เมื่อสร้างอุโบสถแล้วก็จัดงานผูกพัทธสีมา ปรากฏว่าในวันผูกพัทธสีมานั้น นางศรีเนี่ยวได้ถึงแก่กรรมลงพร้อม ๆ กับสัญญาณระฆัง ฆ้อง กลอง และคุณหญิงพักตร์ ณ สงขลา ภรรยาของพระยาสุนทรานุรักษ์ ได้คลอดบุตรชาย คือ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ซึ่งได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนสุดท้ายในกาลต่อมา ซึ่งพระยาวิเชียนคีรี (ชม ณ สงขลา) ก็ได้อุปสมบท ณ วัดนี้ และได้สร้างพระไตรปิฎกฉบับราชการที่ 7 ไว้ 1 ฉบับ สมัยนั้นวัดดอนรักมีเจ้าอาวาสมาแล้ว 3 รูป 

ช่วงปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลา วัดดอนรักถูกภัยทางอากาศเป็นครั้งแรก ทำให้สามเณร 1 รูป มรณภาพ ศิษย์วัด 1 คน เสียชีวิต และอาคารเสนาสนะได้รับความเสียหายอย่างมาก เมื่อสงครามสงบได้บูรณะพัฒนาปรับปรุงวัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา จนปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดสงขลาด้วย

วัดดอนรัก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2395 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 20 เมตร เจ้าอาวาส

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ 2 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ 1 หลัง กว้าง 13.50 เมตร ยาว 20.50 เมตร โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอระฆัง 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสมุดแห่งชาติ 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารปฏิบัติธรรม รัตนนารีศรีสงขลา 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สำนักงานพุทธสมาคมจังหวัดสงขลา 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ 5 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก และไม้ ซุ้มประตู 1 ซุ้ม โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ 2 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ซุ้มประตู 1 ซุ้ม โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โรงครัว 1 หลัง โครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 

ปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุสำคัญ พระประธานภายในอุโบสถหลังเก่า มีขนาด กว้าง 79 เมตร ยาว 102 เมตร รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยหินอ่อนเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และนายสังข์ นางเอี่ยม ธรรมโชติ ซึ่งถอดแบบจากพระพุทธบาท วัดบวรนิเวศวิหาร ที่รัชการที่ 4 นำมาจากสุโขทัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้. (ม.ป.ป.). วัดดอนรัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.me-fi.com/

เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). ชุมชนวัดดอนรัก เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/

HATYAI FOCUS. (2565). เรื่องราวหาดใหญ่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/

เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015