Advance search

กุยเลอตอหมู่บ้านที่อยู่ใจกลางธรรมชาติ พร้อมตามหาหัวใจที่ “ปิตุ๊โกร”

หมู่ที่ 6
บ้านกุยเลอตอ
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
วิไลวรรณ เดชดอนบม
4 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.พ. 2024
บ้านกุยเลอตอ

กุยเลอตอในภาษากะเหรี่ยง แปลว่าวังหินตั้ง โดยคำว่า "กุย" แปลว่า วัง คำว่า "เล่อ" แปลว่าก้อนหิน และคำว่า "ตอ" แปลว่า ตั้ง


กุยเลอตอหมู่บ้านที่อยู่ใจกลางธรรมชาติ พร้อมตามหาหัวใจที่ “ปิตุ๊โกร”

บ้านกุยเลอตอ
หมู่ที่ 6
แม่จัน
อุ้มผาง
ตาก
63170
15.82776716
98.64939585
เทศบาลตำบลแม่จัน

กุยเลอตอ หรือ กุยเล่อตอ ในภาษากะเหรี่ยง แปลว่าวังหินตั้ง (กุย แปลว่าวังเล่อ แปลว่าก้อนหิน ตอ แปลว่าตั้ง) วังหินตั้งถูกน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2534 ได้นำตะกอนมาทับถมจนวังน้ำตื้นเขิน จากหมู่บ้านสามารถมองเห็นเขาโมโกตู๊ได้ (ดอยมะม่วงสามหมื่น) อายุของหมู่บ้านประมาณ 120 ปี โดยกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรกมี 3 ครัวเรือน ได้แก่ จอเหงยทูบระ เลอะแฮและหม่อซอโหยว ครอบครัวต่อมาเป็นการอพยพทยอยตามกันมาเพื่อหาที่อยู่ที่สะดวก และตั้งหลักแหล่งถาวรจนถึงปัจจุบัน

เดิมทีการตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงตะริตะแกวทะ (เคาะดูกูในปัจจุบัน) ช่วงนั้นมีจำนวนประมาณ 10 หลังคาเรือน โดยมีผู้นำชุมชนคือ กะดีพอและดิ๊หนุต่อมาเกิดโรคระบาดชาวบ้าน จึงอพยพหาที่อยู่ใหม่ไปตรงฝั่งน้ำตกปิ๊ตุ๊โกล เพื่ออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว (ปิตุ๊ แปลว่า ที่พักพิงชั่วคราว โกล แปลว่า ห้วย ลำน้ำเล็ก ๆ) พอโรคระบาดหมดไปก็ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานตรงแถวหลังห้วย เนื่องจากบริเวณริมห้วยมีต้นชะอมขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหย่อมบ้าน เรียกว่าโพซุยมื่อ(ส่วนที่ฝั่งน้ำตกที่อยู่อาศัยชั่วคราว จะเรียกว่าเดลอ หมายถึง หมู่บ้านที่อพยพออกมาเป็นพื้นที่ทการเกษตร ทำไร่เพียงอย่างเดียว) ต่อมามีการขยายที่ตั้งบ้านมาตรงกุยเลอตอเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำกิน ประมาณปี พ.ศ. 2536-2537 บ้านกุยเลอตอเริ่มมีจำนวนคนเข้ามาอยู่และสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มขยายมาตั้งบ้านเรือนที่เคาะดูกูหรือค่อดูกูในภาษากะเหรี่ยง ค่อมาจากชื่อต้นค่อ ดูกู แปลว่าโค้ง งุ้มลงมา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่ในบริเวณนั้น มีลำต้นโค้งเอียงลงมาไม่ตั้งตรงเหมือนต้นไม้อื่น ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อหย่อมบ้านเคาะดูกูหรือค่อดูกู

ตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้าน

บ้านกุยเลอตอตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลตำบลแม่จัน พื้นที่ทั้งหมด 30 ตารางกิโลเมตร หรือ 18,750 ไร่ หมู่บ้านตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภออุ้มผาง จากถนนใหญ่เข้ามาถึงหมู่บ้านระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร หมู่บ้านจะขนานกับห้วยแม่จอโกลแนวเหนือจรดใต้ หมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง บ้านกุยเลอตอถือเป็นประตูหน้าด่านเพื่อเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันออก มีฐานปฏิบัติการกุยเลอตอตั้งอยู่ระหว่างบ้านกุยเลอตอและบ้านกุยต๊ะ

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับบ้านทีจอชี หมู่ 11 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศใต้ ติดกับบ้านกุยต๊ะ หมู่ 5 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันออก ติดกับบ้านนุโพ หมู่ 4 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
  • ทิศตะวันตก ติดกับบ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพทั่วไปของบ้านกุยเลอตอ พื้นที่ส่วนใหญ่รายล้อมด้วยหุบเขาสลับซับซ้อน ทำการเกษตรในพื้นที่เชิงเขา พื้นที่ท ากินบางส่วนอยู่ห่างไกลจากที่พักอาศัย แหล่งน้ำที่สำคัญคือ ห้วยแม่จอโกล ภาษาทางราชการ เรียกว่าห้วยแม่จัน บ้านกุยเลอตออยู่ในระดับความสูง 400-500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในสมัยก่อนมีการเกิดโรคระบาดทำให้มีการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยไปยังอีกฝั่งหนึ่งของหมู่บ้าน เมื่อโรคระบาดหายไปชาวบ้านจึงย้ายถิ่นฐานกลับมา หลงเหลือเพียงเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ภายหลังต่อมาถูกกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวน และจัดตั้งเป็นป่าชุมชนซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว คือน้ำตกปิ๊ตุ๊โกล หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ น้ำตกรูปหัวใจภายในหมู่บ้านมีถนนคอนกรีตในเส้นทางหลัก เมื่อข้ามห้วยแม่จอโกลจะเป็นถนนดินลูกรังสลับถนนคอนกรีต มีสะพานแขวนเหล็กเสริมคอนกรีตไว้ข้ามห้วย 2 แห่ง แห่งแรกคือสะพานที่อยู่ภายในชุมชน ชาวบ้านใช้เป็นเขตแดนที่แบ่งหย่อมบ้านกุยเลอตอกับหย่อมบ้านโพซุยมื่อแห่งที่ 2 คือสะพานไว้ข้ามไปหมู่บ้านกุยต๊ะซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ถัดไป สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ทำให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น

ลักษณะทางภูมิอากาศ สภาพโดยทั่วไปจะมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว

  • ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
  • ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม
  • ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม

ประชากร 

จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2560 พบว่ามีจำนวน 113 หลังคาเรือน 134 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 613 คน เป็นชาย 321 คน หญิง 292 คน มี ทร.13 จำนวน 389 คน (มีทะเบียนบ้านและสัญชาติไทย) มี ทร.14 จำนวน 224 คน (ไม่มีทะเบียนบ้านและรอพิสูจน์สัญชาติไทย)

ความสัมพันธ์เครือญาติ

ชุมชนบ้านกุยเลอตอถือกำเนิดจากครอบครัวเพียงไม่กี่หลัง หลังจากนั้นก็มีการอพยพตาม ๆ กันมาจนเป็นบ้านกุยเลอตอ เช่น ในปัจจุบันชาวบ้านคนแรกที่ได้ทำบัตรประชาชน และมีนามสกุลเป็นของตนเองคือ นายสมนึก ทำนุพงศ์พันธ์ ต่อมาพี่น้องของนายสมนึกก็จดนามสกุลแตกออกมาเป็นรัศมียิ่งมงคล หากจะนับตระกูลใหญ่ ๆ มี 5 ตระกูล ได้แก่ ทำนุพงศ์พันธ์ รัศมียิ่งมงคล พงศ์วโนทยาน เฉลิมเจริญกุล และธาราแม่กลอง เมื่อลำดับเครือญาติของชุมชนนี้พบว่า ความเป็นเครือญาติเกิดจากการแต่งงานระหว่างตระกูล เนื่องจากในสมัยก่อนมีเพียงไม่กี่หลังคา และอยู่อาศัยในป่าการเดินทางจะออกไปพบเจอคนข้างนอกนั้นเป็นเรื่องลำบาก จึงทำให้ช่วงอายุรุ่นพ่อแม่เป็นการแต่งงานกันภายในหมู่บ้าน ส่วนรุ่นลูกลงมาเริ่มออกแต่งงานกับหมู่บ้านข้างเคียง และมีบ้างที่ได้คู่ครองต่างจังหวัด ดังนั้นบ้านกุยเลอตอจึงเป็นหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติ ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ชุมชนมีความเป็นพี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยดูแลลูกหลาน แบ่งปันอาหาร เอามื้อเอาแรง

อัตลักษณ์ของกะเหรี่ยงบ้านกุยเลอตอกับความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยบ้านกุยเลอตอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีวัฒนธรรมของชนเผ่าตนเอง อยู่อาศัยในป่ามีการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูล แต่ในปัจจุบันสภาพสังคมและการประกอบอาชีพได้เปลี่ยนไปจากครั้งเมื่อในอดีต การปลูกข้าวโพดของชุมชนได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้าน จนทำให้ต้องมีการลุกขึ้นมาต่อต้านจากกลุ่มคนที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชนเผ่าตนเอง

ปกาเกอะญอ

การประกอบอาชีพของชาวบ้าน ยังคงประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ เกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ และเกษตรกรรมเพื่อเศรษฐกิจ

เกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ เป็นลักษณะการทำอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน พืชหลักที่ปลูกคือ ข้าว มีทั้งข้าวไร่และข้าวนา ปลูกปีละหนึ่งครั้งเพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี ภายในไร่ข้าวจะปลูกพืชผักที่สามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี ปะปนกันไปในไร่ เช่น พริก ฟัก แตง ข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน ปลูกผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน อีกทั้งการที่อยู่กับธรรมชาติทำให้มีอาหารที่สามารถเก็บได้จากป่า หน่อไม้ ผักกูด ผลผลิตที่ได้เพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี หากเหลือจะมีการแบ่งปันกันระหว่างบ้านหรือตากทิ้งไว้ให้แห้ง เมล็ดพันธุ์จะเก็บไว้สำหรับปลูกในรอบถัดไป สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำไร่ไม่มีการว่าจ้าง หากต้องใช้แรงงานช่วยกันจะเป็นในลักษณะเอามื้อเอาแรง คือช่วยทำไร่หมุนเวียน กันไปในแต่ละบ้าน แต่หากมีการจ้างจะเป็นการจ้างคนในหมู่บ้านแค่ครั้งคราว

เกษตรกรรมเพื่อเศรษฐกิจ เป็นลักษณะการเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ได้แก่ ถั่วลิสง ข้าวโพด อ้อย กล้วยน้ำว้า ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่ปลูกข้าวโพดได้ผลผลิตเยอะประกอบกับ ราคาข้าวโพดดี ทำให้ชาวบ้านทยอยหันมาปลูกตาม การปลูกข้าวโพดลงทุนหลักแสนแต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือกำไรครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่า ข้าวโพดได้กลายมาเป็นรายได้หลักของชาวบ้านไปแล้ว แปลงหนึ่งอาจจะให้ผลผลิตไม่เท่ากัน อยู่ที่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เลือกใช้การบำรุงให้ปุ๋ย ส่วนกลุ่มอนุรักษ์ยังคงทำไร่หมุนเวียนผสมผสานไปกับการปลูกพืชผัก สมุนไพรในครัวเรือนอย่าง เช่น ขมิ้น กระชาย มะอิ กระวาน ต้นกาแฟ แต่เดิมต้นกาแฟมีขึ้นอยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้วแต่ชาวบ้านไม่ทราบว่าจะนำไปใช้อย่างไรจึงไม่ได้สนใจ ตอนนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์เริ่มหันกลับมาปลูกต้นกาแฟอย่างจริงจัง เพื่อนำเมล็ดส่งออกขายเป็นช่องทางหารายได้อีกทาง อีกทั้งการปลูกต้นกาแฟเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้เพราะว่าต้นกาแฟจะอยู่ได้จะต้องอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่

การเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านจะนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้ทุกหลังคาเรือน จำนวนมากน้อยแล้วแต่ฐานะสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันทุกบ้าน คือ หมูดำและไก่ เพื่อการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หากบ้านไหนไม่เลี้ยงไว้ แล้วจะต้องเสียเงินซื้อในภายหลัง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านจะเลี้ยงหมูไว้ในคอกไม้ไผ่ และจะปล่อยออกมาบ้างเป็นครั้งคราว ให้กินรำผสมหยวกกล้วยฝานบาง ๆ และเศษอาหารเศษผักที่เหลือในแต่ละวัน ชาวบ้านบอกว่าหมูที่นี่เลี้ยงด้วยอาหาธรรมชาติทำให้เนื้อหมูมีความมันอร่อยกว่าหมูเลี้ยงตามฟาร์ม ในชุมชนยังมีสัตว์เลี้ยงอื่นให้เห็นอยู่แต่ไม่ได้มีกันทุกบ้าน ได้แก่ วัว ควาย แพะ ช้าง เป็ด นอกจากเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อทำพิธีกรรมก็ยังเลี้ยงไว้เพื่อใช้งานแล้ว ก็ยังเลี้ยงไว้เพื่อนำขายแลกเป็นเงินใช้ยามจำเป็น

การปลูกสมุนไพรส่งขายการปลูกสมุนไพรส่งขายให้กับมูลนิธิอภัยภูเบศ ได้ทำข้อตกลงรับซื้อขมิ้น กระวาน ข่า ขิง และกระชาย ส่วนมะขามป้อม หมากและหัวบุก มีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านโดยการร่วมมือกันปลูกในที่แปลงของตนเองและนำมารวมกันส่งขาย

สร้างกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ นอกจากทอไว้สวมใส่เอง เพื่อลดรายจ่ายในครอบครัวแล้ว ยังสามารถนำผ้าทอไปขายเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นสื่อกลางในการรับซื้อ ภายใต้ชื่อโครงการ “ผ้าทอจอมป่า” ซึ่งทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะซื้อเส้นด้ายสีขาวมาจากข้างนอก และนำมาให้สมาชิกกลุ่มย้อมสีเส้นด้ายจากเปลือกไม้ธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น ไม้เพกา ไม้ประดู่แดง โคลนเลน เปลือกไม้มะม่วง แล้วแบ่งให้กับสมาชิกนำกลับไปทอผ้าที่หมู่บ้าน เมื่อทอเสร็จแล้วทางมูลนิธิสิบนาคะเสถียรจะนำออกสู่ตลาด รายได้จากการขายจะแบ่งเข้ากองทุนร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้ของผู้ที่ทอ

ปลูกต้นกาแฟเพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในอนาคตการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนมาแปรรูปเป็นกาแฟไว้ดื่มภายในครัวเรือนเป็นการช่วยลดรายจ่ายที่เกิดขึ้น และเตรียมหาช่องทางตลาดเพื่อจำหน่ายเมล็ดกาแฟการสร้างเครือข่ายกับคนที่อยู่ปลายน้ำการสร้างเครือข่ายกับคนที่อยู่ปลายน้ำ ที่อำเภออัมพวา เกิดเป็นโครงการ "ภูผาสู่ทะเล" ให้คนต้นน้ำและคนปลายน้ำได้พึ่งพากัน ในลักษณะพริกแลกเกลือ คนบนดอยมีพริก คนข้างล่างมีเกลือ ก็นำมาแลกกัน ยังมีกองทุนธนาคารต้นทะเล ที่คนปลายน้ำร่วมบริจาคเงินสนับสนุนการทำงานของคนในพื้นที่ต้นน้ำเป็นการแสดงความขอบคุณที่รักษาต้นน้ำให้คนปลายน้ำได้มีน้ำใช้ที่สะอาด มีปลาทูแม่กลองที่ปราศจากสารพิษ เสริมกำลังใจในการอนุรักษ์ต่อไป

ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมของคนกะเหรี่ยงนั้นมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว วิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าเขา ผูกพันกับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกะเหรี่ยงกับธรรมชาติเป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตนั้นมีเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขาอยู่ มีทั้งผีดีและผีไม่ดี ดังนั้น ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องจะมีการเซ่นไหว้เลี้ยงผีอยู่เสมอ พิธีกรรมจึงเป็นเหมือนเครื่องเชื่อมโยงจิตใจของคนกะเหรี่ยงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อมโยงให้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจากการที่จะทำอะไรจะต้องมีการเซ่นไหว้ก่อน มีข้อห้ามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ อย่างเช่น การเลือกพื้นที่ทำกินให้ห่างจากแหล่งน้ำเท่าใด การตัดไม้ต้นไหนถึงจะตัดได้ ซึ่งถือได้ว่าคนกะเหรี่ยงนั้นมีส่วนที่ช่วยรักษา ปกป้องดูแลธรรมชาติผ่านความเชื่อที่พวกเขาให้ความเคารพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีศาสนาอื่นได้เข้ามาเผยแพร่ในกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยงมากขึ้น ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนผสมผสานกันไป บางประเพณีก็เริ่มเลือนหาย บางประเพณีปรับให้สอดคล้องกับศาสนา และการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นเก่าอย่างรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นพ่อแม่ที่ยังคงมีความเชื่อในระบบดั้งเดิมฝังปนอยู่ในหมู่บ้าน ด้วยระบบความเป็นเครือญาติทำให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป คนรุ่นใหม่ก็ยังมีความเชื่อเดิม ๆ ที่สืบทอดกันมา แม้จะเป็นความรู้ที่น้อยคนนักจะเข้าใจความหมายของพิธีกรรมได้อย่างแท้จริงเหมือนอย่างคนรุ่นพ่อแม่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่หากไม่มีการถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว ความรู้ตรงนี้อาจสูญหายลงไปในไม่ช้า ผู้นำที่ประกอบพิธีกรรมยังคงเป็นหมอผีที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ แต่ละพิธีกรรมมีสิ่งหนึ่งที่ผู้ศึกษาเห็นบ่อยมากที่สุดคือการมัดมือ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน พิธีทำบุญกินข้าวใหม่ หากมีคนไหนเจ็บป่วยก็จะมีหมอผีชาวบ้านมามัดมือให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ การมัดมือจะทำตั้งแต่ที่เด็กเกิดมาเพื่อให้ขวัญอยู่กับตัวตั้งแต่เกิด และจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคน ๆ นั้นได้ตายจากไป ชาวบ้านมีความเชื่อว่าขวัญสามารถหนีหายไปจากตัวได้ ทำให้คน ๆ นั้นเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงต้องมีการเรียกให้ขวัญกลับมา ความเชื่อเรื่องขวัญและวิญญาณสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า พิธีเรียกขวัญ 37 ประการ เป็นขวัญที่อยู่ในตัวคน 5 อย่าง คือ ขวัญกระหม่อม ขวัญมือขวา ขวัญมือซ้าย ขวัญเท้าซ้าย และขวัญเท้าขวา นอกนั้นเป็นขวัญที่อยู่ภายในตัวสัตว์ (ยกเว้นขวัญข้าว) ประกอบด้วยสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ทั้งบนบกและในน้ำ การอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น เพื่อสร้างศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของคนที่นับถือลัทธิฤๅษี ให้ในแต่ละปีมีกิจกรรมที่มาทำร่วมกัน ได้มากราบไหว้ผู้นำฤๅษี มามัดมือและรับพรกลับไป ได้แก่

  1. ประเพณีมาบุ๊โค๊ะ หรือทำบุญเจดีย์จัดขึ้นในเดือนมีนาคม ณ ลานวัฒนธรรมฤๅษีบ้านมอทะ ถือเป็นประเพณีอันเก่าแก่ของกะเหรี่ยงที่นับถือฤๅษีไม่ต่างจากหมู่บ้านเลตองคุ เป็นประเพณีที่รวมคนกะเหรี่ยงจากหลากหลายที่มาร่วมงานไหว้เจดีย์ขอให้ช่วยคุ้มครองการทำมาหากินให้อุดมสมบูรณ์ ไม่มีภัยธรรมชาติใดใด
  2. ประเพณีบือโมปา การปลูกข้าวไร่หรือการทำไร่หมุนเวียนที่จะต้องมีการทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ก่อนเริ่มการเพาะปลูก จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนในไร่หมุนเวียน ณ บ้านกุยต๊ะ
  3. ประเพณีต้าโป้ป่อ หรือรับขวัญข้าวไร่หมุนเวียน จัดขึ้นในเดือนกันยายน ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านหม่องกั๊ว
  4. ประเพณีเซอโทะ หรือพิธีส่งนก จัดขึ้นหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไร่เสร็จช่วงปลายปีเป็นการขอบคุณนกที่มาเฝ้าดูแลข้าวให้อุดมสมบูรณ์ ทำพิธีส่งนกกลับไปสวรรค์อีกทั้งขอให้กลับมาใหม่เมื่อถึงฤดูกาลปลูกข้าวอีกครั้ง
  5. ทำบุญวังปลา คือ การกรวดน้ำขมิ้นส้มป่อยในวังปลา เพื่ออนุรักษ์ปลาตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง

หมอทำพิธีมัดมือ เรียกขวัญ ทำนาย สะเดาะเคราะห์

  1. นายดิเรก พงศ์วโนทยาน
  2. นายสะชีแฮ เฉลิมเจริญกุล
  3. นายหม่ออย่าเซ
  4. นายจอหริที ศรีไสวบุปผา

หมอสมุนไพร

  1. นายหม่อตูติ
  2. นายทูแฮ
  3. นายเมาแฮเอ มานพพนาไพร

หมอตำแย

  1. นางมะทีแง มานพพนาไพร
  2. นางยะมีแฮ นทีแม่จัน
  3. นางมะเลทู รัศมียิ่งมงคล

การทอผ้า เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสาวจะต้องทอผ้าเป็นเด็กเล็ก ๆ จะต้องทอผ้าเป็นย่ามไม่มีลวดลาย ส่วนลวดลายผู้เป็นแม่หรือพี่สาวจะช่วยทอให้ลวดลายบนผ้าทอนั้นมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทอแล้วแต่จินตนาการ บางครั้งไปเห็นลวดลายของคนอื่นสวยก็ใช้วิธีการจดจำ แล้วนำมาลองทอเอง ลวดลายบ่งบอกความขยันของคนทอ และความซับซ้อนของลายไม่เหมือนใครก็จะบอกได้ว่าเป็นคนทอผ้าเก่ง ในปัจจุบันนิยมซื้อด้ายสำเร็จรูปมาทอผ้า ถ้าในอดีตหรือยังมีให้เห็นอยู่บ้างในไร่หมุนเวียนมักจะปลูกต้นฝ้าย ชาวบ้านจะเก็บฝ้ายมาตากแห้งแล้วผ่านกรรมวิธีของการทำด้ายสำหรับทอผ้าเก็บไว้ ยามที่ต้องการทอผ้าก็นำออกมาใช้ ฝ้ายนอกจากนำมาทอผ้าแล้วยังใช้มัดมือด้วย หากมีการย้อมสีจะเป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้มะม่วงให้สีเหลือง เปลือกไม้ประดู่ให้สีแดง การทอผ้าผู้ทอจะต้องนั่งราบกับพื้น มีที่คาดเอวรัดดึงด้ายไว้กับตัว จึงเรียกการทอผ้าของกะเหรี่ยงว่าการทอกี่เอว พื้นที่หมู่บ้านอยู่ในป่าไผ่ ดังนั้น ไม้ไผ่จึงเข้ามามีบทบาทกับชาวบ้านเกือบทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำไม้ไผ่มาสร้างที่อยู่อาศัย ทำเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น จาน แก้ว กระบุงตะกร้า นำมาเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมทุกพิธีกรรม ในสมัยก่อนใช้ไม้ไผ่เหลาให้ปลายแหลมไว้ใช้ตัดสายสะดือ อีกทั้งใช้ไม้ไผ่แทนกระดาษไว้จดบันทึกข้อมูลเด็กที่เกิดลงไปบนไม้ไผ่แล้วเก็บไว้เหมือนเป็นสูติบัตร

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว


วิถีการผลิตเปลี่ยนแปลง วิถีการผลิตเปลี่ยนไปจากการเกษตรเพื่อยังชีพ ไปเป็นการเกษตรเพื่อการค้าขาย ชาวบ้านมีอิสระในการผลิตต้องเปลี่ยนไปพึ่งพาตลาดจากนายทุน และต้องพึ่งพาระบบกลไกราคาตลาด เพื่อนำเงินมาเป็นปัจจัยในการซื้อสินค้า ลดการพึ่งพาตนเอง แม้ว่าชาวบ้านจะสามารถหาประโยชน์ใช้สอยจากพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกินได้ แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ

นอกจากนี้ยังถูกลดปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม อย่างเช่น เวลาหยุดพักผ่อนที่สั้นลง จะต้องเข้าไปดูแลไร่ หรือการที่ลูกไม่ได้เรียนสูงเนื่องจากต้องกลับมาเป็นแรงงานช่วยพ่อแม่ทำไร่ บ้านเรือนที่เปลี่ยนไปเป็นพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก เช่น หลังคากระเบื้อง ก่อปูน สาเหตุที่ไม่ใช้หลังคาใบไม้เหมือนของเดิม ได้รับคำตอบว่าหลังคาใบไม้ไม่ทนทานต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี ทำให้เสียเวลาทำงานอื่น แต่หลังคาใบไม้นั้นเย็นกว่าหลังคาสังกะสี ทำให้ส่วนใหญ่บริเวณลานซักล้างหลังบ้าน ชาวบ้านยังคงมุงหลังคาด้วยใบไม้อยู่ไม่ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีหรือกระเบื้องทั้งหลัง ประเพณีและพิธีกรรมบางอย่างอาจเลือนหายไปหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ เช่น การเลี้ยงผีข้าว พิธีส่งนกกลับสวรรค์ การกินข้าวใหม่


ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและถูกทำลายเพราะการใช้สารเคมีเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต การตรวจพบสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทำให้ปัจจุบันแม่น้ำของหมู่บ้าน จากการที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ พบว่ามีสารเคมีเจือปน ไม่สามารถนำมาเพื่อการบริโภคได้อีกต่อไป การทำลายพื้นที่ป่าไม้อันเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ

ของต้นน้ำลำธาร ชาวบ้านสังเกตว่าปริมาณน้ำน้อยลงทุก ๆ ปี ตั้งแต่ที่เริ่มมีการปลูกข้าวโพด ดินเกิดความเสื่อมโทรม ฤดูกาลสภาพอากาศ ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นการปรับตัวของกลุ่มอนุรักษ์กับกระแสทุนนิยมที่เข้ามา มุมมองของกลุ่มอนุรักษ์ที่มีต่อการปรับตัวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในชุมชนและจากภายนอก กระแสของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และกระแสการบริโภคนิยม กลุ่มอนุรักษ์มีการปรับตัวตามกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา มีการเลือกที่จะรับและรู้จักปฏิเสธหากสิ่งที่เข้ามาขัดต่อหลักความเชื่อที่พวกเขามี การปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงรักษาความมีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่ดีเอาไว้ทำให้กลุ่มอนุรักษ์มีมุมมองเกี่ยวกับการรับความเจริญเข้ามาในหมู่บ้านว่า เป็นเรื่องปกติที่หมู่บ้านต้องมีการพัฒนาไปตามยุคสมัย การศึกษาทำให้เด็กออกไปเรียนข้างนอก ออกไปทำงานในเมือง เมื่อกลับมาย่อมนำวัฒนธรรมข้างนอกเข้ามายังหมู่บ้าน จะทำอย่างไรถึงให้วัฒนธรรมดั้งเดิมยังอยู่ และวัฒนธรรมใหม่ก็สามารถอยู่ร่วมกับของเดิมได้อย่างไม่ขัดแย้งกัน เพื่อให้มีการดำรงชีวิตเหมาะสมกับสภาพสังคมโดยรอบไม่แปลกแยกจนเกินไป เพราะมีความคิดเห็นว่าสิ่งใหม่ที่เข้านั้นก็มีข้อดี มีประโยชน์หากรู้เท่าทันและรู้จักนำมาใช้

“น้ำตกปิตุ๊โกร” หรือ น้ำตกเปรโต๊ะลอซู เป็นน้ำตกที่อยู่บนเทือกเขาสามหมื่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นน้ำตกที่ได้ขึ้นชื่อว่าใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูงกว่า 500 หรือเกือบสองเท่าของตึกใบหยก เนื่องจากธารน้ำทั้งสองสายไหลลงจากดอยมะม่วงสามหมื่นมาบรรจบรวมกันเป็นหนึ่งเดียวบริเวณหน้าผาสูงชัน จึงทำให้มีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ

การเดินทาง เริ่มจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ใช้เส้นทางสายอุ้มผาง บ้านเบิ้งคลิ่ง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะถึงหมู่บ้านกุยเลอตอ จากนั้นจะต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามเทือกเขาและลำธาร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง แล้วแต่ความเร็วในการเดินของแต่ละคน ก็จะถึงจุดตั้งแคมป์ จากนั้นเราต้องเดินเท้าต่อไปที่น้ำตกอีก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ระเบียบและกติกาการท่องเที่ยวน้ำตกปิตุ๊โกร

  1. ปฏิบัติตามกฎของป่าชุมชนบ้านกุยเลอตอ
  2. ลงทะเบียน / จำนวนนักท่องเที่ยว พร้อมชำระค่าธรรมเนียม 20 บาท ต่อคน
  3. ควรมีไกด์ท้องถิ่น / ลูกหาบ นำทางในการท่องเที่ยว
  4. นำขยะออกจากพื้นที่ท่องเที่ยวทุกครั้ง
  5. กางเต็นท์ในบริเวณที่คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกุยเลอตอกำหนดไว้เท่านั้น
  6. ควรติดต่อไกด์ท้องถิ่น / ลูกหาบ ไว้ล่วงหน้า

เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ที่ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของคนกะเหรี่ยงมีตั้งแต่ 5 สายไปจนถึง 12 สาย ทำจากสายเบรกรถจักรยาน ตัวเตหน่าทำจากท่อนไม้เจาะเป็นโพรงรอบนอกนำมาเหลาแล้วแต่จินตนาการของผู้ทำอยากให้ออกมาเป็นรูปอะไร คนที่เล่นเตหน่าเป็นจะเป็นผู้ชาย จะไว้ใช้เล่นให้ผู้หญิงฟัง เป็นการเกี้ยวพาราสี เสียงดนตรีเตหน่ามีเสียงที่สงบเย็น ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่อยู่กับธรรมชาติ รักความสงบและอ่อนน้อมถ่อมตน จะนิยมสอนลูกหลานโดยผ่านบทเพลง การเล่านิทาน ประกอบกับการเล่นเตหน่า ทำให้เสียงดนตรีที่บรรเลงออกมาจากเตหน่ามีความนุ่มนวล

ส่วนใหญ่จะใช้เล่นในช่วงปีใหม่ เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงผ่านเสียงเพลงสู่ลูกหลานว่าเป็นใครมาจากไหนหรือเกี่ยวกับการทำนาย เช่น “วันหนึ่งตะขาบจะกินคน” ซึ่งในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีรถไฟ และตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าคำทำนายนี้เป็นจริง หรือบางเพลงบอกว่า “แต่ก่อนพวกเขาเดินทางจากบ้องตี้กว่าจะถึงทวอยด์จะต้องค้างในป่าสองคืน และเดินทางกลับอีกสองคืน แต่อีกข้างหน้าลูกหลานจะเดินทางไปกลับภายในวันเดียว” คำพยากรณ์ที่กลายมาเป็นความจริงในทุกวันนี้ นอกจากนี้แล้วบทเพลงต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยบรรพชนนั้นยังสอนลูกหลานให้เป็นคนดี รักษาวัฒนธรรม ประเพณีอีกด้วย

จรัสพร ธงสินธุศักดิ์ (2560). กระบวนการผลิตของ "กลุ่มอนุรักษ์" กับการสร้างการยอมรับในอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยง: กรณีศึกษา บ้านกุยเลอตอ จังหวัดตาก. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). ปิตุ๊โกร น้ำตกรูปหัวใจ จ.ตาก เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวแล้ว.สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567. จาก https://www.thairath.co.th/

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (2561). ผ้าทอจอมป่า สายใยความผูกพันแห่งชีวิต. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567. จาก https://www.seub.or.th/

ศูนย์กลางทางวัฒนธรรม. (2556). "เตหน่า" เครื่องดนตรีชาวกะเหรี่ยง. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567. จาก http://m-culture.in.th/