อุทยานนกน้ำทะเลน้อย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถือเป็นแรมซาร์ไซต์ แห่งแรกของประเทศไทย
อุทยานนกน้ำทะเลน้อย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถือเป็นแรมซาร์ไซต์ แห่งแรกของประเทศไทย
ประวัติความเป็นมาของชุมชนทะเลน้อยจะแยกกล่าวได้เป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง และช่วงสองคือตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางมาจนถึงปัจจุบัน
1.ชุมชนทะเลน้อยสมัยสุโขทัย-อยุธยาตอนกลาง
ตามคำบอกเล่านิทานพื้นบ้านหรือตำนาน กล่าวว่าชุมชนทะเลน้อยช่วงแรกเกิดขึ้นประมาณตอนต้นของสมัยสุโขทัย ซึ่งประกอบด้วยชุมชนบ้านกลาง และชุมชนบ้านกล้วย แต่ต่อมาทางราชการได้ให้มีการตัดไม้ตะเคียนไปต่อเรือในราชการจำนวนมาก จนเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันหลายปีและเกิดไฟป่าเป็นเวลานานจนกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดารประชาชนจึงได้อพยพออกไปพื้นที่ในเขตนครศรีธรรมราช จนเวลาล่วงเลยมาถึง 100 ปี ช่วงกลางสมัยอยุธยาความอุดมสมบูรณ์ในทะเลน้อยได้กลับคืนสภาพเดิมทำให้ประชาชนรุ่นหลังหลังจึงมีการอพยพจากเขตนครศรีธรรมราชกลับมาตั้งหลักแหล่งขึ้นใหม่เป็นชุมชนทะเลน้อยช่วงที่สอง
2.ชุมชนทะเลน้อยสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปัจจุบัน
ช่วงที่สองนี้สันนิษฐานว่าจะมีจุดก่อกำเนิดอยู่สองจุด คือบริเวณวัดทะเลน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลทะเลน้อย และบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 ตำบลพนางตุง เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทั้งสองนี้ก็เนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ บริเวณวัดทะเลน้อยเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา และทะเลน้อยอุดมไปด้วยปลานานาชนิด ทำให้อาชีพหลักของประชาชนในระยะนั้นจึงเป็นการ ทำนาและการทำประมงซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้นอย่างรวดเร็วจนสามารถสร้างวัดทะเลน้อยขึ้นได้ ส่วนสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปากประ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิดเช่นเดียวกัน และด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทางบริเวณปากแม่น้ำปากประ และค่อย ๆ เป็นสันเนินไปทางทิศทิศเหนือขนานไปกับแม่น้ำปากประ และระดับต่ำไปทางด้านตะวันตกลักษณะภูมิประเทศแบบนี้จึงเหมาะกับการทำนา ทำสวนเลี้ยงสัตว์ ทำให้การประกอบอาชีพของประชาชนบริเวณสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทองจึงค่อนข้างจะหลากหลายและทำให้เศรษฐกิจดีไม่แพ้บริเวณทะเลน้อยจึงสามารถสร้างสำนักสงฆ์ท่าประดู่ทองขึ้นมาได้
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชุมชนทะเลน้อยได้ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วและมีสภาพเศรษฐกิจดีเพราะปรากฎการณ์ผู้ร้ายชุกชุม จากบทความ เรื่อง ประวัติบ้านทะเลน้อย บอกว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสในภาคใต้ และเสด็จไปประทับที่จังหวัดพัทลุง และได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับทะเลน้อยไว้ว่า “ได้ฟังเสียงธรรมจากพัทลุงและสงขลา กล่าวโทษว่าแถบทะเลน้อยในแขวงเมืองนครศรีธรรมราชมีคนตั้งบ้านเรือนอยู่มาก แต่เกือบจะไม่มีคนดีเลยในหมู่บ้านเป็นผู้ร้ายทั้งสิ้น”
หลังสมัยปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2439 จะมีความเกี่ยวพันกับความเป็นมาของอำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ซึ่งอำเภอควนขนุนนั้นเดิมชื่อว่าอำเภออุดร เพราะอยู่ทางเหนือของจังหวัดพัทลุงที่ว่าการอำเภอก็ตั้งอยู่บนควนขนุนในปัจจุบัน ต่อมาที่ว่าการอำเภอได้ย้ายไปตั้งที่ บ้านมะกอก ใกล้ฝั่งแม่น้ำปากประ จึงเรียกว่าอำเภอปากประ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านทะเลน้อยจึงเปลี่ยนเป็น อำเภอทะเลน้อย จนถึง พ.ศ. 2453 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอขึ้นไปตั้งบนควนพนางตุง จึงเปลี่ยนไปชื่ออำเภอพนางตุง ต่อมาทางราชการเห็นว่าที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ตำบลพนางตุง นั้นไม่เหมาะสมเพราะไม่เป็นย่านกลางของอำเภอ เพราะการปราบปรามโจรผู้ร้ายทำได้ลำบาก ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทางการจึงส่ง พระยาวิชัยประชาบาลมาปราบปรามโจรผู้ร้าย พระยาวิชัยประชาบาลได้ตั้งค่ายที่วัดสุวรรณวิชัย เพื่อความสะดวกในการปราบปราม จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากควนพนางตุงไปตั้ง ที่ควนขนุนตามเดิมในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2467 และเปลี่ยนเป็นชื่ออำเภอควนขนุนมาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นตำบลนางตุงมีประวัติความเป็นมาร่วมกันกับตำบลทะเลน้อย เพราะเดิมสองตำบลนี้เป็นตำบลเดียวกันเรียกว่า “บ้านทะเลน้อย” หรือ “ชุมชนทะเลน้อย” ซึ่งจะเห็นว่าหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ของตำบลพนางตุงก็ยังมีชื่อหมู่บ้านผูกพันอยู่กับบ้านทะเลน้อย คือ หมู่ที่ 1 ชื่อว่าบ้านทะเลน้อย หัวลานหัวนอน และหมู่ที่ 2 ชื่อว่าบ้านทะเลน้อยหัวลาน หมู่บ้านทั้งสองนี้ก็ตั้งติดกับฝั่งทะเลน้อยเช่นกันกับตำบลทะเลน้อย ฉะนั้นการศึกษาเรื่องกำเนิดชุมชนและประวัติประวัติความเป็นมาของตำบลพนางตุงจึงต้องศึกษาร่วมกับ ตำบลทะเลน้อยซึ่งต่อไปจะใช้คำว่า “ชุมชนทะเลน้อย” เป็นชื่อรวมของสองตำบล
ตำบลพนางตุง เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ทางใต้และด้านตะวันตกของทะเลน้อย ตำบลพนางตุงมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 60,900 ไร่ แบ่งออกเป็น 11 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ จดทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย ตำบลแหลมโตบด และตำบลปันแต
- ทิศใต้และทิศตะวันออก จดตำบลลำป่า ตำบลชัยบุรี และทะเลสาบสงขลา อำเภอเมืองพัทลุง
- ทิศตะวันตก จดตำบลมะกอกเหนือ
สามารถจำแนกจำนวนประชากรได้ ดังนี้
- หมู่ที่ 1 จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 219 ครัวเรือน ประชากรรวม 538 คน แบ่งเป็น ชาย 263 คน และหญิง 275 คน
- หมู่ที่ 2 จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 181 ครัวเรือน ประชากรรวม 613 คน แบ่งเป็น ชาย 271 คน และหญิง 342 คน
- หมู่ที่ 3 จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 196 ครัวเรือน ประชากรรวม 757 คน แบ่งเป็น ชาย 362 คน และหญิง 395 คน
การทำการพาณิชย์ภายในชุมชนทะเลน้อย ได้แก่ ตลาดน้ำทะเลน้อย ร้านขายวัสดุก่อสร้าง และอาคารร้านค้า ซึ่งเป็นการค้าประเภทร้านอาหาร ร้านขายผลิตภัณฑ์ และร้านค้าปลีกของชุมชน จะกระจายตัวอยู่ทั้งสองฟากตามแนวถนน ศาลาเชื้อ - ปลายตรอก ฟากตะวันตกของถนนสายเลียบริมทะเลน้อย และถนนศาลาเชื้อ - ศาลาอิ้ง- ทะเลน้อย ส่วนกลุ่มอาชีพที่มีการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง มีจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่
- วิสาหกิจชุมชนบ้านต้นกระจูด หมู่ที่ 2
- วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรร่วมใจพัฒนาบ้านตีน (กลุ่มพริกแกง) หมู่ที่ 1
- วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรโคกศักดิ์-น้องใหม่ หมู่ที่ 6
- กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ หมู่ที่ 6
- กลุ่มทอผ้าบ้านหัวป่าเขียว หมู่ที่ 7
- กลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านหัวป่าเขียวหมู่ที่ 7
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ (โรงฟาง) หมู่ที่ 9
การนับถือศาสนา
ประชาชนภายในเขตเทศบาลตำบลทะเลน้อย และตำบลพนางตุง นับถือศาสนาพุทธ 100% มีการเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีวัดที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชนทะเลน้อยคือวัดชายคลองหรือสำนักสงฆ์ท่าประดู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประชาชนนับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งชุมชนที่นี่แล้ว
ประเพณีและงานประจำปี
- ประเพณีลากพระแข่งเรือทะเลน้อย จัดในช่วงหลังวันออกพรรษา 1 วัน จะมีการอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ หรือรถแล้วแห่ชักลากไปตามถนน หรือในลำน้ำ และหลังจากนั้นก็มีการแข่งขันเรือยาว
- ประเพณีชิงเปรต จัดขึ้นในเทศกาลวันสารทไทย ปีหนึ่งจะมีการจัดงานชิงเปรตขึ้น 2 ครั้งคือในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
- ประเพณีไหว้เจ้าที่ เป็นการเส้นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ที่ดูแลสถานที่แห่งนั้น ให้ดูแลปกปักรักษาผู้อยู่อาศัย โดยจะไหว้กันในที่ที่จะให้เจ้าที่มากินและจะทำพิธีก่อนเที่ยงวัน
- ประเพณีลอยกระทง จัดในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มีกิจกรรมลอยกระทง หนูน้อยนพมาศ ประกวดกระทง
- พิธีการตั้งหิ้งครูหมอมโนราห์ เป็นการทำพิธีไหว้ครูหมอมโนราห์ในเดือน 6 ของทุกปี โดยมีการทำพิธีรำมโนราห์โรงครูที่บ้านของตนเอง จะต้องตั้งครูหมอตายายที่หิ้งเดิมหรือหิ้งที่บ้านของตนเอง มีความเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของตายาย เพื่อให้ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
ในปี พ.ศ. 2502 ผู้ใหญ่คง อรุณรัตน์ ผู้ใหญ่ยก นวลแก้ว นายขาว ชูทอง และนายแคล้ว ทองนวล ผู้นำตำบลทะเลน้อย ได้ร่วมกันปลูกกระจูดอย่างจริงจัง โดยนำหัวกระจูดจากควนเคร็ง มาปลูกริมทะเลน้อยโดยรอบ ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี ชาวบ้านตำบลทะเลน้อยจึงหันมาจักสานกระจูด เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนกันแทบทุกครัวเรือน จนกระทั่งมีการซื้อขายกันทั้งในและนอกหมู่บ้าน ตำบล ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านจึงยึดการจักสานกระจูดเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นมา คนในชุมชนมีความผูกพันธ์เหมือนญาติพี่น้องอย่างเหนียวแน่นกอรปกับการผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างเหมาะสมกับสถาพท้องถิ่น "ภูมิปัญญาท้องถิ่น"จึงเป็นสิ่งสำคัญ มีคุณค่าควรได้มีการบันทึกเพื่อการอนุรักษ์และถ่ายทอดต่อชุมชนรุ่นหลังสืบไป
ทุนวัฒนธรรม
การทำปลาดุกร้า คือ ปลาร้าที่ทำด้วยปลาดุกอุยหรือปลาดุกเนื้ออ่อน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา เนื่องจากปลาดุกนำมาทำเป็นปลาเค็มตากแห้งไม่อร่อยเหมือนปลาชนิดอื่น ๆ เพราะเนื้อปลาจะแห้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงได้นำปลาดุกมาทำเป็นปลาดุกร้าแทน แต่เดิมการทำปลาดุกร้าจะใช้ปลาดุกอุยจากธรรมชาติที่หาได้จากแม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบสงขลา แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปลาดุกอุยในธรรมชาติที่จะนำมาผลิตเป็นปลาดุกร้านับวันจะหายากและมีราคาค่อนข้างแพง จึงทำให้ชาวบ้านหันมาใช้ปลาที่เลี้ยงจากบ่อหรือที่เรียกว่า "ปลาดุกบิ๊กอุย” แทนซึ่งหาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่า ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การผลิตปลาร้าโดยใช้ปลามาหมัก บริเวณภาคอื่นๆ ของประเทศไทย จะนำปลามาแช่เกลืออย่างเดียว เช่นแถบภาคอิสานจะหมักปลาไว้ในไหปลาร้า แต่กรรมวิธีการผลิตปลาดุกร้าของภาคใต้ จะนำปลาดุกมาหมักด้วยเกลือและน้ำตาล แล้วนำไปตากแห้งจนมีความชื้นระดับปานกลาง ปลาดุกร้าที่ได้จะมีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ ปลาหมักชนิดอื่นๆ และการบริโภคจะต้องทำให้ สุกเสียก่อน การทำปลาดุกร้าได้รับ การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากมีรสชาติอร่อย และเป็นการถนอมอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และยังเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตปลาดุกร้าอย่างมาก ผลิตมากเท่าใดก็ไม่พอขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี
การสานกระจูด “กระจูด” เป็นพืชตระกูลเดียวกับ "กก” เป็นพืชเส้นเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านทะเลน้อย ใช้ทักษะความชำนาญและ ภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมารังสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มากมายทั้งสินค้าเครื่องเเต่งกาย เช่น กระเป๋า หมวก พวงกุญแจ อีกทั้งมีการพัฒนาลวดลายในการสานและการใช้เทคนิคผสมผสานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปัก การเพนท์สี และการประดับด้วยส่วนตกแต่งอื่นๆ เช่น ลูกปัด เป็นต้น จากการพัฒนาของกระจูดเกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์และเกิดรายได้เข้าชุมชนมากมาย ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีการบันทึกเพื่อการอนุรักษ์และถ่ายทอดต่อชุมชนรุ่นหลังสืบไป นอกจากนี้ยังช่วยสร้างสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัวและในกลุ่มสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะทุกคนต่างช่วยกันถักสานกระจูดกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างต่อเนื่อง งานจักสานกระจูดเป็นศิลปหัตถกรรมไทย ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน ซึ่งวิสาหกิจหัตถกรรมกระจูดวรรณี ยังคงสืบทอดรักษาหัตถศิลป์ต่อไปและยังควบคู่การพัฒนาหัตถศิลป์ให้เข้ายุคสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์ มีการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นเอกลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่เด่นกว่าที่อื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ทั้งเสื่อกระจูด กระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จนได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก
ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาไม่มีแหล่งจ้างงานภายในชุมชน ปัญหาประชาชนไม่มีอาชีพเสริมหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ฯลฯ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมา ถือเป็นปัญหาเร่งด่วน บางปัญหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นพร้อมทั้งยังต้องอาศัยงบประมาณที่มีอยู่ที่ค่อนข้างจะจำกัด เพื่อบริการจัดการปัญหาให้เกิดประโยชน์เป็นฐานในด้านเศรษฐกิจ กระตุ้น การใช้จ่าย การลงทุนภายในท้องถิ่นเทศบาลตำบลทะเลน้อย ให้ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลทะเลน้อยมีอาชีพหลัก คือ รับจ้าง รองลงมาคืออาชีพทำหัตถกรรมกระจูด และการทำประมงน้ำจืด คือ อาชีพรับจ้างต้องเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ส่วนใหญ่จะไปเป็นแรงงานก่อสร้าง หรือรับจ้างแปรรูปปลาน้ำจืด อาชีพการทำหัตถกรรมกระจูด มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องซื้อกระฉูดจากพ่อค้าเนื่องจากไม่มีแหล่งกระจูดในพื้นที่ จึงมีการส่งเสริมการปลูกกระจูดในพื้นที่ควรส่งเสริมการปลูกกระจูดในพื้นที่ และมีการส่งเสริมการใช้สีธรรมชาติในการย้อมกระจูด อาชีพประมง ประสบปัญหาปลาในทะเลน้อยลดลง จึงมีการกำหนดเขตห้ามจับสัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ รณรงค์การไม่จับปลาในฤดูวางไข่
ทรัพยากรน้ำในเทศบาลตำบลทะเลน้อยมีแหล่งทะเลสาบน้ำจืด 1 แห่งที่สำคัญ คือ ทะเลน้อย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย มีคลองที่สำคัญ 13 สาย ได้แก่ คลองเคร็ง คลองมาบพ้อ คลองหัวป่าเขียว คลองบ่อย คลองหนองงูคลองมาบเนียน คลองนายแถม คลองสายโห คลองนางเรียม คลองควายใหญ่ คลองควายกลาง คลองบ้านบนออก และคลองหน้าแหลม
ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม และภาณุ ธรรมสุวรรณ. (2538). ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองของประชาชนและโครงสร้างอำนาจชุมชนรอบอ่าวทะเลน้อย. รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้.
สุภาวดี เชื้อพราหมณ์ และอรศิริ ปาณินท์. (2556). ความเป็นอื่นของพื้นที่สาธารณะในวิถีชาวบ้านชุมชนทะเลน้อย. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
แผนพัฒนาท้องถิ่น เทศบาลตำบลทะเน้อย พ.ศ. 2561-2565. (2561). การพาณิชย์และกลุ่มอาชีพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://thalenoi.go.th/
เทศบาลตำบลทะเลน้อย. (2567). ข้อมูลประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.thalenoi.go.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. (2565). ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมกระจูด. (ออนไลน์).สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www2.m-culture.go.th/
พิกัดแผนที่ตำบลทะเลน้อยและตำบลพนางตุง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://earth.google.com