ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา ตั้งอยู่ท่ามกลางสังคมเมืองขนาดใหญ่ และพัฒนาการกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน
ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา ตั้งอยู่ท่ามกลางสังคมเมืองขนาดใหญ่ และพัฒนาการกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน
ชุมชนวชิรา ตั้งอยู่ถนนสายทะเลหลวง (ถนนวชิรา) ในอดีตพื้นที่บริเวณชุมชนวชิราเป็นป่าเสม็ด เมื่อมีผู้คนเริ่มอพยพโยกย้ายเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย ป่าเสม็ดก็ถูกปรับให้เป็นพื้นที่โล่งเพื่อสร้างบ้านเรือน และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเติบโตควบคู่ไปกับการความเจริญของเมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2478 ได้มีการสร้างโรงเรียนวชิรานุกูลสงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของนักเรียน ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสงขลาไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ บริเวณรอบโรงเรียนเป็นพื้นที่ป่าเสม็ดรกร้างว่างเปล่า และต่อมาก็ได้มีการสร้างวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในปัจจุบัน รวมทั้งสถานีทหารเรือสงขลา ทำให้มีประชาชนเริ่มย้ายถิ่นฐานเพิ่มเข้ามามากยิ่งขึ้น จากในพื้นที่จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสในการได้รับการศึกษาของบุตรหลาน รวมไปถึงการแสวงหาพื้นที่ทำกิน แหล่งประกอบอาชีพให้กับครอบครัว จนพื้นที่ป่าเสม็ดรกร้างกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสงขลา อาศัยอยู่กันตามซอยต่าง ๆ ในถนนทะเลหลวงกันอย่างหนาแน่น โดยชุมชนประกอบไปด้วย ชุมชนวชิรา และชุมชนวชิราซอยคู่ ซึ่งทางเทศบาลนครสงขลามีนโยบายพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยใช้แนวคิด เมืองหน้าบ้าน - น่ามอง และได้เลือกชุมชนวชิราเป็นชุมชนตัวอยย่างนำร่อง ใช้ชื่อว่า "วชิราน่าอยู่" และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การประกวดหน้าบ้านน่ามอง และพื้นที่ซอยต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ในเวลาต่อมาทางเทศบาลนครสงขลาได้กำหนดเขตชุมชนใหม่ โดยให้ชุมชนวชิราซอยคู่ตั้งอยู่ในเขต 3 และชุมชนวชิราอยู่ในเขต 2 มีที่ทำการชุมชนอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดเพชรมงคล และตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2549
ชุมชนวชิราตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา มีถนนทะเลหลวงเป็นสายหลักและซอยต่าง ๆ จำนวน 20 ซอย โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเพชรมงคล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนนอกสวน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนราชดำเนินนอกและฐานทัพเรือสงขลา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเพชรมงคล-ชัยมงคล และรางระบายน้ำสาธารณะ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนวชิราเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลา มีถนนทะเลหลวงเป็นเส้นทางคมนาคมผ่านชุมชนที่ติดต่อกับถนนสายหลักในเขตเทศบาล ได้แก่ ถนนขลาทัศน์ไปยังแหล่งท่องเที่ยวของเมืองคือ เก้าเส้ง หาดสมิหลา แหลมสน เขาน้อย เขาตังกวน ถนนราชดำเนินนอก ไปยังหน่วยราชการต่าง ๆ ของเมือง และถนนไทรบุรีเพื่อออกสู่จุดอื่น ๆ ของเมืองและพื้นที่ที่อื่นของจังหวัดสงขลา ในบริเวณพื้นที่ถนนทะเลหลวงในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งบริโภคของเมืองสงขลาแหล่งหนึ่งที่เป็นจุดขายของเมืองสงขลา เนื่องจากในช่วงเวลาประมาณสี่โมงเย็นถึงเที่ยงคืนจะมีการจำหน่ายอาหารราคาถูก สะอาด และหลากหลายแก่ชาวสงขลาและนักท่องเที่ยว
ชุมชนวชิรา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเมืองที่มีการอยู่อาศัยของประชากรอย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 644 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด 1,067 คน แบ่งออกเป็น ประชากรชายจำนวน 502 คน และประชากรหญิงจำนวน 565 คน
เนื่องจากชุมชนวชิรา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของจังหวัด และมีความเจริญและพัฒนาการการเติบโตของสังคมเมืองเป็นอย่างดี ทำให้ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่มีการหมุนเวียนและผู้คนมีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างแพร่หลาย ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนวชิราจึงมีการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลังที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และด้วยบริบทของพื้นที่เมืองสงขลาที่เป็นเมืองชายทะเล มีทั้งทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลาล้อมรอบ ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งอีกยึดอาชีพเกี่ยวกับการประมงเป็นอาชีพหลัก โดยจะออกเรือหาปลา จับสัวต์น้ำ อาหารทะเล และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่พบได้ในบริเวณอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ซึ่งประชากรชุมชนวชิรามีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 232,500 (บาท/ปี) และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 96,473 (บาท/ปี)
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
ผู้คนในชุมชนนั้นมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย โดยอาชีพหลักของครัวเรือนนั้นการประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนรองลงมานั้นประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และอาชีพเสริมที่นิยมประกอบกันคือรับจ้างทั่วไป รายได้ประชาชน แบ่งเป็น 2 รายได้ คือ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 222,493 บาทต่อปี และรายได้บุคคลเฉลี่ย 75,995 บาทต่อปี โดยแหล่งเศรษฐกิจสำคัญคือตลาดวชิรา ที่มีการจำหน่ายอาหารราคาถูก สะอาด และหลากหลายแก่ชาวสงขลาและนักท่องเที่ยว
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- ประเพณีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ถูกฝังบริเวณชุมชนวชิรา เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสำนึกบุญคุณที่ชาวชุมชนวชิรา ได้เข้ามาอาศัยทำมาหากิน การพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญก้าวหน้า
- พิธีแห่ผ้าองค์พระเจดีย์หลวงเขาตังกวนในช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว เพื่อความเป็นสิริมงคลของประชาชน บรรยากาศในวันออกพรรษาที่ จ.สงขลา ตั้งแต่ช่วงเช้าที่บริเวณชุมชนวชิรา พุทธศาสนิกชนชาวสงขลาพร้อมครอบครัวนำอาหารคาว หวาน ดอกไม้ธูปเทียนออกมาทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
- ประเพณีวันสารท หรือประเพณีชิงเปรต เป็นวันทำบุญใหญ่ มีการจัดหาอาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนมลา และดอกไม้ ไปทำบุญตามวัด เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว นับเป็นการระลึกถึงบุญคุณและคุณงามความดีของบุพการีตน
- วัดเพชรมงคลสงขลา มีการจัดห่มผ้า "พระเจดีย์โสภณ" ในวันวิสาขบูชา เป็นประจำทุกปี พิธีห่มผ้าพระเจดีย์โสภI จะทำเพียง 1 ครั้งใน 1 ปีเท่านั้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทุนทางกายภาพ
ตลาดวชิรา เป็นแหล่งรวมของพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการขายอาหารรถเข็น ซึ่งมีการขายของแบบกึ่งตลาดโต้รุ่งเกือบตลอด 2 ข้างทาง มีทั้งอาหารของอิสลามและไทย-พุทธ หลากหลายอย่างให้แวะเลือกซื้อ ตลาดวชิราตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนวชิราโปลีเทคนิค ถนนทะเลหลวง อ.เมือง จ.สงขลา เปิดขายตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงเที่ยงคืน
วัดเพชรมงคล หรือ วัดโคกขี้หนอน สร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2320 โดย "พระภิกษุเพชร" พระภิกษุจากแคว้นกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในสมัยนั้น ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านให้มาอยู่พำนัก แล้วร่วมกันสร้างวัดขึ้นในบริเวณป่าต้นขี้หนอน จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดโคกขี้หนอน" ภายหลังพระภิกษุเพชรได้มรณภาพ ชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้เป็น "วัดเพชรมงคล" เพื่อเป็นอนุสรณ์ และให้ชื่อวัดเป็นมงคล
"วัดเพชรมงคล" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2330 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) คุณถมยา ณ สงขลา และชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามว่า "พระเจดีย์โสภณ"
ภายในวัดเพชรมงคลมี "กุฏิร้าง" เป็นกุฏิมุข รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างความนิยมเมืองหลวงกับท้องถิ่นเมืองสงขลา มี "บัว" บรรจุกระดูก เป็นรูปแบบการสร้างบัวแบบกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 7
ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาถิ่นของภาคใต้ โดยจะเป็นสำเนียงสงขลาที่มีเอกลักษณ์พิเศษ โดยมีลักษณะเด่น คือ หางเสียงจะไม่ขาดห้วน แต่จะค่อย ๆ เบาเสียงลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้ฟังแล้วไม่หยาบกระด้างเหมือนสำเนียงใต้ถิ่นอื่น ๆ
- การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการสงขลาเมืองน่าอยู่ ประชาชนไม่มีเวลาในการมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ เนื่องจากต้องทำงานหารายได้ นอกจากนั้นคนบางกลุ่มขาดความตระหนักและความรับผิดชอบ รวมทั้งไม่สนใจในโครงการเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว
- การขาดการประชาสัมพันธ์ เป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสำคัญสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์เชิงลึกกับกลุ่มคน ประชาชนขาดความเข้าใจในเรื่องของเมืองน่าอยู่ ทำให้ไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของโครงการ
- ปัญหาขาดการวิเคราะห์ทุนทางสังคม วชิราเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นชุมชนมาก่อน วชิราจึงไม่มีกลุ่มองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมสาธารณะในภาคประชาสังคม เช่น องค์กรชาวบ้าน ชมรม สมาคม
การขาดกลไกในการจัดการความขัดแย้ง ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องให้ทางเทศบาลช่วยแก้ไขหรือจัดการให้บรรลุผล เนื่องจากประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น ปัญหาการจราจรบนถนนทะเลหลวงซึ่งเป็นถนนสายหลักของชุมชน พบว่ามีการขายอาหารริมถนนทะเลหลวง ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก ประชาชนบางส่วนต้องเดินบนถนน กรณีนี้เป็นผลให้เกิดความคิดเรื่องการทำถนนทะเลหลวงให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม
แม้จะมีสถาบันการศึกษาต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้แสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมในโครงการ นอกจากนั้นกระบวนการทำงานของเทศบาลเองก็ขาดการศึกษาทุนทางสังคมในพื้นที่ ดังนั้นการดำเนินการโครงการสงขลาเมืองน่าอยู่โดยรวมจึงขาดความขัดแย้งขององค์กรชุมชน ขาดความเชื่อมโยงประสานกับองค์กรอื่นและความเป็นภาคี
จุฑารัตน์ บุญญานุวัตร์. (2546). การสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการสงขลาเมืองน่าอยู่ของเทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. วิทยานิพนธ์สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม. คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
องค์กรการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก. (2563). เทศบาลนครสงขลา ข้อมูลทั่วไป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. http://localcfo.tgo.or.th/
HATYAI FOCUS. (2564). พาย้อนเรื่องราว..ก่อนการตั้งเทศบาลเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2478 ย่านวชิราสงขลา สองข้างของถนนทะเลหลวง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. https://www.hatyaifocus.com/
สำนักงานเทศบาลนครสงขลา. (2564). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนวชิราทะเลหลวง เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. https://www.songkhlacity.go.th/
MGR online. (2563). เทศบาลนครสงขลาจัดพิธีแห่ผ้าห่มองค์พระเจดีย์หลวงเขาตังกวนในช่วงเทศกาลออกพรรษา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. https://mgronline.com/
MGR online. (2562). "วัดเพชรมงคล" จัดพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ ถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567. https://mgronline.com/
MGR online. (2561). ชาวชุมชนวชิรานครสงขลา ทำบุญให้บรรพบุรุษที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปีที่ 57. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. https://mgronline.com/
จรูญ เจริญเนตรกุล, หัวหน้าโครงการวิจัย. (2563). การพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.