ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีคลองสามสายมาบรรจบกัน คือ คลองระโนด คลองชะอวด คลองปากพนัง เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลาดน้ำคลองแดนเลยมีสโลแกนที่ว่า “สามคลอง สองเมือง”
ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยมีคลองสามสายมาบรรจบกัน คือ คลองระโนด คลองชะอวด คลองปากพนัง เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลาดน้ำคลองแดนเลยมีสโลแกนที่ว่า “สามคลอง สองเมือง”
ชุมชนคลองแดนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่สุดเขตจังหวัดสงขลา ในเขตตําบลคลองแดน อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา และต่อเนื่องกับตำบลรามแก้ว อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคลองเล็ก ๆ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติกั้นระหว่าง 2 จังหวัด คลองนี้จะต่อเนื่องและพบกันที่บ้านคลองแดน เรียกเป็นสามชื่อคือคลองที่มาจากหัวไทร เรียกคลองหัวไทร ที่มาจากบ้านคลองแดนไปทางระโนดเรียกคลองระโนด และที่แยกไปทางทิศตะวันตกเรียกคลองชะอวด จนกลายเป็นสมญานามของชุมชนคลองแดนว่า “บ้านตามคลอง สองจังหวัด"
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนคลองแดนในอดีต สันนิษฐานว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอย่างหนาแน่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2406 เป็นต้นมา สมัยรัชกาลที่ 4 พร้อม ๆ กับชุมชนบ้านรามแก้ว อําเภอหัวไทร การตั้งถิ่นฐานมีทั้งคนไทยและคนจีน ซึ่งเริ่มจากการย้ายถิ่นฐานของบรรดาพ่อค้าและประชาชน เพื่อมาประกอบกิจการค้าขายบริเวณคุ้งน้ำ และตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่นบริเวณสามแยกแนวบรรจบของคลองทั้ง 3 สาย ซึ่งสะดวกในการคมนาคมที่ใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งเป็นชุมชนทางการสัญจรทางน้ำระหว่างพื้นที่ทะเลสาบสงขลากับทะเลหลวง (อ่าวไทย) อีกทั้งชุมชนคลองแดนยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สามารถเชื่อมต่อกับชุมชนอื่น ๆ ในปริมณฑลโดยรอบ ทำให้มีความรุ่งเรืองทางการค้าอย่างมาก และเป็นที่มาของฉายา “สามคลอง สองเมือง” เชื่อมพรมแดนจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราชเข้าด้วยกัน โดยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงถึงความเจริญ ในย่านตลาดน้ำคลองแดนในปี พ.ศ. 2517 พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นตลอดแนวริมคลองแดน โดยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงถึงความเจริญในย่านตลาดน้ำคลองแดนในปี พ.ศ. 2517 พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นตลอดแนวริมคลอง จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2516-2517 เกิดทางหลวงสาย 408 (นครศรีธรรมราช-สงขลา) เมื่อใช้งานเกิดความสะดวกมากกว่าการใช้เรือการสัญจรทางน้ำลดลงและเลิกไปในที่สุด ทำให้ผู้คนก็เริ่มอพยพออกจากพื้นที่ทำให้ชุมชนคลองแดนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเงียบเหงาซบเซาลงมาก
ในปัจจุบันตลาดริมน้ำคลองแดนได้ดำเนินกิจกรรมเรื่อยมา ตลาดน้ำคลองแดน จึงได้ชื่อว่าเป็น “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน” โดยลักษณะของตลาดคลองแดนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิดร่วมกันของคนในชุมชนด้วยการรื้อฟื้นวิถีเดิม คือ วิถีชาวพุทธ โดยพึ่งพิงสายน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตลาดน้ำคลองแดนเป็นตลาดน้ำที่มีสภาพพื้นที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่เดิมของชุมชน คือ เป็นตลาดน้ำที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิมในอดีตที่มีวิถีชีวิตอยู่ริมน้ำ วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตริมน้ำเป็นรูปแบบวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้เสริมเติมแต่งขึ้นมา โดยสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นหรือชาวบ้านมาขายของ ขายอาหาร หรือเปิดการในรูปแบบท่องเที่ยวตลาดน้ำโฮมสเตย์ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบท วิถีคลอง ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของบ้านริมน้ำ เรือนไม้ไทย หรือระเบียงไทยถือเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงขายของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่นเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน
ชุมชนคลองแดนมีที่ตั้งอยู่เกือบถึงกลางระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ประมาณ 100 กิโลเมตร และมีระยะทางจากอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีคลองชื่อว่า “คลองแดน” เป็นเขตกั้นระหว่างสองจังหวัด ตำบลคลองแดน มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 18,200 ไร่ หรือประมาณ 29.28 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลแดนสงวน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนเป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ลำคลองเป็นสายหลักในการดำรงชีวิตประจำ วันและการประกอบอาชีพ ในพื้นที่บริเวณนี้มีดินบางส่วนเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การทำนา ทำสวนผสม สภาพเป็นน้ำกร่อยและน้ำจืด จะเห็นได้ว่าการที่ชุมชนตลาดคลองแดนเป็นจุดต่อเรือนั้น ก่อให้เกิดการค้าขายการแลกเปลี่ยนของผู้คนจากที่ต่าง ๆ ตลอดจนถึงการพักค้างแรม เกิดการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนคลองแดนมาหลายทศวรรษ นอกจากนี้การสัญจรทางบกด้วยสภาพพื้นที่ของบ้านคลองแดน สภาพดินเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การทำนา สภาพถนนบ้านคลองแดนจึงเป็นถนนดินเหนียวที่ชาวบ้านร่วมกันขุดขึ้น
จากข้อมูลการสํารวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยปี พ.ศ. 2567 มีการระบุจำนวนครัวเรือน และประชากรชุมชนวิถีพุทธคลองแดน จำนวน 269 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 468 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 235 คน หญิง 233 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ แต่ส่วนมาก 80% - 90% จะเป็นเชื้อสายจีนหมด ซึ่งหลักฐานจากภาพถ่ายตระกูลเก่าแก่ของคนคลองแดนเป็นคนไทยและคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 90 คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทําให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
จีนกลุ่มที่เป็นทางการ
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเพื่อสร้างทุนหนุนเสริมสัมมาชีพ บ้านคลองแดน
เป็นกลุ่มที่พัฒนาครัวเรือนสัมมาชีพชุมชน โดยใช้หลักการกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนในหมู่บ้านสัมมาชีพ ให้มีคุณธรรม 5 ประการ ให้ยึดมั่นในหลักปฏิบัติการประกอบอาชีพตามแนวทางสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก คือ รายได้ ทำให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงและยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยการสร้างอาชีพได้จริงจนพัฒนาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็ง
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มการแสดงมโนราห์ หนังตะลุง เป็นศิลปวัฒนธรรมด้านหนึ่งของชุมชนที่ใช้สำหรับสื่อความหมายและการประชาสัมพันธ์ชุมชน เด็กและเยาวชนที่สนใจ ได้รับการถ่ายทอดศิลปะการรำมโนราห์ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน
- กลุ่มศรัทธาวัด วัดคลองแดน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคนคลองแดนมักถูกหล่อหลอมมาจากที่แห่งนี้ พวกเขาใช้หลัก “วชร” วัด ชุมชน รัฐบาล ในการขับเคลื่อนชุมชนโดยให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางนำชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนไหนที่มีคุณธรรมนำมักอยู่รอดปลอดภัย
กลุ่มอาชีพ
อาชีพหลักเป็นการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือการทำนาเลี้ยงสัตว์ 32.27% รองลงมาจะเป็นการทำประมง 30.27% ประกอบอาชีพค้าขาย 17.32% และประกอบอาชีพอื่น ๆ 19.58% แต่การท่องเที่ยวเป็นเพียงอาชีพเสริมที่ชาวบ้านทําจากการว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นหรือชาวบ้านมาขายของ ขายอาหาร หรือเปิดเป็นโฮมสเตย์ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบท วิถีคลอง ไม่ว่าจะเป็นที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ ไว้บริการให้นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีชนบท ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ในรูปแบบของบ้านริมน้ำ เรือนไม้ไทย หรือระเบียงไทย ถือเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงขายของที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน มีกลุ่มองค์กรชุมชนได้มีการส่งเสริมให้มีการขายสินค้าพื้นบ้าน เพื่อไม่ให้อาหารพื้นบ้านสูญหายไปตามกาลเวลา และเป็นการประชาสัมพันธ์อาหารพื้นถิ่นที่หากินยาก เป็นการสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน และได้รับผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นการสืบสานประเพณีแห่งความกตัญญูของภาคใต้ทุก ๆ แรม 1 ค่ำถึงแรม 15 เดือน 10 ของทุกปี จะมีการจัดงานนิยมใช้เล่นในวันสงกรานต์บุญประเพณีที่สำคัญของชาวภาคใต้ แต่ละท้องถิ่นจะเรียกแตกต่างกันไปบ้าง เรียกประเพณีรับส่งตายาย ประเพณีชิงเปรต หรือประเพณียกหฺมฺรับ คำว่า “หฺมฺรับ" (อ่านว่า หมับ) ภาษาใต้แปลว่า สำรับ คือ การจัดสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบ ซึ่งมีขนมสำคัญที่ขาดไม่ได้อยู่ 5 อย่าง 1 คือ ขนมพอง ขนมกง ขนมลา ขนมดีซำ และขนมบ้า ซึ่งแต่ละชนิดมีความหมายในตัวเอง นำทุกอย่างจัดลงภายในภาชนะ ที่จัดหาไว้และนำไปถวายพระที่วัดเพื่อส่งบุญกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับเป็นการแสดงความกตัญญูกต เวทีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ
ประเพณีขันหมากปฐม ซึ่งเป็นงานบุญโบราณของคนลุ่มทะเลสาบสงขลา บางท้องที่อาจเรียกว่า “ยกขันหมากพระปฐม” หรือ “ยกขันหมากพระถม” จัดขึ้นเป็นการกุศลเพื่อระดมทุนถวายวัด คล้ายงานทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน เพื่อจัดสร้างบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ วิหาร หรือสิ่งก่อสร้างภายในวัด โดยประเพณีนี้นั้นเป็นประเพณีการแต่งงานแบบโบราณจากการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม และถือเป็นประเพณีพื้นบ้านที่สามารถนำประโยชน์มาสู่ชุมชนคลองแดนได้หลายด้าน เช่น การทำนุบำรุงศาสนา หรือการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการพลิกฟื้นการทำบายศรีแบบโบราณของชุมชนคลองแดนขึ้นมาพร้อมกันด้วย ซึ่งประเพณีพื้นบ้านนี้ได้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนคลองแดน รวมถึงการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีขันหมากปฐม
ชุมชนวิถีพุทธคลองแดนยังเป็นชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ภายใต้การนำของ พระมหาปราโมทย์ จนฺทโชโต เจ้าอาวาสของวัดคลองแดน คุณครูสายัณห์ ชลสาคร ปราชญ์ชุมชน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคลองแดน และ อภิชาต เหมือนทอง นักวิจัยท้องถิ่น เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดการการท่องเที่ยวขึ้น โดยได้เป็นแกนนำระดมกำลังกาย ความคิด และทุนทรัพย์ เพื่อพัฒนาวัดคลองแดนจนสามารถนำไปสู่ความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชนตลอดจนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาคลองแดนภายใต้ “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน” โดยท่านเจ้าอาวาสได้จัดโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการธรรมะสัญจรที่พระภิกษุเดินทางไปอบรม สั่งสอนชุมชนต่าง ๆ ทุกวันพระ โครงการอบรมเยาวชนที่ให้เด็ก ๆ มาวัดเหมือนมาโรงเรียน และโครงการตามแม่เข้าวัดในทุกวันศุกร์และวันพระ เพื่อเน้นการอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานชุมชนที่เข้มแข็งด้วยความร่วมมือของชุมชน โดยใช้หลักการบริการยึดความเป็น “วชร” คือ วัด ชุมชน โรงเรียน ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน และรวมไปถึงชุมชนด้านการจัดการที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว คุณครูสายัณห์ ชลสาคร ได้ปรับปรุงบ้านพักของตนให้เป็นโฮมสเตย์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมวิถีชีวิตและชมกิจกรรมยามเย็นของตลาดริมน้ำ
ทุนวัฒนธรรม
วัดคลองแดน
สร้างราว พ.ศ. 2430 ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคนคลองแดนมักถูกหล่อหลอมมาจากที่แห่งนี้ พวกเขาใช้หลัก “วชร” วัด ชุมชน รัฐบาลในการขับเคลื่อนชุมชนโดยให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางนำชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนไหนที่มีคุณธรรมนำมักอยู่รอดปลอดภัย โดยมีหน่วยงานภาครัฐบาลมาสนับสนุน แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับทิศทางของมติคนในชุมชน ภายในวัดมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถจับต้องได้หลายประการ ได้แก่
- พระทอง เป็นที่เลื่อมใสของชาวคลองแดน โดยอยู่คู่วัดคลองแดนมาเป็นเวลานาน อดีตองค์พระมีสีดำ พระโอษฐ์สีแดง แต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้นำองค์พระมาขัดให้มีความเงางามกลับ พบว่าองค์พระมีความเปล่งปลั่งดั่งทองคำสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่มากราบไหว้
- โพนฟ้าลั่น เป็นกลองขนาดใหญ่ ทำจากไม้หลุมพอหุ้มด้วยหนังควายเผือก มีลูกสลักทำมาจากส่วนขาของช้างต่อมาว่ากันว่าโพนฟ้าลั่นมีเสียงก้องกังวานทั่วกุ้งน้ำไปไกลกว่า 2 กิโลเมตร
- กุฏิพระหลังใหม่ สร้างจากเงินบริจาคของญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาต่อวัดคลองแดน โดยมี ดร.พร สุวรรณชาติ และทีมทำงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา เป็นผู้ออกแบบ และให้คำปรึกษาซึ่งรูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้แบบประยุกต์ โดยมีแนวคิดในการทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด การนำวัสดุที่มีอยู่แต่เดิมกลับมาใช้ใหม่ วิธีการออกแบบหน้าต่างให้เป็นแบบบานเลื่อนซ้อนเกล็ด ตลอดจนแนวคิดปริศนาธรรมตามประเพณีนิยมของภาคได้ ซึ่งได้รับแนวคิดจากท่านเจ้าอาวาส คือ การประดับถ้วย กระเบื้องใบเล็ก ๆ วางอยู่บนหลังคา 4 มุม สะท้อนถึงเรื่องความเมตตากรุณา
- หอฉัน เป็นหอไม้ทั้งหลัง สร้างจากไม้เคี่ยม ไม้หลุมพอ และไม้กาง หันหน้าออกสู่คลอง ชะอวด ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในอดีต หอฉันแห่งนี้มีอายุกว่า 100 ปี เล่า กันว่าสร้างในสมัยของหลวงพ่อชุม โดยการร่วมแรงศรัทธาของชาวบ้านในการสร้าง และในช่วงที่เกิดน้ำท่วมชาวบ้านจะอพยพมาพักอาศัยที่หอฉันแห่งนี้
- เรือขุด เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้น โดยตัวเรือมีความยาว 15.30 เมตร ความกว้าง 2.06 เมตร สามารถบรรทุกคนได้ประมาณ 40-50 คน สมัยก่อนใช้ในการขนทราย 41 เข้าวัด ย้ายบ้าน และใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2551
อาหาร
มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำอาหารพื้นถิ่นที่หากินยาก หรือนำผลผลิตจากทางการเกษตรและอาหารท้องถิ่นมาค้าขาย เช่น ปลาทอดทรงเครื่อง (สูตรโบราณ) แป้งแดง ข้าวยำ ข้าวมันแกงไก่ ห่อหมกปลาอินทรี เต้าคั่ว ขนมกอ ขนมจาก ขนมลูกโดน ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมทราย ขนมปำจี ขนมค่อม ขนมดอกลำเจียก ขนมหน้ามัน ข้าวเกรียบปากหม้อ กล้วยทับ เป็นต้น
ปูนปั้นรูปมโนราห์
เป็นงานศิลปะในชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมและออกแบบจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยนำท่ารำของมโนราห์มาปั้นเป็นรูปโนราห์เด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนนำไปผลิตและจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวเป็นของที่ระลึก ซึ่งมีความหมายในเชิงศิลปวัฒนธรรม
ส่วนใหญ่ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะมีสำเนียงใกล้เคียงกับชาวสงขลาเหนือน้ำ (โหม่เหนือ) โดยสำเนียงสงขลากลุ่มอยู่ริมทะเล (โหม่บก) เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในเขตอำเภอสิงหนคร สทิงพระ และระโนด แต่ก็มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือการออกเสียง “ร” ที่ทางคนสงขลาริมทะเลออกเสียงไม่ได้ทั้งเสียงพยัญชนะนำและอักษรควบแต่จะใช้ “ล” แทน เช่น “รัก” จะออกเสียงว่า “ลัก” จึงมีผลให้ "ฉันรักเธอ" ของคนสิงหนครกลายเป็น "ชั้นหลักเธอ" (เขียนตามเสียงวรรณยุกต์) แต่ถึงแม้กลุ่มอยู่เหนือน้ำ (โหม่เหนือ) (คนหาดใหญ่ คลองหอยโข่ง และสะเดา) จะออกเสียง“ร” ที่เป็นพยัญชนะนำได้ แต่จะออกเสียงอักษรควบ “ร” ไม่ได้เช่นเดียวกันกับคนสงขลาริมทะเล
เป็นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น หรือชุมชนที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงมิติทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขของรายได้ รายจ่าย การผลิต และการบริโภค แต่จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และรวมถึงการมีระบบคุณค่าด้วย
สร้างความตระหนักรู้ของชุมชนในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อวิถีชีวิตเพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การบูรณาด้วยการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในชุมชนวิถีพุทธคลองแดนยังมีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น มีการขายขนมปั้นเต ขนมน้ำตาลสด ขนมดู ลูกโหนดเชื่อม ยำหัวโหนดอาหารเก่าแก่ของระโนด หัวครกผัดในน้ำผึ้งโหนดสด ๆ ขนมที่ขายทั้งหมดเป็นขนมที่ทำเองกับมือ นอกจากนี้ตลาดน้ำคลองแดนยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
- เรือพาย ตลาดน้ำคลองแดนมีเรือพายหลายลำ ให้นักท่องเที่ยวพายเล่นหรือหัดพายโดยไม่คิดค่าบริการ
- เรือแจว นัดท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเรือแจว เพื่อรับบรรยากาศการนั่งเรือชมวิว ชมธรรมชาติสวย ๆ ได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ไปวัดสิกขารามชมทิวทัศน์ดงตาลโตนด - ทางคลองระโนด, เส้นทางที่ 2 ไปวัดคลองแดน ทางคลองชะอวด
- เรือหางยาว ล่องเรือหางยาวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ริมฝั่งคลอง แวะชมหมู่บ้านชาวเลท่าเข็น และสามารถลงเล่นน้ำได้ตามอัธยาศัย
- ชมการแสดงท้องถิ่นของภาคใต้ เช่น มโนราห์ หนังตะลุง หรือการร้องเพลงเล่นดนตรีสด
- นมัสการหลวงพ่อพร้อม หลวงพ่อชุม และพระทองโบราณ ตลาดน้ำคลองแดนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับวิถีชาวพุทธของชาวคลองแดน และแวะมาเลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นบ้าน หรือของที่ระลึกได้ทุก ๆ วันเสาร์ เวลา 15:30-20:00 น.
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://https://stat.bora.dopa.go.th/
คุณัชญ์ สมชนะกิจ. (2462). ความหมายและการเปลี่ยนแปลงของตลาดริมน้ำคลองแดนในคาบสมุทรสทิง พระสงขลา. วารสารอินทนิลทักษิณสาร. 14(1), 74-87.
อะทสซิ่งไทยทัวร์. (2556). เที่ยวชุมชนวิถีพุทธ ตลาดริมน้ำคลองแดน “สามคลอง สองจังหวัด”…(สงขลา-นครศรีฯ). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://www.amazingthaitour.com
สาลินี ทิพย์เพ็ง, ธารินทร์ มานีมาน และอัมรินทร์ สันตินิยมภักดี. (2554). การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนกรณีศึกษา ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน อําเภอระโนด จังหวัดสงขลา. รายงานวิจัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://culturalenvi.onep.go.th/