จากความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์จากบรรพบุรุษ อันเป็นแนวทางการสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยมีวัวอาศัยอยู่จำนวนมาก เมื่อชาวบ้านอพยพมาตั้งบ้านเรือนจึงตั้งชื่อว่า “บ้านเด่นวัว” ตามลักษณะเด่นของพื้นที่ที่มีวัวมากอย่างเห็นได้ชัด
จากความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา สู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์จากบรรพบุรุษ อันเป็นแนวทางการสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
บ้านเด่นวัวเดิมอยู่ในเขตการปกครองของบ้านวังเจ้า สันนิษฐานว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาในพื้นที่ เข้ามาจับจองพื้นที่ในการทำการเกษตรและเลี้ยงวัว แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2516 มีชาวบ้านอพยพถิ่นฐานมาจากทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร เข้ามาในพื้นที่ประมาณ 10 ครอบครัว เนื่องจากสมัยนั้นทุ่งโพธิ์ทะเลมีเหตุฆ่ากันภายในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงไม่มีที่ทำกิน จึงอพยพมายังพื้นที่บ้านเด่นวัว โดยได้ขอแบ่งซื้อพื้นที่ของกลุ่มคนที่เข้ามาจับจองพื้นที่อยู่ก่อน ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีชาวบ้านอพยพ เข้ามาในพื้นที่มากขึ้นจากการชักชวนจากญาติพี่น้อง โดยจับจองเขตพื้นที่ป่าสงวนเป็นพื้นที่ทำกิน ด้วยจำนวนคนที่มากขึ้นจนทำให้มีการแยกเขตการปกครองออกจากบ้านวังเจ้า เป็นหมู่บ้านเด่นคา และด้วยพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรต่าง ๆ จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจึงได้แบ่งเขตการปกครองออกจากหมู่บ้านเด่นคา ใช้พื้นที่บริเวณที่มีวัวป่าอาศัยอยู่อย่างเด่นชัด จึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านเด่นวัว“
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลนาโบสถ์ ตำบลประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก และติดต่อตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
บ้านเด่นวัวเป็นหหมู่บ้านที่รายล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ มีแหล่งน้ำสายหลักที่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำปิง นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรท้องถิ่นในป่าธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เช่น ต้นหญ้าไมยราพ รางจืด เถาเอนอ่อน ต้นส้มป่อย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านเด่นวัว ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,076 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 532 คน ประชากรหญิง 544 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 431 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านเด่นวัวในอดีตมีการทำการเกษตรปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังเป็นหลัก แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งบางปีมีฝนตกตามฤดูกาลแต่ในบางปีก็แห้งแล้ง ทำคนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มสร้างอาชีพ เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการดำเนินวิถีชีวิต โดยบ้านเด่นวัวมีกลุ่มอาชีพ เช่น
กลุ่มทอผ้า
กลุ่มทอผ้า เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำการพัฒนาและยกระดับการผลิตผ้าทอพื้นบ้านเป็นกลุ่มทอผ้าบ้านเด่นวัว โดยระยะแรกการทอผ้าจะทอผ้าผืนใหญ่และทอผ้าพันคอ วัสดุส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ผ้าฝ้ายแกมไหม ลดต้นทุนการผลิตด้วยการหาวัสดุที่มีในพื้นถิ่นมาใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ แล้นำผ้าทอมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋า ย่าม เสื้อผ้า
เครือข่ายเลี้ยงโคขุนชุมชนบ้านเด่นวัว
บ้านเด่นวัวเดิมเป็นพื้นที่ป่าและมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ และเป็นแหล่งอาหารของวัว ทำให้คนในชุมชนคุ้นเคยกับการเลี้ยงโคซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนในชุมชนนอกเหนือจากการทำการเกษตร ภายหลังมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนพันธ์หญ้าที่ใช้ปลูกหญ้าเลี้ยงโค ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเลี้ยงโคเพื่อขอรับสนับสนุนการกู้เงินลงทุนในการเลี้ยงโค ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้จากการเลี้ยงโคเพื่อขายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท
กลุ่มผลิตภัณฑ์กล้วยตาก (กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผสมผสาน แปรรูปกล้วย)
กล้วย เป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีอยู่แทบทุกครัวเรือนในชุมชน เนื่องจากครั้งหนึ่ง กล้วย เคยเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน แต่เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ผู้นำชุมชนในขณะนั้นจึงได้มีแนวคิดที่เพิ่มมูลค่ากล้วยที่มีในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน จัดตั้งกลุ่มกล้วยตากขึ้น เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ และมีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์กล้วยตากจะถูกนำไปจำหน่ายตามร้านค้า OTOP และร้านขายของฝาก ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มกล้วยตากยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากกล้วยเป็นกล้วยกวน และท๊อปฟี่กล้วย ทำให้ปัจจุบันสมาชิกแต่ละคนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
กลุ่มจักสาน
ชาวบ้านเด่นวัวมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบถอดกันมาจากบรรพบุรุษ คือ การจักสาน ทั้งการสานสุ่มไก่ กระติบใส่ข้าวเหนียว ไซ หวด และข้องใส่ปลา เพื่อใช้ในครัวเรือน ซึ่งในเวลาต่อมาได้เกิดการรวมตัวและก่อตั้งเป็นกลุ่มจักสาน บ้านเด่นวัว เพื่อผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์งานจักสานของชาวบ้านให้เกิดเป็นรายได้
ประเพณีที่ปรากฏในชุมชนบ้านเด่นวัว ส่วนมากแล้วเป็นประเพณีที่ติดตัวมาจากถิ่นกำเนิดเดิมแล้วสืบทอดส่งต่อให้ลูกหลาน แต่เนื่องจากมาอยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือจึงทำให้มีการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรม บ้านเด่นวัวจึงกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อีสาน เหนือ และภาคกลาง ซึ่งในหนึ่งปีก็มีวัฒนธรรมเด่น ๆ ที่คนในชุมชนร่วมปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาส่วนใหญ่เป็นประเพณีของชาวพุทธซึ่งมีวัด เป็นศูนย์กลางให้คนในชุมชนบ้านเด่นวัวที่เป็นพุทธศาสนิกชนร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นบุญที่นำผลผลิตทางการเกษตร คือ ข้าว มารวมกันไว้เป็นกอง เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณพระแม่โพสพ เพื่อให้เห็นคุณค่าและเพื่อเป็นการรักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ถือปฏิบัติกันมาหลังฤดูเก็บเกี่ยว
หม่อนไหม องค์ความรู้จากภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น
ชาวบ้านเด่นวัวเดิมเป็นคนที่มีพื้นเพมาจากภาคอีสาน กลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมติดตัวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมจึงได้เข้ามาพัฒนาการเลี้ยงไหมของชุมชน โดยนำไหมอีรี่เข้ามาให้ชุมชนทดลองเลี้ยงแทนการเลี้ยงไหมแบบเดิม ไหมอีรี่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร ซึ่งชุมชนบ้านเด่นวัวปลูกมันสำปะหลังเดิมทีปลูกมันสำปะหลังกันอยู่แล้ว จึงได้เริ่มมีการนำความรู้นี้มาใช้ในการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับคนในชุมชนอีกหนึ่งทาง จากนั้นก็ได้นำภูมิปัญญาการเลี้ยงไหมอีรี่ดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ของคนในชุมชน ถ่ายทอดออกมาเป็นลวดลายของผ้าทอ ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของบรรพบุรุษคนอีสาน ผสมผสานกับแนวความคิดในปัจจุบันที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างคุ้มค่า นำผ้าทอมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋า ย่าม เสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังใช้ไหมที่ย้อมมาจากสีธรรมชาติ เนื่องด้วยสภาพพื้นชุมชนบ้านเด่นวัวมีป่าชุมชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ความเป็นป่าชุมชนภายใต้แนวคิดคนรักษ์ป่าป่ารักคน จึงทำให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าจึงได้นำเปลือกไม้ชนิดต่าง ๆ มาย้อมสีเพื่อให้ได้สีที่แตกต่างกันด้วยกระบวนการทดลอง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนได้สีจากธรรมชาติที่สวยงาม นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไหมเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไหม เช่น การทำดักแด้สามรส การทำสบู่จากรังไหม การทำแชมพูจากรังไหม การทำเซรั่มบำรุงผิวจากไหม และนำไปจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ ในตัวเมือง เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กลับคนในชุมชนโดยเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ภาษาพูด : ภาษากลางและภาษาเหนือ
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
จากโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการพัฒนาแนวทางสู่ความยั่งยืนของอาชีพในหลากหลายรูปแบบวิธีการจนกลายเป็นการรวมกลุ่มกันแล้วทำอาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมรายได้จากการทำการเกษตรที่นอกจากการทำอุปโภคในครัวเรือนสู่การจำหน่าย เริ่มจากเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กขยายสู่การขายส่งมีอำนาจต่อรองราคาตัดปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง ทำให้บ้านเด่นวัวเป็นชุมชนที่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้มาเยือนหรือคนที่สนใจเพื่อให้เป็นฐานสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชน
จากการขยายตัวของชุมชนเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยอย่างไม่สิ้นสุด ทำให้ป่าไม้เริ่มลดน้อยลง จึงเป็นเหตุให้ทางกรมป่าไม้เข้าดำเนินการประกาศเขตพื้นที่ป่ารอบชุมชนเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน นายประพงษ์ อุดมโภชน์ ผู้นำหมู่บ้านในสมัยนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินกับกรมป่าไม้เหตุจากการประกาศเขตป่าสงวน และขอเอกสารสิทธิ์เสนอต่อ นายอุดร ตันติสุนทร รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ทำให้รัฐบาลเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินแก่คนในหมู่บ้าน ทำให้มีการแบ่งเขตพื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่าออกอย่างชัดเจน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในชุมชนตลอดมา
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (2564). กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน บ้านเด่นวัว. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
ปรัชญ์ลินดา จินตจิรัฏฐ์. (2562). พฤติกรรมการซื้อและความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ของชุมชนบ้านเด่นวัว อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก. วิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสุโขทัย.
สวาท ไพศาลศิริทรัพย์. (2560). การศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานความรู้ของสังคมเกษตรสมัยใหม่โดยเครือข่ายชุมชนบ้านเด่นวัว ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
สุภาพร รักดี. (2557). แนวทางการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มทอผ้า บ้านเด่นวัว อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก. วิทยานิพนธฺปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตาก. (2564). ติดตามผลการดำเนินงาน การทอผ้า“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ของกลุ่มทอผ้าไหมห้าพี่น้องชุมชนบ้านเด่นวัว หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://tak.cdd.go.th/
Thailand Tourism Directory. (ม.ป.ป.) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน บ้านเด่นวัว. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
THAI SENSEE. (ม.ป.ป.). กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านเด่นวัว อ.วังเจ้า จ.ตาก. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thaisensee.org/