Advance search

บ้านมืดหลอง ชุมชนชาวลัวะเก่าแก่ในหุบเขาสูงทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่แจ่มกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการห้อมล้อมด้วยภูเขาสูงและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

หมู่ที่ 2
บ้านมืดหลอง
บ้านทับ
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
อบต.บ้านทับ โทร. 09-2258-4023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
3 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
บ้านมืดหลอง


บ้านมืดหลอง ชุมชนชาวลัวะเก่าแก่ในหุบเขาสูงทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่แจ่มกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการห้อมล้อมด้วยภูเขาสูงและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

บ้านมืดหลอง
หมู่ที่ 2
บ้านทับ
แม่แจ่ม
เชียงใหม่
50270
18.42154987
98.16579759
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ

จากคำบอกเล่าในอดีต ชาวบ้านมืดหลองเป็นกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่หรือล้านนาเดิม แรกเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ และว่ากันว่าเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นปกครองสมัยขุนหลวงวิลังคะ เมื่อสิ้นอำนาจการปกครองเมืองเชียงใหม่ส่งผลให้มีการอพยพโยกย้ายผู้คนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยชาวลัวะบ้านมืดหลองได้รวมกลุ่มการเดินทางไปยังทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ มีผู้นำในการเดินทางครั้งนี้ คือ ขุนอิน เป็นผู้รวบรวมผู้คนโดยได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่บริเวณดอยสูงก่อตั้งเป็นชุมชนเรียกนามหมู่บ้านตามภาษาชนเผ่าว่า “ย่วงมายลอง” แปลว่า บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งชุมชนชาวลัวะบ้านมืดหลอง ในกลุ่มชาวลัวะมีความเชื่อว่าการเลือกพื้นที่ต้องไม่ตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ พื้นที่ป่าทึบ หรือพื้นที่ป่าดำน้ำ เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผี หากตั้งบ้านเรือนในบริเวณนั้นอาจทำให้ผู้คนประสบภัยพิบัติทำให้ชาวบ้านต้องเลือกบริเวณที่สภาพเป็นป่าหญ้าสลับกับต้นไม้เล็ก หรือเป็นบริเวณพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่โค่นแล้ว หลังจากที่ชาวบ้านมืดหลองอยู่ย่วงมายลองได้ไม่นานก็ประสบภัยพิบัติหลายอย่างทั้งโรคระบาดและภัยธรรมชาติ จากเหตุการณ์นี้จึงมีการตกลงกันภายในชุมชนว่าจำเป็นต้องอพยพถิ่นฐานไปที่อยู่ใหม่ไปทางทิศตะวันออก แต่อยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ประสบกับโรคระบาดอย่างหนัก ชาวบ้านเจ็บป่วยบ่อย สัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงได้ร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับการย้ายหมู่บ้านเป็นครั้งที่สอง มีผลต่อการเลือกพื้นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าบ้านมืดหลองเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด 

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านมืดหลองมีพื้นที่โดยรอบเป็นหุบเขาสูงทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่แจ่มซึ่งอยู่บริเวณเทือกเขาถนนธงชัย มีลักษณะทางกายภาพเป็นหุบเขาที่สลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบแคบ ๆ ระหว่างหุบเขาโดยมีลำน้ำสายเล็ก ๆ ตัดผ่าน มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยตะมอย ห้วยอะนา ห้วยพรุ ห้วยมะนาและห้วยแม่ป๊อก โดยชุมชนบ้านมืดหลองมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่โดยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอยที่ใช้สำหรับปลูกพืชหมุนเวียน 

ลักษณะภูมิอากาศ บ้านมืดลองมีภูมิมีอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูดังนี้

  • ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมจนถึงตุลาคม
  • ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 
  • ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านมืดหลอง ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 269 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 149 คน ประชากรหญิง 120 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 108 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ คือ ชาวลัวะ

ลัวะ (ละเวือะ)

การประกอบอาชีพ

บ้านมืดหลองนับได้ว่ามีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรมตั้งแต่อดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวไร่สำหรับไว้บริโภคในครอบครัว นอกจากนั้นยังทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยปลูกข้าวไร่ผสมผสานกับพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว ในอดีตชาวบ้านจะผลิตข้าวของเครื่องใช้กันเองโดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากมีการปลูกฝ้ายไว้สำหรับเพื่อถักทอเครื่องอุปโภคดังกล่าว ส่วนพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ปลูกบางส่วนจะถูกแบ่งไว้สำหรับเพื่อบริโภคภายในครอบครัว และบางส่วนจะนำไปแลกเปลี่ยนสินค้าภายในชุมชนและไปขายในตลาดรับซื้อที่อยู่ในตัวอำเภอแม่แจ่ม นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ เนื่องจากทุกครัวเรือนจะต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในการประกอบพิธีและการเลี้ยงผีภายในชุมชน โดยชาวบ้านจะเลี้ยงสัตว์ไว้ใต้ถุนบ้าน ปัจจุบัน ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการปลูกพืช การรับจ้างทั่วไป และทำงานตามโรงงานต่าง ๆ อาชีพเสริมของชุมชน คือ การทอผ้า

กลุ่มองค์กรชุมชน

1.กลุ่มธนาคารข้าว ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2528  เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ข้าวไร่ที่ปลูกไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ หน่วยงานราชการจึงได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือและร่วมมือกับชาวบ้านจัดตั้งธนาคารข้าว สำหรับชาวบ้านที่ประสบปัญหาปลูกข้าวไม่พอกิน สามารถมายืมข้าวในธนาคารข้าวไปก่อ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็ให้นำข้าวมาคืนธนาคาร

2.กลุ่มสตรีบ้านมืดหลอง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 ทำหน้าที่ส่งเสริมกลุ่มอาชีพในชุมชนโดยเน้นการทอผ้าเป็นหลัก สนับสนุนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผาทอจากภูมิปัญญาให้กลายเป็นสินค้าประจำชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้าน ผลิตภัณฑ์บางส่วนจะวางขายในร้านค้าชุมชน และบางส่วนจะส่งขายยังโครงการหลวง ตลอดจนงานออกร้านตามงานเทศกาลต่าง ๆ 

3.เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำตูมบ้านมืดหลอง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยมีการกำหนดระเบียบการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศบริเวณลุ่มน้ำตูม โดยสมาชิกมีกิจกรรมหลัก คือ การทำฝายน้ำล้นและจัดทำแนวกั้นไฟป่า

4.เครือข่ายละว้าเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ได้เข้ามาสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมของชนเผ่าให้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมายาวนาน โดยจุดมุ่งหมายหลัก คือ ส่งเสริมการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของชาวลัวะ

ศาสนา

บ้านมืดหลองมีการนับถือศาสนาผีมาตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ 2542 ได้มีพระธุดงค์เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงร่วมใจสร้างอาศรมไว้เป็นอนุสรณ์ในการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ต่อมาหลังจากที่พระสงฆ์ได้เดินทางออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านทำการรื้ออาศรม และในปี 2546 กรมป่าไม้ร่วมกับชาวบ้านมืดหลองได้ร่วมกันสร้างอาศรมและได้ตั้งชื่อว่า "อาศรมบ้านมืดหลอง" มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตามวาระต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านได้นับถือพระพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผีที่มีอยู่แต่เดิม

ความเชื่อและพิธีกรรม

ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการนับถือผี หรือความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติอันเป็นคติดั้งเดิมของชาวลัวะ เช่น ความเชื่อเรื่องเสาอินทขีล หรือเสากลางบ้าน จากคำบอกเล่าว่ากันว่าเสาอินทขีลนี้ ไม่ว่าชาวบ้านจะย้ายหมู่บ้านไปตั้ง ณ แห่งหนตำบลใด ก็จะต้องร่วมกันสร้างหลักอินทขีลอันเปรียบเสมือนเสาหลักเมืองไว้ตรงกลางหมู่บ้าน เชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษาและปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากชุมชน

การนับถือผีถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของกลุ่มชนชาวลัวะที่มีมาตั้งแต่อดีต ความเชื่อเรื่องผีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนตั้งแต่การเกิดจนถึงการตาย โดยเฉพาะการนำความเชื่อเรื่องผีมาเกี่ยวโยงกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีการประกอบอาชีพหลักของชาวลัวะ สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องผีนั้นผูกพันกับชีวิตของชาวลัวะตั้งแต่แรกเกิดจนเติบใหญ่ไปจนตาย ซ้ำยังมีอิทธิพลต่อวิถีการดำรงชีพ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสร้างเจตคติให้ชาวลัวะประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อันมีผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้เป็นผู้ควบคุม 

พิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญของชาวบ้านมืดหลองเรียกว่า "ปุกเตะ" หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "พิธีมัดมือ" เป็นพิธีเรียกขวัญ สร้างขวัญและกำลังใจ โดยในการจัดพิธีจะจัดได้ทุกวันยกเว้นวันเสาร์ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้พิธีไม่เป็นผล ในเวลา 1 ปีทุกคนจะต้องทำพิธีมัดมืออย่างน้อย 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัว 

พิธีสะเดาะเคราะห์ หรือที่เรียกว่า "วัดเคาะห์" เป็นพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อสร้างความสบายใจ เปรียบเสมือนการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากครอบครัว โดยชาวบ้านจะนิยมทำในวันอังคารและวันพุธ มีข้อห้ามว่าระหว่างการทำพิธีห้ามบุคคลอื่นขึ้นบ้านโดยเด็ดขาด หากมีคนเข้ามาภายในบ้านที่ทำพิธีจะต้องเริ่มทำพิธีใหม่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ลัวะ ไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โครงการพัฒนาเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมเมืองแม่แจ่ม. (2563). บ้านมืดหลอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.mae-chaem.com/

จรัญญา สีพาแลว. (2545). การทอผ้าของชาวละว้าบ้านมืดหลอง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิรยุทธ์ สุวรรณทิพย์. (2550). ภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวละว้า: กรณีศึกษาบ้านมืดหลอง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ. (2561). เสาอินทขีลบ้านมืดหลอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.bantub.go.th/

อบต.บ้านทับ โทร. 09-2258-4023