Advance search

ชุมชนโบราณแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สองวัฒนธรรมริมฝั่งโขง หนึ่งในหมู่บ้านจุดหมายปลายทางในเส้นทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงตำบลนาแวง

หมู่ที่ 2
บ้านนาแวง
นาแวง
เขมราฐ
อุบลราชธานี
อบต.นาแวง โทร. 04-5251-5067
วิไลวรรณ เดชดอนบม
9 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
บ้านนาแวง

"นาแวง" มาจากคำว่า "หนองแวง" ซึ่งคำว่า "แวง" เป็นชื่อเรียกของพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่บริเวณหนองน้ำที่มีชื่อว่า "หนองปลาสิบ" ที่ชาวบ้านใช้ในการทำนา จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "นาหนองแวง" ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “นาแวง”


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สองวัฒนธรรมริมฝั่งโขง หนึ่งในหมู่บ้านจุดหมายปลายทางในเส้นทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงตำบลนาแวง

บ้านนาแวง
หมู่ที่ 2
นาแวง
เขมราฐ
อุบลราชธานี
34170
16.0268251166612
105.327995717525
องค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง

ชื่อเรียก "บ้านนาแวง" มีที่มาจากคำว่าหนองแวงซึ่งคำว่า “แวง” เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก ต้นผือ พบในบริเวณหนองน้ำที่มีชื่อว่า "หนองปลาสิบ" ซึ่งมีน้ำเกือบตลอดปี น้ำในหนองน้ำนี้ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ในการทำนา จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "นาหนองแวง" ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น "นาแวง" จนปัจจุบัน

การก่อตั้งบ้านนาแวงนั้นไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อปีใด แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่า พระยากำแหงสงครามได้นำคนกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากทางใต้ของลำน้ำโขงเพื่อมาตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากเห็นว่าบริเวณบ้านนาแวงปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ถูกรังแกรุกราน จึงได้มาตั้งถิ่นฐานและสร้างหอ สร้างโฮงทางทิศตะวันออกของชุมชน ตั้งชื่อว่า "เมืองโขงเจียมเหนือ" ซึ่ง "หอ" คือที่อยู่ของเจ้าเมือง และ "โฮง" คือที่ทำการของเจ้าเมืองในขณะนั้น จากนั้นได้สร้างวัดคู่เมืองให้ชื่อว่า "วัดโขงเจียมปุราณวาส" จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ไม่มีผู้ใดทราบว่าระหว่างเมืองโขงเจียมเหนือกับบ้านนาแวง แห่งใดถูกก่อตั้งขึ้นมาก่อน เนื่องจากไม่มีคำบอกเล่าที่เกี่ยวข้องกับการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือการตั้งบ้านเรือนในชุมชน แต่ชุมชนได้พบโบราณวัตถุที่มีอายุหลายพันปี เช่น ธรณีประตูหินสมัยเจนละ กล้องยาสูบสมัยอาณาจักรขอม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านนาแวง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี จะมีร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่และยาวนานนับพันปี แต่กลับไม่มีการบันทึกหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงซากปรักหักพังของสถูปเจดีย์และการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาให้ได้กล่าวขานเท่านั้น เช่น ร่องรอยสถูปเจดีย์ที่วัดป่าธรรมจักรวนาราม ซึ่งอยู่ติดกับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับสมัยขอมในยุคประวัติศาสตร์ โดยในช่วงที่อาณาจักรฟูนันกำลังรุ่งเรือง ขอมได้อพยพขึ้นมาตามลำน้ำโขงเพื่อแสวงอาณานิคมใหม่ แล้วได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนามาเผยแพร่ ทั้งยังได้สร้างสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นหลักฐานที่ปรากฏตลอดแนวลำน้ำโขง เช่น วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อบ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล และวัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แต่สำหรับบ้านนาแวงนั้นยังไม่มีผู้ใดสามารถให้คำยืนยันได้ว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด มีเพียงคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจากรุ่นสู่รุ่นว่า เมื่อเกิดมาก็มองเห็นถึงร่องรอยความเก่าแก่ของหมู่บ้านอยู่ก่อนแล้ว

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านนาแวงมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง การตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านมีการปลูกสร้างอยู่อย่างแน่นหนาและเป็นกลุ่มก้อน เรียงรายไปตามแนวแม่น้ำโขบง โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน เนื่องจากในอดีตชาวบ้านจะใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางในการสัญจร และใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภค ซึ่งบ้านนาแวงมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำโขง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบกม่วงน้อย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาแวงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาสะอาด 

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ 

บ้างแวงมีแหล่งทรัพยากรสำคัญที่พบในปัจจุบัน ได้แก่

  1. ดอนส้มโงม ใช้เป็นสถานที่สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง
  2. คอนน้อย ใช้ประโยชน์ในการหาปลาน้ำโขงเพื่อนําไปขายและนําไปเป็นอาหาร
  3. บุ่ง เป็นหาปลาน้ำโขงเพื่อนําไปขายและนําไปเป็นอาหาร อีกทั้งยังใช้เป็นท่าจอดเรือด้วย
  4. พื้นที่ทางการเกษตร มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยมีการสูบน้ำจากแม่น้ำโขง โดยโครงการสถานีสูบน้ำในพระราชดําริขึ้นมาสู่ที่นาในฤดูกาลทำนา
  5. ดอนใหญ่ เป็นที่หาปลาน้ำโขง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่พักและวางไข่ของปลาหลายชนิด
  6. ท่าโฮง หรือท่าข้ามประเพณี เป็นตลิ่งริมแม่น้ำโขง มีลักษณะลาดชัน ใช้เป็นท่าประเพณีในการข้ามฝั่งของพี่น้องชาวลาว เพื่อเข้ามาเยี่ยมญาติพี่น้องหรือซื้อหาสินค้าในตัวเมืองเขมราฐ
  7. ป่าชุมชน อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน มีอาณาเขตประมาณ 150 ไร่ ป่าไม้ส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ ไม้เต็งรัง ไม้แต้ ไม้ตะเคียน ไม้แดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่อไม้ ผักน้ำ ผักน้ำไหล ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักแว่น เห็ดปลวก เห็ดโคน เห็ดระโงก ซึ่งชาวบ้านสามารถเก็บมาเป็นอาหารและนำไปขายสร้างรายได้ได้ สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ กระรอก ตะกวด กระแต เต่า กิ้งก่า ส่วนสัตว์น้ำที่พบในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาซิว ปลากระดี่ ปลาไหล กุ้ง หอย เป็นต้น

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านนาแวง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 741 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 343 คน ประชากรหญิง 398 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 249 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

การทำนาและการทำประมงถือเป็นอาชีพเก่าแก่ของชาวบ้านนาแวงมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยก่อนไม่มีการซื้อขายแต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนตามชุมชนชายแดน มีการทำสวนฝ้ายเพื่อใช้ทอผ้าใช้ในครัวเรือนและขายเป็นบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีการทำไร่ปอขาย รวมถึงการปลูกมันสำปะหลังที่เข้ามาในชุมชนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2555 จากโครงการพลังงานทดแทนของรัฐบาล อีกทั้งยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวตามริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ต้นหอม ถั่วลิสง เพื่อขายและเก็บไว้บริโภคเอง ทั้งนี้ การปลูกข้าวของชาวบ้านนาแวงนั้นจะมีทั้งนาปีและนาปรัง ในสมัยก่อนชุมชนสามารถปลูกข้าวได้เพียงครั้งเดียว คือ นาปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2527  ได้มีเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากพระราชดำริ ซึ่งสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาปล่อยตามคลองส่งน้ำให้ชุมชนได้ใช้ทำการเกษตร ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านนาแวงสามารถปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง

ชาวบ้านนาแวงส่วนใหญ่ หรือกล่าวได้เกือบทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดประจำชุมชนอยู่ 2 แห่ง คือ วัดโขงเจียมปุราณวาส และวัดป่าทาธรรมจักรวนาราม บ้านนาแวงแห่งนี้เป็นชุมชนไทยอีสานที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 อันเป็นจารีตประเพณีที่ทำให้สมาชิกในชุมชนมีโอกาสได้ได้ร่วมกันทำบุญ แต่ปัจจุบันบ้านนาแวงถือปฏิบัติเพียง 9 ฮีต โดยฮีตที่เลิกปฏิบัติไปแล้ว ได้แก่ ฮีต 1 บุญปริวาสกรรม ฮีต 6 บุญเดือน 6 และฮีต 7 บุญซำฮะ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ฮีต 2 บุญคูณลาน เป็นบุญที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความเคารพในปัจจัยยังชีพ คือ ข้าว โดยถือว่าปีใดบุญคุณลานมีข้าวมาก แสดงว่าปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชาวบ้าน รวมถึงขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น ผีตาแฮก พระแม่โพสพ ที่ประทานข้าวมาอย่างอุดมสมบูรณ์ ในการทำพิธีจะใช้บริเวณลานวัดเป็นลานข้าว โดยชาวบ้านจะนำข้าวของตนมาร่วมพิธี เมื่อเสร็จพิธีจึงจะนำเข้าไปเก็บยุ้งฉางของตน

ฮีต 3 บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะมีการเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ย่ำรุ่งเพื่อให้สุกทันใส่บาตร โดยอาจนำข้าวเกรียบย่างไฟไปถวายพร้อมอาหารคาวหวาน ในสมัยก่อนนั้นมีการนำข้าวไปจี่ที่วัด แต่ปัจจุบันการนึ่งข้าวจะทำอยู่ที่บ้านและเมื่อเสร็จจึงนำไปวัด

ฮีต 4 บุญผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ เป็นงานบุญที่พระสงฆ์ได้แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงพระจริยาวัตรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร หรือเรียกว่า มหาเวสสันดรชาดก มีความยาวถึง 13 กัณฑ์ ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะออกไปรวมตัวกันที่วัดเพื่อจัดตกแต่งประดับศาลาโรงธรรม เตรียมทำหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ ธูปเทียนอย่างละพัน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องบูชาคาถาพัน นอกจากนี้ ยังมีขบวนแห่พระเวสสันดรที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ภายหลังขบวนแห่เสร็จสิ้นจามกระบวนพิธี ตลอดจนนำข้าวพันก้อนถวายพระอุปคตที่วัดแล้ว พระสงฆ์จึงจะทำการสังกาสแล้วอาราธนาเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ 

ฮีต 5 บุญสงกรานต์ กำหนดขึ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก 

ฮีต 8 บุญเข้าพรรษา เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาชาวบ้านจะเตรียมเทียน ผ้าอาบน้ำฝน รวมถึงเครื่องปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ไปถวายที่วัด

ฮีต 9 บุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ จัดใส่กระทงวางไว้บนพื้นดินใต้ต้นไม้ เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ

ฮีต 10 บุญข้าวสาก เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนบุญและส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและวิญญาณเร่ร่อน โดยจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดเพื่ออุทิศส่วนบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับ

ฮีต 11 บุญออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นบุญที่มีความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสาน โดยปกติลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นมักจะเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ 

ฮีต 12 บุญกฐิน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โบราณสถาน

วัดโขงเจียมปุราณวาส สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2378 นำโดยพระยากําแหงสงคราม เจ้าเมืองโขงเจียมเหนือในขณะนั้นได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนและได้ก่อตั้งวัดขึ้นเป็นวัดคู่เมือง โดยสร้างให้ประตูวัดหันหน้าเข้าหาแม่น้ำโขง เนื่องจากสมัยนั้นการเดินทางใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก แต่โบสถ์ (วัดเดิม) หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และมีรูปปั้นงูซวงอยู่บริเวณหน้าบันไดทางเข้าโบสถ์ เป็นการสร้างตามแบบของวัดในช่วงอยุธยาตอนปลาย ต่อมามีการบูรณะโบสถ์ใหม่ใน พ.ศ. 2517 ได้เปลี่ยนให้โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแบบวัดอื่น ๆ ปัจจุบันวัดโขงเจียมปุราณวาสเป็นวัดประจำหมู่บ้านนาแวง

โบราณวัตถุ

โบราณวัตถุที่พบในหมู่บ้านนาแวงแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่โบราณวัตถุที่ยังมีหลักฐานและโบราณวัตถุที่ไม่มีหลักฐาน

1.โบราณวัตถุที่ยังมีหลักฐาน

  • แท่นธรณีประตูและบานประตูหิน ที่ค้นพบในขณะที่ใช้รถตักดินเพื่อทำเขื่อนกั้นตลิ่งทรุดริมแม่น้ำโขงบริเวณท่าวัดใต้ หลังจากนั้นพระครูเขมกิจโกศลได้นำโบราณวัตถุชิ้นนี้มาประดับไว้ที่หน้าโบสถ์ของวัดโขงเจียมปุราณวาส และได้แจ้งต่อกรมศิลปากรเพื่อเข้ามาตรวจสอบ โดยสันนิษฐานว่าหลักธรณีประตูและบ้านประตูหินที่พบนี้มีอายุประมาณ 1,400-1,600 ปี จึงคาดว่าอาจเป็นโบราณวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจนละ และอาจสันนิษฐานต่อไปได้ว่าพื้นที่แถบนี้อาจเคยมีชาวเจนละอาศัยอยู่มาก่อน
  • ฐานประติมากรรมหินศิวลึงค์ พบในบริเวณที่พักสงฆ์ธรรมจักรวนาราม (วัดป่า) ในขณะทำการปรับปรุงพื้นที่เพื่อทำเป็นที่พักสงฆ์ จากนั้นทางชุมชนจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ที่พักสงฆ์ธรรมจักรวนาราม เพราะชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาในทางชุมชนได้ทำการติดต่อไปยังสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี ให้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้ได้ข้อมูลว่าเป็นฐานประติมากรรมศิลปะยุคขอม อายุประมาณ 800-1,000 ปี 

2.โบราณวัตถุที่สูญหายไปแล้ว คือ ไหใส่ศพของคนสมัยก่อนซึ่งมีการขุดพบในนาจากการไถพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ภายในไหประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ ลูกปัดแก้ว แต่ชุมชนไม่ได้ทำการเก็บรักษาไว้ ทำให้สูญหายไป

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

1.ท่าโฮง เป็นท่าน้ำและจุดจอดเรือ อยู่ที่บริเวณข้างวัดโขงเจียมปุราณวาส ในอดีตเป็นท่าลำเลียงเครื่องบรรณาการมายังที่ทำการเจ้าเมืองโขงเจียมเหนือ มาเป็นท่าขึ้น-ลงตักน้ำอาบของชาวบ้าน ปัจจุบันเป็นท่าข้ามประเพณีให้ชาวลาวข้ามมาเยี่ยมญาติพี่น้องและซื้อหาสินค้าฝั่งไทย

2.โพนญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นกองดินมีต้นไม้ขึ้นอยู่บริเวณกลางทุ่งนาทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นสถานที่สำคัญในสมัยก่อนคือ มีเครื่องบินรบของประเทศญี่ปุ่นตกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2488  มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกจำนวน 2 นาย โดยเป็นทหารญี่ปุ่น ชุมชนจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า โพนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณที่เครื่องบินตก

3.บังเกอร์ มีลักษณะเป็นหลุมที่ขุดเอาหญ้าหรือดินออกไป ทำไว้เป็นที่หลบภัยในสมัยสงคราม สถานที่ที่นิยมขุดทำเป็นบังเกอร์ ได้แก่ ใต้ยุ้งข้าว บริเวณไร่นา

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน (สำเนียงอุบลราชธานี)

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. (2564). เส้นทางการท่องเที่ยวของพิพิธภัณฑ์. สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://www.facebook.com/

สุวรรณ คนฉลาด. (2560). โครงการวิจัยการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการปรับตัวรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านนาแวง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (ม.ป.ป.). บุญเข้ากรรม. ใน สืบฮีต สานฮอย. สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://library.stou.ac.th/

ฮักนะเขมราฐ. (2560). สืบค้น 9 มกราคม 2567, จาก https://web.facebook.com/

อบต.นาแวง โทร. 04-5251-5067