Advance search

ศิลปสถาปัตยกรรมล้านนาที่ผสมผสานกับศิลปสถาปัตยกรรมไตลื้อ และวิถีชีวิตของชาวไตลื้ออันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม การแต่งกาย และอาหาร

หมู่ที่ 4, 5
บ้านลวงเหนือ
ลวงเหนือ
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
ทต.ลวงเหนือ โทร. 0-5310-4548
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ม.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
บ้านลวงเหนือ

“ลวง” มาจากชื่อสัตว์ตามคติความเชื่อของชาวไทลื้อ ชาวไทลื้อถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐจึงได้นำชื่อของสัตว์ดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ส่วนคำว่า “เหนือ” มาจากทำเลการตั้งหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนทางทิศเหนือ จึงเรียกว่า บ้านลวงเหนือ มาจนถึงปัจจุบัน


ศิลปสถาปัตยกรรมล้านนาที่ผสมผสานกับศิลปสถาปัตยกรรมไตลื้อ และวิถีชีวิตของชาวไตลื้ออันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม การแต่งกาย และอาหาร

บ้านลวงเหนือ
หมู่ที่ 4, 5
ลวงเหนือ
ดอยสะเก็ด
เชียงใหม่
50220
18.88516552
99.12396178
เทศบาลตำบลลวงเหนือ

ไทลื้อ (ไตลื้อ) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 1932 ในช่วงสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ของราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา โดยได้ลงหลักปักฐานสร้างชุมชนบริเวณ "เมืองลวงเหนือ" หมายถึง ถิ่นที่อยู่ที่มีพญาลวงอันเป็นสัตว์ประเสริฐตามจินตนาการของคนไทลื้อมาเล่นฝ้า (เมฆ) เพื่ออำนวยอวยพรให้คนในพื้นที่อยู่ดีมีสุข พร้อมกับนำเอาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆ มาด้วย ซึ่งในชุมชนมี "วัดศรีมุงเมือง" ที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของคนในชุมชน สร้างในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1945-1984 จากหลักฐานที่จารึกชื่อ วัน เดือน ปี ที่สร้างหมู่บ้านในเสาหลักใจกลางบ้าน มาสู่คำเล่าขานของบรรพบุรุษ ประกอบกับตำนานการสร้างวัดศรีมุงเมืองของหมู่บ้านเมืองลวงเหนือ และเอกสารการวิจัยตลอดจนสร้างหนังสือต่าง ๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คนไทลื้อเมืองลวงเหนือใต้อพยพจากดินแดนสิบสองปันนาเข้ามาอยู่ในล้านนาในหลาย ๆ ช่วงเวลา อาจจะด้วยเหตุลี้ภัยสงคราม ตามเสด็จพระเจ้าแสนเมืองมาเข้ามาล้านนา ตามญาติพี่น้องที่ล่วงหน้ามาก่อน และมาเพื่อหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ก็เป็นไปได้

ชุมชนไทยลื้อบ้านลวงเหนือ หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งในภายหลัง ได้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน ณ ที่แห่งนี้เป็นถิ่นอาศัยของชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเขตสิบสองปันนา (สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพย้ายถิ่นฐานมายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อหลบลี้หนีภัยสงคราม โดยมาตั้งหลักปักฐาน ณ บริเวณบ้านลวงเหนือ ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวไทเชื้อสายไทลื้อที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยล้านนา แต่มีอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นชาวไทลื้อที่ชัดเจน คือ ภาษาการแต่งกาย อาหารการกิน เป็นต้น นอกจากจะมีความน่าสนใจทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแล้ว บ้านลวงเหนือยังพรั่งพร้อมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่เป็นอาชีพของคนในชุมชนอีกด้วย เช่น การแกะสลักตุ๊กตาไม้ การทำผลิตภัณฑ์กระดาษสา การทำข้าวควบข้าวแคบ (อาหารพื้นบ้าน ชาวไทลื้อ) การทอผ้าไทลื้อ เป็นต้น

ที่ตั้งและอาณาเขต

ตำบลลวงเหนืออยู่ในเขตการปกครองของอำเภอดอยสะเก็ด ระยะห่างจากอำเภอดอยสะเก็ด ประมาณ 7 กิโลเมตร อาณาเขตติดต่อทิศเหนือติดต่อเขตอำเภอพร้าว และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดต่อเขตอำเภอสันทราย เทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อเขตเทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และทิศตะวันตกติดต่อเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ เป็นที่ตั้งของเขื่อนแม่กวง เหมาะสำหรับฟื้นฟูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินดำเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชสวนแต่บางแห่งเป็นลักษณะดินลูกรังไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร หมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่เรียงรายที่ราบใต้เขื่อนแม่กวง-อุดมธารา

ลักษณะเรือนไทลื้อบ้านลวงเหนือแบบดั้งเดิม 

ลักษณะเป็นเรือนไม้จริงขนาดใหญ่ทั้งหลัง สร้างในรูปแบบอิทธิพลเรือนไทลื้อใช้เดือยและลิ่มต่าง ๆ ยึดเข้า ด้วยกัน แบ่งพื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย 

  1. เติ๋น ที่พักผ่อนและรองรับแขก ยกสูงกว่าชานประมาณ 30 เซนติเมตร มุมหนึ่งของเติ๋นติดหิ้งผีไว้ด้วย เติ๋น อยู่ติดห้องนอนจึงมีประตูเข้าห้องนอนจากเติ่นโดยตรง
  2. ห้องนอน เป็นห้องขนาดใหญ่มีความเป็นส่วนตัวแยกออกชัดเจน มีช่องขนาดเล็กลักษณะเหมือนหน้าต่าง คาดว่าประโยชน์ใช้สอยหลักคือการมองออกไปดูภายนอกเรือน มีการใช้ผ้ากั๊ง แบ่งพื้นที่เพื่อเป็นสัดส่วนสำหรับสมาชิกเวลานอน
  3. ฮ้านน้ำ หรือร้านน้ำ เป็นชั้นวางหม้อน้ำสำหรับดื่ม ตรงชานข้างบ้านมีหลังคาคลุมยื่นออกมาจากระเบียง
  4. ห้องครัว แยกกันหลังคาออกมาจากเรือนนอน ทางเข้าครัวมี 3 ทางคือ ทางหน้าบ้านที่เดินผ่านเติ๋น ทางที่ สองคือประตูที่ติดกับห้องนอน อีกทางคือบันไดจากหลังบ้าน เตาไฟมีลักษณะเหมือนครัวแบบดั้งเดิมของลื้อและเหนือ เตาไฟก็มีชั้นวางของและแขวนของแห้งต่าง ๆ 
  5. บันได จะมีความแตกต่างจากเรือนลื้อที่สิบสองปันนาที่มีทางขึ้นจากหน้าบ้านทางเดียว ต่างเรือนหม่อนตุด ที่มีบันไดทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเรือน
  6. ชานและระเบียง ชานมีหน้าบ้านและหลังบ้านเป็นชานเปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม ส่วนระเบียงอยู่ด้านข้างของตัวบ้านเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างหน้าบ้านและหลังบ้าน
  7. ประตูและหน้าต่าง เป็นบานไม้ทั้งหมด ประตูมีส่วนยกสูงที่ฐานเพื่อกันฝุ่นหรือสัตว์เข้ามาในห้อง หน้าต่างบานเปิดมีเฉพาะในห้องนอน ส่วนอื่น ๆ จะเป็นฝาไหลสามารถเลื่อนเปิดปิดรับแสงได้
  8. หลังคา เป็นแป้นเกล็ด (หลังคาไม้)
  9. พื้นและฝาเรือน ฝาเรือนวางในแนวตั้งมีการใช้ไม้ขนาดเล็กปิดตามแนวต่อของไม้กันลมเข้า ส่วนฝาครัวจะเป็นช่องลมให้โปร่งระบายอากาศ พื้นเป็นไม้ตีชิดกันเป็นระเบียบ ยกเว้นส่วนซักล้างตีเว้นร่องเล็กน้อยเพื่อระบายน้ำ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 บ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

  • หมู่ที่ 4 บ้านลวงเหนือ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 650 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 292 คน ประชากรหญิง 358 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 361 ครัวเรือน
  • หมู่ที่ 5 บ้านลวงเหนือ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 921 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 416 คน ประชากรหญิง 505 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 449 ครัวเรือน

ไทลื้อ

การประกอบอาชีพของประชากรในเขตเทศบาลตำบลลวงเหนือ มีดังนี้ อาชีพเกษตรกรรม อาชีพค้าขาย อาชีพรับราชการ อาชีพรับจ้างทั่วไป ในอดีตการเพาะปลูกที่สำคัญของชาวบ้านเมืองลวง คือ การทำนาปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่น ชาวบ้านปลูกข้าวเพื่อบริโภคเองเป็นส่วนใหญ่ที่เหลือจึงนำไปขาย ดังนั้นแทบทุกครัวเรือนจึงทำนาเป็นอาชีพหลัก แม้แต่บุคคลที่ไม่มีที่นาของตนก็ต้องไปช่วยผู้อื่นทำ เพื่อจะได้รับส่วนแบ่งเป็นข้าวไว้บริโภค

ในการทำนานั้น ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำจากเหมืองฝาย ฤดูทำนาเริ่มประมาณเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม ชาวบ้านเริ่มไถนาหว่านกล้าแล้วปักดำ ระหว่างฤดูทำนา แรงงานในหมู่บ้านส่วนใหญ่ร่วมกันทำงานในทุ่งนา เหลือเพียงเด็กและคนแก่เท่านั้นอยู่เฝ้าบ้าน ชาวบ้านเริ่มทำงานตั้งแต่เช้าตรู่กลับมากินข้าวในตอนสาย แล้วออกไปทำงานถึงเที่ยงมากินข้าวเที่ยงแล้วพักผ่อน หากมีงานค้างจะไปทำต่อจนถึงเย็นก็จูงวัวควายกลับบ้าน นอกจากข้าวยังมีพืชอื่น ๆ เช่น หมาก พลู พริก หอม ถั่ว ฝ้าย คราม ยาสูบ และผักต่าง ๆ หมาก พลู และผลไม้นั้นปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ส่วนพืชชนิดอื่น ๆ ชาวบ้านนิยมปลูกที่บริเวณผาแตก ซึ่งมีน้ำดีดินดี ชาวบ้านสมัยก่อนมักพูดว่า “ไปทำสวนที่ผาแตก” บริเวณดังกล่าวอยู่ห่างจากฝายผาแตกหรือฝายชลประทานแม่กวงประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร ชาวบ้านเดินเท้าจากหมู่บ้านไปเพาะปลูกทิ้งไว้ จนเริ่มออกผลจึงทำ “ห้าง” ไว้นอนค้างเฝ้าดูแลจนเก็บเกี่ยวเสร็จ จะเห็นได้ว่าพืชผลที่ปลูกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตทั้งสิ้น เช่น ฝ้ายนำมาปั่นทอเป็นผ้า ครามใช้ย้อมผ้า พืชผักอื่น ๆ ใช้บริโภคในครัวเรือน หากมีเหลือก็นำออกขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่จำเป็น เป็นการเพาะปลูกนอกฤดูทำนา ชาวบ้านเมืองลวงมักได้รับการกล่าวขวัญว่าขยันในการทำงาน ไม่อยู่นิ่ง การอยู่อย่างว่างเปล่าในขณะที่คนอื่นทำงานถือเป็นเรื่องน่าอาย ปัจจุบันการเพาะปลูกก็ยังเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน

ชาวไทลื้อดั้งเดิม มีสิ่งยึดเหนี่ยวให้คนไตลื้อปฏิบัติตามจารีตประเพณีแบบดั้งเดิมคือการนับถือผีควบคู่กับการนับถือพุทธศาสนาซึ่งความเชื่อทั้งสองมีการนับถือแยกออกจากกันอย่างชัดเจน พุทธศาสนามีพื้นที่ทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาในวัด และความเชื่อเรื่องผีจะทำกิจกรรมที่บ้านและชุมชน แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น การมีผีเรือน ผี เมือง ผีหมู่บ้านสิงสถิตอยู่ ดังคำกล่าวของชาวไทลื้อที่ว่า พระอยู่ที่วัด ผีปู่ย่าตายายอยู่ที่บ้าน ชาวไทลื้อไม่นิยมตั้งหิ้งพระไว้ที่บ้าน นิยมตั้งแต่หิ้งบูชาผีไว้ที่บ้านเท่านั้น ในชุมชนไทลื้อจะประกอบไปด้วยหลาย ๆ หมู่บ้านรวมกันเป็นเมืองต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านแต่ละแห่งจะมีพื้นที่โล่ง กลางหมู่บ้านเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนและจะเป็นที่ตั้งของหอเสื้อบ้านด้วย 

  1. เสาใจบ้าน เป็นเสาไม้ปักใจกลางลานหมู่บ้านเสมือนขวัญของหมู่บ้าน 
  2. ข่วงบ้าน คือลานโล่งกลางหมู่บ้านเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ
  3. หอเสื้อบ้าน เป็นที่ประดิษฐานผีประจำหมู่บ้านเรียกว่าหอเสื้อ ชาวบ้านจะมาทำพิธีกรรมร่วมกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นพิธีกรรมที่สำคัญและเป็นอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทลื้อ
  4. บ่อน้ำประจำหมู่บ้าน ชาวไตลื้อจะให้ความสำคัญกับบ่อน้ำประจำหมู่บ้านมากเพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต 

ผีปู่ย่า คือผีบรรพบุรุษทางผู้ที่เป็นแม่สืบทอดมาสู่ลูกหลาน ลูกหลานจะสร้างบ้านเก๊า ลักษณะเป็นเหมือนบ้าน หลังเล็ก ๆ ปลูกไว้ในพื้นที่บริเวณบ้านที่เป็นต้นตระกูลเพื่อทำการไหว้ผีปู่ย่าในเดือน 9 แรม 9 ค่ำ หรือ เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ แต่ในปัจจุบันที่มีเรื่องเวลาและระยะทางและความสะดวกในการเดินทางการทำมาหากิน ลูกหลานเมื่อแยกบ้านออกไปจากเรือนก็จะขอแบ่งผีปู่ย่ามาไว้ที่บ้านส่วนตัวเพื่อสะดวกในการไหว้ผีปู่ย่าให้ง่ายขึ้น ผีหม้อหนึ้ง (หม้อนึ่ง) หรือผีปู่ดำย่าดำ

ในสมัยก่อนคนไตลื้อใช้ฟืนในการหุงหาอาหารทำให้หม้อมีเม่าควันไฟ มาจับให้เกิดคราบเม่าดำที่ก้นหม้อผีหม้อหนึ้งใช้ในการทำนายเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ในบ้านลวงเหนือยังคงหลงเหลือผู้มีความสามารถประกอบพิธีลงผีหม้อหนึ้งได้เพียงคนเดียวคือคุณแม่กาญจนา ทัพผดุง และเคยลงพิธีรักษาให้คนเจ็บป่วยได้หายมาแล้ว ผีหอผีเฮือน หรือ เตวดาเฮือน คือ เทวดาที่ปกปักรักษาคนในบ้านแต่ละหลัง นิยมทำเป็นหิ้งไว้ที่ส่วนบนเสาในห้องนอน โดยไม่มีอะไรเป็นหิ้งโล่ง ๆ มีเพียงขันข้าวตอกดอกไม้เล็ก ๆ ไว้บูชาบนหิ้งเจ้าที่ธรณี เป็นเทวดาปกปักรักษาที่ดินจะไม่ได้อยู่บนเรือนเหมือน เตวดาเฮือน จะอยู่บนพื้นดินเช่นที่ดินโคน ต้นไม้ใหญ่ ผีเข้าเจ้าทรง หรือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ โดยเชื่อว่าเทวดาจะเข้ามาสิงร่างหรือเข้าทรงคนผู้นั้นให้มาช่วยรักษา

นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามตามความเชื่อที่เรียกว่า ขึด ที่ห้ามการกระทำที่ผิดไปจากวัฒนธรรมจารีตประเพณี ดังเช่น ห้ามเผาศพวันเสาร์ เพราะวันเสาร์เป็นวันมงคลเป็นวันสำหรับการตั้งบ้าน ห้ามปลูกบ้านหลังคาขวางทางเทวดา ทางเทวดาคือทางสายหลักในหมู่บ้านดังนั้นการสร้างเรือนต้องสร้างให้หน้าจั่วหลังคายาวไปตามถนนของหมู่บ้าน ห้ามต่อเติมบ้าน ห้ามสร้างบ้านคร่อมจอมปลวก คร่อมบ่อน้ำ และ ครกมอง ห้ามให้บันไดบ้านอยู่ตรงกับประตูบ้าน ห้ามนั่งคาบันได ห้ามรับประทานอาหารก่อนพ่อแม่ ห้ามปิดปากบ่อน้ำ ห้ามนอนเอาหัวไปทางทิศตะวันตก ห้ามใช้สิ่งของที่หักพังแล้ว ห้ามแต่งงานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ห้ามหญิงมีครรภ์หรือชาวบ้านเรียกแม่มารไปทักทายผู้ที่จะไปค้าขายหรือหาของในป่า

1.นายพีระพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ อายุ 32 ปี พื้นเพเป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ อยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ 4 ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นเริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยการมาเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร ประมาณ 2 ปี จึงเกิดมีความคิดริเริ่มในการทำตุ๊กตาไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดที่สุด จากนั้นจึงเริ่มคิดหลาย ๆ สิ่งและทดลองทำทีละอย่างเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความรู้มากที่สุด คือการทำไม้ ทั้งนี้เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน และราคาถูก

ต่อมาในปี 2546 ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการของรัฐบาล คือโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP และได้รับรางวัล หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาวในปีนั้น และเป็นสินค้า โอทอป ที่ขึ้นชื่อของบ้านลวงเหนือตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ยังได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ชุมชนในปี 2546 มีเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเองอีกด้วย จากนั้นมาจึงเริ่มก่อตั้งเป็นกลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตาไม้นายโถ ทำกันในครอบครัวมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 10 คน โดยทำกันในกลุ่มเครือญาติ และคนในชุมชนเดียวกัน หัตถกรรมที่ทำกันนี้เป็นเพียงแค่อาชีพเสริมเท่านั้น อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ยังคงการทำนา ทำสวนตามฤดูกาล

ถุงย่าม เป็นของใช้ที่สำคัญของชาวไทลื้อในสมัยก่อน เนื่องจากส่วนมากมีอาชีพทำนาทำไร่ จึงมักพกพาถุงย่ามไว้สำหรับใส่ห่อข้าวและสัมภาระต่าง ๆ ติดตัวไปทำงาน แม้ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวไทลื้อปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังสังเกตได้ว่าถุงย่ามไม่เคยหายไปจากชุมชนไทลื้อ ที่สำคัญยังมีการพัฒนารูปลักษณ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น ดังเช่นที่ชุมชน ‘บ้านลวงเหนือ’ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งหยิบจับถุงย่ามผ้าฝ้ายแบบฉบับดั้งเดิมมาเพิ่มเติมสีสันและปักประดับลวดลายหลายหลาก โดยเฉพาะลายเอกลักษณ์ อย่าง ‘พญาลวง’ สัตว์มงคลตามความเชื่อของชาวไทลื้ออันมีความหมายถึงความโชคดี รวมถึงสร้างสรรค์ถุงย่ามให้มีความเรียบง่าย ร่วมสมัย เพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เข้าถึงง่าย อีกทั้งเป็นการสืบสานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษและเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ลูกประคบสมุนไพร เกิดจากมรดกทางภูมิปัญญาของแพทย์ แผนโบราณที่ใช้ผ้าห่อสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนหลากหลายชนิด นำมา ทำให้ร้อน และประคบบริเวณที่เจ็บปวด เคล็ดขัดยอก โดยความร้อน และสรรพคุณของสมุนไพร สามารถช่วยบรรเทาอาการเกร็งตัว บวม อักเสบ ของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต คนไทยนิยมใช้“ลูกประคบสมุนไพร” รักษากันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน โดยมักใช้รักษาควบคู่กับการนวดไทย คือ หลังจากนวดเสร็จแล้วจึงประคบ นาบไปตามร่างกาย ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร ตั้งแต่สมัยก่อนบรรพบุรุษใช้สมุนไพร เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วย เช่น การนำรากไม้มาต้มรับประทาน อาบ และ การทำอาหารจากสมุนไพรท้องถิ่น เช่น แกงแค แกงโฮะ เป็นต้น โดยชุมชน มีวัฒนธรรมการปลูกสมุนไพร เพื่อรับประทาน ถ้าเหลือจึงจะจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ของชุมชน โดยสมุนไพรส่วนมาก ประมาณร้อยละ 80 เป็นสมุนไพรในชุมชน ไม่ใช้สารเคมี เครื่องยาที่เป็นตัวสมุนไพร สำหรับผิวกาย จะใช้สมุนไพร ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ เช่น ไพลสำหรับผิวหน้าจะมีส่วนประกอบของขมิ้น ว่านนางคำ ทานาคา และสมีหรือสะเปาลม การผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ จากสมุนไพรในชุมชน ที่ได้คิดค้นขึ้นมา ได้แก่ยาหม่องสมุนไพร

ข้าวแคบ เป็นได้ทั้งอาหารหลักและอาหารว่างของคนไตลื้อ แต่เดิมผู้เฒ่าผู้แก่และผู้หญิงที่อยู่ไฟจะนิยมทานข้าวกับข้าวแคบ เพราะถือว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยที่สุดและอร่อยด้วย

ตุ๊กตาไม้ เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยนายโถ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว และเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมหรือสินค้า CPOT และส่งออกไปขายต่อ โดยมีขั้นตอนทำตุ๊กตาไม้ดังนี้

ขั้นตอนแรกจะทำขึ้นมาเป็นตัวอย่าง 1 ตัว จากนั้น แกะแบบ แล้วก็แบ่งงานตามความถนัดของแต่ละคน ในการทำตุ๊กตาแต่ละตัว ต่อวันนั้นแต่ละคนจะรับผิดชอบในส่วนของตนเอง วันหนึ่งทำได้ 10 ตัว วันต่อไปอาจจะทำได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม กว่าจะได้ตุ๊กตามาแต่ละตัวต้องผ่านกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันไป โดยมีการร่างแบบเพื่อทำการฉลุ นำไปเจียรตกแต่งขอบให้เนียนเรียบแล้วนำมาขัดกระดาษทรายด้วยมือ ทาสีรองพื้นรอบแรก นำแขน ขา มาประกอบกันทากาวบริเวณที่ประกอบ จากนั้นเอาขี้เลื่อยละเอียดมาผสมกับกาว โป๊ะบริเวณที่รอยต่อทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำมาขัดอีกหนึ่งรอบ ปัดเศษฝุ่นออกให้หมด ทาสีรองพื้นรอบที่สอง ลงสี รอให้แห้ง พ่นสเปรย์ นำไปตากให้แห้งเตรียมไว้ในกล่องเพื่อรอส่งออกอัตราหนึ่งวันจะได้ตุ๊กตาไม้ทั้งหมด 30-50 ตัว ไม้ที่ใช้ทำตุ๊กตาจะเป็นไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน หาได้ง่าย เช่น ไม้งิ้ว ไม้ฉำฉา ไม้มะขาม ไม้สน ฯลฯ ไม้จำพวกนี้ จะเป็นไม้ที่โตเร็ว สามารถปลูกทดแทนได้ไม่ทำให้เสียสมดุลธรรมชาติ ปัญหาที่พบในการทำตุ๊กตาไม้คือมีการลงทุนไม่แน่นอน ค่อย ๆ ลงทุนไปทีละส่วน

ชาวชุมชนไทลื้อเมืองลวงเหนือใช้ภาษาเหนือในการสื่อสาร


การต่อยอดสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร โดยใช้ไมโครเวฟให้ความร้อนแทนการนึ่ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร ต่อยอดจากเดิมที่ต้องประคบ ด้วยความร้อนจากการนึ่งพัฒนาเป็น ใช้ความร้อนจากเตาไมโครเวฟ และออกแบบรูปแบบให้สามารถประคบได้ทุกสัดส่วนตามสรีระของร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทำงานในปัจจุบัน ที่ไม่มีเวลาใช้สะดวก เก็บรักษาง่าย และมีอายุการใช้งานยาวนาน ประมาณ 2 ปี

สมุนไพรภายในทำจากข้าว ธัญพืช และสมุนไพรพื้นบ้านที่มีในชุมชน ธัญพืชทำให้เก็บกักความร้อนได้ดีความร้อนเข้าถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ช่วยให้ผ่อนคลาย สามารถประคบได้ทุกสัดส่วนตามสรีระของร่างกายได้ตรงจุด โดยชุมชนมีการทดลองใช้การระเหยของสารในสมุนไพรจาก 3 นาทีที่ใช้ไมโครเวฟให้ความร้อน ความร้อนจะค่อย ๆ ระเหยออกมา การลดรายจ่ายในการผลิตลูกประคบ โดยการทอผ้าที่จะใช้ห่อสมุนไพรเอง การออกแบบผลิตภัณฑ์ลูกประคบ และบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบ รูปทรง สีสัน สวยงาม และการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สวนสมุนไพรที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้ได้

วัดศรีมุงเมือง

ตำนานเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า วัดศรีมุงเมืองหรือวัดบ้านลวงเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1944 โดยพญาสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา นับถึงปีปัจจุบัน มีอายุถึง 619 ปีแล้ว (พ.ศ. 2563) หนึ่งในเจ้าอาวาสที่สำคัญของวัดแห่งนี้ คือ ครูบาอภิชัย คำมูล โดยท่านรับความนับถือจากชาวเชียงใหม่อย่างมากและนับว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายของวัดที่สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เมื่อท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2464 วัดศรีมุงเมืองก็ได้ถูกญัตติเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย โดยพระนพีสีพิศาลคุณ (มหาปิง) และการผลักดันของหมื่นบุญเรืองวรพงษ์ กำนันตำบลลวงเหนือ

เมื่อสักการะซุ้มพระอุปคุตด้านหน้าแล้ว ก็จะต้องเดินผ่านซุ้มประตูสีขาวที่สวยงามด้วยลายปูนปั้นสุดอลังการ หรือซุ้มประตูโขงแบบล้านนา และเดินขึ้นบันไดอีกเล็กน้อย ผ่านม่านโซ่ที่ประตูเข้าไป ก็จะพบกับภายในวิหารที่งดงาม มีเสาขนาดใหญ่ท่อนล่างสีดำ ท่อนบนปิดทองสวยงาม ด้านข้างประดับด้วยตุง 12 นักษัตร เพดานกลางเป็นตุงใส่ธนบัตรยาวประมาณ 100 แถวจำนวน 6 อัน หน้าต่างลงรักปิดทองเป็นรูปเทวดาประณีตและสวยงาม ผนังด้านในวิหารประดับด้วยประติมากรรมพระพุทธรูป 555 องค์ ปางลีลาสีทองแบบนูนสูงบนกำแพงทางรองพื้นสีดำทำให้องค์พระมีความโดดเด่นและสวยงามมากขึ้นไปอีก ตรงกลางมีพระอุปคุตให้กราบไหว้บูชา ด้านขวาของพระประธานเป็นธรรมาสน์ทรงปราสาทและอาสน์สงฆ์ มีจุดโดดเด่นคือ วิหาร ตัวหลังคาออกแบบผสมผสานไตลื้อแบบทรงโรงและฮ่างหงส์ ประดับด้วยตัวลวง(สัตว์ในตำนาน มีสี่ขาอย่างมังกร มีหูมีปีกและมีเขาเหมือนกวาง) โดยเชื่อว่าตัวลวงจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ที่หน้าบันของวิหาร ติดตั้งรูปตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และนกยูงเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของเมืองสิบสองปันนา

อีกหนึ่งจุดที่โดดเด่นคือ องค์เจดีย์ทรงระฆังสีทองสวยงาม ตัวฐานเป็นแบบเขียง 4 เหลี่ยม มีสิงห์อยู่ทั้ง 4 มุม  และมีชั้น 3 ชั้นโดยชั้นที่ 1 มีเจดีย์บริวาร 8 องค์ ชั้นที่ 2 มีประดับด้วยรูปปั้นนรสิงห์ ชั้นที่ 3 ประดับด้วยหม้อดอกไม้ เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปและถัดจากนั้นขึ้นไปจะมีลักษณะคล้ายเจดีย์แบบพม่าทั่วไป ปัจจุบัน พื้นที่ของวัดแม้จะไม่กว้างใหญ่มาก แต่สะอาดและเป็นระเบียบ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ มีอาคารและสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาที่งดงามและคงความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไตลื้อผสานกับศิลปะแบบพม่าไว้เป็นอย่างดี ได้แก่ ซุ้มประตู โบสถ์ วิหาร กุฎีพระ ศาลาบาตร หอฉันและศาลาอเนกประสงค์ รวมถึงปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัดที่เลอค่าน่าชมสักครั้ง ได้แก่ เจดีย์สีทองศิลปะแบบไตลื้อผสมพม่าพร้อมกับเจดีย์บริวาร พระประธานในอุโบสถ พระประธานในวิหาร และพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิเพชร โดยทั้งหมดสร้างขึ้นในแบบศิลปะไตลื้อและพม่า

เกษฎาวัลย์ ตันริยงค์. (2558). โครงการวิจัยเรื่องแนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ไทลื้อ) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2564). บ้านลวงเหนือ หมู่บ้านวิถีชีวิตไทลื้อ จ.เชียงใหม่ ชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567. จาก https://www.dasta.or.th/

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). ตุ๊กตาไม้นายโถ. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567. จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/

THAI POWER. (2564). ตุ๊กตาไม้สัญชาติไทย ก้าวจากชุมชนสู่อินเตอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567. จาก https://www.thaipower.co/

ทต.ลวงเหนือ โทร. 0-5310-4548