Advance search

ชุมชนเล็ก ๆ ในตำบลท่าหาดยาว แต่มากด้วยเรื่องราวแห่งภูมิปัญญา ผ้าทอล้ำค่าจากการสืบสานความรู้ความสามารถของบรรพชนสู่การสร้างสรรค์เป็นสินค้าประจำชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 6
โพนทอง
ท่าหาดยาว
โพนทราย
ร้อยเอ็ด
อบต.ท่าหาดยาว โทร. 0-4303-0139
วิไลวรรณ เดชดอนบม
5 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
บ้านโพนทอง

มาจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นเนินสูง ซึ่งเนินดินนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “โพน” ส่วน “ทอง” มาจากชื่อนายพรานที่เข้ามาล่าสัตว์และเสียชีวิตลงที่โนนแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "โพนทอง"


ชุมชนชนบท

ชุมชนเล็ก ๆ ในตำบลท่าหาดยาว แต่มากด้วยเรื่องราวแห่งภูมิปัญญา ผ้าทอล้ำค่าจากการสืบสานความรู้ความสามารถของบรรพชนสู่การสร้างสรรค์เป็นสินค้าประจำชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โพนทอง
หมู่ที่ 6
ท่าหาดยาว
โพนทราย
ร้อยเอ็ด
45240
15.4805171227548
103.903018534183
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหาดยาว

บ้านโพนทอง หมู่ที่ 6 ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2427 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 140 ปี เดิมชื่อบ้านเด่นราษฎร์ หรือ บ้านโต่น ครั้งหนึ่งในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านได้ชวนกันเดินทางมาหาปลา ณ บริเวณที่ตั้งบ้านโพนทองปัจจุบัน ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของดอนใกล้ป่าทามมูล ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงและมีโนนขนาดใหญ่เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงได้ย้ายมาปลูกบ้านเรือนที่บริเวณดังกล่าว ในช่วงแรกมีครอบครัวประมาณ 10 ครอบครัว แยกเป็น 2 คุ้ม คือ คุ้มน้อยกับคุ้มใหญ่ คุ้มใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนคุ้มน้อยอยู่ทางทิศตะวันออก ภายหลังบ้านโพนทองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านและชุมชนทำให้ยากต่อการปกครองจึงได้แยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 4 บ้านศรีโพนทอง และหมู่ที่ 6 บ้านโพนทอง

บ้านโพนทองอยู่ห่างจากอำเภอโพนทราย 15 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 80 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนเป็นพื้นที่ราบกว้างในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนา มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน คือ แม่น้ำมูล และยังมีร่องน้ำธรรมชาติหลายสายไหลจากกลางท้องทุ่งลงสู่แม่น้ำมูล เช่น ร่องปลาจ่อย ฮ่องซัน ทำให้บ้านโพนทองมีพื้นที่เหมาะแก่การทำเกษตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากน้ำมีปริมาณที่มากเพียงพอต่อความต้องการ และยังมีการขุดบ่อน้ำตื้นเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านศรีสว่าง ตำบลศรีสว่าง อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองพลับ ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านปลาคูณ ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหมายยาง ตำบลสามขา อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด

สภาพภูมิอากาศ

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม 
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านโพนทอง ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 524 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 236 คน ประชากรหญิง 288 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 144 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ลักษณะครอบครัวในหมู่บ้านโพนทองส่วนมากเป็นครอบครัวขนาดกลาง มีสมาชิกของแต่ละครัวเรือนระหว่าง 4-6 คน เมื่อทำการสมรสแล้วมักจะแยกออกไปเพื่อตั้งบ้านเรือนต่างหากแต่ยังคงสร้างบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันกับญาติพี่น้อง 

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรมทำนา มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่บริเวณรอบนอกหมู่บ้าน ส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวหอมมะลิ 105 รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิ กข15 ส่วนที่ปลูกน้อยที่สุด คือ ข้าวเหนียว กข6 เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การปลูกข้าวหอมมะลิมากกว่า ซึ่งผลผลิตที่ได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะปีใดที่ฝนดี น้ำดี ผลผลิตที่ได้จะงอกงามและขายได้ราคาดีมาก โดยข้าวของชาวบ้านโพนทองนี้จะมีลักษณะเด่น คือ มีเมล็ดสวย เมื่อนำมาหุงจะมีกลิ่นหอมมาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ของข้าวที่ปลูกในพื้นที่ราบกว้างที่เรียกว่า "ทุ่งกุลาร้องไห้"

ด้านอาชีพรองนั้นค่อนข้างหลากหลาย แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการทำกิจการค้าขายและการรับจ้าง ค้าขาย เป็นการหารายได้เสริมหลังว่างเว้นงานจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว การค้าขายจะเป็นโดยปกติจะเป็นกิจการเล็ก ๆ ภายในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นร้านขายของชำและร้านอาหาร เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ อาหารตามสั่งรวมถึงการทอผ้าขาย นอกจากนี้ ยังมีช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจะออกไปตั้งร้านขายอาหารและเครื่องดื่มบริเวณหาดทรายท่าหาดยาวเพื่อขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเล่นน้ำที่หาด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพค้าขายจะมีรายได้มากกว่าปกติเล็กน้อย ส่วนการรับจ้าง ส่วนใหญ่นิยมออกไปรับจ้างภายนอกหมู่บ้านทั้งในตัวเมืองร้อยเอ็ด ต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา กรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่าอาจมีรายได้ดีกว่าการทำงานอยู่แต่ภายในชุมชน 

ชาวบ้านโพนทองเกือบทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ฉะนั้นรูปแบบวิถีชีวิต ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีจึงมักมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและการสืบสานประเพณีโบราณของชาวอีสาน คือ ฮีต 12 คอง 14 อันเป็นแนวปฏิบัติที่ชาวอีสานในพื้นที่ต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี โดยประเพณีสำคัญต่าง ๆ ในรอบ 1 ปี ที่เกิดขึ้น ณ บ้านโพนทอง ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด จะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ 

  • ฮีตเดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม เป็นบุญที่ชาวบ้านยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทำบุญบริจาคทาน พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติโทษรุนแรง 13 ประการของภิกษุสงฆ์) จะทำพิธีเข้ากรรมหรือที่เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม” เพื่อทำการชำระมลทินที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย ชาวบ้านที่นำอาหารไปถวายพระภิกษุในระหว่างอยู่กรรมนี้เชื่อว่าจะทำให้ได้บุญกุศลมาก
  • ฮีตเดือนยี่ บุญคูณลาน เป็นบุญที่ทำในฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อทำขวัญข้าว เชื่อว่าจะทำให้เกิดสิริมงคลและเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าว เช่น ผีปู่ตา ผีตาแฮก และเจ้าแม่โพสพ
  • ฮีตเดือน 3 บุญข้าวจี่ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้าแล้ว ชาวบ้านจะได้ข้าวใหม่ ช่วงเดือน 3 อากาศจะเริ่มเย็นชาวบ้านจะตื่นแต่เช้า นึ่งข้าวใส่กระติบแล้วนำข้าวเหนียวมาปั้นโรยเกลือจี่ไฟให้สุกรับประทานรองท้องก่อนออกไปทำงานในนา จึงได้นำข้าวจี่ไปถวายพระและปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อมาจนปัจจุบัน
  • ฮีตเดือน 4 บุญผะเหวด (บุญมหาชาติ) เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า “บุญพระเวส” หรือพระเวสสันดร เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวบ้านอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย ชาวบ้านจึงได้พากันทำบุญผะเหวดและฟังเทศน์มหาชาติทุกปี
  • ฮีตเดือน 5 บุญเดือนห้า (บุญสรงน้ำ หรือ บุญสงกรานต์) ชาวบ้านเรียกบุญเดือนนี้ว่า “บุญฮดสรง” หรือ บุญสงกรานต์ จัดให้มีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ มีการสรงน้ำพระพุทธรูป พระภิกษุสามเณร รดน้ำผู้ใหญ่ คือ พ่อ แม่ เฒ่าแก่ ครูบาอาจารย์ และมีการสาดน้ำ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า การสาดน้ำเปรียบเสมือนพญานาคเล่นน้ำในสระอโนดาต จึงต้องเล่นกันอย่างจริงจังเพื่อให้มีน้ำมากตามฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพญาไม้ โดยโหรท้องถิ่นจะมีการคำนวณหาว่าปีไหนไม้ชนิดใดเป็นพญาไม้ เพื่อให้ชาวบ้านจะได้ถากเปลือกมาแช่น้ำดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป
  • ฮีตเดือน 6 บุญบั้งไฟ ชาวอีสานมีความเชื่อว่าบุญบั้งไฟจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝน ข้าว ปลา อาหาร พืชพรรณเจริญเติบโตงอกงามดี เมื่อถึงเดือนหกซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นการทำนา ชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเพื่อเป็นการบูชาและขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา ชาวบ้านจึงยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
  • ฮีตเดือน 7 ทำบุญซำฮะ (ชำระ) หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นการทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไร ภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน ชาวอีสานเชื่อว่าเมื่อถึงเดือน 7 ต้องมีการทำบุญชำระจิตใจให้สะอาด เพื่อเตรียมตัวเข้าพรรษา
  • ฮีตเดือน 8 บุญเข้าพรรษา ชาวบ้านจะนำเครื่องไทยธรรมชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าอาบน้ำฝน ธูปเทียน น้ำมัน และเครื่องสักการะอื่น ๆ ถวายแด่พระภิกษุที่จำพรรษา ชาวบ้านเชื่อว่าการทำบุญในวันเข้าพรรษานั้นจะได้บุญกุศลมาก
  • ฮีตเดือน 9 บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในช่วงปลายเดือน 9 เป็นการทำบุญให้ญาติผู้ล่วงลับโดยการนำข้าวปลาอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองซึ่งจะจัดเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ พอถึงช่วงเวลาตีสามตีสี่ก็จะนำห่ออาหารและหมากพลูไปวางไว้ตามโคนต้นไม้รอบ ๆ วัด เพื่อให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับรวมทั้งผีไร้ญาติอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะมาเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลานี้มารับไปเพื่อจะได้ไม่อดอยากหิวโหย เมื่อถึงรุ่งเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะอาหารไปทำบุญที่วัดพร้อมทั้งกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปด้วย
  • ฮีตเดือน 10 บุญข้าวสาก มีลักษณะคล้ายบุญข้าวประดับดิน คือ มีการทำข้าวเป็นห่อ ๆ อุทิศส่วนบุญให้แก่ผีบรรพบุรุษและเปรต ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการทำบุญนี้มากเพราะเชื่อว่าผีบรรพบุรุษกำลังรอส่วนบุญนี้อยู่ ชาวบ้านจึงอุทิศส่วนกุศลนี้ไปให้และทำเป็นประจำทุกปี
  • ฮีตเดือน 11 บุญออกพรรษา ในเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดตอนรุ่งเช้า และถวายผ้าจำนำพรรษาแด่ภิกษุสามเณร โดยชาวบ้านเชื่อว่าการได้ทำบุญกับพระที่ปฏิบัติธรรมจำศีลในช่วงออกพรรษาย่อมได้บุญมาก ถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา
  • ฮีตเดือน 12 บุญทอดกฐิน ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะได้ทำบุญกับพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ถือว่าจะได้ถวายจีวรหรือเครื่องกฐิน เช่น หมอน อาสนะสงฆ์ เป็นต้น ให้พระที่มีความเพียร อดทนอยู่จำวัดตลอดพรรษา โดยถือว่าการทำบุญในเดือนนี้ได้ผลมาก (นิภาวรรณ พิกุลทอง, 2548)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโพนทอง

กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโพนทองเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกในหมู่บ้านที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้า และมีความต้องการที่จะสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับตนเอง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 มีสมาชิกแรกเริ่ม 20 คน การรวมกลุ่มในครั้งแรกเป็นการรับสมัครสมาชิกกลุ่มโดยมีการนำเงินมาเข้าหุ้นละ 100 บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการหมุนเวียนของกลุ่ม นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากสำนักพัฒนาชุมชนที่ให้การสนับสนุนเรื่องการทอผ้า การตลาด และสนับสนุนด้านวิชาการให้ความรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ และการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลในโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มทอผ้าไหม ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ผ้าลายสกอต และผ้าสีพื้นเมตรสำหรับตัดชุด ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนมากสมาชิกจะออกแบบกันเองหรือในบางครั้งจะทำตามแบบของผู้สั่งทำ ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นบางส่วนจะถูกส่งจำหน่ายที่สหกรณ์ บางส่วนส่งให้พ่อค้าคนกลาง และมีบางส่วนที่สมาชิกนำออกมาขายเอง 

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย


การดำเนินการของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโพนทองแต่เดิมนั้นยังไม่มีการรวมกลุ่ม ต่างคนต่างทำ ภายหลังจากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมทำให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ทว่า ชาวบ้านยังไม่มีประสบการณ์มากนักจึงยังมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่ม โดยเฉพาะการแบ่งงานกันทำ ซึ่งสมาชิกยังขาดการมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ รวมถึงปัญหาในเรื่องของคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ปัญหาเรื่องสีตก ขั้นตอนในการย้อม อัตราส่วนในการใช้สี รวมถึงระยะเวลาในการต้ม ทำให้สินค้าที่ส่งไปยังลูกค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่สั่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้สมาชิกได้มีการพูดคุยกันมากขึ้นและปรับแก้ไขสัดส่วนให้พอเหมาะ ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าและคุณภาพที่ดีมากขึ้น และการรวมกลุ่มกันทอผ้าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของสมาชิกในกลุ่ม เมื่อคุณภาพของสินค้าดีขึ้นทำให้มียอดการสั่งผ้าเพิ่มขึ้น การทอผ้าจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชาวบบ้านโพนทองในช่วงเวลาว่างจากการทำเกษตรกรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมพัฒนาที่ดิน, กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน. (ม.ป.ป.). แผนที่และสารสนเทศเพื่อการใช้บริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก http://oss101.ldd.go.th/

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์. (2566). เกร็ดความรู้ สำเนียงเสียงอีสานสืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.isancreativefestival.com/

นิภาวรรณ พิกุลทอง. (2548). การดำเนินงานของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านโพนทอง กรณีศึกษาหมู่บ้านโพนทอง ตำบลท่าหาดยาว อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด(ม.ป.ป.). สินค้า OTOP. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://roiet.prd.go.th/

OTOP พช.ร้อยเอ็ด. (2565). ศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ร้อยเอ็ด. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/otoproietshop

อบต.ท่าหาดยาว โทร. 0-4303-0139