ชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่อุมพาย มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับการทำไร่หมุนเวียน โดยชาวบ้านจะทำไร่ร่วมกันในที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวหมุนเวียนในระยะ 7 ปี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำไร่หมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ทำให้ดิน น้ำ ป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
ชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่อุมพาย มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับการทำไร่หมุนเวียน โดยชาวบ้านจะทำไร่ร่วมกันในที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวหมุนเวียนในระยะ 7 ปี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำไร่หมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ทำให้ดิน น้ำ ป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
“ปกาเกอะญอ” หรือ “กะเหรี่ยง” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คำว่าปกาเกอะญอ แปลว่า “คน” ซึ่งเป็นคำที่ชาวกะเหรี่ยงใช้เรียกตนเอง ชาวปกาเกอะญอมีถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมอยู่บริเวณแถบมองโกเลีย-ธิเบต ก่อนเคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่ชนตระกูลมอญ-เขมรอาศัยอยู่ก่อนตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งอาณาจักรพม่า และถอยร่นลงมาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรสยาม หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการบันทึกเหตุการณ์การอพยพของชาวกะเหรี่ยงว่า ได้เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยมาแล้วอย่างน้อย 600-700 ปี โดยการอพยพที่มีหลักฐานปรากฏครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยปลายอยุธยา สืบเนื่องมาจากอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญถูกพม่ายึดครองได้ ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในกรุงหงสาวดีจึงได้อพยพตามชาวมอญมาอาศัยอยู่กับเครือญาติ ลงหลักปักฐานสร้างชุมชนปกาเกอะญอบริเวณลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และอยุธยา
ในสมัยพระเจ้าอลองพญาเกิดสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างไทยกับพม่า ทำให้ชาวปกาเกอะญอจำนวนมากเดินทางอพยพเข้ามาสู่รัฐไทใหญ่และล้านนา ทางด้านพระเจ้ากาวิละได้นำชาวปกาเกอะญอจำนวนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอหางดง ต่อมามีผู้อพยพตามมาเป็นจำนวนมาก จึงได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น บ้านแม่ละมู อำเภอแม่สะเรียง เป็นต้น
ปัจจุบันชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงในประเทศไทยส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ฯลฯ ชุมชนบ้านแม่อุมพาย ตำบลแม่โถ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งพื้นที่ที่ปรากฏเป็นชุมชนของชาวปกาเกอะญอ โดยสันนิษฐานว่าชาวปกาเกอะญอเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้เป็นเวลานานกว่า 300 ปี ผู้ที่เข้ามากลุ่มแรกมาจากหมู่บ้านแม่ลาก๊ะ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แรกเริ่มมีเพียง 4 ครอบครัว โดยอพยพโยกย้ายวนเวียนอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่อุมพายหลายแห่ง เพราะมีคติว่าหากตั้งหมู่บ้านที่ใดแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่ดี จะต้องย้ายที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ในอดีตเชื่อว่าเป็นเพราะการกระทำของผี ราวปี พ.ศ. 2496 มีคณะมิชชันนารีเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก "ฮีโข่" หรือผู้นำชุมชนในขณะนั้นจึงตัดสินใจเข้าร่วมนับถือศาสนาคริสต์เพื่อแก้ปัญหาการอพยพย้ายหมู่บ้านบ่อย ๆ เนื่องจากศาสนาคริสต์ไม่มีความเชื่อเรื่องผี ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ แบบเดิมจะถูกยกเลิกไป แล้วเปลี่ยนไปประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาคริสต์แทน ซึ่งสามารถเอาชนะอำนาจของผีได้ ระยะแรกมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่เข้าร่วมนับถือศาสนาคริสต์ แต่ต่อมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งสมาชิกทุกคนในหมู่บ้านเข้าร่วมนับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมดในเวลาต่อมา
ภายในชุมชนแม่อุมพายมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชุมชนอีกเรื่องหนึ่งว่าพื้นที่ตั้งหมู่บ้านแม่อุมพายนี้ เป็นแผ่นดินที่มีเจ้าของเป็นผู้ชาย ต้องมีการรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด แล้วเจ้าของแผ่นดินจะให้สิ่งตอบแทนเป็นผลผลิตข้าวที่ดี การล่าสัตว์ป่า การหาของป่าก็สามารถหาได้ง่าย 40 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้นในหมู่บ้าน เมื่อผู้นำหมู่บ้านย้ายออกไปตั้งหลักแหล่งที่อื่น น้องชายจึงขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน แต่ภายหลังผู้นำคนเก่ากลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ขณะนั้นบ้านแม่อุมพายมีผู้นำชุมชนพร้อมกัน 2 คน ซึ่งผิดหลักความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ เกิดเหตุอาเพศร้ายแรงขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านเริ่มเสียชีวิตต่อกันวันละ 2-3 คน รวมถึงผู้นำคนปัจจุบัน เหตุอาเพศดังกล่าวร้ายแรงจนไม่อาจควบคุมได้ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบางคนจึงเชิญบาทหลวง หรือนักบวชในศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในหมู่บ้าน และตัดสินใจเข้านับถือศาสนาคริสต์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2495 หมู่บ้านแม่อุมพายประสบกับปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมและสุขภาพของคนในชุมชน คือ ชาวบ้านนำฝิ่นเข้ามาปลูกในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้บริเวณชุมชนถูกทำลาย และชาวบ้านจำนวนมากติดฝิ่น แต่เมื่อศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อสังคมชาวปกาเกอะญอบ้านแม่อุมพาย มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อหลักศาสนา กอปรกับขณะนั้นภาครัฐมีนโยบายในการปราบปรามฝิ่นและสิ่งเสพติดเข้มงวดมากขึ้น มีผลให้พื้นที่การปลูกฝิ่นของชาวบ้านลดลง และหายไปจากหมู่บ้านราวปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันพื้นที่ที่เคยปลูกฝิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณขุนน้ำได้ฟื้นคืนสภาพเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และกลายเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน
สภาพแวดล้อม
ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่อุมพาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าดงดิบเขตป่าสงวนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย 2 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านแม่อุมพายเหนือ และบ้านแม่อุมพายใต้ ทั้งสองหย่อมบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วย 2 สายหลัก คือ ห้วยแม่อุมพาย และห้วยไม้ซาง กินพื้นที่ประมาณ 8,125 ไร่ สองฟากฝั่งลำน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ส่วนพื้นที่โดยรอบที่เหลือเป็นพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ทั้งหมด
บ้านแม่อุมพายได้จัดสรรพื้นที่ชุมชนออกเป็น 8 ส่วน ได้แก่
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 4,049 ไร่
- พื้นที่ไร่เหล่า (ป่าพักฟื้น) จำนวน 3,031 ไร่
- พื้นที่ไร่หมุนเวียน จำนวน 433 ไร่
- ที่นา จำนวน 349 ไร่
- ที่สวน จำนวน 138 ไร่
- พื้นที่ป่าใช้สอย จำนวน 80 ไร่
- ที่อยู่อาศัย จำนวน 40 ไร่
- พื้นที่ป่าช้า จำนวน 6 ไร่
ชาวปกาเกอะญอมีหลักในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อจำแนกพื้นที่แต่ละประเภทตามรูปแบบกฎจารีตประเพณี ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวปกาเกอะญอในทุกพื้นที่ รวมถึงชาวปกาเกอะญอบ้านแม่อุมพาย อำเภอแม่ลาน้อยด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วชาวปกาเกอะญอจะเรียกดินแดนทั้งหมดของหมู่บ้านว่า “ดูเสอะวอ” ซึ่งนับเอาสันเขาและลุ่มแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีการแบ่งพื้นที่หลัก ๆ ออกเป็น 6 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
- พื้นที่หมู่บ้าน เป็นเขตที่ตั้งหมู่บ้าน อันเป็นที่อยู่อาศัย ปรุงอาหาร พูดคุยสนทนา พักผ่อน และที่หลับนอน โดยตัดต้นไม้ในชุมชนออกไปส่วนหนึ่งเพื่อแบ่งเนื้อที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แต่จะมีการปลูกต้นไม้หรือผลไม้เพื่อทดแทนป่าไม้เดิมที่หายไป และเพื่อให้พื้นที่หมู่บ้านมีสีเขียวขจีร่มรื่นอยู่เสมอ การจัดการพื้นที่ชุมชนลักษณะนี้ถือเป็นวิธีคิดตามอุดมคติของชาวปกาเกอะญอทั่วไป หากแม้นว่าชุมชนใดไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้สามารถบรรลุตามอุดมคตินี้ได้ ผู้นำชุมชนนั้น ๆ อาจถูกกล่าวตำหนิ และท้ายที่สุดชุมชนหรือหมู่บ้านนั้น ๆ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าอยู่ และพังทลายลงไปในที่สุด
- พื้นที่ป่ารอบหมู่บ้าน ภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “Gauz k’tauj” แปลว่า “เขตแดง” เนื่องจากในบริเวณนี้เป็นบริเวณที่มีแสงแดดสีแดงส่องถึงก่อนที่อื่น มีไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่าง ๆ ของหมู่บ้าน พื้นที่ป่าดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นป่าต้องห้ามทางความเชื่อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความเคารพยำเกรงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้พื้นที่ป่ารอบหมู่บ้านยังเป็นป่าสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาเก็บฟืน เก็บเห็ด เป็นแหล่งอาหารของไก่ สถานที่ตกลูกของหมู อีกทั้งยังเป็นสถานที่ปลดเปลื้องปัสสาวะและอุจจาระในสมัยที่ยังไม่มีห้องน้ำอีกด้วย
- พื้นที่นา เป็นพื้นที่ที่ได้จากการบุกเบิกพื้นที่ราบลุ่มสองริมฝั่งลำห้วยลำธารสายหลักที่สามารถทดน้ำเข้าไปได้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นนาขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน จึงต้องทำที่นาเป็นขั้น ๆ ลดหลั่นระดับ พื้นที่นานับเป็นแหล่งอาหารประเภทข้าวที่สำคัญของคนในชุมชน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้การผลิตอาหารในไร่หมุนเวียนมีความมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น
- พื้นที่สวนหัวไร่ปลายนา อยู่สูงจากที่นาเล็กน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำไม่สามารถเข้าถึง ส่วนใหญ่จะมีไว้เพื่อปลูกผลไม้ และพืชผักสวนครัว
- พื้นที่ไร่หมุนเวียน คือพื้นที่ทำกินที่จัดสรรสำหรับทำไร่หมุนเวียนโดยเฉพาะ ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อการยังชีพที่สำคัญที่สุดของชาวปกาเกอะญอ พื้นที่ไร่หมุนเวียนในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า “Dooghsgif Doolax” คำว่า “Dooghsgif” หมายถึง พื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกปล่อยพักฟื้นในช่วง 1-3 ปี ส่วน “Doolax” หมายถึงพื้นที่ที่ถูกปล่อยพักฟื้นตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า “ไร่เหล่า” ในแต่ละปี แต่ละหมู่บ้านจะมีการกำหนดอาณาบริเวณแผ้วถางพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ชัดเจนแน่นอน เมื่ออายุการการใช้งานเวียนมาถึงระยะที่เหมาะสม โดยไม่มีการเข้าไปรุกล้ำในเขตป่าอนุรักษ์
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมากพื้นที่นี้จะเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ป่าดงดิบที่มีภูมิอากาศชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ห้ามใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แต่สามารถเข้าไปเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ป่า หาสมุนไพร และเก็บใบกกสำหรับใช้สอยได้ เป็นต้น
ทรัพยากรธรรมชาติ
ชุมชนบ้านแม่อุมพายมีลำห้วยแม่อุมพายเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญประจำชุมชน และเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าดงดิบ พรรณไม้ธรรมชาติที่พบในบริเวณนั้น เช่น ต้นไม้จำพวกไม้ยางต่าง ๆ ไม้ตะเคียน ไม้กระบาก ตีนเป็ดแดง ขนุนนก ไผ่ หวาย และเถาวัลย์นานาชนิด เป็นต้น นอกจากนี้ในพื้นที่ไร่เหล่าหรือไร่พักฟื้น ยังมีพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ และหลายชนิดที่นำไปปลูกเพื่อบำรุงดิน และปลูกตามความเชื่อ ซึ่งพืชเหล่านี้ชาวบ้านในชุมชนได้นำมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรม นำมาทำเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ และใช้เป็นยาสมุนไพร อาทิ ฝ้าย (แบ) นำมาทอเสื้อผ้า ยอ (เฆาะ) ใช้เป็นสีย้อมผ้า หญ้าแฝก (พอกี่) เอื้องหมายนา (ซูเล) และพืชตระกูลว่าน (เปาะ/ชู) ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าเป็นขวัญของข้าว ต้องปลูกลงไปในไร่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะได้ผลผลิตไม่ดี นอกจากนี้ดอกไม้หลายชนิดที่ปลูกลงไปในไร่จะมีการนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในกระบวนการไร่หมุนเวียน เช่น ดอกหงอนไก่ (พอกอ พอบอ) ดอกบานไม่รู้โรย (พอกิแม) ดอกดาวเรือง (พอทู พอเจ) เป็นต้น อนึ่ง ในพื้นที่ไร่เหล่าไม่ได้พบแต่เพียงพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ หรือพืชที่ชาวบ้านปลูกเท่านั้น ทว่ายังพบสัตว์ป่าหลายชนิด เนื่องจากไร่เหล่าเป็นพื้นที่รกทึบ เป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่ใช้หลบภัยจากศัตรูได้เป็นอย่างดี สัตว์ที่พบในไร่เหล่า เช่น นก หนู งู ตะกวด เต่า กิ้งก่า เก้ง เม่น หมูหริ่ง ปลา เขียด กบ เก้ง เป็นต้น
สถานที่สำคัญ
นอกเหนือจากการจัดสรรพื้นที่ป่าชุมชนออกเป็นสัดส่วนแล้ว ชุมชนบ้านแม่อุมพายยังมีสถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อ ศาสนา และสวัสดิการชีวิตขั้นพื้นฐานของชาวปกาเกอะญอได้แก่ พื้นที่ป่าช้า วัดนักบุญโยเซฟบ้านแม่อุมพาย และโรงเรียนบ้านแม่อุมพาย
ป่าช้า เป็นป่าที่ใช้สำหรับฝังหรือเผาศพของชาวบ้านในชุมชนที่เสียชีวิต ตามคติของชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าป่าช้าเป็นที่อยู่อาศัยของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งยังมีความผูกพันกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ป่าช้าถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ ห้ามใช้ประโยชน์อื่นใดที่นอกเหนือจากการฝังหรือเผาศพ หากมีการฝ่าฝืนข้อห้าม บรรดาดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะตามไปลงโทษผู้กระทำผิดนั้นให้ได้รับความเจ็บป่วย
วัดนักบุญโยเซฟ แม่ลาน้อย ตั้งอยู่พื้นที่บ้านแม่อุมพายเหนือ เป็นวัด 1 ใน 24 สาขาของวัดนักบุญโยเซฟ เป็นศาสนสถานทางศาสนาคริสต์แห่งเดียวในชุมชนแม่อุมพายสำหรับให้ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่อุมพายได้ใช้ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาตามหลักศาสนาคริสต์
โรงเรียนบ้านแม่อุมพาย ก่อตั้งและเปิดสอนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอนเขต 2 เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6
บ้านแม่อุมพาย ตำบลแม่โถ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านแม่อุมพายเหนือ และบ้านแม่อุมพายใต้ หย่อมบ้านแม่อุมพายเหนือมีประชากรทั้งสิ้น 328 คน 46 หลังคาเรือน ส่วนบ้านแม่อุมพายใต้มีประชากรจำนวน 220 คน 34 หลังคาเรือน โดยประชากรในหมู่บ้านคือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง
ปกาเกอะญอการประกอบอาชีพ
ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่อุมพายมีอาชีพหลักคือการทำเกษตรหมุนเวียนบนพื้นที่ไหล่เขา มีวิถีการผลิตแบบผสมผสานระหว่างการผลิตเพื่อบริโภคและการผลิตเพื่อสร้างรายได้ พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ เช่น ข้าว และข้าวโพด ส่วนอาชีพเสริมคือการขายของป่า สัตว์เลี้ยงและการรับจ้าง นอกจากนี้แล้วชาวบ้านบางครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดีกว่าครอบครัวอื่น ก็ได้แสวงหาหนทางในการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเกษตร บางครอบครัวเริ่มนำตนเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชน ดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น เป็นเจ้าของโรงสีข้าว รับสีข้าว และซื้อข้าวจากชาวบ้านไปขายต่อที่ตัวอำเภอแม่ลาน้อย และขุนยวม เป็นเจ้าของร้านค้าชุมชน ทำกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง บางคนรับราชการ และหลายคนออกจากหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปรับจ้างในเมือง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน สภาวการณ์เหล่านี้นับเป็นกระแสการปรับเปลี่ยนตัวเองของชุมชนเพื่อให้ก้าวทันต่อการพัฒนาของสังคม
ปฏิทินชุมชน
ในรอบ 1 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่อุมพายจะมีปฏิทินการเพาะปลูกและการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรแต่ละเดือนแตกต่างกัน ซึ่งจะแสดงดังตารางต่อไปนี้
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม-มีนาคม | เป็นช่วงว่างเว้นจากการทำไร่ แต่ยังมีพืชบางชนิดที่สามารถเก็บผลผลิตได้ เช่น ฝักถั่วแปบ เมล็ดถั่ว เผือก มัน ฯลฯ รวมถึงพืชอีกหลายชนิดที่สามากเก็บกินได้ตลอดฤดูร้อน เช่น ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา เป็นต้น |
เมษายน (ลาเซอ) | เป็นช่วงเริ่มต้นเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ พืชบางชนิดที่หว่านเมล็ดตอนเผาไร่จะเริ่มออกผลผลิตให้สามารถเก็บกินได้ เช่น ต้นอ่อนผักกาด และยอดฟักทองที่ปลูกไว้ตามลำห้วยลำธาร นอกจากนี้ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ภายหลังเผาไร่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ พวกตอไม้ ตอไผ่ต่าง ๆ จะแตกยอดขึ้นมา เช่น เห็ดถ่าน (กือ คลา) หน่อไม้ไฟ (เบาะหน่อเหม่) ยอดผักกูด (กีโก่ดอ) ยอดบวบป่า (เตอะโกมีจอ) หน่อว่าน (เปาะดึ) เป็นต้น |
พฤษภาคม (เดะญา) | เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งการแตกหน่อ แตกหัว แตกเมล็ดของพันธุ์พืชทุกชนิด เป็นช่วงต้นของฤดูฝน พืชพรรณนานาที่หว่านไปก่อนหน้านี้เริ่มงอกแตกหน่อ และเริ่มเก็บผลผลิตได้ เช่น ต้นอ่อนกะเพราแดง (ห่อวอ) ยอดฟักเขียว ผักชี ต้นหอม สะระแหน่ เป็นต้น |
มิถุนายน (ลานวี) | เป็นเดือนแห่งการแตกหน่ออย่างสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ต่าง ๆ มันสำปะหลังเริ่มแตกยอด อาหารธรรมชาติที่นิยมเก็บกินในหน้านี้ ได้แก่ หน่อไม้ ต้นอ่อนเผือกป่า (ขื่อเหมอะเต) นอกจากนี้ยังมีเห็ดดินชนิดต่าง ๆ เช่น กืออี กือจ่า กือเซว เป็นต้น |
กรกฎาคม (ลาเฆาะ) | เดือนนี้เป็นฤดูกาลการเก็บยอดอ่อนและดอกผักกาด เนื่องจากผักกาดและใบจะแก่หมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือยอดอ่อนและดอก (คนเมืองเรียกว่า “ผักกาดจอ” ปาเกอะ ญอเรียก “เสอะบะแย”) พืชตระกูลบวบเริ่มให้ผลอ่อน มะระ เผือก และข้าวโพด เริ่มเก็บผลผลิตได้ อีกทั้งยังมีการเก็บแมงประเภทกว่าง และหนอนไผ่ (รถด่วน) ซึ่งเป็นศัตรูพืชของไผ่อ่อนมาเป็นอาหาร |
สิงหาคม (ลาคุ) | ถือเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวปกาเกอะญอ เนื่องจากเป็นเดือนที่จะมีการประกอบพิธีเลี้ยงผีไร่ และพิธีฉลองกลางปีเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ไร่และผลผลิตทางการเกษตร ในช่วงการเดือนเป็นหน้าของการเก็บข้าวโพด แตงลาย (ดีหมื่อ) แตงส้ม (ดีฉี่) เริ่มเก็บผลอ่อนได้ |
กันยายน (ชิ หมื่อ) | เดือนนี้ถั่วกันยา (เปอะเทาะชิหมื่อ) และถั่วก่อนฤดู (เปอะเทาะโช) เริ่มออกฝักอ่อน มันสำปะหลังเริ่มออกหัว สามารถขุดมากินได้ ฟักทอง ฟักเขียว เริ่มให้ลูกอ่อน มะเขือสายพันธุ์ต่าง ๆ พริกหนุ่ม รากหอมซุง (เสอะเกลอ) สามาถเก็บผลผลิตได้แล้ว |
ตุลาคม | ลูกแตงกวาโตเต็มที่ เผือกและมันหลายชนิดกำลังเติบโตสามารถเก็บมากินได้ ถั่วเริ่มออกฝัก ถั่วหน้านี้ปกาเอกะญอเรียกว่า “หน้าหางหนู” เพราะมีลักษณะคล้ายหางหนู ยังโตไม่เต็มที่ แต่นิยมเก็บมาจิ้มกินกับน้ำพริก |
พฤศจิกายน (ลานอ) | เดือนนี้แตงกวาจะแก่เต็มที่ เปลือกเริ่มมีสีเหลือง ชาวปกาเกอะญอมีคำกล่าวว่า “เดือนพฤศจิกายน เปลือกแตงกวาออกไหม้ดั่งข้าวตัง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเดือนที่พืชพันธุ์จากไร่ให้ผลผลิตสมบูรณ์ที่สุด มีทั้งพืชให้ยอด ผล ดอก ต้น เมล็ด ฝัก เหง้า หัว เถา รวมถึงข้าวซึ่งเป็นพืชเพาะปลูกหลักของชาวปกาเกอะญอก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนเช่นเดียวกัน |
ธันวาคม (ลาปลือ) | เป็นหน้าตีข้าวและแบกข้าว อาหารที่สามารถเก็บกินได้ในเดือนนี้ ได้แก่ ฟักทอง ฟักเขียว แตงกวา เผือก มัน ถั่วพู ถั่วแปบ ถั่วชนิดต่าง ๆ อ้อย และยอดไม้ต่าง ๆ เนื่องจากหมดหน้าไร่แล้ว |
นอกจากปฏิทินที่แสดงกิจกรรมการเกษตรในรอบ 1 ปี ของชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านแม่อุมพายแล้ว ในทุก ๆ ปี ชาวบ้านผู้ทำไร่หมุนเวียนจะมีขั้นตอนการจัดการไร่หมุนเวียนในรอบปีการผลิต โดยจำแนกได้ 7 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการเลือกถางไร่ ขั้นตอนการถางไร่ ขั้นตอนการเผาไร่ ขั้นตอนการเก็บกวาดไร่ ขั้นตอนการปักไร่และหว่านข้าว ขั้นตอนการดายหญ้า และขั้นตอนการเก็บเกี่ยว
- ขั้นตอนการเลือกถางไร่ ในขั้นตอนนี้จะตอนนี้จะมีพิธีกรรมการขออนุญาตสิ่งสูงสุดที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งอัญเชิญให้ออกไปอยู่ที่อื่นเป็นการชั่วคราวขณะแผ้วถางไร่เพื่อทำการเพาะปลูก การกระทำนี้เป็นการแสดงถึงความศรัทธาและความไว้วางใจที่มีต่อสิ่งสูงสุด รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในพื้นที่
- ขั้นตอนการถางไร่ โดยการถางหญ้าและตัดต้นไม้ที่ขึ้นรกในไร่ การตัดต้นไม้จะไม่ตัดจนขาด แต่จะตัดเพียงครึ่งหนึ่งแล้วปล่อยให้ล้มพาดคาตอ เพื่อให้สามารถแตกหน่อแตกกิ่งได้ใหม่
- ขั้นตอนการเผาไร่ จะมีการทำแนวกันไฟก่อนจุดไฟเผา ป้องกันไม่ให้ไฟลามออกนอกเขตขณะเผาไร่
- ขั้นตอนการเก็บกวาดไร่ เป็นขั้นตอนการเตรียมหน้าดินสำหรับหว่านเมล็ดข้าวและพืชผัก มีการเก็บกวาดเศษไม้ที่ไหม้ไม่หมดมากองรวมกันแล้วเผาทิ้งอีกครั้ง เรียกว่า “เผากองเศษไม้” ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไหม้จะกลายเป็นธาตุอาหารบำรุงดินโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใด ๆ
- ขั้นตอนการปักไร่และหว่านข้าว โดยใช้เสียมขนาดเล็กที่ออกแบบเป็นการเฉพาะปักดินเป็นหลุม จากนั้นหยอดข้าวลงไป การปักไร่ลักษณะนี้จะกินดินไม่ลึก ไม่ทำให้โครงสร้างของดินเสียหาย ซึ่งถือเป็นการช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน และป้องกันไม้ให้ตะกอนไหลลงสู่ลำห้วยลำธาร
- ขั้นตอนการดายหญ้าและการดูแลรักษา โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ขอดายหญ้า” เศษหญ้าที่ดายออกจะกองไว้ใต้ต้นข้าวให้เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มสารอาหารและแร่ธาตุให้แก่ดิน
- ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว
ศาสนา
ปัจจุบันชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่อุมพายนับถือศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลัก มีวัดนักบุญโยเซฟ แม่ลาน้อย เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทุกวันอาทิตย์คริสต์ศาสนิกชนชาวแม่อุมพายจะไปรวมตัวกันที่วัดนักบุญโยเซฟ แม่ลาน้อย เพื่อประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีศีลมหาสนิท และในวันทื่ 25 ธันวาคมของทุกปี จะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งนับเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่อุมพาย เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตการดำรงอยู่สอดคล้องกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้ชุมชนบ้านแม่อุมพายปรากฏความเชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าไม้หลายเรื่อง ในพื้นที่ป่ารอบหมู่บ้านหรือป่าเขตแดง ชาวปกาเกอะญอถือว่าเป็นป่าต้องห้ามทางความเชื่อ เนื่องจากพื้นที่ป่าแห่งนี้จะเอาไว้ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อต่าง ๆ เช่น การปัดรังควาญ การเรียกขวัญ การสะเดาะเคราะห์ การเอากระบอกสายสะดือของทารกไปทิ้งด้วยการนำไปผูกติดกับต้นไม้ในป่าแห่งนี้ โดยเชื่อว่าขวัญของเด็กจะอยู่กับต้นไม้ต้นนั้น หากต้นไม้ถูกตัด จะทำให้ขวัญของเด็กหนี ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่สบาย เป็นต้น เช่นเดียวกับกระบวนการทำนาและทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อหลายขั้นตอน เช่น ช่วงทดน้ำเข้านาจะมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงฝาย ช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโตจะมีพิธีกรรมเลี้ยงนา พิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้มีนัยสำคัญในการเป็นสัญญะเพื่อเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ชาวปกาเกอะญอยังมีข้อห้า หรือกฎจารีประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคง และความยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เช่น ความเชื่อเรื่องเขียดแลวกกไข่ เป็นการเรียกชื่อพื้นที่ป่าเนินเขาที่มีลำห้วยลำธาร หรือมีหนองบึงล้อมรอบคล้ายเขียดแลวกำลังกกไข่ ซึ่งชาวปกาเอกะญอเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของผีป่า ห้ามแผ้วถาง หรือทำประโยชน์อื่นใด หาไม่ผีป่าจะลงโทษให้เกิดความเจ็บไข้ หรือมีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิต ความเชื่อเรื่องตาน้ำ เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของผีน้ำ มีข้อห้ามว่าห้าเล่นน้ำบริเวณนี้ หรือลงไปกระทำการอันใดที่จะก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผีน้ำ รวมถึงห้ามแผ้วถางป่าบริเวณนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้าม เชื่อว่าจะต้องได้รับบทลงโทษจากผีน้ำ ความเชื่อเรื่องป่ากิ่วดอยหลวง ป่าบริเวณนี้คือพื้นที่ภูเขาที่มีความสูงใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน เชื่อว่าเป็นทางเดินของภูตผีในเวลากลางคืน ห้ามแผ้วถาง หากมีการฝ่าฝืนกฎข้อห้าม จะได้รับการลงโทษจากภูตผีเหล่านั้น ก่อให้ผู้ฝ่าฝืนเกิดความเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือมีเรื่องที่นำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิต ความเชื่อเรื่องยอดดอยหลวง โดยปกติในพื้นที่ของหมู่บ้านจะมีภูเขาลูกใหญ่ไม่กี่ลูก ชาวปกาเกอะญอมีข้อห้ามว่าไม่ให้แผ้วถางป่าไม้บริเวณภูเขาเห่านี้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นภูเขามีชื่อ มีเจ้าของคุ้มครองดูแล ซึ่งข้อห้ามเกี่ยวกับยอดดอยหลวงนี้เป็นข้อห้ามที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ความเชื่อเรื่องหางตั๊กแตน คือบริเวณที่สายน้ำแยกออกจากกันไปคนละลุ่มน้ำ แล้วกลับมาบรรจบกันอีกครั้งในลุ่มน้ำเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ห้ามเข้าไปถางไร่เพื่อทำประโยชน์อันใด เพราะเชื่อว่าผีดุ เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ ความเชื่อเรื่องเลือดไหล เป็นชื่อเรียกยอดเขาสูงบางแห่ง ยอดเขาลักษณะนี้จะมี Geji soo bau หรือ “หวายดำอมเหลือง” ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่ายอดเขาที่มีหวายพันธุ์นี้อยู่เป็นสถานที่ที่มีผีดุร้าย หากใครฝ่าฝืนข้อห้าม ผีที่อาศัยอยู่บนยอดเขานี้จะดลบันดาลให้มีอันเป็นไป
ชาวปกาเกอะญอมีพิธีกรรมการขออนุญาตใช้ผืนแผ่นดินจากสิ่งสูงสุดหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของธรรมชาติ พร้อมทั้งอัญเชิญให้ไปอยู่ที่อื่นก่อนชั่วคราวขณะถางไร่เพื่อเพาะปลูก เมื่อถางไร่เสร็จสิ้นจะมีการเผาไร่ ในการเผาไร่นี้จะมีการทำพิธี “เรียกลม” เพื่อเป็นการบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติว่าตนมีความจำเป็นต้องกระทำ อีกทั้งขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดประทานลมให้พัดโหมกระหน่ำขณะเผาไร่ ให้ไร่ไหม้ดี อันจะส่งผลให้ข้าวและพืชผักเจริญงอกงาม เมื่อถึงฤดูกาลหว่านข้าวชาวปกาเกอะญอจะมีการประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “การปลูกแม่ข้าว” คือพิธีรรมการภาวนาขอพรจาก “นกขวัญข้าว” หรือ “ยายแม่ม่าย” ให้ลงมานำความอุดมสมบูรณ์แก่ข้าวในไร่ พิธีลงปลูกแม่ข้าวถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากในกระบวนการปักไร่ เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงถึงเรื่องขวัญข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวที่มาจากไร่หมุนเวียน เมื่อปักไร่หว่านข้าวเสร็จ จะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า “แช่ขาด้ามเสียม” โดยการนำขาด้ามเสียมแช่ลงไปในกระบอกไผ่จุน้ำ แล้วหันปลายขึ้นฟ้าให้ตรงกับตำแหน่งดาวไถ พิธีกรรมแช่ขาด้ามเสียมแทนความหมายว่าการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศทั้งหมด เพราะความเชื่อเรื่องดาวไถนี้มีความเกี่ยวโยงไปถึงตำนาน “Htauv mai paj” หรือ “บรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์” ของชาวปกาเกอะญอ ผู้เลือกดินแดนที่ตั้งหลักแหล่งให้อยู่ใต้ตำแหน่งดาวไถ ด้วยเห็นว่าเป็นดินแดนที่อุมดมสมบูรณ์ที่สุด พิธีแช่ขาเสียมจึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพชนผู้ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ภายหลังการดายหญ้าไร่เสร็จจะมีการประกอบพิธีกรรม “ตัดคอหญ้า” เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงความอ่อนน้อมยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยนำหญ้าที่อยู่ในมือกำสุดท้ายเดินไปยังริมไร่ วางหญ้าบนท่อนไม้ แล้วสับด้วยขอดายหญ้าให้ละเอียด ระหว่างนั้นให้อธิษฐานไล่ศัตรูพืชทั้งหลายให้ออกไปให้พ้นจากไร่ ต่อมาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมีพิธีกรรม “กินหัวข้าว” โดยจะมีการกินข้าวใหม่ที่ได้จากไร่กับอาหารทุกชนิด อันเป็นการให้เกียรติและสรรเสริญข้าวว่าเป็นผู้มีบุญคุณหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ในขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกี่ยวข้าวทุกชนิด จะมีการมัดมือโดยนำมาผูกกับเถาวัลย์ แล้วอธิษฐานแสดงความความเคารพ และขออภัยที่เคยได้ล่วงเกินในบางครั้ง แสดงถึงจิตวิญญาณของผู้ทำไร่หมุนเวียนที่ไม่เพียงเคารพนอบน้อมต่อข้าวเท่านั้น แต่ยังต้องเคารพต่อธรรมชาติทุกอย่างที่เกี่ยวข้องด้วย ภายหลังเก็บเกี่ยวและนำข้าวกลับบ้านหมดแล้ว ช่วงนี้จะมี “พิธีกรรมอันเชิญสิ่งสูงสุดกลับเข้าไร่” เนื่องจากช่วงเวลาที่ลงถางไร่จะมีการอัญเชิญสิ่งสูงสุดให้ไปอยู่ที่อื่น แต่ในเวลานี้กระบวนการทำไร่ได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้มีการประกอบพิธีกรรมอัญเชิญให้สิ่งสูงสุด และวิญญาณธรรมชาติทุกสิ่งอย่างกลับคืนสู่พื้นที่ไร่
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย
ภาษาเขียน : ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย
แม้ว่าชาวปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยงในชุมชนแม่อุมพายจะยังคงมีการใช้ภาษากะเหรี่ยงเพื่อสื่อสารกันภายในชุมชน แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ภายในชุมชน ปัจจุบันส่วนใหญ่จะพูดและเขียนภาษาไทย อีกทั้งการศึกษาภายในโรงเรียนที่ต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนพูดและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้น้อยมาก หรือกระทั่งบางคนไม่สามารถพูดและเขียนภาษากะเหรี่ยงได้เลย
แม้ว่าปัจจุบันคณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบสัญชาติไทยให้กับคนชนเผ่าในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎเกณฑ์ข้อกำหนดการให้สัญชาติ อันจะทำให้บุคคลนั้นมีสถานะความเป็นพลเมืองและสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองไทยทุกประการ ทว่าในทางกลับกัน มีกลุ่มคนชนเผ่าจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย รวมถึงชาวบ้านบางรายในชุมชนแม่อุมพายด้วย ปัญหาดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการการปฏิบัติที่ตรงกันข้ามกับนโยบาย ยังคงมีรายงานเสมอถึงอุปสรรคปัญหาในการเข้าถึงสัญชาติไทย อันเกิดอคติการมองกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยทัศนคติเชิงลบ และสายตาหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐและสังคมไทย ส่งผลให้คนชนเผ่าหรือคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยถูกผลักดันออกจากระบบรัฐสวัสดิการของไทยโดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน
บ้านแม่อุมพายตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวม ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนถือเป็นจังหวัดที่พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ยังเป็นพื้นที่ป่า อีกทั้งพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังอยู่ในเขตป่าสงวน เป็นเหตุให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเป้าหมายของการรณรงค์ป้องกันการทำลายป่าจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบถึงหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงบ้านแม่อุมพายด้วย
ฤดูร้อนทุกปีของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำ ภาครัฐชี้ว่าหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าเป็นควันที่เกิดจากการเผาไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ส่งผลให้ป่าไม้ถูกทำลาย บดบังทัศนวิสัยการบิน เครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดลดลง ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาครัฐพยายามำจัดไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไป แม้ว่าความจริงแล้วช่วงเวลาการเผาไร่ของชาวบ้านใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ และมีการควบคุมไฟเป็นอย่างดี จากการที่บ้านแม่อุมพายอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และประชากรชาวปกาเกอะญอในชุมชนมีวิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียนเป็นหลัก นโยบายการแก้ปัญหาเรื่องหมอกควันของภาครัฐจึงนับเป็นแรงกดดันสำคัญประการหนึ่งที่มีต่อบ้านแม่อุมพาย ผู้นำชุมชนจะได้รับการกำชับอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่มีการเผาไร่จะต้องแจ้งให้อำเภอทราบ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งจากภาครัฐ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกในชุมชนต้องปฏิบัติตาม แต่ในขณะเดียวกันผู้นำชุมชน และ อบต. ได้มีความพยายามอธิบายเหตุผลการทำกิจกรรมของชาวบ้านในการทำไร่หมุนเวียนให้ทางอำเภอได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้ความกดดันนั้นผ่อนปรนลงไป
ป่าแม่ยวม
ประเสริฐ ตระการศุภกร และถาวร กัมพลกุล. (2548). ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน องค์ความรู้และปฏิบัติการของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในภาคเหนือของประเทศไทย (รายงานการวิจัย). เครือข่ายภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนที่สูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IKAP).
พรสุข เกิดสว่าง. (2556). ตัวตน คนปกาเกอะญอ. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.