Advance search

ชาวบ้านนากลางจะมีสำเนียงพูดที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นใดในเขตท้องที่อำเภอเชียงคาน รวมถึงชาวพวนบ้านกลางมีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เรียกว่า เรือนมุก

ปากตม
เชียงคาน
เลย
อบต.ปากตม โทร. 0-4287-0026
เนตรนภา แหวนหล่อ
10 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
18 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
18 ก.พ. 2024
บ้านกลาง

สาเหตุที่ตั้งชื่อว่าบ้านกลางเพราะอยู่ระหว่างหุบเขา และอยู่ระหว่างกลางบ้านหาดส้มพ้อ (บ้านเก่า) และบ้านกกตาล (บ้านเก่า) ชาวบ้านจึงได้ปรึกษากัน และตัดสินใจใช้ชื่อว่า "บ้านกลาง" จนถึงปัจจุบัน


ชาวบ้านนากลางจะมีสำเนียงพูดที่แตกต่างจากหมู่บ้านอื่นใดในเขตท้องที่อำเภอเชียงคาน รวมถึงชาวพวนบ้านกลางมีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เรียกว่า เรือนมุก

ปากตม
เชียงคาน
เลย
42110
17.7971934
101.6216337
องค์การบริหารส่วนตำบลปากตม

ชาวพวนบ้านกลาง เดิมทีมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเตาไหในเขตหลวงพระบาง ในศึกฮ่อเมืองเตาไหถูกรุกราน จึงมีการอพยพหนีศึกฮ่อ มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบุฮม ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีผู้นำ คือ พ่อเฒ่าก่อม พ่อเฒ่าห่าน พ่อเฒ่าเพียไซ และพ่อเฒ่าปูตาหลวง แต่บริเวณบ้านบุฮมทำเล ไม่เหมาะกับการทำมาหากินเพราะเป็นภูเขา จึงได้อพยพชาวบ้านเข้ามาอยู่ที่บ้านนาซ่าว อยู่ได้พักนึงก็อพยพ เพราะอยู่ห่างไกลแหล่งน้ำเลย ต่อมาไปตั้งบ้านอยู่ที่บริเวณทิศเหนือและตั้งชื่อว่าบ้านหาดส้มพ้อ อยู่มาระยะหนึ่งเกิดโรคระบาดมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงปรึกษาว่าจะย้ายหมู่บ้านมาอยู่บริเวณบ้านกลางในปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านและในขณะนั้นมีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แล้ว อยู่ทางทิศใต้ชื่อว่าบ้านกกตาล ในขณะนั้นมีศึกจีนฮ่อ ขึ้นทางทิศเหนือของหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านหาดส้มพ้อและบ้านกกตาลได้อพยพมาอยู่ใกล้เคียงกัน ต่อมาชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านก็ได้รวมตัวเป็นหมู่บ้านเดียวกันแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อหมู่บ้าน จึงปรึกษากันและตกลงใช้ชื่อว่า "บ้านกลาง" เพราะอยู่ระหว่างกลางบ้านส้มและบ้านกกตาล 

บ้านกลางตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย ด้านทิศตะวันตกมีลำห้วยเกาะไหลภาคกลางบ้านลงแม่น้ำเลย สภาพของพื้นที่ของบ้านกลางโดยรอบเป็นพื้นที่มีสภาพเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ โดยปลูกเรือนเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันตกเท่านั้น ซึ่งเป็นแบบแผนการตั้งชุมชนของกลุ่มลาวที่ตั้งหมู่บ้านริมลำน้ำจะตั้งหมู่บ้านฝั่งเดียวของลำน้ำ ไม่ตั้งทั้งสองฝั่งลำน้ำที่ทำให้ลำน้ำผ่ากลางบ้านใกล้กับริมน้ำเลยมีต้นมะขามใหญ่ตั้งเด่นอยู่กลางถนนที่ทอดมาจากสะพานข้ามลำน้ำเลยเป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านถือว่าเป็นหลักเมืองหรือมิ่งบ้าน แต่เดิมทางใต้ของต้นมะขามลงไปบริเวณริมน้ำเลยเป็นที่ตั้งของวัดประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ได้ไม่นานเกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งจึงย้ายวัดไปตั้งอยู่ด้านทิศเหนือในที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งมีหอบ้าน หรือหอผีประจำหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินทางด้านทิศเหนือของวัด ถัดจากกลุ่มบ้านเรือนไปทางทิศเหนือตามริมน้ำเลยเป็นที่ตั้งของป่าช้า ซึ่งเป็นเนินมีป่าไม้ปกคลุม กลุ่มเรือนพักและอาศัยกระจายไปตามถนนในหมู่บ้านที่มีระดับสูงต่ำเป็นเนินสลับไปมา ถัดจากกลุ่มเรือนออกไปเป็นพื้นที่นาและไล่กระจายออกไป โดยส่วนใหญ่ของที่ดินการเกษตรของบ้านกลางอยู่ด้านฝั่งทิศตะวันตกของลำน้ำเลย ในขณะที่ส่วนมากในฝั่งทิศตะวันออกเป็นของบ้านนาบอและบ้านนาซ่าว ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 8 กิโลเมตร ติดถนนสายเชียงคาน-เลย

ประชากรชุมชนบ้านกลางจะมีเชื้อสายของชาวไทยพวนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห

ไทยพวน

ช่วงแรกมีการทำนาไร่ ควบคู่ไปกับการปลูกฝ้าย ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้การปลูกฝ้ายยังทำให้เกิดอาชีพการทอผ้าเกิดขึ้นในหมู่บ้าน

ชาวไทพวนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบททั่วไป มีอาชีพเกษตรกรรม การทอผ้า การตีเหล็ก การทำเครื่องเงิน เครื่องทอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

บ้านเรือน

เรือนพวนบ้านกลางเป็นเรือนจั่วเดียวหลังคามุงหญ้า ยกใต้ถุนสูงใช้เป็นคอกวัวควาย เรือนมีปั้นลมยอดไขว้กันคล้ายกาแล แกะรูปนก รูปหนู มีเซีย (ระเบียง) ด้านข้างเรือน เรียกว่าเฮือนเกาะเซียเนื่องจากเป็นเรือนแบบเก่าที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุส่วนมาก คือฝาไม้เฮี้ย พื้นปูฟาก หลังคามุงหญ้า โครงหลังคาเป็นไม้ไผ่บางครั้งก็เรียกเรือน ไม้บ้องต้องกิ้ง ในช่วงปี พ.ศ. 2501-2506 เรือนในบ้านกลางยังคงเป็นเรือนแบบเก่าที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่มาก และที่มุมกระเบื้องซีเมนต์จึงเป็นเรือนที่เริ่มก่อสร้างในระยะเดียวกันคือก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 เล็กน้อยเป็นต้นมา แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่เรือนแบบ เรือนเกาะเซีย ก็ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ ด้วยการรื้อถอนแล้วปลูกสร้างเรือนแบบใหม่

นอกจากนี้ตามประเพณีเดิมของชาวพวนบ้านกลางแต่ละเรือนจะมีเล้าข้าว 1 เล้าซึ่งตั้งอยู่ด้านครัวไฟของเรือนหันประตูแล้วไปทางทิศตะวันออก โดยเล้าข้าวอยู่ถัดเรือนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ไม่ปลูกเล้าล้ำมาทางหน้าเรือน การที่ประตูเล้าหันไปทางทิศทิศตะวันออกและทิศหัวนอนอยู่ทาง ทิศตะวันตกประตูเราจึงหันทางเดียวหน้าฮอง หรือฮองของเรือน

ความเชื่อและประเพณี

ความเชื่อในการนับถือผีของชาวพวนบ้านกลางมีเฉพาะผีบ้านผีเมืองเท่านั้น ซึ่งมีการเลี้ยงบ้านที่หอบ้านทุกปี โดยเชิญเจ้าพ่อมาทรงนางเทียมแล้วทำพิธี โดยปัจจุบันนี้มีเจ้าจ้ำเป็นผู้หญิง แต่เนื่องจากเจ้าพ่อได้เข้าทรงร่างผู้หญิงและขอให้เป็นจ้ำ หญิงผู้นั้นจึงเป็นเจ้าจ้ำต่อมาจากเจ้าจ้ำเดิมที่เป็นผู้ชาย

ตามประเพณีพวนบ้านกลาง จะแต่งงานเอาเขยเข้าเรือน คือ ฝ่ายชายเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่ที่เรือนของฝ่ายหญิง แต่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะเป็นผู้พิจารณาลูกสาวและลูกเขยว่าเป็นคนดีขยันหมั่นเพียรและดูแลพ่อแม่หรือไม่ ถ้าหากไม่ดีคือไม่พอใจกับพฤติกรรมของลูกเขยและลูกสาว ด้วยเห็นว่าไม่ขยันหมั่นเพียร ก็อาจให้ออกเรือนไปอยู่กันเอง ส่วนผู้ที่พ่อแม่พอใจก็จะให้อยู่เรือนและเป็นผู้ที่สืบมูน คือได้อยู่เรือนพ่อแม่ต่อไป 

งานบุญกำฟ้า มีการทำข้าวหลาม ข้าวจี่ เพื่อนำไปถวายพระ และแจกจ่ายแก่ญาติมิตร ในรอบปีจะมีสามครั้งคือ ขึ้นสามค่ำ ขึ้นสิบค่ำ และขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวไทยพวนจะไม่ทำงานโดยจะพักผ่อนอยู่กับบ้านและมีการเล่นต่าง ๆ เช่น เล่นต่อไม้ เล่นลูกช่วง

ชุมชนชาวไทยพวนแห่งนี้ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเพณีบุญเลี้ยงบ้านเดือนหก หรือบุญซำฮะบ้าน ซึ่งเป็นงานประเพณีที่ชาวบ้านกลางต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน คำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาถิ่นซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ชำระ” ซึ่งหมายถึงการล้างให้สะอาด การจัดงานประเพณีบุญซำฮะบ้านนี้พบได้ทั่วไปในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นงานประเพณีที่ถูกระบุอยู่ใน “ฮีตสิบสอง” ว่าบุญซำฮะเป็นงานบุญประจำเดือนเจ็ด แต่ที่ชุมชนไทยพวนบ้านกลางจะมีการจัดงานบุญชำฮะขึ้นในเดือนหก และมีการทำบุญ “เลี้ยงบ้าน” หรือ “บุญเบิกบ้าน” ควบคู่กันด้วย ซึ่งในงานบุญนี้นอกจากจะทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายแล้ว ยังต้องมีการทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและประชาชนในชุมชน

ทุนกายภาพ

ในเขตบ้านกลางมีการปลูกฝ้ายกันเป็นอาชีพหลักก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงมาปลูกพืชอื่น ๆ ในภายหลัง ฝ้ายเป็นพืชที่ปลูกควบคู่ไปกับการทำนาไร่ คือ การปลูกข้าวในที่ดอน นอกจากนี้ฝ้ายยังเป็นวัตถุดิบสำหรับการทอผ้าและยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญช่วงก่อนปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา การปลูกพืชไร่ในภาคอีสานเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล เช่น มีการขยายพื้นที่ปลูกยาสูบในภาคอีสานตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการส่งเสริมการปลูกฝ้ายที่จังหวัดเลย ซึ่งทำให้จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายมากที่สุด

ภาษาที่ใช้จะคล้ายกับชาวอีสานทั่วไป แต่ชาวบ้านกลางจะมีสำเนียงภาษาพูดที่แตกต่างไปจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดเลยทำให้ชาวบ้านกลางมักถูกล้อเลียนสำเนียงพูดอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามภาษาพูดที่มีความแตกต่างนี้ ทำให้ชาวบ้านกลางรับรู้ถึงความแตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ


ในปี พ.ศ. 2537 มีการสร้างสะพานข้ามลำน้ำเลย ซึ่งเชื่อมเส้นทางบ้านกลางบ้านนาบอนและอำเภอเชียงคาน โดยรถสามารถเข้าถึงบ้านกลางได้โดยตรงต่อหมู่บ้าน โดยมีถนนพุ่งเข้ามาที่ตำแหน่งต้นไม้ต้นมะขามที่เป็นมิ่งบ้าน ทำให้ต้นมะขามอยู่กลางถนนเข้าหมู่บ้าน การมีสะพานทำให้การขนส่งและติดต่อกับภายนอกง่ายมากขึ้นมี รถจากภายนอกหมู่บ้านเข้ามารับส่งเป็นประจำ ถนนเส้นกลางหมู่บ้านเริ่มมีร้านค้าปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก และร้านอาหาร มีรถขายสินค้ามาขออาศัยร้านวัดเปิดตลาดชั่วคราว แม้ว่าน้ำประปาหมู่บ้านเพิ่งจะมีในปี พ.ศ. 2550 - 2551 เมื่อมีหอถังสูง อยู่ข้างโรงเรียนแห่งหนึ่งและอยู่ในเขตบ้านอีกหนึ่งแห่ง โดยมีคณะกรรมการประปาหมู่บ้านเป็นผู้บริหารงาน การมีน้ำประปาใช้ทำให้ลำห้วยกอกและลำน้ำเลยที่ชาวบ้านใช้น้ำเป็นประจำถูกลดความสำคัญลงไป ลำห้วยกอกเริ่มมีเศษขยะทิ้งลงในลำน้ำและกำลังจะเป็นแหล่งน้ำเสีย


ชาวพวนบ้านกลางมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือนพักอาศัยจากแบบประเพณีเดิมที่ปลูกเรือนแบบเรือนเซียที่นอกจากโครงสร้างหลักเป็นไม้จริงแล้วส่วนอื่น ๆ ก็เป็นไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยหญ้าคาตามแบบเรือนในหลวงพระบาง นิยมหันทิศหัวนอนไปทางทิศตะวันตกต่อมาราว หลังพ.ศ. 2480 ก็เริ่มปรับเปลี่ยนแบบเรือนเป็นเรือนไม้จริงทั้งหลัง หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์ที่เป็นแผ่นเรียบและแบบเป็นลอนขนาดเล็กซึ่งมักทําเป็นรูปทรงเรือนแบบหักฉาก คือ มีมุขยื่นออกจากตัวเรือนจึงเรียกว่า “เรือนมุก” นอกจากนั้นยังมีเรือนหลังคาจั่วเรือนหลังคาปั้นหยาและเรือนที่ได้รับอิทธิพลจากเรือนแถวในเมือง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบเรือนและเทคนิคการก่อสร้างเป็นความรู้ที่ช่างปลูกเรือนในหมู่บ้านได้เรียนรู้จากการไปรับจ้างก่อสร้างอาคารในเขตอําเภอเมืองและอําเภอเชียงคาน หลังจากที่เมืองเลยได้รับการจัดตั้งเป็นจังหวัดเลย

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่เส้นทางรถไฟมาถึงจังหวัดขอนแก่น และต่อมาถึงจังหวัดหนองคาย การขนส่งสินค้าเข้ามาในจังหวัดเลยทําได้ง่ายขึ้น จึงมีการนําแผ่นหลังคาสังกะสีมาใช้ในเรือน ซึ่งมักทําเป็นเรือนยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นด้านหลังเรือน ต่อมาเรือนแบบนี้นิยมปิดล้อมใต้ถุนเรือนทําประตูบานเฟี้ยม ด้านหน้าที่หันหาเส้นทางสัญจร การหันทิศหัวนอนเริ่มไม่เคร่งครัดตามประเพณีเดิม เมื่อมีการก่อสร้างสะพานข้ามลํานํ้าเลยสู่หมู่บ้านโดยตรง ประกอบกับการรับแบบแผนการอยู่อาศัยแบบใหม่ทําให้นิยมสร้างเรือนที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยนิยมเรือนชั้นเดียว ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่มีสิ่งของอํานวยความสะดวกมากขึ้นประกอบกับเรือนแบบประเพณีรุ่นที่เป็นเรือนมุงกระเบื้องซีเมนต์เริ่มทรุดโทรมลงและคนรุ่นใหม่ไม่นิยมรักษาไว้ เรือนแบบเก่าในบ้านกลางจึงถูกรื้อถอนลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน


ภายหลังจากที่การปลูกฝ้ายประสบปัญหาพืชและแมลงรบกวน ชาวบ้านหันมาปลูกถั่วเหลืองแทนการปลูกฝ้ายมากขึ้นแต่ก็ประสบปัญหาเช่นเดิม จึงหันมานิยมปลูกกล้วยจนผลิตก็เป็นสินค้าหลักของหมู่บ้านในเวลาต่อมา ในปัจจุบันยังคงมีการปลูกกล้วยอยู่แม้ระยะหลังชาวบ้านนิยมปลูกยางพาราด้วย พื้นที่ปลูกยางพาราในเขตบ้านกลางมีการขยายตัวมากขึ้น โดยในระยะแรกสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง นำพันธุ์ยางพารามาแจกให้ชาวบ้านปลูกก่อน การเปลี่ยนมาปลูกยางทำให้พื้นที่ไร่ที่มีอยู่เดิมลดลงไปบ้าง เพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางเนื่องจากต้นยางโตพอที่จะกรีดยางได้ทำให้มีความต้องการแรงงานกรีดยางมากขึ้น ชาวบ้านที่ออกไปทำงานนอกบ้านก็เริ่มทยอยกลับมาทำงานกรีดยางในหมู่บ้านครอบครัวที่ปลูกยางขนาด 3-4 ไร่ ก็พอจะมีแรงในการกรีดยางเอง แต่ถ้าพื้นที่ปลูกมากกว่านี้ก็ต้องมีการจ้างแรงงานในการกรีดยาง การทำสวนยางพาราต้องทำการกรีดยางแต่เช้ามืด และสวนยางบางส่วนอยู่ไกลจากบ้าน ทำให้ต้องมีการปลูกสร้างเถียงสวนยาง คือเป็นตูบหรือกระท่อม สำหรับพักแรงงานกรีดยางแรงงานกรีดยางบางส่วนจึงอาศัยในเถียงกรีดยาง เรือนภายในหมู่บ้านจึงมักเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่อาศัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธนูศิลป์ อินดา. (2562). การศึกษาทุนเดิมและศักยภาพของชุมชนเพื่อการจัดการการท่องเที่ยววิถีไทพวน บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย: รายงานฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ทรงยศ วีระทวีมาศ. (2560). หมู่บ้านและเรือนพวน บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย.  NAJUA: Architecture, Design and Built Environment. 29(2015) : 125-145.

GotoLoei.(ม.ป.ป). บ้านกลางหมู่ที่ 3 ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.gotoloei.com/p/182461

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.(2561). บุญเลี้ยงบ้านไทยพวน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://rituals.sac.or.th/

หอมรดกไทย. (ม.ป.ป). จังหวัดเลย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก http://www.thaiheritage.net/

อบต.ปากตม โทร. 0-4287-0026