ชุมชนเกษตรกรรมบนดินแดนที่ราบสูงที่มีการพัฒนารูปแบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ชุมชนต้นแบบในการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งในอดีตมีต้นมะตูมอยู่จำนวนมาก จึงเรียกว่า "บ้านตูม"
ชุมชนเกษตรกรรมบนดินแดนที่ราบสูงที่มีการพัฒนารูปแบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ชุมชนต้นแบบในการรักษาวิถีชีวิตเดิม สู่การเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ
บ้านตูม ตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 โดยมีตาสีเมือง เป็นผู้ก่อตั้ง สันนิษฐานว่าก่อนเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านตูม ชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านโนน บ้านบอน บ้านยางชุมน้อง จังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากมองว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ใกล้แม่น้ำชีเหมาะแก่การทำประมง ทำเกษตร และการคมนาคม อยู่ไประยะหนึ่งมีผู้คนอพยพตามกันมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้าน โดยชื่อเรียก "บ้านตูม" นั้น ว่ากันว่ามาจากสถานที่ตั้งหมู่บ้านที่มีต้นมะตูมขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้นำเอาชื่อ “ตูม” มาตั้งเป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน โดยมีตาสีเมืองเป็นตากวนบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านเป็นคนแรก เดิมบ้านตูมขึ้นกับอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมา พ.ศ. 2538-2539 มีการปรับปรุงทำถนนตัดผ่าน ทางราชการจึงได้จัดเขตการปกครองใหม่ ย้ายบ้านตูมที่เคยขึ้นกับอำเภอมหาชนะชัยมาอยู่ในการปกครองของตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร จนถึงปัจจุบัน
บ้านตูมมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่มใกล้กับแม่น้ำชี สลับเนินทรายดิน มีป่าตามแนวแม่น้ำชีเหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรและการประมง ชาวบ้านตูมส่วนใหญ่จะทำการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าว ทั้งปลูกเพื่อการเลี้ยงชีพและปลูกเพื่อการขายซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมขายข้าวเจ้าและเก็บข้าวเหนียวไว้บริโภคมีแหล่งน้ำสำคัญ คือ แม่น้ำชี ห้วยสันโดษ หนองลืมงาย กุดไข่นุ่น นอกจากแหล่งน้ำภายในหมู่บ้านแล้วยังมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่า ป่าโนนทราย เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช่ประโยชน์ร่วมกัน เช่น หาอาหาร หาฟืน และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำชี ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลน้ำอ้อม
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสังข์ บ้านบกน้อย
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแจนแลน
ลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศ เป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม-พฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม-ตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
บ้านตูม ตำบลกุดน้ำใส ตำบลค้อวัง จังหวัดยโสธร แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 2 และ 10 โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรทั้ง 2 หมู่ ดังนี้
- บ้านตูมหมู่ที่ 2 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 636 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 328 คน ประชากรหญิง 308 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 158 ครัวเรือน
- บ้านตูมหมู่ที่ 10 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 704 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 341 คน ประชากรหญิง 363 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 200 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านตูมมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่มักประสบอุทกภัยเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำชีทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรไม่คงที่ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก แล้วยังประสบภัยแล้งทำให้อาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านไม่ได้มาก ต่อมาได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลและแนะนำการปลูกข้าวปังแทนข้าวนาปี และเข้ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการน้ำให้กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านตูมสามารถเพิ่มผลผลิตและกำไรได้เพิ่มขึ้น นอกจากอาชีพเกษตรกรรมแล้วชาวบ้านตูมยังประกอบอาชีพอื่น ๆ ทั้งที่เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม เช่น ประมง เลี้ยงสัตว์ รับราชการ รับจ้างและค้าขาย รวมถึงการของป่าป่าชุมชนบริเวณรอบหมู่บ้านหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ป่าโนนทราย เป็นป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งชาวบ้านบ้านตูมและหมู่บ้านใกล้เคียง
หลังฤดูทำนากลุ่มแม่บ้านมักจะจับกลุ่มเพื่อทอเสื่อกก ทอผ้า และจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน เช่น สานหวดข้าว กระติบข้าว เปลไม้ไผ่ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น มอง ไซ รอบ แห เหลาเบ็ด โดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในชุมชน ซึ่งชาวบ้านสามารถนำมาแปรรูปเพื่อไว้ใช้ในครัวเรือนและทำเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและเป็นของฝากสำหรับผู้มาเยือนได้
ปฏิทินการเกษตร
- ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงทำนาของชาวบ้าน โดยจะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงแปลงนาที่เตรียมไว้และทำการไถกลบ หรือที่ชาวบ้านเรียก ไถดะ บางส่วนเป็นนาดำ ชาวบบ้านก็จะตกกล้า รอระยะเวลาให้ต้นกล้าพร้อมดำนาต่อไป พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านนิยมปลูก คือ ข้าวหมอมะลิ 105 และ กข. 15 รองลงมาเป็นพันธุ์ข้าว กข. 10 ส่วนนาปรังชาวบ้านนิยมข้าวพันธุ์ชัยนาท
- ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ชาวบ้านจะเตรียมดินในแปลงเพื่อเตรียมปลูกข้าว
- ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านเริ่มเตรียมพันธุ์ข้าวปลูก นำมาฝัด เพื่อแยกสิ่งเจือปนในข้าวให้ออกไป โดยอาศัยสายลมให้พัดสิ่งต่างๆให้ปลิวไปตามสายลม
- ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงข้าวกำลังแตกกอ ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงกอข้าวเพื่อการแตกกอ
- ช่วงเดือนกันยายน ข้าวเริ่มออกรวงชาวบ้านจะเริ่มใส่ปุ๋ยที่เพิ่มการบำรุงรวงข้าวและเมล็ดข้าวให้เต่งตึง
- ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ในช่วงต้นเดือนชาวบ้านจะเข้าไปหาของป่าในบริเวณป่าชุมชน ช่วงกลางเดือนข้าวจะเริ่มสุกเต็มที่ชาวบ้านก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าว หลังการเก็บเกี่ยวข้าวบางส่วนจะเก็บไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน บางส่วนจะนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน
ภาษาที่ชาวบ้านตูมใช้สื่อสารกัน คือ ภาษาอีสาน ที่ได้รับสืบทอดมาอย่างยาวนาน และมีการอนุรักษ์เป็นภาษาถิ่นจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านตูมมีสำเนียงพูดที่ค่อนข้างเร็วและฟังดูค่อนข้างแข็งกระด้าง เพราะได้รับอิทธิพลร่วมจากภาษาเขมรจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างศรีสะเกษ
แม้ว่าชุมชนจะมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับลำน้ำชี แต่กลับประสบปัญหาน้ำแล้งอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมมานานกว่า 50 ปี ในช่วงฤดูฝน กระทั่งในปี 2551 ชุมชนบ้านตูมได้จัดตั้งผ้าป่าสามัคคีร่วมกันขุดคลองไส้ไก่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้ำใส ให้ขุดขยายคลองไส้ไก่ ไป 3 สาย ระยะทางรวม 2,040 เมตร ซึ่งสามารถส่งน้ำไปยังเพื่อที่การเกษตรได้มากขึ้นเป็น 1,300 ไร่ จากเดิม 200 ไร่ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาให้ความรู้และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาถ่ายทอดเพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสำรวจพื้นที่ควบคู่กับการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเครื่องระบุพิกัด (GPS) และจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการบริหารทรัพยากรการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและพัฒนาฟื้นฟูและเชื่อมโยงแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ ขยายสระน้ำแก้มลิงเพื่อสำรองน้ำ มีการเปลี่ยนวิถีทำการเกษตรจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่อนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน ดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่จริง (มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2562)
กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน. (ม.ป.ป.). แผนที่และสารสนเทศเพื่อการใช้บริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด อ.ค้อวัง จ.ยโสธร. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2567,จาก http://oss101.ldd.go.th/
จิรพงษ์ ศรรุ่ง. (2555). การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา หมู่บ้านตูม ตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เทศกาลอีสานสร้างสรรค์. (2566). เกร็ดความรู้ สำเนียงเสียงอีสาน. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2567,จาก https://www.isancreativefestival.com/
ไทยรัฐออนไลน์. (2562). จากผ้าป่าขุดคลองไส้ไก่ รวมใจสู่พิพิธภัณฑ์น้ำชุมชน. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2567,จากhttps://www.thairath.co.th/
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2562). พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตูม ตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2567,จาก https://www.utokapat.org/