ชุมชนที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารท้องถิ่น จับหลัก แกงส้มปลาเซียว และข้าวผัดสับปะรด การทำผ้ามัดย้อม การทำบายศรี และการทำพวงมะโหด
ชุมชนที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารท้องถิ่น จับหลัก แกงส้มปลาเซียว และข้าวผัดสับปะรด การทำผ้ามัดย้อม การทำบายศรี และการทำพวงมะโหด
ชุมชนหัวบ้าน มีชื่อเดิมคือ ชุมชนเกาะหลัก ตั้งอยู่บนถนนสู้ศึก ต.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยชุมชนนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพื้นที่แรกในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีเกาะใหญ่อยู่ในทะเลอ่าวประจวบฯ ซึ่งชุมชนแห่งนี้เริ่มแรกเป็นชุมชนของชาวประมง ที่มีผู้คนทั้งคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่จนเป็นชุมชนใหญ่ และเรียกคนในชุมชนว่า "คนเกาะหลัก” ซึ่งบริเวณของชุมชนได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น เพราะเป็นพื้นที่สำหรับพักหลบลมมรสุมแก่นักเดินเรือค้าขายจากกรุงเทพมหานครและภาคใต้ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่เดินเรือค้าขายจากเพชรบุรีไปยังชุมพร และเป็นจุดเติมน้ำจืดธรรมชาติไว้นำไปใช้บนเรือ ดังนั้นชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนที่มีทั้งคนมาตั้งรกรากและแวะมาพักชั่วคราวระหว่างเดินเรือ
โดยในเวลาต่อมา ชุมชนหัวบ้าน และถนนสู้ศึกได้กลายเป็นชุมชนและถนนสายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในสมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ที่บรรดาเหล่าทหารอากาศ ตำรวจ เยาวชนลูกเสือ และชาวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันสู้รบกับกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวมะนาว เพื่อเดินทัพต่อไปยังประเทศพม่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ดินแดนแถบนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จะถูกตั้งชื่อขึ้นเทิดพระเกียรติแก่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อชาติ ซึ่งถนนสู้ศึกก็คือหนึ่งในนั้นนั่นเอง
ชุุมชนหัวบ้าน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนตลาดสด เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตตำบลเกาะหลัก (กองบิน 5)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวประจวบคีรีขันธ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนนารอง เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง
จากข้อมูลการสำรวจของงานทะเบียนราษฎร์ เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ในปี พ.ศ. 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนชุมชนหัวบ้าน มีจำนวน 718 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,212 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 538 คน หญิง 674 คน
กลุ่มอาชีพของประชากรในชุมชนสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- กลุ่มอาชีพผ้ามัดย้อม องค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการนำผ้ามาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งค้นพบแต่อย่างใด แต่เป็นความรู้และภูมิปัญญาที่ได้ถูกปฏิบัติและถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกทั้งหลายก็ใช้ผ้าบังสุกุลสีขาวที่ใช้สำหรับห่อศพมาซัก แล้วนำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติเพื่อเป็นผ้าจีวรนุ่งห่ม ซึ่งการเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวเหมือนกับเราได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรม และยังเป็นความภาคภูมิใจของคนทำและคนที่ได้สวมใส่ด้วย
- กลุ่มอาชีพด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ ได้แก่ การทำประมง
- กลุ่มอาชีพด้านศิลปกรรม ได้แก่ การทำพวงมโหตรและปลาสวยงาม และการทำบายศรี
ในรอบปีของผู้คนชุมชนหัวบ้านมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ได้แก่
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- การทำบุญตักบาตรทุกวันอาทิตย์ ทุกเช้าวันอาทิตย์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวพร้อมใจกันแต่งชุดไทยหลากยุคหลากสมัย มานั่งบนเก้าอี้และมีแคร่ไม้ไผ่สำหรับวางสิ่งของใส่บาตรพระ พวกข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม และอาหารพร้อมทาน
- การขับเคลื่อนกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนหัวบ้าน ทุกเสาร์ - อาทิตย์แรกของแต่ละเดือน ตั้งแต่เวลา 16.00 - 22.00 น. มีการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนหัวบ้าน โดยได้นำมิติความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม สินค้าทางวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาร่วมสร้างสรรค์ถนนสายวัฒนธรรมให้เกิดความหลากหลาย โดยมุ่งหวังที่จะให้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นเสน่ห์ที่น่าจดจำแก่ผู้มาเยือน
- ประเพณีทำบุญศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ (เจ้าพ่อยูวาเซ็น) จะมีการทำบุญในช่วงวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร้อยกว่าปี ดั้งเดิมการทำบุญจะมีการกราบไหว้ด้วยขนมต้มขาวและขนมต้มแดงเท่านั้น และจะทำตอนก่อนเที่ยงเล็กน้อย ตามความเชื่อของชาวบ้านที่เล่าต่อกันมาว่า ตอนเช้าเจ้าพ่อต้องไปเฝ้าพระอินทร์ จะลงมาตอนเที่ยงวัน ตอนเย็นจะมีการแสดงมโนราห์ หรือบางปีจะมีละคร บางปีจะมีงาน 1 คืน หรือ 2 คืน ตามที่ชาวประมงบนไว้และมาแก้บน (เนื่องจากบนไว้ว่าปีนี้ขอให้จับปลาได้ตามจำนวนที่ต้องการ จะหามโนราห์หรือละครมาแสดงเพื่อแก้บน) ต่อมาเริ่มมีพิธีสงฆ์ในการทำบุญ นิมนต์พระมาทำพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลของคนในชุมชนตอนเพล โดยชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ มาร่วมทำบุญถวายพระ เสร็จพิธีสงฆ์ จะไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฯ ด้วยขนมต้มขาว ขนมต้มแดง และรับประทานอาหารร่วมกัน ส่วนกิจกรรมที่นำมาแก้บนได้เปลี่ยนจากมโนราห์ หรือละคร เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง เป็นการฉายภาพยนตร์แทน แต่จะมีการรำมโนราห์ถวายจากผู้ที่มาแก้บนตอนเช้าหลังจากเสร็จพิธีสงฆ์
บุคคลสำคัญของชุมชน ได้แก่
1.นางจำลอง พรมแดง ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มอาชีพผ้ามัดย้อม, ประธานกรรมการชุมชนหัวบ้าน, ประทานกองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนหัวบ้าน, ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลประจวบคีรีขันธ์ และเป็นประธานสภาวัฒนธรรมเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์
2.นางสาวอารีย์ ไกรทอง ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มอาชีพด้านศิลปกรรม ด้านการทำพวงมโหตรและปลาสวยงาม
ทุนวัฒนธรรม
- ศาลเจ้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ (เจ้าพ่อยูวาเซ็น) สร้างมาเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่มีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ซึ่งได้มาปรับปรุงสร้างใหม่ทั้งหมด เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2552 สำหรับศาลแห่งนี้ได้เป็นที่เคารพสักการะ ของชาวประจวบคีรีขันธ์มาเนิ่นนานมาก ไม่ว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านใดที่ย้ายมาประจำที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ต้องมากราบไหว้บูชาท่าน ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งอยู่เสมอ เพราะศาลเจ้าเมืองประจวบคีรีขันธ์(พ่อยูวาเซ็น) แห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก เคยมีผู้มาขอให้ชนะคดีความก็จะสำเร็จทุกครั้งไป อีกทั้งชาวเรือประมงก่อนออกเรือหาปลา ก็จะมาอธิษฐานให้ท่านคุ้มครอง ทุกครั้ง และทุกปีจะมีการบวงสรวงในวันที่ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 โดยจะมีเจ้าภาพจัดโนราห์รำถวายเจ้าพ่อยูวาเซ็น เป็นประจำทุกปี
- หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ด้วยความเคารพนับถือหลวงพ่อเปี่ยม (เปี่ยม จันทโชโต) เชื่อกันว่าการทำพิธีทางโหราศาสตร์ หากทำที่อื่นจะขลังน้อยกว่าทำที่โบสถ์วัดเกาะหลัก เพราะท่านได้สร้างเทวรูปประจำดาวนพเคราะห์ไว้ที่ลวดลายระหว่างเสาพระอุโบสถ โดยรอบและครบถ้วน การทำพิธีจึงเท่ากับอยู่ท่ามกลางทวยเทพประจำดาวเคราะห์ตามตำรับโดยแท้ หลวงพ่อเปี่ยม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเกาะหลัก ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
- ถนนสู้ศึก ในสมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย บรรดาเหล่าทหารอากาศ ตำรวจ เยาวชนลูกเสือ และชาวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันสู้รบกับกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวมะนาว เพื่อเดินทัพต่อไปยังประเทศพม่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ถนนเส้นนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ โดยถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จะถูกตั้งชื่อขึ้นเทิดพระเกียรติแก่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อชาติ ซึ่งถนนสู้ศึกก็คือหนึ่งในนั้นนั่นเอง
- อาหาร “จับหลัก” วัตถุดิบเป็นปลาทะเลในท้องถิ่นคลุกเคล้ากับเครื่องแกง ใส่ถั่วฝักยาวชิ้นเล็กๆ บางรายผสมมะพร้าวขูด หรือกะทิ แล้วนำไปปรุงสุกด้วยวิธีทอด ออกมาเป็นทอดมัน หรือนึ่งเป็นห่อหมก ส่วนการย่างนั้นยุ่งยากไม่ค่อยทำกัน ต้องนำเนื้อปลามาจับเป็นก้อน 2 ก้อน ไว้กับไม้ไผ่ที่เหลาจับขนาดพอดีมือ นำไปย่างด้วยถ่านไฟอ่อน แต่ต้องกลับไป-มา เนื้อปลาจะได้ไม่ไหม้ไฟ
- อาหาร “แกงส้มปลาเซียว” เป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมอย่างหนึ่งของชุมชนหัวบ้าน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเลมาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยา, สงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน โดยนำปลาริวกิวหรือปลาเรียวเซียว ที่พบตามดินที่เป็นโคลนบริเวณปากแม่น้ำทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีความยาว 30-40 เซนติเมตร มาทำแกงส้มปลาเซียวกัน
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนในด้านสังคมและประชากร มีรายละเอียด ดังนี้
การเคลื่อนย้ายของประชากร จากจำนวนประชากรของชุมชนหัวบ้านปี 2559 ที่มีจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากร จำนวน 679 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,462 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 643 คน และประชากรหญิง 819 คน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรของชุมชนหัวบ้านปี 2566 แล้วนั้น จำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรมีอยู่จำนวน 718 ครัวเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,212 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 538 คน หญิง 674 คน ซึ่งจากข้อมูลในช่วงปี 2559 - 2566 นั้น จำนวนของประชากรโดยรวม ประชากรชาย และประชากรหญิงมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 17.1, 16.33 และ 17.71 ตามลำดับ ยกเว้นจำนวนของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43
ในชุมชนหัวบ้านมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น การอนุรักษ์สภาพบ้านไม้เก่าแก่ที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น, พิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของเก่าแก่ล้ำค่าที่หาดูได้ยาก, ภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวัฒนธรรมประเพณีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, เรื่องราววีรกรรมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2, บ้านเก่าเล่าประวัติศาสตร์, วิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนหัวบ้าน, ขนมร้อยปี ขนมไส้ไก่สู้ศึก เป็นต้น
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2566). วธ.และเครือข่ายวัฒนธรรม จับมือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิด“ตลาดสู้ศึกคึกคัก”บนถนนสายวัฒนธรรมอันเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ร่วมชม ชิม ช้อป ของดี ชาวชุมชนส่งเสริมอัตลักษณชุมชนและอัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม พร้อมสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและประเทศ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.culture.go.th/
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). แกงส้มปลาเซียว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.culture.go.th/
กรุงเทพธุรกิจ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหัวบ้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/
กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566 -2570) แก้ไขครั้งที่ 1/2566 (รวมแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน) ชองเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์. ประจวบคีรีขันธ์: กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์.
ช่างภาพขาลุย BigStopperPhotography. (2561). บิดไปเที่ยว...ชุมชนหัวบ้าน ของดีแห่งเมืองประจวบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก http://bigstopperphotography.blogspot.com/
ประจวบโพสต์นิวส์. (2562). ชุมชนหัวบ้าน สานต่อประเพณีตักบาตรโบราณ “ถนนเก่า 100 ปีสู้ศึก”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก http://www.prachuppostnews.com/
ฟาริดา ร่มพฤกษ์ และวิภวานี เผือกบัวขาว. (2563). แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนหัวบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 8(1), 39-49.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์. (2566). ประเพณีทำบุญศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ (ชุมชนหัวบ้าน). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก: https://prachuapkhirikhan.m-culture.go.th/
สำนักงานเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์. (2565). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก: www.prachuapcity.go.th/
ไทยรัฐออนไลน์. (2560). "จับอ้อย" ของดีหาเปิบยากเมืองเกาะหลัก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/