Advance search

ชุมชนเก่าแก่ในอดีตท่ามกลางสังคมเมืองขนาดใหญ่ และพระอารามหลวงคู่เมืองสงขลา ศูนย์รวมศรัทธานานนับร้อยปี

ชุมชนวัดชัยมงคล
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
19 ก.พ. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
19 ก.พ. 2024
วัดชัยมงคล

มาจากชื่อวัดชัยมงคล ซึ่งพระสงฆ์ผู้สร้างวัดคือ พระชัย 


ชุมชนเก่าแก่ในอดีตท่ามกลางสังคมเมืองขนาดใหญ่ และพระอารามหลวงคู่เมืองสงขลา ศูนย์รวมศรัทธานานนับร้อยปี

ชุมชนวัดชัยมงคล
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
7.200036775835018
100.59694919794791
เทศบาลนครสงขลา

ชุมชนวัดชัยมงคล พื้นที่บริเวณนี้เริ่มมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างที่อยู่อาศัยปลูกบ้านเรือนอยู่รวมกันในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนวัดชัยมงคลไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เดิมวัดชัยมงคลมีชื่อเรียกว่า "วัดโคกเสม็ด" เนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดแต่เดิมมีต้นเสม็ดอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการตั้งวัด และผู้คนเข้ามาตั้งรกรากจนชุมชนขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนชุมชนวัดชัยมงคลมีบริเวณพื้นที่กว้างมากและมีประชากรหนาแน่น ทำให้ปัจจุบันเป็นชุมชนที่มีพื้นที่บางส่วนมีการอยู่อาศัยอย่างค่อนข้างแออัดของประชากร และก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทางเทศบาลนครสงขลาจึงได้แบ่งเขตพื้นที่และจัดตั้งเป็นชุมชนชัยมงคล เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยประกาศจัดตั้งชุมชนเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2529

ชุมชนวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบใกล้กับทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย มีอาณาเขตพื้นที่ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเพชรมงคล
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนราชดำเนิน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล-เพชรมงคล

ชุมชนวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการอยู่อาศัยของประชากรอย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งหมด 785 ครัวเรือน มีประชากรในพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 1,304 คน แบ่งออกเป็น ประชากรชาย จำนวน 606 คน และประชากรหญิง จำนวน 698 คน

ชุมชนวัดชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพหลักคือ อาชีพรับจ้างทั่วไป และประชากรบางส่วนประกอบอาชีพรับราชการ นอกจากนี้ในชุมชนยังมีประชากรบางครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง เนื่องจากมีพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเลสาบสงขลา และพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของผู้คนในพื้นที่ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการประมงที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชนและจังหวัดสงขลา โดยชุมชนวัดชัยมงคลมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 184,175 (บาท/ปี) และรายได้บุคคลเฉลี่ย 104,980 (บาท/ปี)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.นายลีม รักษทอง ปราชญ์ชุมชน (แพทย์ทางเลือกด้านสมุนไพร)

2.นายวิโรจน์ ชัยวรรณวุฒ ปราชญ์ชุมชน (ทำว่าวควาย)

3.นายนุกูล จันทร์ชู ปราชญ์ชุมชน (ทำกรงนกหัวจุก)

4.นางศีลชัย แสงแก้ว ปราชญ์ชุมชน (งานดอกไม้)

วัดชัยมงคล

วัดชัยมงคล เป็นพระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ถนนชัยมงคล ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เป็นวัดที่เก่าแก่มีพระบรมธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง วัดนี้สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเพชรมงคล ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล ห่างออกไปไม่ไกลมากนัก โดยพระอาจารย์ชัยเป็นผู้สร้างวัดชัยมงคล  และพระอาจารย์เพชรเป็นผู้สร้างวัดเพชรมงคล พระภิกษุทั้ง 2 รูปนี้เป็นสหธรรมิกสนิทกันและก็เป็นชาวกลันตันด้วยกัน แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด คาดว่าสร้างในช่วง พ.ศ. 2394 ราวปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดชัยมงคล เดิมนั้นมีชื่อว่า “วัดโคกเสม็ด” เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดอยู่จำนวนมาก ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชัยมงคล”

เอกสารประวัติวัดชัยมงคลได้กล่าวถึง ประวัติการสร้างพระเจดีย์หรือพระบรมธาตุวัดชัยมงคล ซึ่งบอกไว้ว่าอ้างมาจาก “หนังสือประวัติพระบรมธาตุ” แต่งโดยคุณหมออิ่ม ศิษย์ของอาจารย์นะ ติสสโร โดยกล่าวว่า พระภิกษุชื่อนะ ฉายา ติสสโร ท่านแตกฉานทางภาษาบาลี สามารถพูดภาษาบาลีได้ และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ เพราะมีความปรารถนาที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลา และท่านก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจากเศรษฐีท่านหนึ่งที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา พร้อมด้วยต้นโพธิ์ทอง 3 ต้น กลับมายังสงขลา และได้สร้างพระสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพราะพระบรมสารีริกธาตุของเศรษฐีนี้ได้มาจากพระเจดีย์ถูปาราม เมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วย และเศรษฐีบอกว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย ตรงกับวันที่  29 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 

ในสมัยพระอาจารย์ศรีเป็นเจ้าอาวาส วัดชัยมงคลมีความเจริญรุ่งเรืองมากทั้งด้านศาสนวัตถุและศาสนบุคคล และสมัยที่พระมหาแฉล้ม เขมปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำเรื่องเสนอคณะสงฆ์และบ้านเมืองเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่นร. 0240/7846 ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 1518 กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศ ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2528

วัดชัยมงคลได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ต่อมาอุโบสถที่สร้างมาช้านานได้ชำรุด และคับแคบไม่สะดวกต่อการประกอบสังฆกรรม จึงได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ และขยายเขตกว้างยาวออกไปกว่าเดิม ซึ่งสร้างตามแบบของกรมศิลปากร เป็นพระอุโบสถทรงไทยภาคกลางประยุกต์ ประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว มีขนาดกว้าง 7.05 เมตร ยาว 11.15 เมตร โครงสร้างพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด 3 ชั้น มีพาไลหน้าหลัง หน้าบันด้านหน้าปั้นเป็นลายกนกปูนปั้นนูนสูงลอยตัวรูปของพระพุทธรูป ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นรูปพระมงกุฎ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2524 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2524

พระพุทธไสยาสน์เป็นปูชนียวัตถุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัด มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพยำเกรงของประชาชนชาวสงขลาและใกล้เคียง ทั้งมีพุทธลักษณะสวยงามมากเล่ากันมาว่ากว่าจะสร้างได้สำเร็จต้องรื้อทิ้งหลายครั้งเพราะไม่ต้องตาต้องใจของคณะกรรมการผู้ควบคุมการสร้าง ถึงกับว่ามีเทวดาเข้ามาสิงนายช่างผู้ทำการปั้นองค์พระ จึงทำได้สวยงามตามความประสงค์ของคณะกรรมการองค์พระพุทธไสยาสน์สร้างด้วยปูนปั้น ขนาดองค์พระยาว 5.52 เมตร ลงรักปิดทอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้. (2561). วัดชัยมงคล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/c3ab6570

เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนวัดชัยมงคล เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/

เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015