Advance search

สัมผัสชีวิตชาวประมง ออกตามหาปลาลูกเบร่ ยลวิวยอยักษ์ ชมวิถีผู้คนริมคลองปากประ อู่นาข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ชุมชนทำนาริมเลแห่งเดียวในประเทศไทย

หมู่ที่ 8
บ้านปากประ
ลำปำ
เมืองพัทลุง
พัทลุง
ผู้ใหญ่บ้าน บ้านปากประ โทร. 09-1848-5919
วิไลวรรณ เดชดอนบม
1 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.พ. 2024
บ้านปากประ

ประการแรก ว่ากันว่าในอดีตมีผู้นำพระพุทธรูป 2 องค์ มาประดิษฐาน ณ วัดบริเวณคลองท่าสำเภา 2 วัด (ปัจจุบัน คือ วัดท่าสำเภาเหนือ และวัดท่าสำเภาใต้) ระหว่างทางได้จอดแวะพักที่บริเวณปากลำน้ำ จึงเรียกบริเวณปากน้ำนั้นว่า "ปากพระ" และเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ปากประ"

ประการที่สอง สันนิษฐานว่าในอดีตมี "ต้นประ" ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อยู่บริเวณปากลำน้ำ ในอดีตลำน้ำบริเวณนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของชาวบ้านในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อล่องเรือผ่านไปมาจึงเรียกว่า "บ้านปากประ" เพราะมีต้นประเป็นสัญลักษณ์เด่นเห็นได้แต่ไกล 


ชุมชนชนบท

สัมผัสชีวิตชาวประมง ออกตามหาปลาลูกเบร่ ยลวิวยอยักษ์ ชมวิถีผู้คนริมคลองปากประ อู่นาข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ชุมชนทำนาริมเลแห่งเดียวในประเทศไทย

บ้านปากประ
หมู่ที่ 8
ลำปำ
เมืองพัทลุง
พัทลุง
93000
7.694021601
100.1460202
องค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ

บ้านปากประไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มมีการตั้งชุมชนมาเมื่อใด แต่สันนิษฐานได้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี แรกเริ่มมีไม่เกินสิบครัวเรือน ตั้งอยู่รวมกันถัดเข้ามาจากชายฝั่งประมาณ 200 เมตร ต่อมามีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณปี พ.ศ. 2470 เนื่องจากการขยายพื้นที่ทำกินจากชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงจากชุมชนควบถบ ต่อมาใน พ.ศ. 2518-2519 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง “กรณีถังแดง” ชาวบ้านปากประถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงหลบหนีทางการข้ามฝั่งมาตั้งรกรากที่ริมคลองปากประซึ่งยังมีที่รกร้างอยู่มาก และมีการขยายครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการจับจองที่ดินทำกิน และเนื่องจากวิถีชีวิตของชาวบ้านมีอาชีพทั้งการประมงและเกษตรกรรม จึงนิยมตั้งบ้านเรือนริมชายฝั่ง และใช้พื้นที่ราบถัดจากบริเวณชายฝั่งในการทำนา

ที่มาของชื่อหมู่บ้านตามคำบอกเล่าของคนในพื้นถิ่นมีการเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตบริเวณทะเลสาบลำปำมีผู้มีจิตกุศลนำพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ณ วัดบริเวณคลองท่าสำเภา 2 วัด เพราะพระพุทธรูปมี 2 องค์ (ต่อมาภายหลังเรียกวัดทั้งสองวัดนี้ว่า วัดท่าสำเภาเหนือ และวัดท่าสำเภาใต้) ระหว่างทางได้จอดแวะพักที่บริเวณปากลำน้ำ จึงเรียกบริเวณปากน้ำนั้นว่า "ปากพระ" และเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ปากประ" ในปัจจุบัน ส่วนข้อสันนิษฐานหนึ่ง สันนิษฐานว่าในอดีตมี "ต้นประ" ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูงเต็มที่ประมาณ 20-40 เมตร อยู่บริเวณปากลำน้ำ ในอดีตลำน้ำบริเวณนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของชาวบ้านในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อล่องเรือผ่านไปมาจึงเรียกว่า "บ้านปากประ" เพราะมีต้นประเป็นสัญลักษณ์เด่นเห็นได้แต่ไกล ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่พบต้นประแล้ว

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านปากประ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลสาบลำปำ ระหว่างหาดแสนสุขลำปำและทะเลน้อย บ้านปากประอยู่ตอนบนสุดของทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ซึ่งมีคลองปากประเป็นเขตแบ่งระหว่างทะเลน้อย มีถนนสายปากประเชื่อมต่อระหว่างหาดแสนสุขลำปำกับอุทยานนกน้ำทะเลน้อย ห่างจากตัวเมืองพัทลุงมาทางทิศเหนือ ประมาณ 30 กิโลเมตร บ้านปากประมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลสาบ พื้นที่ลาดเทจากทิศตะวันตกไปสู่ชายฝั่งทะเลสายในทิศตะวันออก มีคลองปากประไหลผ่านทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และมีลำน้ำสายเล็กอีก 3 สาย ไหลจากทิศตะวันตกลงสู่ทะเลสาบ พื้นที่ราบของทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะด้านฝั่งตะวันตกเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเหมาะแก่การเกษตร

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จรด คลองปากประ ถัดขึ้นไปเป็นตำบลทะเลน้อย และตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 
  • ทิศตะวันออก จรด ทะเลสาบลำปำ 
  • ทิศตะวันตก บริเวณนี้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ เรียกว่า “ทุ่งคลองปากประ” อยู่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง 
  • ทิศใต้ จรด บ้านวัดป่าลิไลยก์ หาดแสนสุขลำปำ และชุมชนลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง

สภาพภูมิอากาศ

บ้านปากประ มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลที่พัดผ่านประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม มีฝนตกชุก และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย ได้พาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกกันกระแสลมไว้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม มีฝนตกชุก โดยเฉพาะระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ด้วยลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ จึงมีช่วงฤดูฝนที่ยาวนาน ฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี มีฤดูร้อนเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านปากประ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,047 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 507 คน ประชากรหญิง 540 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 387 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านปากประส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำประมง เกษตรกรรม และปศุสัตว์ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น การแปรรูปอาหารทะเล และงานจักสานผลิตภัณฑ์เครื่องใช้จากวัชพืชในท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนที่โด่งดังไกลระดับประเทศ “ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด” ฯลฯ วางจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชนและผ่านช่องทางออนไลน์

การทำเกษตรกรรมส่วนมากเป็นการทำนา โดยที่นาของชาวบ้านปากประนั้นจะแบ่งออกเป็นสองบริเวณ บริเวณแรกเป็นการทำนาในพื้นที่ราบริมทะเล ผลผลิตที่ได้โดยปกติจะนำไปขาย และทำนาในทะเลสาบลำปำเพื่อบริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปลูกผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ เพื่อขายและบริโภค ด้านการประมง เป็นการทำประมงขนาดเล็ก มีการหาสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สัตว์น้ำที่ได้นิยมนำมาแปรรูปตากแห้ง เช่น ปลาลูกเบร่ เพื่อขายและบริโภคในครัวเรือนเช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตร โดยบางครั้งมีพ่อค้าคนกลางเดินทางเข้ามารับซื้อภายในชุมชน ส่วนด้านปศุสัตว์มีการเลี้ยงวัวเนื้อเป็นจำนวนมาก และมีฟาร์มโคนมขนาดเล็กกระจายอยู่หลายครัวเรือน ตามนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนมเพื่อส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานผลิตนมจังหวัดพัทลุง

ปลาลูกเบร่ เป็นปลาน้ำจืด ปลาพื้นถิ่นในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา พบในทะเลสาบสงขลาบางพื้นที่เท่านั้น และพบมากสุดที่คลองปากประ โดยเฉพาะในชุมชนปากประ อนึ่ง บ้านปากประ เป็นหนึ่งชุมชนในโครงการส่งเสริมการยกระดับเมืองรองให้สามารถเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพัทลุง โดยมีการพัฒนาและต่อยอดให้บ้านปากประเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อด้วยระบบปิดแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวประมงและเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ปลาลูกเบร่ลักษณะโดยทั่วไปนั้นมองดูเหมือนปลาซิวแก้ว แต่คนละตระกูล รสชาติก็ต่างกัน ปกติการจับปลาลูกเบร่ชาวบ้านจะใช้วิธียกยอยักษ์ เมื่อจับมาได้จะนำมาตากแห้ง ขายในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 บาท 

นอกจากนี้ ชาวบ้านปากประยังได้ใช้พื้นที่ในชุมชนสร้างที่พักเล็ก ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้สัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ผู้คนในท้องถิ่นได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันบ้านปากประเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน หรือการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low carbon tourism) คำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับสุนทรียะมนต์เสน่ห์แห่งชุมชนและวิถีประมงพื้นบ้าน พร้อมกับจุดไฮไลท์ "ยอยักษ์" เอกลักษณ์คู่ท้องถิ่น เป็นยอขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับจับสัตว์น้ำในทะเลสาบแบบไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับความสวยงามของพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่นับเป็นแหล่งอนุรักษ์ชั้นดีและแหล่งอาหารชั้นเลิศของนานาชีวิต

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ

การถือกำเนิดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายการทำนาปลูกข้าวไว้กินเองเพื่อความมั่งคงทางอาหารของชาวบ้านและเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรในชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มฯ ยังได้มีกิจกรรมเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำนาริมเล วิถีบ้านปากประ ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองสัมผัสวิถีการทำนาริมเลทุกขั้นตอน มีการปลูกต้นลำพู เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เรียนรู้วิถีเล หาปลาลูกเบร่ด้วยยอยักษ์ รวมถึงการชมทุ่งบัวแดง ชมฝูงควายน้ำทะเลน้อย และนกนานาพันธุ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นโดยสมาชิกในกลุ่มเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมการกระจายรายได้แก่ชุมชนอย่างทั่วถึง

บ้านปากประเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 วัด คือ วัดแสงอรุณปากประ อยู่ติดริมชายฝั่งทะเลสาบลำปำ เดิมเป็นสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นสายหนึ่งของวัดเขาอ้อ ตำบลพนางตุง อำเภอ ควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยชาวบ้านปากประได้ร่วมกับทำนุบำรุงสำนักสงฆ์เรื่อยมาจนกระทั่งได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด ภายในวัดมีการประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับเหนือลำเรือหันหน้าออกสู่ทะเลสาบลำปำ ชื่อว่า “เรือทิพย์อนันตนาคราชวิมานองค์ปฐม” ประดิษฐานบริเวณชายฝั่งทะเลด้านหลังวัด เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน เชื่อว่าป้องกันคลื่นลมและมรสุมที่จะเข้ามายังหมู่บ้าน และปกป้องคุ้มภัยแก่ชาวประมง เนื่องจากอาชีพหลักของบ้านปากประทำการประมงเป็นหลัก การออกเรือเพื่อหาปลานับเป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิต เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดมหันตภัยเมื่อใด ชาวบ้านจึงได้นำเอาความเชื่อมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านปากประที่ยึดถือปฏิบัติสืบมาจากบรรพบุรุษ เช่น ประเพณีลากพระหรือชักพระ

ประเพณีลากพระหรือชักพระ

จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี กลางคืนมีการสมโภชพระลาก มีมหรสพการละเล่นต่าง ๆ เช่น เล่นจู้จี้ การเล่นดอกไม้ไฟ เล่นตรวด เล่นโคมลอย แมงขี้ ลูกประทัด ตีกลอง ตีโพน รุ่งเช้าชาวบ้านจะมาร่วมตักบาตรหน้าล้อหรือตักบาตรเทโวและประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้นจึงร่วมกันชักพระนมของวัดคีรีวง โดยใช้คานไม้ขนาดใหญ่รูปพญานาค 2 ท่อน ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม ไม่ใส่ล้อ วางบนพื้น มีซุ้มมณฑปเรือนใหญ่ยอดสวยงาม ประดิษฐานพระลากเก่าแก่ของชุมชน มณฑปนี้มีน้ำหนักมาก ต้องอาศัยคนชักลากจํานวนมากและมีความพร้อมเพรียงกัน มีคนแห่พระให้จังหวะจึงชักไปได้ เมื่อถึงเวลาบ่ายจึงชักพระกลับวัด ทําพิธีสรงน้ำพระลาก เป็นที่ครึกครื้น สนุกสนาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาทำนาริมเลแห่งเดียวในประเทศไทย

บ้านปากประ ตำบลลำปำ จังหวัดพัทลุง ชุมชนริมทะเลสาบลำปำ ชุมชนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีรูปแบบวิถีการทำนาริมทะเลสาบ หรือเรียกว่า ข้าวนาริมเล ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมากว่า 200 ปี ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ พื้นที่ในการทำนาจะทำบริเวณชายฝั่งทะเลสาบลำปำที่ตรงกับพื้นที่หน้าบ้านของตน โดยเว้นระยะระหว่างแปลงนาเป็นคูน้ำขนาดเล็กกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อเป็นเขตแดนของแต่ละแปลงนา และเป็นช่องทางจอดเทียบเรือที่ใช้หาสัตว์น้ำในทะเลสาบด้วย ที่นาหนึ่งแปลงจะเรียกว่าหนึ่งท่อนนา ในแต่ละครัวเรือนจะมีพื้นที่ทำในทะเลสาบเพียงหนึ่งท่อนนา ความยาวของนาแต่ละท่อนนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาณาเขตพื้นที่ของแต่ละครัวเรือน การทำนาในทะเลสาบจะทำเพียงปีละหนึ่งครั้ง ใช้จังหวะช่วงน้ำในทะเลสาบลด เพื่อทำการปักดำปลูกข้าว เพราะช่วงนี้ทะเลสาบจะไม่มีคลื่นลม เรียกว่า ช่วงลมพลัด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ในช่วงเดือนกันยายนนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จ เพราะหลังจากเดือนกันยายนแล้วจะเข้าสู่ช่วงลมนอก ทะเลสาบสงขลาจะมีคลื่นลมแรง หากเก็บเกี่ยวไม่เสร็จข้างจะเสียหายหมด

วิธีการเพาะปลูกนั้นต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวที่เมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง สามารถต้านทานกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้ จึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.33 และพันธุ์ข้าวชัยนาท ผู้ทำนาข้าวในทะเลสาบนั้น จะต้องเตรียมแปลงนาข้าวบริเวณเพาะปลูกเนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่น้ำไม่จมประมาณร้อยละ 30 ก็จะทำการไถกลบหน้าดินเล็กน้อย อีกส่วนที่จมน้ำประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถปักดำได้เลย เนื่องจากเป็นดินเลนและตะกอนที่ทับถม โดยการทำนาริมทะเลสาบของชาวบ้านปากประนี้ นับเป็นวิถีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อนำผลผลิตที่ได้เลี้ยงครอบครัว และยังเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีวิถีการทำนาในรูปแบบนี้ด้วย

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ 

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ภายหลังจากสังคมไทยประสบปัญหาจากการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากเกินไป ซึ่งในระยะหลังส่งผลให้เกิดการสะท้อนกลับในหลายด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรมที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเกิดการตื่นตัวในการกลับมาพึ่งพิงธรรมชาติ ด้านสังคมที่เป็นสมัยใหม่ เน้นความรวดเร็ว เร่งรีบ แข่งขัน อันเป็นเหตุให้เกิดกระแสโหยหาอดีตหรือกระแสการใช้ชีวิตแบบ Slow life รวมถึงการเกิดขึ้นของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูการทำนาริมทะเลสาบของบ้านปากประอีกครั้ง ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ประชาชนบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้ ความสำคัญในการสนับสนุนทางการศึกษาแก่บุตรหลาน ส่งบุตรหลานไปศึกษาในตัวเมืองและกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในรุ่นต่อ ๆ มา จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2550 คนรุ่นหลังซึ่งไปเรียนหรือทำงานในเมืองกลับมายังภูมิลำเนา อันเป็นเหตุให้เกิดกระแสตื่นตัวรักบ้านเกิด ธรรมชาติ และวัฒนธรรมดั้งเดิม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนโดยการชูภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมาอย่างยาวนาน คือ การทำนาริมทะเลสาบ เป็นจุดเด่นและแกนหลักการพัฒนา ตลอดจนมีผลต่อการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

กระแสความสนใจจากภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญให้คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวและเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาการทำนาในทะเลสาบที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชนบ้านปากประมากยิ่งขึ้น อัตราจำนวนประชากรที่หวนกลับสู่วิถีการทำนาในทะเลสาบมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวนาบางรายเล็งเห็นถึงประโยชน์ของแนวป่าโกงกางที่ช่วยขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้สามารถปลูกข้าวลงไปได้ลึกมากขึ้น สามารถทำนาในทะเลสาบได้อย่างที่ และได้ผลผลิตที่งอกงามเป็นจำนวนมาก


กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกพร โชคจรัสกุล. (2566). ภารกิจตามหา ‘ปลาลูกเบร่’ ก่อนที่จะสูญหาย. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.bangkokbiznews.com/

ณรงค์ธร เนื้อจันทา. (ม.ป.ป.). เรื่องเล่า...ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม กรณีศึกษาชุมชนคลองปากประ จังหวัดพัทลุง. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.nia.or.th/

ทอล์คนิวส์ ออนไลน์. (2567). วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ เพาะปลูกบริเวณริมทะเลสาบ บริเวณทดลองที่ดอนข้างทะเลสาบ จัดกิจกรรมเกี่ยวข้าวว่า “เก็บข้าวนาเล เสน่ห์นาดอน”. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จากhttps://www.talknewsonline.com/

บ้านปากประ พัทลุง ท่องเที่ยวเชิงนิเวช. (2566). สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/

ปลาลูกเบร่ปากประ พัทลุง. (2567). สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/

ผู้จัดการออนไลน์. (2566). พารู้จัก “ปลาลูกเบร่” ปลาหายาก จ.พัทลุง กับการเพาะเลี้ยงในบ่อปิดแห่งแรกในไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกรกิโลกรัมละ 700 บาท. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://mgronline.com/

สุธิดา บุณยาดิศัย. (2559). ภูมิปัญญาการทำนาในทะเลสาบของชุมชนบ้านปากประ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

องค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ. (2540). สภาพและข้อมูลพื้นฐานตำบลลำปำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.lampam.go.th/general1.php

ผู้ใหญ่บ้าน บ้านปากประ โทร. 09-1848-5919