หมู่บ้านที่มีความรักความสามัคคี เป็นชุมชนไม่มีมลพิษ วิถีชีวิตชนบท หมู่บ้านพอเพียงต้นแบบ แหล่งเกษตรกรรม มีลำคลองไหลผ่านหมู่บ้าน สามารถส่งน้ำใช้ในการเกษตรได้ทั่วถึง
หมู่บ้านที่มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เต็มไปด้วยหนองและบึงเป็นที่สำหรับเลี้ยงช้าง จนทำให้เรียกติดปากว่า “ท่าช้าง” ต่อมาสภาพหนองบึงเริ่มตื้นเขินจึงมีคนเข้าไปปลูกบ้านอาศัย มองดูแล้วคล้ายบ้านอยู่ในน้ำจึงเรียกว่า “บ้านทับน้ำ”
หมู่บ้านที่มีความรักความสามัคคี เป็นชุมชนไม่มีมลพิษ วิถีชีวิตชนบท หมู่บ้านพอเพียงต้นแบบ แหล่งเกษตรกรรม มีลำคลองไหลผ่านหมู่บ้าน สามารถส่งน้ำใช้ในการเกษตรได้ทั่วถึง
บ้านทับน้ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทับน้ำ อำเภอบางประหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่เป็นราบลุ่ม พื้นที่โดยทั่วไปเต็มไปด้วยหนองและบึง เป็นที่สำหรับเลี้ยงช้างที่ดี ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในยามที่บ้านเมืองสงบนายโขลงช้างจะนำช้างมาเลี้ยงในย่านนี้ทั้งหมด ปล่อยช้างให้กินหญ้าและลงอาบน้ำในบึงแห่งนี้จนทำให้เรียกว่า “ท่าช้าง” ต่อมาสภาพหนองบึงเริ่มตื้นเขินจึงมีคนเข้าไปปลูกบ้านอาศัยดูแล้วเหมือนบ้านอยู่ในน้ำจึงเรียกว่า “บ้านทับน้ำ”
บ้านทับน้ำอยู่ห่างจากอำเภอบางประหันเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 22 กิโลเมตร พื้นที่และอาณาเขตตำบลทับน้ำและตำบลบ้านม้า มีเนื้อที่ประมาณ 15.92 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,954 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านลี่ อำเภอบางปะหัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบางนางร้า อำเภอบางปะหัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอบางบาล
พื้นที่ส่วนใหญ่ อบต.ทับน้ำ เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร อีกทั้งยังมีลำคลองเชื่อมต่อหลายสาย มีสภาพดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การเพาะปลูกทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีน้ำสำหรับทำการเกษตรเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลาง ทำให้มีฤดูกาลคล้ายกับตำบลอื่น ๆ คือ มี 3 ฤดู มีฝนตกชุกตลอดปี ทั้งนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ข้อมูลประชากร จปฐ. (อาศัยอยู่จริง) ปี พ.ศ. 2561 บ้านทับน้ำมีครัวเรือนทั้งหมดที่อาศัยอยู่จริงในหมู่บ้านจำนวน 123 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 370 คน แยกเป็นชาย 169 คน หญิง 201 คน
ศูนย์เรียนรู้โครงการเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก
ปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาได้เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ต.ทับน้ำ และ ต.บ้านม้า ได้รับความเดือดร้อน การฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้นำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มาช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผนทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนดีขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและนอกชุมชนสืบจนปัจจุบัน
กองทุนหมู่บ้าน
กองทุนหมู่บ้านทับน้ำ หมู่ที่ 4 จัดตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 โดยรัฐบาลให้เงินกองทุนหมู่บ้าน ๆ ละ 1,000,000 บาท ตั้งคณะกรรมการบริหารกันเองภายในหมู่บ้าน มีระเบียบของกองทุนหมู่บ้านเป็นกฎในการปฏิบัติร่วมกัน และประธานกองทุนหมู่บ้านคือ คือ นายสำเริง แก้วเฉลิมทอง จำนวนสมาชิก 82 คน จำนวนเงินทุนปัจจุบันของกลุ่ม 2,607,409 บาท มีกิจกรรมการให้กู้ยืมเงิน เพื่อนำไปประกอบอาชีพ มีเงินปันผลจากการดำเนินงานและมีเงินสาธารณประโยชน์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายในหมู่บ้าน พร้อมมีการจัดตั้งบริหารกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
"กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี" เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้เพื่อการพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ และสวัสดิการให้แก่สตรีรวมถึงการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การพัฒนาบทบาทสตรี การสร้างภาวะผู้นำ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิตำบลทับน้ำ
กองทุนแม่ของแผ่นดิน
เป็นความปลาบปลื้มไม่น้อยเลยของชาวบ้านทับน้ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทับน้ำ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับโอกาสอันน่าภูมิใจยิ่งให้เป็นต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินประจำปี 2561 โครงการกองทุนแม่ของแผ่นดินนี้ บังเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหายาเสพติดและพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งผ่านเลขาธิการ ป.ป.ส. เพื่อนำไปมอบให้กับราษฎรอาสาป้องกันภัยยาเสพติดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบกับงบประมาณของสำนักงานฯ จัดทำเป็นกองทุนให้หมู่บ้านและชุมชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้ชื่อโครงการ "กองทุนแม่ของแผ่นดิน" โดยมีพิธีพระราชทานเงินกองทุนแม่ของแผ่นดินครั้งแรกในปี 2547 และมีการดำเนินงาน ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
บ้านทับน้ำ หมู่ที่ ตำบลทับน้ำ อำเภอบางปะหัน เป็นชุมชนตัวอย่างในการดำเนินงานเกี่ยวกับยาเสพติด และกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านทับน้ำได้ดำเนินการด้านการเฝ้าระวัง สอดส่อง ดูแลมาโดยตลอด คนในชุมชนร่วมมือกันระดมความคิด ค้นหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจของชาวบ้าน ที่ทุกคนยินดีปฏิบัติร่วมกันก่อให้เกิดความเสียสละและอยู่อย่างพอเพียง การดำเนินงานจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องดำเนินงานด้วยหลัก 2 ประการ คือ
- ด้านการป้องกัน เน้นที่เยาวชนโดยส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในหมู่บ้านด้วยแนวคิดที่ว่า "เยาวชน คืออนาคตของชาติ" เยาวชนดีชาติดี และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ
- ด้านการเฝ้าระวัง เฝ้าระวังสอดส่อง จัดเวรยามออกตรวจชุมชนเวลากลางคืน และสนับสนุนด้วยการส่งเสริมให้มีความรู้ ประชาสัมพันธ์ถึงโทษภัยของยาเสพติด ส่งเสริมจัดหาแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ ให้โอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน
บ้านทับน้ำ โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นการพัฒนาชุมชนด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นหมู่บ้านที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 6x2 และการจัดระดับการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเกณฑ์ตัวชี้วัดกระทรวงมหาดไทย 4 ด้าน 23 ตัวชี้วัด และการประเมิน "ความอยู่เย็น เป็นสุข" หรือความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน และสร้างสัมมาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง "ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม และมีรายได้มากกว่ารายจ่าย" บ้านทับน้ำเป็นหมู่บ้านที่สมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.) ปี 2561 และได้รับงบประมาณเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ประจำปี 2561
การดำเนินชีวิตโดยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านทับน้ำ ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านมีความอยู่อย่างพอเพียงไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การปลูกพืชผัก การเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง แบ่งปันกัน และที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี และยังได้ปลูกผักสวนครัวหลากหลายชนิด เลี้ยงเป็ดไข่ มีบ่อปลาตามธรรมชาติ ที่สำคัญคลองทับน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำเพื่อการเกษตรและปลานานาชนิด ซึ่งคลองทับน้ำ นับเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านทับน้ำเป็นอย่างดี มีการอนุรักษ์บ้านเรือนแบบเรือนไทย มีการจัดบ้านเรือนสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการกำจัดขยะมูลฝอย การดูแลสถานที่สาธารณะ การอนุรักษ์ดูแลคลองทับน้ำให้น้ำใสสะอาดกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในคลองให้สะอาด และบ้านทับน้ำหมู่ที่ยังได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถีประจำปี 2561 และหัวใจสำคัญของชาวบ้านยังมีความรัก ความสามัคคี มีความเอื้ออารีต่อกัน มีการยึดถือขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษได้อย่างเหนียวแน่นในการดำรงชีวิตแบบวิถีไทย วิถีพอเพียง โดยมีนายสำเริง แก้วเฉลิมทอง กำนันตำบลทับน้ำ นายกฤตภพ เฉื่อยฉ่ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำโซนบ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำฝ่ายท้องถิ่นและท้องที่ เป็นผู้ประสานให้บ้านทับน้ำ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และมั่งคั่ง ตลอดไป ดังคำขวัญของชาวบ้านทับน้ำ "ไม่มีเงิน ก็อยู่ได้"
1.นางปราณี หงส์ทองคำ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนตำบลทับน้ำ เกิดเมื่อปี 2498 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นผู้มีจิตใจเสียสละ อาสาเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน/ตำบล ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชนในหมู่บ้าน/ตำบล พัฒนาหมู่บ้าน ปรับปรุงภูมิทัศน์ทำความสะอาดบริเวณที่สาธารณะ วัด โรงเรียน เป็นแกนหลักในการดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ อีกทั้ง ยังมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ และยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นอย่างดี เป็นผู้ผ่านระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.) ประจำปี 2552 ประเภทผู้นำคติประจำใจในการทำงาน "เสียสละ รักษาเวลา รู้หน้าที่"
ทุนวัฒนาธรรม
วัดผึ่งแดด
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมี "วัดผึ่งแดด" และปูชณียวัตถุ คือ หลวงพ่อแพร เป็นที่เคารพเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้านทับน้ำ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน มีสถาปัตยกรรม หรือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความรอบรู้ ความสามารถความคิดและจิตใจของชาวพุทธบ้านทับน้ำได้เป็นอย่างดี เช่น ศาลาท่าน้ำ มีแพปลาสำหรับให้อาหารปลา เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตย มีศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น เหมือนภาคกลาง
ประเพณีวัฒนธรรม
- ประเพณีสงกรานต์ มีการสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ
- ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี การทำพิธีกวนข้าวทิพย์ จะประกอบด้วยการนำ ผลไม้ นม ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำตาล กะทิ หรือของที่ใช้ได้ ผลไม้ โดยในพิธีจะมีพระสงฆ์ทำการสวดเจริญพระพุทธมนต์ มีนางฟ้า 4 องค์ โดยคัดเลือกจากสาวพรหมจารีย์ทำการโปรยข้าวตอกดอกไม้ ลงบนส่วนประกอบต่าง ๆ ก่อนนำส่วนประกอบลงไปกวนรวมกันในกระทะเมื่อกวนเสร็จแล้วนำมาถวายพระในวันวิสาขบูชา ส่วนที่เหลือจะแจกจ่ายให้กับประชาชนนำไปรับประทานเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต มีพิธีเวียนเทียน
ทุนธรรมชาติ
คลองทับน้ำ นับเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านทับน้ำเป็นอย่างดี เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งมีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ด้วยบ้านทับน้ำเป็นพื้นที่ราบลุ่มทำให้มีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการปลูกผักสวนครัว ปลูกมันเทศ การเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะท่วมเป็นประจำ
จากปัญหาทางสิ่งแวดล้อมประกอบกับประชากรในการทำการเกษตรมีจำนวนมากจึงนำมาสู่การขาดแคลนน้ำที่ใช้ในทางการเกษตร หรือในทางกลับกันจากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม หากมีน้ำมากก็จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่นาและพืชผักของชาวบ้านจนเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและนำไปสู่รายได้ทางการเกษตรที่ลดลง
เนื่องจากแถบนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงมักประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เช่น ในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
พาขวัญ ทองรักษ์ และคณะ. (2560). การพัฒนากระบวนการผลิตข้าวเกรียบมันเทศ สู่การผลิตเชิงพาณิชย์โดยชุมชนมีส่วนร่วม. Area Based Development Research Journal, 9(4), 242-256.
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางปะหัน. (2561). หมู่บ้านสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ( Information of Village for Life Quality Development ). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://ayutthaya.cdd.go.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลทับน้ำ. (2561). แผนจัดการความรู้ในองค์กร อบต.ทับน้ำ (Knowledge Management : KM). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมพาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://tubnum.go.th/