Advance search

สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวไทพวนดั้งเดิมที่อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและเรียนรู้ เช่น สารทพวน ประเพณีกำฟ้า รวมถึงด้านศิลปะการแสดง การฟ้อนไทพวน และ "ขนมคาบหมู" ขนมที่ไม่ที่ไหนเหมือน

หนองแสง
ปากพลี
นครนายก
อบต.หนองแสง โทร. 0-4218-0811
ปรวีย์ ทามะศิริ
13 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
18 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
20 ก.พ. 2024
บ้านบุ่งเข้

ตามคำบอกเล่า เดิมชุมชนนี้ตั้งอยู่บนหุบเขาบริเวณเขาใหญ่ที่บุคคลทั่วไปนิยมเรียกว่า บ้านดง ต่อมาทางการได้กั้นเป็นเขตป่าสงวน จึงทำให้ชาวบ้านย้ายมาตั้งถิ่นฐานใกล้กับหนองน้ำ มีลักษณะเป็นบุ่ง และมีจระเข้อาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อให้และเรียกขานกันมาตั้งแต่นั้น


สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวไทพวนดั้งเดิมที่อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและเรียนรู้ เช่น สารทพวน ประเพณีกำฟ้า รวมถึงด้านศิลปะการแสดง การฟ้อนไทพวน และ "ขนมคาบหมู" ขนมที่ไม่ที่ไหนเหมือน

หนองแสง
ปากพลี
นครนายก
26130
14.24297
101.31445
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสง

ชุมชนบ้านบุ่งเข้ เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ท่องเที่ยงเชิงเกษตร ตามแนววิถีพอเพียงผสมผสานกับวิถีชีวิตของไทยพวนบ้านบุ่งเข้ที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมากว่า 160 ปี จากคำบอกเล่าของผู้นำชุมชนบอกว่า ชาวไทพวนครอบครัวแรกที่มาตั้งถิ่นฐานทำกินที่บ้านบุ่งเข้ คือ "ลุงนิ่ม กัณหา"

บ้านบุ่ง (บึง) เข้ เป็นชุมชนไทพวนที่ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามวิถีไทพวนดั้งเดิม คนพวนบ้านบุ่งเข้ยังยืดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานไทพวนจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกลุ่มคน 3 วัยที่จัดตั้งขึ้น  วัยแรก คือ "วัยถ่ายทอด" เป็นผู้สูงวัยในชุมชน ทำหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี ภาษาไทพวนสู่คนรุ่นลูก รุ่นหลาน วัยสอง คือ "วัยเรียนรู้" คือผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 - 60 ปี และสาม "วัยสืบสาน" เป็นวัยที่จะต่อยอดความรู้ให้แก่คนในชุมชนร่วมกับปราชญ์ชุมชน

การเดินทางเข้าสู่ตำบล ทางรถยนต์นับเป็นทางที่สะดวกที่สุด โดยออกจากขนส่งสายเหนือ สายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ไปลงที่ตัวจังหวัดนครนายก แล้วต่อรถสองแถวจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายตะวันออก ซึ่งจะผ่านที่ว่าการอำเภอปากพลี จากนั้นประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ในตำบลเส้นทางในช่วงนี้ซึ่งแยกจากอำเภอจะเป็นดินลูกรังตลอดสาย

ภายในแต่ละหมู่บ้าน มีถนนเล็ก ๆ ตัดผ่าน สามารถที่จะติดต่อซึ่งกันและกันได้โดยสะดวก นอกจากนั้นชาวบ้านยังติดต่อกับตัวอำเภอปากพลี หรือตัวจังหวัดได้โดยอาศัยรถส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถจักรยานยนต์ หรือจะอาศัยรถสองแถวที่วิ่งเข้าออกภายในหมู่บ้านทุกวันตั้งแต่เข้าจรดเย็น

ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่จัดเป็นแบบครอบครัวขยาย ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก หลาน และญาติสูงอายุ ทุกคนในครอบครัวจะอยู่ร่วมกัน โดยที่อาจจะอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน หรืออาจจะอาศัยอยู่ภายในบ้านเขตรั้วเดียวกัน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกันจะต้องช่วยกันทำกิจการ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ ก็จะทำหน้าที่ช่วยเหลือครอบครัวด้วยการเลี้ยงดูลูกหลาน สภาพสังคมจึงยังคงเป็นสังคมแบบเกษตรกรรมอยู่ และเป็นระบบที่ญาติพี่น้องภายในครอบครัวมีความผูกพันกันมาก แต่ถึงแม้ว่าลักษณะของครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นแบบครอบครัวขยาย แนวโน้มของการที่จะกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวก็มีมากขึ้น

ไทยพวน

องค์กรชุมชน

ส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในสังคมของหนองแสง ชาวบ้านในตำบลส่วนใหญ่เป็นพวน แม้ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ มีการทำบุญทางศาสนา แต่ก็ยังมีความเชื่อถือและยึดมั่นในเรื่องผีสางเทวดา และประเพณีที่ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำรวมกัน เช่น ประเพณีแห่นางแมว ประเพณีบุญข้าวจี่ 

ด้านกลุ่มอาชีพ

อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้าน คือ การทำนา เกษตรกร อาชีพรอง คือ รับราชการ และค้าขาย อาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่อยู่ในทัศนคติของชาวบ้านมาก ชาวบ้านเริ่มสนับสนุนลูกหลานให้รับราชการ เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ดีกว่าการที่จะต้องมานึ่งทำไร่ทำนา ส่วนอาชีพค้าขายเป็นอาชีพที่ทำรายได้ที่สุด เช่น ร้านขายขนมเด็กและน้ำหวาน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายเครื่องใช้ต่าง ๆ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.นายนำ ผลพิรา เป็นอดีตผู้ใหญ่หมู่ที่ 8 ในระหว่างที่เป็นผู้ใหญ่บ้านนี้ รู้สึกว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี บางคนต้องการให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป มีการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น ให้มีการบูรณะถนนเข้าหมู่บ้าน สร้างฝาย

2.วิชาญ วัฒนวิเชียร เป็นอดีตผู้ใหญ่หมู่ที่ 8 บอกว่าความตั้งใจในการเป็นผู้ใหญ่บ้านของที่นี่มาจากความคิดที่ว่าต้องการสร้างเด็กหลังเขาให้มานั่งแถวหน้า ผู้ใหญ่คิดถึงเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงต้องใช้กองทุนด้วยเงินส่วนตัวเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538  ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ผู้ใหญ่วิชาญ วัฒนวิเชียร ได้ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นทั้งภายในบ้านบุ่งเข้และหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลหนองแสง โดยทางผู้ใหญ่จะพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมชุมชนโดยรอบด้วยรถพ่วง พร้อมกับจัดกิจกรรมให้ได้ทำกัน

ทุนวัฒนธรรม

ประเพณีสารทพวน แสดงให้เห็นถึงพิถีพิถันในการทำงาน ความมีน้ำใจความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน ช่วยเหลือกัน และแสดงความกตัญญูต่อพื้นดินทำกิน โดยที่ชาวบ้านจะนำกระยาสารทพร้อมอาหาร คาวหวาน ไปทำบุญที่วัด ก่อนเสร็จพิธีจะนำกระทงห่อใบตองที่ใส่อาหารคาว หวาน ไปไหว้ที่โคนต้นไม้ให้บรรพบุรุษ สัมภเวสี หรือผีไม่มีญาติ มีการกรวดน้ำ และการไหว้ผีย่าผีเทียงในช่วงเช้ามืด เพราะเชื่อว่าคนในบ้านจะไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยอีก

ประเพณีแห่บั้งไฟ เป็นพิธีกรรมการขอฝนเชื่อกันว่าจะไปถึงสวรรค์ที่เทวดา (พระยาแถน) อยู่เทวดารู้ได้ด้วยญาณว่าชาวบ้านเตือนเพื่อขอฝนก็จะบันดาลให้ฝนตกลงมา โดยก่อนจะแห่บั้งไฟต้องขอฤกษ์บวงสรวงของศาลปู่ตาก่อนว่าจะมีการประกอบพิธีกรรมขอฝน หลังจากนั้นจะมีการแห่โดยมีขบวนนางรำ และจุดบั้งไฟ

วัดป่าศรีถาวรนิมิต เป็นสำนักปฏิบัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดนครนายก มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ รายล้อมด้วยภูเขาน้อยใหญ่มีต้นไม้ยืนต้นมากมายบรรยากาศดีเงียบสงบร่มรื่น นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจในบริเวณวัด คือ สวนพุทธตยา และเจดีย์หลวงบรมธรรม ซึ่งมีทั้งหมด 3 ชั้น ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 ประดิษฐานพระพุทธมั่นมงคลวนาสมัย
  • ชั้นที่ 2 พระแก้วมรกตจำลองและพระพุทธเจ้าหลวงใหญ่ดำ
  • ชั้นที่ 3 พระบรมสารีริกธาตุ และบริเวณรอบวัดก็ยังมีมณฑปศิลปะไทยล้านนาสูง 3 ชั้น

ภาษาพวน หรือภาษาลาวพวน เป็นภาษาในตระกูลขร้า-ไท ที่มีผู้พูดในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา โดยเป็นภาษาของชาวไทพวน หรือลาวพวน คำศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานมากกว่าภาษาไทยภาคกลาง เป็นภาษาที่ใกล้เคียงกันกับภาษาภูไทมาก


จากที่ใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามามีบทบาทสำคัญส่งผลต่อความใกล้ชิดสมานสามัคคีของคนในชุมชนนับวันจะห่างเหิน เพราะกิจกรรมที่พึ่งพาอาศัยกันระหว่างเพื่อนบ้านถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร


คนพวนบ้านบุ่งเข้ยังยืดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานไทพวนจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงประเพณีหรือความเชื่อบางอย่างเริ่มสูญหายเพราะวิถีชีวิตของชาวไทยพวนปรับตามวิถีสังคมปัจจุบัน

ขนมคาบหมู หรือแคบหมู เป็นขนมโบราณของไทยพวนหากินยาก และหากินได้ที่ชุมชนบ้านบุ่งเข้ หลายๆ คนคงสงสัยว่าหมูเรามักจะทำเป็นของคาวแล้วทำไมถึงมาเป็นขนมได้ ด้วยสูตรที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษชุมชนบ้านบุ่งเข้ ในขนมนี้มีส่วนผสมของหมูสับที่ถูกเคี่ยวให้เหลืองจากนั้นใส่แป้งข้าวเจ้า และน้ำกะทิ เติมความหวานเล็กน้อยด้วยน้ำตาลปี๊บกวนให้เข้ากันจนแห้งและใส่ถั่วลิสงลงไป หลังจากนั้นตักขึ้นใส่ห่อใบตองโรยหน้าด้วยหอมเจียว ทิ้งไว้สักพักให้แห้งหลังจากนั้นก็กินได้เลย รสชาติหวานมันคล้ายขนมหม้อแกง

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชามนุษยวิทยา ปีการศึกษา 2518. (2518). การศึกษาสภาพสังคมตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ปิยวดี มากพา. (2560). นาฏศิลป์สร้างสรรค์กับการเผยแพร่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชาวไทยพวน บ้านบุ่งเข้ ต.หนองแสง อ.ปากพลี จ.นครนายก. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 19(1), 72-81.

ผู้จัดการออนไลน์. (2562). เที่ยวต่อไม่ต้องรอนายกฯ ไป "นครนายก" นั่งรถรางสุขใจ กินขนมพื้นบ้านไทยพวนที่ “บ้านบุ่งเข้”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/

อาสาพาเที่ยว. (2562). พาสัมผัส วิถีชุมชน ชาวบุ่งเข้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://th.readme.me/

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแสง. (2560). บ้านบุ่งเข้ ต้นแบบความสุขบนความพอเพียง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://nong-saeng.go.th/

อบต.หนองแสง โทร. 0-4218-0811