ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนเพื่อเข้ามาแสวงหาที่ทำกิน สร้างอาชีพ และลงหลักปักฐานในเมืองสงขลา ที่กำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงในสังคมเมือง
ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวของผู้คนเพื่อเข้ามาแสวงหาที่ทำกิน สร้างอาชีพ และลงหลักปักฐานในเมืองสงขลา ที่กำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงในสังคมเมือง
ชุมชนกุโบร์ เดิมมีชื่อเรียกว่า หมู่บ้านนาลึก พื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นป่าเสม็ด เริ่มแรกมีกลุ่มคนเข้ามาอยู่อาศัยกันเพียงไม่กี่หลังคาเรือน โดยอยู่รวมกันแบบกลุ่มเครือญาติ โดยมีนายก้าน เป็นผู้นำชุมชน ระยะต่อมาเมืองสงขลาเริ่มมีความเจริญมากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัย แสวงหาพื้นที่ทำกิน และตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนอย่างถาวร จนกลายเป็นชุมชนที่ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ชุมชนบ่อหว้า ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนต้นข่อย ชุมชนภราดร และบริเวณบ้านหลา-กลาง ในพื้นที่บางส่วนของถนนไทรบุรี ซอย 27 ถึง ซอย 19 (ซอยบ้านหม้อ) และซอยดิฉัน ก่อนที่จะมีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ในปัจจุบัน
ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2523 หลังจากหยุดเส้นทางเดินรถไฟที่สถานีสงขลา การรถไฟทำการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านได้เช่าอยู่อาศัย แบบมีสัญญาเช่า และประชากรในหลายชุมชนถูกไล่ที่จากการบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของการรถไฟก่อนหน้า โดยไม่มีสัญญาเช่า ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างการรถไฟและชุมชนเรื่อยมา
ในปี พ.ศ. 2527 เทศบาลนครสงขลาได้จัดระเบียบการปกครองใหม่ โดยจัดตั้งบริเวณพื้นที่ชุมชนขึ้นมาใหม่เป็นชุมชนกุโบร์ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ ถนนไทรบุรี ซอย 11 ถึงชุมชนคลองสำโรง ในระยะต่อมาจึงได้มีการแบ่งเขตพื้นที่ชุมชนอีกครั้งตามพัฒนาการของเมือง โดยแบ่งพื้นที่ชุมชนกุโบร์เดิมแยกออกเป็นอีก 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนภราดร ชุมชนมิตรเมืองลุง และชุมชนสมหวังในปัจจุบัน
ชุมชนกุโบร์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา บริเวณชุมชนมีพื้นที่ทั้งหมด 66,398.90 ตารางเมตร สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ใกล้กับทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองขนาดใหญ่ ประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นในบริเวณโดยรอบ ชุมชนกุโบร์มีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี ซอย 19
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนไทรบุรีซอย 27
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนริมทางรถไฟ (4)
ชุมชนกุโบร์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองขนาดใหญ่ อยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว ระบบเครือญาติ ขนาดประชากรในชุมชนค่อนข้างหนาแน่น และมีความแออัด โดยมีจำนวนครัวเรือนอยู่รวมกันทั้งหมด 787 ครัวเรือน มีประชากรชายทั้งหมด จำนวน 988 คน ประชากรหญิงทั้งหมด จำนวน 1,199 คน รวมจำนวนประชากรในชุมชนทั้งสิ้น 2,187 คน
ชุมชนกุโบร์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ อยู่ในสังคมเมืองที่มีความเจริญ และสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดี ประกอบกับเป็นชุมชนที่มีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ทำให้แต่ละครอบครัวมีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไป และมีความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ โดยมีอาชีพหลักของครัวเรือนส่วนใหญ่คือ อาชีพข้าราชการ และอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และประชากรบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ประชากรส่วนหนึ่งในชุมชนยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในพื้นที่เมืองสงขลา โดยชุมชนกุโบร์มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 157,102 (บาท/ปี) และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 79,434 (บาท/ปี) ซึ่งมีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นแหล่งทุนสนับสนุนชุมชน
เนื่องจากชุมชนกุโบร์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา วิถีชีวิตของประชากรในชุมชนนอกจากจะดำเนินไปตามลักษณะการประกอบอาชีพของแต่ละกลุ่มอาชีพแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ของทางจังหวัดที่จัดขึ้นตามประเพณีเทศกาลในช่วงเวลาแต่ละรอบปี ซึ่งชาวชุมชนกุโบร์ และประชาชนชาวสงขลาโดยทั่วไปก็ให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น
- ประเพณีลอยกระทง
- ประเพณีชักพระ (เทศบาลนครสงขลา)
- ประเพณีสงกรานต์ (เทศบาลนครสงขลา)
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2525) กำหนดให้สงขลาเป็นเมืองหลักในภูมิภาค ทำให้เกิดอุตสาหกรรมประมงขึ้น มีการจัดตั้งสถานีประมงทะเลที่สงขลา และภูเก็ต ตามนโยบายพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งเกิดองค์กรต่าง ๆ ที่สนับสนุนธุรกิจประมงในจังหวัดสงขลา
ธุรกิจประมงพาณิชย์และประมงต่อเนื่อง เริ่มเติบโตเป็นธุรกิจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์เรือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำทางทะเล รวมไปถึงการกู้เงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีเรือประมงจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ เมื่อปี 2539-2540 กรมประมงคาดว่ามีเรือประมงพาณิชย์ที่สงขลามากถึง 1,300 ลำ มีทั้งเรือขนาดเล็ก และเรือขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมประมงดึงดูดแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแรงงานจากเมืองรอบนอกสงขลาเข้ามาทำงานในเมืองสงขลา
ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 สงขลาเป็นหนึ่งในสิบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียน จึงมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มีแผนในการสร้างเส้นทางในจังหวัดสงขลา 2 เส้นทาง คือ 1. เส้นทางสุราษฎร์ธานี-สงขลา 2. เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และมอเตอร์เวย์ ทำให้จากเมืองอุตสาหกรรมการประมง ผันตัวไปเป็นเมืองท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ
ปัจจุบัน เรือประมงกว่าครึ่งที่เคยประกอบธุรกิจประมงในช่วงอุตสาหกรรมการประมงเติบโต หยุดเดินเรือและจอดนิ่งสนิทอยู่กับฝั่งรอวันผุพังอย่างไม่น่าเชื่อ เจ้าของเรือจำนวนมากยอมเลิกกิจการ เพราะผลพวงจาก “ใบเหลือง” ที่สหภาพยุโรป (EU) มอบให้รัฐบาลไทยเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการต่อการทำประมงผิดกฎหมาย และซ้ำร้ายเมื่อรัฐบาล คสช. เร่งรัดออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด เพื่อให้ “ใบเหลือง” ถูกปลดออก แต่ก็กลับทำลายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของไทยทุกระดับแทน
จากการเกิดอุตสาหกรรมการประมงในจังหวัดสงขลา ทำให้แรงงานจากพื้นที่ต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียง หลั่งไหลเข้ามายังจังหวัดสงขลา บุกเบิกที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ และลงหลักปักฐานในพื้นที่ หลังจากที่หยุดเส้นทางการเดินรถไฟในพื้นที่เมืองสงขลาไปแล้ว ผู้คนเข้ามาจับจองพื้นที่และประกอบอาชีพจนสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้ แต่หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประมง ทำให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพนี้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จากชีวิตที่ย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่อื่นและสร้างครอบครัว มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จากการเดินเรือไม่เคยขาดมือ กลับต้องมาเป็นลูกจ้างที่รายได้ไม่มั่นคงอย่างไม่มีทางเลือก
บ้านเรือนที่ปลูกสร้างขึ้นตลอดแนวรถไฟสายเก่าผ่านตัวเมืองสงขลา กลายเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ใจกลางเมืองมานานนับหลายสิบปี เมื่อมีสถานะเป็นผู้บุกรุกที่ดินรถไฟ พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ถูกพัฒนาหรือบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น นอกจากไม่ได้รับการพัฒนาจากท้องถิ่นแล้ว ยังมีการพยายามไล่รื้อชุมชนออกไปจากพื้นที่การรถไฟฯ เพราะขัดขวางการพัฒนาเมือง
การไล่รื้อชุมชนแออัดที่มีความหนาแน่นประสบความสำเร็จ 3 ชุมชน คือ ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนวัดชัยมงคลย้ายไปอยู่พื้นที่รถไฟแถบชานเมือง คือ ชุมชนกุโบร์ โดยแลกกับการให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ช่วงปี พ.ศ. 2530-2540 เป็นช่วงเศรษฐกิจประเทศรุ่งเรือง ที่ดินมีมูลค่าในการลงทุน เป็นยุคที่ชาวชุมชนแออัดเผชิญกับการไล่รื้อที่รุนแรงและต่อเนื่อง ชาวชุมชนแออัดในสงขลาได้รับผลกระทบจากการพยายามไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่การรถไฟมาโดยตลอด รวมทั้งชุมชนกุโบร์ด้วย
ยุคแรกที่คนในชุมชนแออัดสงขลาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัย เพราะมีการไล่รื้อพื้นที่ที่เข้มข้น ตำนานการต่อสู้พลิกภาพลักษณ์และสร้างพื้นที่อำนาจของคนจนเมืองสงขลา คือ ชุมชนเก้าเส้ง ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนหลังอาชีวะ ชุมชนคลองสำโรง ชุมชนกุโบร์ ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่ต่อมาได้เป็นกลไกเชื่อมกับชุมชนอื่น ๆ ที่เผชิญสถานการณ์ไล่รื้อเข้ามาต่อสู้และร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันชุมชนแออัดเมืองสงขลามีประเด็นการต่อสู้ร่วมกัน คือ การเรียกร้องที่อยู่อาศัยทั้งในด้านการผลักดันนโยบาย รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรชุมชนแออัดและเครือข่ายในระดับพื้นที่ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านในชุมชนแออัดสงขลากับเครือข่ายด้านที่อยู่อาศัยระดับชาติ 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ชุมชนแออัดมีสถานะในการเป็นผู้เช่าที่ดินรถไฟเพื่อการอยู่อาศัย มีชุมชนที่เซ็นสัญญาเช่ากับการรถไฟ โดยมีสัญญาเช่า 30 ปี ต่อสัญญาทุก 3 ปี
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนกุโบร์ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
Theactive. (2564). บ้านหลังสุดท้าย: ชีวิตเล็ก ๆ กลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง. Theactive Thai PBS. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://theactive.net/