Advance search

บางเหี้ย

มอญบางเหี้ย

ชุมชนที่มีการผสมผสานหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น จีน มอญ ไทย

คลองด่าน
บางบ่อ
สมุทรปราการ
พิมพ์มาดา คำกองแก้ว
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
20 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
20 ก.พ. 2024
บางเหี้ย
มอญบางเหี้ย

เหตุที่ชุมชนนี้เรียกบางเหี้ย หากดูตามตำนานพื้นบ้านจะมีเรื่องเล่าอยู่ว่า “ครั้งหนึ่งที่บ้านบางเหี้ยมียายแก่คนหนึ่งชื่อ ยายหอม มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงเอาทองที่สะสมไว้ไปหล่อหลอมเป็นรูปเหี้ยให้ลูกหลานเล่น แล้ววันหนึ่งเหี้ยทองคำก็ได้วิ่งหนีเด็กๆลงน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียก บางเหี้ย ” (อ้างอิงจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ฆ่าควายสังเวยผีปู่ตา เซ่นตะกวดบูชาบรรพบุรุษ) แต่ถ้าอ้างอิงจากสภาพแวดล้อมของชุมชนมอญบางเหี้ย จะพบว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา จึงมีเหี้ยอาศัยอยู่มาก


ชุมชนที่มีการผสมผสานหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็น จีน มอญ ไทย

คลองด่าน
บางบ่อ
สมุทรปราการ
10550
ทต.คลองด่าน โทร. 0-2330-2011
13.5072002
100.8352385
เทศบาลตำบลคลองด่าน

ชุมชนมอญบางเหี้ย เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 250 ปี ปัจจุบันตั้งอยู่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ชุมชนนี้เกิดจากการขยายตัวของคนเชื้อสายมอญเก่าแก่จากพระประแดงที่อพยพมาจากพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จึงมาตั้งรกรากชุมชนคลองมอญ อยู่ริมแม่น้ำบางเหี้ย ฝั่งตะวันตกที่แยกออกจากคลองสําโรง โดยมีวัดมอญหรือวัดสร่างโศกเป็นศูนย์กลางของชุมชนคลองมอญ และอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่เป็นจํานวนมากในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกเช่นกัน ซึ่งคนเชื้อสายจีนกลุ่มนี้น่าจะมีความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับพระยาตากสินที่มีเชื้อจีนเหมือนกัน เพราะตามหลักฐานเส้นทางเดินเรือพื้นที่ชุมชนบางเหี้ยก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การต่อเรือที่พระยาตากหยุดรวมพลก่อนยกทัพเข้าทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา จากหลักฐานแผนที่โบราณ มีการตั้งศาลเจ้าจีน วัดปากอ่าว หรือวัดสว่างอารมณ์เป็นศูนย์กลางของการตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางเหี้ย เหตุที่ชุมชนนี้เรียกบางเหี้ย หากดูตามตำนานพื้นบ้านจะมีเรื่องเล่าอยู่ว่า “ครั้งหนึ่งที่บ้านบางเหี้ยมียายแก่คนหนึ่งชื่อ ยายหอม มีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติมากมายจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงเอาทองที่สะสมไว้ไปหล่อหลอมเป็นรูปเหี้ยให้ลูกหลานเล่น แล้ววันหนึ่งเหี้ยทองคำก็ได้วิ่งหนีเด็กๆลงน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียก บางเหี้ย” (อ้างอิงจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ฆ่าควายสังเวยผีปู่ตา เซ่นตะกวดบูชาบรรพบุรุษ) แต่ถ้าอ้างอิงจากสภาพแวดล้อมของชุมชนมอญบางเหี้ย จะพบว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา จึงมีเหี้ยอาศัยอยู่มาก และเนื่องจากคำว่า เหี้ย เป็นคำหยาบและดูอัปมงคล ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างคลองบางเหี้ยเป็นคลองด่าน และตำบลบางเหี้ยเป็นตำบลคลองด่าน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเหตุที่ได้ชื่อว่า คลองด่าน น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่พื้นที่บริเวณประตูน้ำบางเหี้ยนั้นมีด่านเก็บภาษีเรือที่ผ่านเข้าออกผ่านคลองที่ไหลจากทิศเหนือของตำบลลงสู่อ่าวไทย

ชุมชนมอญบางเหี้ยหรือที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นคลองด่าน อยู่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แบ่งพื้นที่คลองด่านเป็น 2 เขต คือ เขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน และเขตเทศบาลตำบลคลองด่าน มีเนื้อที่ประมาณ 5.75 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางตะวันออกของจังหวัด และภาคกลาง ของประเทศ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 55 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบางเพรียง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน และติดทะเลบางส่วน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบล
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลบางปู

ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และน้ำทะเลท่วมถึง มีลำคลองไหลผ่านกลางพื้นที่ และถนนสุขุมวิทตัดผ่านตลอดแนวเขตเทศบาลจากทิศตะวันออกจนสุดเขตทิศตะวันตก ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณสองฝั่งของถนนสุขุมวิท และสองฝั่งคลองด่านที่เป็นเส้นทางสัญจรออกสู่ทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงและค้าขาย

ลักษณะภูมิอากาศ สภาพอากาศเป็นแบบร้อนชื้นแถบชายทะเล ฤดูร้อนมีความชื้นสูง เนื่องจากอิทธิพลของลมทะเลและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนมีฝนตกชุกหนาแน่น ฤดูหนาวอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30.60 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 26.60 องศาเซลเซียส

บางเหี้ย มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 4,174 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 8,605 คน แบ่งออกเป็น ประชากรชาย 3,796 คน และประชากรหญิง 4,809 คน โดยลักษณะคนในชุมชนจะมีทั้งกลุ่มคนเชื้อสายจีน มอญ และไทย

จีน, มอญ

ปัจจุบันกลุ่มคนดั้งเดิมที่สืบทอดความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังคงความสัมพันธ์ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ในระดับปัจเจกหรือเฉพาะในกลุ่มเครือญาติ การรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือหรือทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะกลุ่มเพื่อรับผลประโยชน์ร่วมกัน หรือผลประโยชน์สาธารณะยังไม่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มพลังเพื่อการพัฒนาหรือการแก้ไข้ปัญหาใด ๆ ของชุมชน จากข้อมูลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าบุคคลต่าง ๆ ในชุมชนคลองด่านมีความสัมพันธ์กันอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ในแนวราบและความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง 

ในแนวราบนั้นเป็นความสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพในลักษณะของการให้ข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนของสินค้า และการช่วยเหลือในยามวิกฤตโดยเฉพาะกลุ่มที่ประกอบอาชีพประมงทางทะเลที่ต้องออกไปเสี่ยงภัยกลางทะเลร่วมกัน จะมีการติดต่อสื่อสารและการช่วยเหลือกันในลักษณะนี้สูง ขณะเดียวกันในความสัมพันธ์ในแนวราบนี้ก็มีการจัดระดับความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ แตกต่างกันด้วย โดยจะมีการเลือกให้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะอย่างกับกลุ่มเฉพาะกลุ่มที่ระดับความสัมพันธ์แตกต่างกัน เช่น การให้ข้อมูลข่าวสารทั่วไปก็จะให้กับทุกกลุ่ม แต่ถ้าเป็นข้อมูลข่าวสารเดียวกับผลประโยชน์ในอาชีพ เช่น การพบแหล่งปลาชุมก็จะให้เฉพาะกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น 

สำหรับความสัมพันธ์ในแนวดิ่งนั้นยังคงมีอยู่และมีความเข้มแข็งมาก คือ กลุ่มผู้ประกอบการประมงทะเลน้ำตื้นและทะเลน้ำลึกที่ต้องพึ่งพาทุนหรือสินเชื่อ เพื่อการประกอบอาชีพจากเจ้าของกิจการที่ใหญ่กว่าหรือเรียกว่า “เถ้าแก่” หรือ “เฮีย” หรือ “เจ้” ผู้ให้กู้ยืมทุนและหักลบหนี้กันไป นอกจากนี้แล้วผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่เหล่านี้ มักเป็นผู้สร้างงานทำให้เกิดการจ้างแรงงานในชุมชน เช่น ลูกจ้างในโรงต้มหอย ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกมีความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพากันอยู่มาก จึงทำให้บุคคลที่เป็นแหล่งทุนหรือที่พึ่งพาของบุคคลในชุมชนเหล่านี้ กลายเป็นผู้นำตามสถานการณ์และเป็นที่เกรงใจของคนในชุมชนที่เข้ามาพึ่งพิง

กลุ่มอาชีพ ได้แก่

  1. กลุ่มพัฒนาอาชีพแม่บ้านคลองด่าน
  2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่าน

  • ประเพณีนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
  • ประเพณีนมัสการปิดทองหลวงปู่ปาน ประมาณเดือน ตุลาคม–พฤศจิกายน 

1.พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน)

หลวงพ่อปาน เป็นชาวตำบลบางเหี้ย (ตำบลคลองด่านในปัจจุบัน) เกิดปี พ.ศ. 2368 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายปลื้มกับนางตาล มีเชื้อสายจีนทั้งสองคน เมื่อโตขึ้นได้เรียนหนังสือที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แล้วบวชเป็นสามเณรโดยมีพระศรีสากยบุตร (เซ่ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ภายหลังได้ลาสิกขาบทเพื่อกลับมาช่วยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดอรุณราชวราราม โดยมีพระศรีสากยบุตร (เซ่ง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ปรากฏฉายาแน่ชัด (บ้างว่าติสฺสโร บ้างว่าอคฺคปญฺโณ) ท่านอยู่ศึกษากรรมฐานพอสมควรแล้วจึงลากลับมาอยู่วัดมงคลโคธาวาส และได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมา

ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ร.ศ. 120 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูพิพัฒนิโรธกิจ มีนิตยภัตราคาเดือนละ 6 บาท พัดยศเป็นตาลปัตรพุดตานพื้นกำมะหยี่ขาวหักทองขวาง ท่านมาไม่ทันงานพระราชพิธี จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการส่งสัญญาบัตร ไตร และพัดยศไปพระราชทานพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "เรื่องเสด็จประพาสมณฑลปราจีน" เมื่อ ร.ศ. 127 เพื่อตรวจเยี่ยมการสร้างประตูชลประทานคลองบางเหี้ย ทรงเล่าว่าได้พบพระครูปาน เนื้อความในพระราชหัตถเลขาว่า (อักขรวิธีตามพระราชหัตถเลขา) “พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เปนที่นิยมกันในทางวิปัสนาและธุดงควัตร มีพระสงฆ์วัดต่าง ๆ ไปเดินธุดงค์ด้วยสองร้อยสามร้อย แรกลงไปประชุมอยู่ที่วัดบางเหี้ย มีสัปบุรุษที่ศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันเลี้ยง กินน้ำจืดที่มีไว้เกือบจะหมดแล้วก็ออกเดินทางที่เดินนั้นลงไปบางปลาสร้อยแล้วจึงเวียนกลับขึ้นมาปราจีน นครนายก ไปพระบาท แล้วเดินลงมาทางสระบุรี ว่ามาตามทางรถไฟ แต่ไม่ขึ้นรถไฟ เว้นแต่พระที่เลื่อยล้าเจ็บไข้ ผ่านกรุงเทพฯ กลับลงไปบางเหี้ย ออกเดินอยู่ในแรมเดือนยี่ กลับไปวัดอยู่ในเดือนห้าเดือนหก ประพฤติเป็นอาจิณวัตรเช่นนี้มา 40 ปีแล้ว คุณวิเศษที่คนเลื่อมใส คือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือรูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือเล็กบ้างใหญ่บ้างฝีมือหยาบ ๆ ข่าวที่ล่ำลือกันว่าเสือนั้นเวลาจะปลุกเศก ต้องใช้เนื้อหมูเศกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปในเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้ความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครกวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีก็หนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียบนเขาโพธิ์ลังกาคนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ ในการที่ทำอะไร ๆ ขาย มีแกะรูปเสือเป็นต้น ถ้าปรกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปถึง 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเศก สังเกตดูอัชฌาศัยเป็นอย่างคนแก่ใจดีกิริยาเรียบร้อย อายุ 70 แล้วยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนอื่นมาช่วยพูด"

ทุนวัฒนธรรม

วัดบางเหี้ยบนหรือวัดบางเหี้ยใน (ปัจจุบันคือวัดโคธาราม)

วัดโคธารามสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 เดิมมีชื่อว่า วัดบางเหี้ยต่อมาทางกรมชลประทานได้มาสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็มขึ้นทางด้านใต้ของวัด ทำให้วัดอยู่ตอนใน จึงมีชื่อว่า วัดบางเหี้ยใน ต่อมาในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หรือในสมัยของพระครูประภากรวิมล (หลวงพ่อแป้น) เป็นเจ้าอาวาสได้มีการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น "วัดโคธาราม" โดยยังคงความหมายเดิมวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 อาคารและเสนาสนะได้แก่ อุโบสถ กว้าง 30 เมตร ยาว 72 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2325 ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ กุฏิสงฆ์ จำนวน 11 หลัง ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 วิหาร และเจดีย์ 1 องค์

วัดบางเหี้ยล่างหรือวัดบางเหี้ยนอก (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส)

วัดมงคลโคธาวาสเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2300 เดิมมีชื่อว่า วัดบางเหี้ยนอก ตามชื่อตำบลบางเหี้ย เพราะตำบลนี้มีเหี้ยอยู่จำนวนมาก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ไทยกับพม่าได้ทำศึกสงครามรบพุ่งกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ราษฎรกลุ่มหนึ่งซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี เกิดความเบื่อหน่ายในการรบทัพจับศึกได้อพยพหนีภัยสงคราม พาครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ใกล้กับแม่น้ำบางเหี้ย มีชื่อเรียกว่า โคกเศรษฐี(ปัจจุบันเรียกว่า บ้านสามเรือน) ประชาชนได้ช่วยกันสร้างวัด ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในครั้งพระองค์เสด็จมาประทับแรมอยู่ที่ประตูกั้นน้ำแม่น้ำบางเหี้ย(ประตูระบายน้ำชลหารพิจิตรในปัจจุบัน) เป็นเวลา 3 คืน เมื่อต้นปี พ.ศ. 2452 และได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ปาน เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย พระองค์ได้พระราชทานชื่อตำบลบางเหี้ยเป็นตำบลคลองด่านเพื่อเป็นสิริมงคลและพระราชทานสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ปานเป็น พระครูพิพัฒนิโรธกิจ (ปาน) ต่อมาวัดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดมงคลโคธาวาส" แต่ประชาชนทั่วไปยังติดเรียกขานกันว่า "วัดหลวงพ่อปาน" วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2512 รูปหล่อของหลวงพ่อปาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่กุฏิของท่าน รูปหล่อนี้ทำขึ้นก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ในวันขึ้น 5-7 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี จะมีการอัญเชิญรูปหล่อของหลวงพ่อปานไปจัดงานนมัสการและปิดทองหลวงพ่อปาน ณ ที่ว่าการอำเภอบางบ่อ

วัดสว่างอารมณ์

ประชาชนมักเรียกวัดสว่างอารมณ์ว่า วัดล่าง และ วัดบ้านล่าง เพราะตั้งอยู่บริเวณป่าชายเลนตรงสุดปากอ่าว สร้างสมัยพระครูพิพัฒนิโรธกิจ (ปาน) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากวัดบางเหี้ยนอก (วัดมงคลโคธาวาสในปัจจุบัน) ได้มาปักกลดเป็นประจำ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประกาศตั้งวัดเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2452 วัดมีสภาพทรุดโทรมระยะหนึ่ง จนได้ซ่อมสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2500 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 อุโบสถหลังที่หลวงพ่อปานสร้างไว้ถูกปล่อยร้างจากน้ำทะเลหนุนท่วมสูง ต้นแสม และต้นโกงกางปกคลุมแทบมองไม่เห็นตัวโบสถ์ สภาพพื้นล่างเต็มไปด้วยโคลนทะเล ตัวโบสถ์ที่สร้างนั้นพื้นต่ำกว่าปัจจุบันนี้ จวบจนปี พ.ศ. 2552 ทางวัดได้มีการจัดเตรียมงานสมโภชฉลองวาระที่วัดมีอายุครบ 100 ปี ได้ปรับภูมิทัศน์โบสถ์หลวงพ่อปาน ขุดลอกโคลนเลนและตัดต้นไม้ที่งอกพันดึงโบสถ์ให้ล้มลงเอาออกเสีย แล้วเทปูนหุ้มโคนเสาใช้เหล็กยึดตัวโบสถ์ถึงหลังคาช่อฟ้า และได้สร้างกุฏิจำลองไว้หน้าโบสถ์ ทั้งหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อปาน วัดได้ขุดพบเสือหินแกะโบราณซึ่งมีความเชื่อกันว่าน่าจะเป็นเสือต้นแบบของหลวงพ่อปาน ทางวัดจึงได้นำเสือหินที่พบมาวางบนหลังเสือ (ปูนปั้น) แล้วนำเสือหล่อโลหะที่สูง 100 นิ้ว ยกวางครอบเสือหิน เป็นอนุสาวรีย์เสือหลวงพ่อปานบางเหี้ย

วัดสร่างโศก

วัดสร่างโศกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2300 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้สมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2360 ตามหลักฐานของกรมที่ดิน ระวางที่ 41 ระบุชื่อวัดนี้ว่า วัดปากอ่าว แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดมอญเพราะอยู่ใกล้คลองมอญและบริเวณนี้มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก บ้างว่าวัดนี้มีชื่อ วัดอัฎฐวราราม เพราะมีกุฏิ 8 หลัง บ้างก็เรียกว่า วัดอัศวราราม เพราะวัดนี้เป็นที่ตั้งกองทัพม้าของพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาภายหลังได้รับการเปลี่ยนแปลงนามวัดใหม่ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นวัดเตลงรมณ์หรือวัดทะเลงลม ในปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดโพธิ์ทอง จนในที่สุดทางราชการได้เปลี่ยนนามวัดเสียใหม่เป็น "วัดสร่างโศก" เพื่อให้สอดคล้องกับพระนามของพระองค์หญิงโศกสว่าง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางด้านการศึกษา วัดได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร และให้ทางราชการสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาในที่ดินวัด ในสมัยที่พระครูวิมลญาณ เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2537 ได้ทำการย้ายวัดจากฝั่งติดคลอง ข้ามมาอยู่อีกฝั่งถนนหนึ่ง เนื่องจากเกิดน้ำท่วมตลอด จนถึงทุกวันนี้ และในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้น

บ้านเรือน

การสร้างบ้านแบบมอญ องค์ประกอบของเรือน จากสํารวจพบว่า เรือนเป็นลักษณะเรือนแฝด หลังคาขาวชนกันมีราวน้ำเป็นตัวเชื่อม เรือนประธานและเรือนคู่แฝดใช้ปั้นลมแบบตัวเหงาทั้งคู่ ผังของเรือนหันด้านสกัดไปทางเหนือ-ใต้ ด้านยาวของเรือนหันหน้าขนานไปด้านทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำบางเหี้ย (เดิม) ขนาดของเรือนประธาน ด้านสกัดกว้าง 3.40 เมตร ห้องรับด้านทิศเหนือ 2.95 เมตร ห้องกลาง 2.95 เมตร และห้องด้านทิศใต้ 2.95 เมตร รวม 8.85 เมตร เรือนคู่แฝด ด้านสกัดกว้าง 3.20 เมตร ด้านยาวเท่ากับเรือนประธาน ระเบียงกว้าง 2.95 เมตร ด้านยาวเท่ากับเรือนประธาน ชานแดดยื่นออกไปด้านหน้าเรือน กว้างประมาณ 8.20 เมตร มีซุ้มบันไดหน้าเรือนลงไปที่ท่าน้ำคลองด่าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความท้าทายและการมีส่วนร่วมพื้นที่ในการดูแลรับผิดชอบของเทศบาล บางส่วนเป็นพื้นที่สำหรับการทำประมงชายฝั่ง ได้แก่ การเพาะเลี้ยงปลา กุ้ง หอยและส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า สถานประกอบการ ตามลำดับ และมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยที่เป็นพื้นที่สาธารณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ต้นไม้ อากาศที่ไม่มีมลพิษ แต่เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นดินเค็ม น้ำใต้ดินจึงมีลักษณะเค็มและกร่อย ไม่สามารถที่จะนำน้ำจากใต้ดินมาใช้ในการอุปโภค-บริโภคได้ ต้องอาศัยน้ำดิบจากแหล่งอื่น และน้ำสำหรับการปลูกพืชอื่น ๆ ก็ต้องรอฤดูฝน ในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำจืด ประกอบกับปัญหาขยะมูลฝอย ที่ประชาชนในพื้นที่ยังขาดวินัยในการแยกขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแหล่งเพาะเชื้อโรคและน้ำเน่าเสีย มลภาวะทางกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิดที่ยังขาดความร่วมมือ เทศบาลจึงได้จัดทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เช่น การจัดทำโครงการเพื่อจัดหาถังขยะรองรับขยะให้ครอบคลุมในพื้นที่ การรณรงค์การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โครงการปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่สาธารณะ เป็นการช่วยสร้างความตระหนักและรู้คุณค่าของอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ให้มีความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป

พื้นที่ในเขตเทศบาลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล จึงมีความเค็มมาก ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ดินเป็นดินร่วนปนทราย ดินเหนียวในพื้นที่แห้ง และดินโคลนในพื้นที่น้ำท่วมถึง มีการงอกของพื้นที่ เนื่องจากตะกอนทับถมหลายแห่ง โดยมีพืชพื้นถิ่นส่วนมากเป็นพืชป่าชายเลน เช่น โกงกาง จาก แสม มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรชายฝั่งสูง ประชากรในพื้นที่จึงไม่นิยมประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม แต่เน้นประกอบอาชีพทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยอาศัยน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ สภาพของชุมชนกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ และหนาแน่นในบริเวณริมถนนและคลองสายหลัก ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการบริการด้านต่าง ๆ โดยส่วนมากมีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีความเป็นอยู่ตามอรรถภาพ ประกอบอาชีพหลากหลาย มีรายได้เฉลี่ยปานกลาง-สูง เป็นสังคมแห่งการพึ่งพาอาศัยกันในทุกมิติ

เทศบาลตำบลคลองด่าน. (2564). ข้อมูลทั่วไปตำบลคลองด่าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://klongdanmunicipality.go.th/

อานนท์ พรหมศิริ, ณัฐวุฒิ กิ่งตระการ และณภัทร กระศาสน์ศิลป์. (2564). การอนุรักษ์เรือนพื้นถิ่นชุมชนมอญบางเหี้ยเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. 4(3), 129-136.