Advance search

บ้านมอวาคี, บ้านขุนแม่มุต

บ้านมอวาคีเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอมานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

หมู่ที่ 16
บ้านหนองมณฑา
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
อบต.แม่วิน โทร. 0-5302-7777-9
สุพิชญา สุขเสมอ
20 เม.ย. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
19 เม.ย. 2023
บ้านหนองมณฑา
บ้านมอวาคี, บ้านขุนแม่มุต

ชื่อของหมู่บ้านนั้นเดิมเรียกว่า ขุนแม่มุต ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า มอวาคีเนื่องจากมีโป่งเขาอยู่ในลำห้วย ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นทุ่งนาที่ชาวบ้านใช้ทำนาปลูกข้าวไปแล้ว


บ้านมอวาคีเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอมานานกว่า 300 ปี มีวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

บ้านหนองมณฑา
หมู่ที่ 16
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
50360
18.718680
98.616619
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

พื้นที่หมู่บ้านมอวาคี คาดว่ามีผู้คนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 700-800 ปีมาแล้ว สังเกตได้จากชุมชนร้างของชาวลั้วะในปัจจุบัน คือ เก๊อหว่าโล ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนมอวาคี ประมาณ 1 กิโลเมตร สำหรับชาวปกาเกอะญอนั้นสันนิษฐานว่าเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ ประมาณ 250-300 ปีมาแล้ว จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน พีหน่อเจ๊าะ อายุ 90 ปี กล่าวว่ามีคนมาอาศัยอยู่ในเขตป่ามอวาคีมาแล้วหลายช่วงอายุคนและหลายกลุ่มเท่าที่จำได้ ผู้ที่เข้ามาอาศัยเป็นกลุ่มแรก มาจากหมู่บ้านแม่โต๋และบ้านแม่ขะปู ลุ่มน้ำอำเภอสะเมิง โดยมีนายตะเข่อเหล่อเป็นคนแรกที่เข้ามาอยู่ ซึ่งในอดีตนั้นมีจำนวนบ้านเรือนไม่มากนัก การตั้งถิ่นฐานในสมัยนั้นไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว มีการตั้งที่อยู่อาศัยซึ่งมีบ้านร้างที่แคลอพะโดะ ที่คนเคยมาอยู่อาศัยก่อนแล้วมีการย้ายไปมา การย้ายแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากความห่างไกลจากแหล่งน้ำเพื่อบริโภค และในช่วงฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องมีการย้ายมาอยู่ที่ใหม่โดยมีนายตะเข่อเหล่อ นายโบะแชว นายพาแระยวา นายตะบิโข่ 

ต่อมามีชาวจีนฮ่อเข้ามาปล้นหมู่บ้าน ชาวบ้านถูกฆ่าตาย บุคคลที่เสียชีวิต คือ นายตะเข่ยเหล่อ ภรรยา และบุตรชาย และจีนฮ่อที่มาปล้น 1 คน ภายหลังเหตุการณ์ทำให้ไม่มีผู้คนกล้าอยู่อาศัย จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่มอวาคีหรือบ้านหนองมณฑา โดยมีครอบครัวแรกที่มาอยู่คือ ลูกหลานของ นายตะเช่อเหล่อ เนื่องจากพื้นที่นี้ความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ใกล้พื้นที่ทำกินและคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ย้ายไปอยู่รวมกันที่เก๊อหว่าโลหรือบ้านใหม่ ที่มีคนมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว

ในอดีตหมู่บ้านมอวาคีตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ที่เดียวกับบ้านแม่มุตเป็นชุมชนเมือง มีผู้ใหญ่บ้านทางการคนเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการแยกออกเป็นสองหมู่บ้าน หนึ่งในนั้นคือ บ้านมอวาคี หมู่ที่ 16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายเพชร ติกล้า เป็นผู้ใหญ่บ้าน

หมู่บ้านหนองมณฑาหรือบ้านมอวาคีเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการสร้างบ้านเรือนตั้งอยู่บนสันเขา เป็นหย่อม ๆ ตามที่ราบระหว่างหุบเขาหรือที่ราบเชิงเขา การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ของหมู่บ้านมีความยากลำบาก ในช่วงฤดูฝนการเดินทางลำบากมากเพราะถนนดินส่วนใหญ่ในพื้นที่สูงมีลักษณะเป็นดินแดง ยามฝนตกจะลื่น การเดินทางของประชาชนมีความลำบากพอสมควร การเดินทางไปอำเภอแม่วาง ถึงหมู่บ้านระยะทางประมาณ 70 กว่ากิโลเมตร โดยหมู่บ้านมีหอกระจายข่าว 1 แห่ง และมีประปาหมู่บ้าน 1 แห่ง

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ  บ้านแม่มูต หมู่ที่ 6 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  บ้านทุ่งหลวง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง

บ้านหนองมณฑา ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอโดยมีประชากรทั้งหมด 604 คน แบ่งเป็นเพศชาย 306 คน และเพศหญิง 298 คน มีจำนวนครัวเรือน 183 ครัวเรือน 

ความสัมพันธ์ของคนภายในชุมชนเป็นลักษณะแบบครอบครัว เนื่องจากครอบครัวในชุมชนเป็นแบบครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องกันหมด การพึ่งพาอาศัยจึงเป็นลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกัน จึงทำให้ชุมชนยังคงมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและมีโครงสร้างที่เป็นแบบดั้งเดิม

ปกาเกอะญอ

กลุ่มอาชีพ

ชาวบ้านหนองมณฑาส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพการทำไร่ทำนาเป็นอาชีพหลัก การเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นอาชีพรอง และรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพเสริม

องค์กรชุมชน 

ปัจจุบันชาวบ้านหนองมณฑามีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีกองทุน กข.คจ. มีสมาชิกทั้งหมู่บ้าน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 280,000 บาท, กองทุนนำร่อง มีสมาชิก 24 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 200,000 บาท, กองทุนข้าว มีสมาชิก 7 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 3,000 บาท, กลุ่มเลี้ยงควาย มีสมาชิก 10 คน มียอดเงิน ณ ปัจจุบัน 40,000 บาท 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านหนองมณฑา นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดและมีบางส่วนนับถือผี โดยจะมีขนบธรรมเนียม ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้สังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในเรื่องของการปกป้องและคุ้มครองคนในครอบครัว พ้นจากสิ่งโชคร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ เช่น

  1. ประเพณีมัดมือปีใหม่ มักจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
  2. ประเพณีมัดมือกลางปี มักจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน อันตรายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จึงมีการทำพิธีมันมือลาคุปูเพื่อขอพรกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและเพื่อให้ชีวิตได้อยู่เย็นเป็นสุข
  3. พิธีกรรมการกินเหล้า การกินเหล้าของชาวปกาเกอะญอในรอบหนึ่งปีจะมีสามครั้ง เชื่อว่าเป็นการรำลึกและบูชาเทพยาดา เป็นการให้เจ้าที่ เจ้าดิน เจ้าน้ำ เจ้าป่า เจ้าเขาได้รับผลประโยชน์และให้ดูแลการทำมาหากินให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นจากสิ่งอันตรายและชั่วร้าย

1.พีเจ๊าะ

อายุ 90 ปี วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ผู้อาวุโสของหมู่บ้านหนองมณฑา โดยยายมีพี่น้อง 10 คน เสียชีวิต 7 คน ยายเป็นคนที่ 2 มีที่น้องผู้ชาย 6 คน ผู้หญิง 4 คน ปัจจุบันมีพี่น้องเหลือ 3 คน พีเจ๊าะได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตให้ฟังว่า

"ในอดีตได้ทำไร่และได้ปลูกข้าวโพดด้วยมีลิงเยอะมากเข้ามากินข้าวโพด เวลาเกี่ยวข้าวแล้วตากแห้งในไร่ตัวเม่นก็มากินอีก มีสัตว์ป่าเยอะมากไปไหนมาไหนไม่ค่อยกล้าเพราะกลัวสัตว์ป่า พออายุ 20 ปีก็แต่งงาน สามีชื่อ แกล๊ะเอะ มีลูกด้วยกัน 7 คน มีผู้หญิง 2 คน คนหนึ่งชื่อหน่ออีปุ๊ เป็นผู้รู้เรื่องหมอตำแย และอีกคนหนึ่งชื่อหน่อเคล่ เป็นคนสุดท้อง มีผู้ชาย 5 คน คนที่หนึ่งชื่อนายตะแอ๊ะ เป็นคนโตย้ายไปอยู่ที่บ้านใหม่ คนที่สองชื่อนายพาโล๊ะเป็นฮี่โข่อยู่ที่มอวาคี คนที่สามชื่อพาเม๊เหล่ไปได้ครอบครัวที่บ้านห้วยตองสาด อำเภอสะเมิง คนที่สี่ชื่อส่าน่าอยู่มอวาคีไม่ได้มีครอบครัว คนที่ห้าชื่อเก่อเหน่อ อยู่มอวาคี พีเจ๊าะเกิดที่บ้านแม่ขะปู อำเภอสะเมิง จนพีเจ๊าะอายุ 10 ปีพ่อก็ย้ายลงมาอยู่ที่แคลอพะโดะ อยู่ที่แคลอพะโคะจนอายูถึง 20 ปีมีก็มีจีนฮ่อมาปล้นครอบครัวนายตะเข่อเหล่อ จีนฮ่อมาตอนกลางคืนเอาปืนมาด้วย มาด้วยกันหลายคน พี่เจ๊าะตกใจเลยหลบหนีซ่อนตัวที่นอกหมู่บ้าน ในคืนนั้นมีปรากฎว่ามีผู้ตายจำนวน 4 คน เป็นชาวบ้าน 3 คนจีนฮ่อ 1 คน แม่และลูกตายในคืนนั้น ส่วนนายตะเข่อเหล่อผู้เป็นพ่อตายวันรุ่นขึ้น จีนฮ่อคนนั้นโดนมีดฟันหน้ายังไม่ตาย หน้าและลิ้นขาดก็ร้องอย่างทรมาณที่ใต้บ้านพีเจ๊าะ แล้วก็ใช้มีดแทงตัวเองตาย ในคืนนั้นเองสามีพีเจาะไม่ได้อยู่บ้านเขาไปส่งจีนฮ่ออีกกลุ่มหนึ่งที่บ้านแม่ขะปู มีคนไปบอกสามีพีเจ๊าะว่าหมู่บ้านพังแตกหมดเลย สามีพีเจ๊าะตกใจเขาวิ่งกลับบ้านในค่ำคืนนั้นวิ่งตลอดทางจนถึงบ้าน หลังจากที่มีการฆ่ากันตายแล้ว คนก็ไม่กล้าที่จะอยู่ตรงนั้นอีกต่อไป เลยย้ายลงมาอยู่ที่มอวาคีซึ่งเป็นหมู่บ้านปัจจุบัน ตอนนั้นพี่เจ๊าะอายุประมาณ 52-53ปี ปัจจุบันมีข้าวพอกิน มีพื้นที่นา มีพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น สิ่งที่ประทับใจในอดีตของพี่เจ๊ะคือ ตอนเป็นสาวได้ไปทำงานกับเพื่อนกับพี่น้องในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านอย่างสนุกสนานทุกวัน ได้ร้องบทธากับเพื่อน ๆ เป็นความทรงจำที่จำได้ตลอด อีกทั้งยังมีการส่งจดหมายให้กับผู้ชาย โดยมีข้อความที่เป็นบทธา ภาษาปกาเกอะญอ พีเจ๊าะบอกว่าลูกหลานสมัยนี้ ไม่รู้เรื่องบทธาอีกเลย อื่อธาก็ไม่เป็น เมื่อได้ย้อนกลับในเรื่องของประวัติชุมชนและได้ถามว่าใน คำว่า มอวาคีแปลมาจากสาเหตุใด พีเจ๊าะได้เล่าว่ามอวาคี แปลว่า โป่งขาวแห่งหนึ่งที่เคยมีสัตว์ป่ามากินอยู่ใกล้ทุ่งนาอยู่ใกล้หมู่บ้าน ก่อนที่จะย้ายลงมาจากบ้านแม่ขะปูมาที่แคลอพะโคะ ที่บ้านแม่ขะปูนั้นมีคนอยู่เยอะ ไม่มีที่ทำกิน จึงพากันลงมาตั้งถิ่นฐานที่แดลอพะโคะเพราะมีที่กว้าง มีผลเยอะ แต่มีคนเคยเล่าว่าที่แคลอพะโคะเคยได้ยินเสียงคนเดิน เชื่อว่าเป็นผู้ตายโหง ใครดวงอ่อนถ้าเข้าไปนั่งจะไม่สบายขึ้นมา เคยมีคนไม่สบายมาแล้ว"

ทุนวัฒนธรรม

การทำแป้งเหล้า คือ การนำข้าวสารประมาณ 2 ลิตรมาแช่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง(ในตอนเย็น) ต้องรอให้ไก่ได้ขึ้นเล้า หลังจากนั้นเอาข้าวสารที่แช่ไว้ไปตำ ต้องทำโดยผู้หญิง 2 คน ห้ามผู้ชายมาดูและห้ามผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมาทำ ต้องเป็นผู้หญิงที่ยังโสดอยู่เท่านั้นที่ทำได้ ถ้าตำเสร็จแล้วเอาแป้งมานวดผสมกับน้ำเปล่า และเอาแป้งประมาณหนึ่งฝ่ามือผสมกับกล้วยสุกหนึ่งลูก หรือน้ำตาลก็ได้ผสมเรียบร้อยแล้วเอาไปปิ้งไว้ ส่วนแป้งที่เหลืออยู่ในกระด้งเอามาปั้นให้เป็นลูกกลม แต่ละลูกนั้นให้มันมีขนาดที่เท่ากัน ตามความเชื่อว่าถ้าปั้นไม่เท่ากันจะทำให้เต้านมของผู้ทำทั้งสองข้างไม่เท่ากัน และต้องปั้นให้มีจำนวนคี่ ปั้นเป็นก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งลูก (ลูกนี้จะเรียกว่าตัวผู้) ให้วางอยู่ตรงกลางแล้วางก้อนอื่น ๆ ที่เป็นก้อนตัวแม่ให้อยู่รอบ ๆ ในก้อนตัวผู้ก้อนนั้นจิ้มให้มีรูสามรู ส่วนก้อนตัวแม่ที่วางอยู่รอบ ๆ นั้นจิ้มให้มีรูอยู่ก้อนละหนึ่งรู คนโบราณเชื่อว่าถ้าจิ้มแรงเกินไปจะทำให้ตาของผู้ทำลึกเข้าไป แต่ถ้าจิ้มเบาเกินไปตาจะปูดออกมา เสร็จจากนั้นแล้วเอาเกลือ พริก ขี้เถ้า ใส่ลงไปในทุกรูทั้งก้อนตัวผู้และตัวแม่ และเอาก้อนที่ปิ้งไว้ตั้งแต่ต้นก้อนนั้นแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วใส่ลงไปในทุกรูอย่างนั้นเช่นกันแต่ก้อนที่ปิ้งไว้ก้อนนี้ต้องไว้ให้เหลืออยู่อีกนิดหน่อย เพื่อเอาไว้กินตอนที่ทำแป้งเหล้ากันเสร็จ หลังจากนั้นเอาแป้งเหล้าเก่าที่เคยใช้มาแล้วเห็นว่ามีดีกรีที่ดีที่อร่อยมาใส่ในทุกรูด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จในขั้นนี้แล้วหยิบก้อนที่ปิ้งที่เหลืออยู่นั้นในผู้ทำสองคนนั้นต้องช่วยกันกินให้หมด ถ้าไม่หมดต้องใส่ลงในกระด้งใบนั้นเพื่อป้องกันหมา แมว ไก่มากินเพราะถ้าสัตว์เหล่านี้ได้มากินจะทำให้แป้งเหล้าที่ทำครั้งนี้มันจะไม่อร่อย และจะเสียหมด หลังจากนั้นผู้ทำทั้งสองคนนั้นช่วยกันจับกระด้งแล้วหมุนกระด้งที่มีเป้งเหล้าอยู่ในนั้นต้องหมุนให้ครบสามรอบ พร้อมด้วยอธิฐานว่า โก่ หมี่ เออ มา เน๊อ สิ กุ่ย กุ่ย มา เน๊อ ซิ แฆ แฆ ซอ เม๊ โอะ โอ ก๊วย โล เน๊อ สิ โล เหน่อ พอ

บ้านหนองมณฑาปัจจุบันยังมีการใช้ภาษาปกาเกอะญอกันอยู่ แต่มีการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เนื่องจากต้องการที่จะปลูกฝังความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชน รู้จักและรักษ์ป่า สอนให้สำนึกในวิถีของปกาเกอะญอ มีการสอนภาษาปกาเกอะญอทั้งฟัง พูด อ่านและเขียน ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ภาษาของกลุ่มชนและไม่ทำให้ภาษาปกาเกอะญอสูญหายไป 


ชาวบ้านหนองมณฑามีการร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนบ้านมอวาคี มีการสอนตั้งแต่ภาษา การแต่งกาย การอบรมสั่งสอนลูกหลานผ่านการเล่านิทาน และวัฒนธรรมที่ปกาเกอะญอสืบทอดกันภายในครอบครัว ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี มีการให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันเกิดความรักในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองมากขึ้น มีหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ เช่น สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) มีส่วนร่วมการจัดศึกษาในชุมชนโดยให้เป็นพี่เลี้ยงในการวางแผนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นวิถีชีวิตแบบปกาเกอะญอ ปัจจุบันมีหลักสูตรของตนเองที่ใช้ในโรงเรียนบ้านมอวาคี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนด้านการรับรองการจบวุฒิทางการศึกษาของนักเรียน เพื่อให้สามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม ให้การส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรมของชุมชน เช่น การทอดถ่ายความรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอให้แก่เด็ก นักเรียนในชุมชน เรื่องการย้อมฝ้ายโดยใช้สีจากธรรมชาติ การทอผ้าแบบกี่เอว ดนตรี ความรู้จารีตประเพณีในการทำนาทำไร่หมุนเวียน ป่าเดอปอทู (ต้นสะดือ) ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน ให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อนงค์พร ภูมิปัญญาดีสม และคณะ. (2555). โครงการวิจัยศักยภาพของการคงอยู่ทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนวัฒนธรรมพิเศษกรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัยศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research_pdf_pdf.php?file_id=1548&ob_id=100

ภูมิปัญญาชนเผ่าปกาเกอะญอสานต่อที่มอวาคี. (ม.ป.ป.). ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://tribalcenter.blogspot.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน. ( 2562). หมู่ที่ 16 บ้านหนองมณฑา. ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก http://maewin.net/

นฤมล ลภะวงศ์, และ อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์. (2557). กระบวนการจัดการเพื่อรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านหนองมณฑา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ10(2), ค้นคืนเมื่อ 19 เมษายน 2566, จาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jitt/article/view/31359

Open map. (2018). นักเรียนปกาเกอะญอบ้านหนองมณฑา ค้นจาก http://www.openmap.in.th/182/

อบต.แม่วิน โทร. 0-5302-7777-9