การก่อตัวของชุมชนในพื้นที่ทางการรถไฟ หลังจากหยุดดำเนินการเส้นทางการเดินรถสายหาดใหญ่-สงขลา
ชุมชนตั้งอยู่หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา จึงใช้ชื่อสถานที่สำคัญเพื่อบ่งบอกตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนมาตั้งเป็นชื่อชุมชน
การก่อตัวของชุมชนในพื้นที่ทางการรถไฟ หลังจากหยุดดำเนินการเส้นทางการเดินรถสายหาดใหญ่-สงขลา
หลังจากการรถไฟหยุดให้บริการเดินรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2522 เนื่องจากการใช้บริการของผู้โดยสารเริ่มซบเซาลง ไม่เป็นที่นิยมในการเดินทาง และหันไปใช้เส้นทางรถยนต์ที่มีความสะดวกมากกว่าเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่บริเวณริมทางรถไฟทั้งสองข้างทางกลายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ประชาชนในพื้นที่ที่มีความยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัยจึงได้พากันเข้าไปจับจองพื้นที่ริมทางรถไฟเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณใกล้กับตัวเมืองสงขลา เนื่องจากมีแหล่งทำมาหากินที่สามารถประกอบอาชีพจุนเจือครอบครัวได้ พื้นที่ทางรถไฟหลังวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลาก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้คนเข้ามาสร้างบ้านเรือนและอยู่อาศัยกันในบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่นั้นมาพื้นที่ดังกล่าวจึงเริ่มก่อตัวกลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้นจนถึงปัจจุบัน และได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยใช้ชื่อชุมชนให้สอดคล้องกับสถานที่สำคัญ คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา เพื่อบ่งบอกตำแหน่งที่ตั้งชุมชน จึงเรียกชุมชนนี้ว่า "ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ"
ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 48,556.20 ตารางเมตร ลักษณะเป็นพื้นที่ราบ เนื่องจากแต่เดิมเป็นพื้นที่ของการรถไฟเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการเดินรถไฟ ที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณใกล้กับทะเลสาบสงขลา และอยู่ติดกับถนนสายหลักของเมืองสงขลา ทำให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะเพราะมีฝุ่นละอองจำนวนมากจากมลพิษทางอากาศ โดยชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนรามวิถี ซอย 6
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนชัย-เพชรมงคล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในหลายชุมชนที่เกิดจากการเข้ามาใช้พื้นที่ว่างเปล่าริมทางรถไฟเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว และรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มชุมชน โดยชุมชนหลังอาชีวะศึกษามีจำนวนครัวเรือนที่อยู่อาศัยร่วมกันทั้งหมด 163 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรแยกเป็น ประชากรชาย จำนวน 184 คน ประชากรหญิง จำนวน 224 คน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 408 คน
ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก และประชากรไม่ได้มีฐานอาชีพที่มั่นคง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ในการหาเลี้ยงครอบครัว และทำงานกับหน่วยงานเอกชน บริษัท กิจการห้างร้านต่าง ๆ บางส่วนก็ประกอบอาชีพค้าขาย ประชากรส่วนหนึ่งมีอาชีพรับราชการ นอกจากนี้ชาวบ้านที่มีความสามารถด้านงานฝีมือก็มีอาชีพเย็บผ้าเป็นอาชีพรองเพื่อสร้างรายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว โดยประชากรในชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 177,243 บาท/ปี มีรายได้บุคคลเฉลี่ย 59,890 บาท/ปี และมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งทุนสนับสนุนสำคัญภายในชุมชน
นอกจากนี้ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ความรู้ ส่งเสริมและแนะนำการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในครัวเรือน และให้ชุมชนมาทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมูลนิธิชุมชนสงขลาร่วมกับเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตำบล ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเชิญชวนสมาชิกของกลุ่มชุมชนหลังอาชีวะมารับฟังแนวทางการจัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งยังแนะและให้ความรู้ในการทำน้ำยาเอนกประสงค์ การเพาะถั่วงอก การทำน้ำส้มหมักจากกล้วย เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการดูแลบริหารจัดการชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตในครัวเรือนให้ดีมากยิ่งขึ้น
1.นายจ๊ะนุ ทองเส็ง ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร (ทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมัก)
2.นางเสริม หวั่นเซ่ง ปราชญ์ชุมชนภูมิปัญญาด้านอาหาร (อาหาร/ขนม)
3.ร.ต.ท. จรัญ กิ้มด้วง ปราชญ์ชุมชนด้านการบริหารจัดการกลุ่ม/คน (ผู้นำกลุ่ม/ผู้นำชุมชน)
4.นางสุพิศ สำเภาทอง ปราชญ์ชุมชนด้านการบริหารจัดการกลุ่ม/คน (ผู้บริการจัดการกลุ่มออมทรัพย์)
ทุนกายภาพ
- ทะเลสาบสงขลา
- หาดชลาทัศน์
- วิทยาลัยอาชีวศึกษา
ทุนวัฒนธรรม
- สถานีรถไฟเก่า
- วัดเพชรมงคล
ชาคริต โภชะเรือง. (2562). ชุมชนหลังอาชีวะ. มูลนิธิชุมชนสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.scf.or.th/paper/262 [สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567].
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนหลังวิทยาลัยอาชีวะ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567. [ออนไลน์]. จาก https://www.songkhlacity.go.th/