Advance search

ชุมชนชาวมอญกว่า 300 ปี ริมน้ำแม่กลอง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าสนใจ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษามรดกวัฒนธรรมรวบรวมไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้

บ้านม่วง
บ้านโป่ง
ราชบุรี
อบต.บ้านม่วง โทร. 0-4221-9817
แพรวา พุ่มเจริญ
11 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
21 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
21 ก.พ. 2024
บ้านม่วง

บรรพบุรุษของชาวมอญบ้านม่วงได้ติดตามพระมหาเถระนามว่า "คันฉ่อง" เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร และตั้งชุมชนใหม่โดยใช้ชื่อชุมชนเดิมที่ย้ายมาคือ "บ้านม่วง" และใช้ชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า "วัดม่วง" ในภาษามอญเรียกว่า "เพลียเกริก"


ชุมชนชาวมอญกว่า 300 ปี ริมน้ำแม่กลอง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าสนใจ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษามรดกวัฒนธรรมรวบรวมไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้

บ้านม่วง
บ้านโป่ง
ราชบุรี
70110
13.7672260
99.8425497
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง

จากการบอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตของบรรดาผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งจากคำบอกเล่าเหล่านี้ทำให้ทราบถึงประวัติของชุมชนบ้านม่วง และหมู่บ้านมอญอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ว่าชาวมอญจากด่านเจดีย์สามองค์ ได้อพยพเข้ามาตามลำน้ำ แม่กลองและได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้กันมานานกว่า 300 ปี

นอกจากนี้ชาวบ้านยังกล่าวถึงเอกสารโบราณภาษามอญที่จารึกบนใบลานที่กล่าวถึงวัดม่วงว่าสร้างขึ้นมากกว่า 336 ปีมาแล้ว และชาวมอญบ้านม่วงปัจจุบันสืบเชื้อสายส่วนหนึ่งมาจากชาวมอญที่อยู่ตามลำน้ำแควน้อย เขตเมืองกาญจนบุรี ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ชาวมอญเหล่านี้รวมตัวกันเรียก "รามัญ 7 เมือง" อันเป็นชาวมอญซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นแม่ทัพนายกองมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มอญตามหัวเมืองทั้ง 7 มีที่ทำกินเพิ่มเติม ชาวมอญจึงล่องมาตามลำน้ำแคว ถึงอำเภอโพธาราม-บ้านโป่ง ก็หมายความว่าการเคลื่อนย้ายของชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและรกรากทำมาหากินในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นชุมชนมอญบ้านม่วงและหมู่บ้านมอญอื่น ๆ ในบริเวณนี้อย่างน้อยก็เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง

ที่ตั้งและอาณาเขต

หมู่บ้านบ้านม่วงตั้งอยู่ในตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บริเวณที่เรียกว่า "บ้านม่วง" นี้จะหมายถึงบริเวณหมู่ที่ 3, 4 และ 5 ของตำบลบ้านม่วง ซึ่งมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลคุ้งพยอม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอโพธาราม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลนครชุมน์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหนองปลาหมอ

ลักษณะสภาพแวดล้อมชุมชน

ลักษณะสภาพแวดล้อมของชุมชนบ้านม่วงนั้น ที่ตั้งจะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีที่ดินเพียงจำนวนน้อย ทำให้ในฤดูฝนน้ำจะล้นจากฝั่งแม่น้ำแม่กลองขึ้นมาท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำนาและบริเวณพื้นที่ปลูกสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยสำหรับชาวบ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของฤดูฝน ส่วนในฤดูร้อนก็ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส และในฤดูหนาวก็หนาวเย็นพอสมควร

ประชากรส่วนใหญ่ของชาวบ้านม่วงเป็นชาวมอญ มีชาวไทย และลาวปะปนอยู่บ้าง ส่วนชาวจีนก็มีอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ทุกกลุ่มก็ยังอยู่ร่วมกันได้เพราะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 3,407 คน ชาย 1,631 คนหญิง 1,776 คน มีจำนวน 624 หลังคาเรือน 

มอญ

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งการทำนาข้าว ทำไร่ ทำสวนผลไม้ หรือการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ

กลุ่มออมทรัพย์ เป็นกลุ่มองค์กรที่มีการชักชวนสมาชิกเข้ามาลงทุน โดยการให้สมาชิกเข้ามาถือหุ้น ซึ่งถ้ายิ่งมีเงินออมทรัพย์มากก็จะทำให้เสียดอกเบี้ยน้อย ในปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ได้ทำการจำหน่ายปุ๋ยและยาฆ่าแมลงด้วย ทำให้ชาวบ้านเห็นว่ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงต้องการที่จะเข้ามาร่วมกลุ่ม ประกอบกับมีผู้ใหญ่สอางค์ได้ทำหน้าที่เป็นประธานของกลุ่มและบริหารงานจนทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี

กลุ่มอาชีพ เศรษฐกิจของชาวบ้านม่วงเป็นแบบพอเพียงเพื่อการยังชีพเท่านั้น โดยจะมีอาชีพหลักคือ การทำนาปลูกข้าว ทำไร่ และยังมีอาชีพอื่น ๆ เป็นอาชีพเสริมเพื่อการยังชีพ ได้แก่ การทอผ้า ทอเสื่อ การซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตร การตีเหล็ก หาฝืน หาปลา และการค้าขาย

วิถีชีวิตของชาวมอญบ้านม่วงแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของชาวมอญที่นิยมอาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านเดิมริมน้ำ การสร้างเรือนไม้ให้หันหน้าจั่วไปทางทิศตะวันออก และการมีเสาเอกที่เป็นเสาผีที่ประดิษฐานของผีบรรพบุรุษในทุกหลังคาเรือน คนมอญนิยมสร้างวัดไว้เป็นศูนย์กลางของชุมชนเนื่องจากความเคร่งครัดและศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและรวมถึงความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ และความเชื่อเหล่านี้ยังคงได้รับการสืบทอดเรื่อยมา และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้วิถีชีวิตต่าง ๆ ของชาวมอญ ยังคงสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็นมอญ ได้อย่างชัดเจน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

สังคมชาวมอญบ้านม่วงและบริเวณใกล้เคียงเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลักสืบเนื่องมาแต่โบราณ การทำนาจึงเป็นกิจกรรมหลักในวิถีชีวิตและความสำคัญต่อปากท้องความอยู่รอดที่ผู้คนตระหนักถึงทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชน ประเพณีต่าง ๆ ในรอบปีจึงเกิดขึ้นตามวัฏจักรต่าง ๆ ของการทำนาโดยอาศัยศรัทธาแห่งความเชื่อถือผีและพุทธศาสนาเป็น เครื่องทำนุบำรุงพิธีกรรมและประเพณีในรอบปีของชาวมอญจึงไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มชนใกล้เคียง ทั้งคนไทย คนลาว ต่างก็ผสมผสานเป็นรูปแบบของประเพณีที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน ประเพณีเหล่านี้ ได้แก่

เดือน 6 ประเพณีของคนมอญนิยมนับเดือน 6 เป็นเดือนแรกในการเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ เพราะถือเป็นเดือนที่เริ่มวงจรกิจกรรมหลักของชีวิต ซึ่งความเชื่อในการนับถือผีของชาวมอญก็นับเดือน 6 เป็นเดือนเริ่มปีใหม่เช่นกัน การจะประกอบประเพณีต่าง ๆ ที่ถูกข้อห้ามไว้สามารถเริ่มกระทำได้เพราะถือว่าล่วงพ้นจากปีเก่าแล้วนั่นเอง

วันแรกของการทำนา เจ้าของนาก็จะเทียมวัวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แล้วสวด "อิติปิโส" 2 จบ เพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็เป็นการไหว้ผีนา

เดือน 9 ขึ้น 15 ค่ำ ทำบุญให้วงศ์ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะได้พ้นทุกข์

เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ เรียกประเพณีกลางเดือน 10 ถือเป็นวันที่ยมบาลปล่อยผีปล่อยเปรตที่อยู่ในนรกรวมถึงพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ให้มารับอาหารอันเป็นผลบุญที่ลูกหลานนำมาทำที่วัด ก่อนวันนี้ผู้หญิงแต่ละบ้านจะตำข้าวเหนียวโม่เป็นแป้งเพื่อทำขนมต่าง ๆ เตรียมไปทำบุญที่วัดและแจกลูกหลานกัน

เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ทำบุญออกพรรษา ช่วงก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะเตรียมทำขนมกระยาสารทเพื่อนำไปทำบุญที่วัด โดยการนำข้าวเหนียวที่เก็บไว้ในยุ้งมาทำ

เดือน 12 เป็นเดือนที่ข้าวพุ่ง คือ ข้าวกำลังออกรวง เรียกว่า "ข้าวท้องกำลังแตก" ชาวนาจึงนิยมนำเครื่องเซ่นไหว้ไปสักการะแม่โพสพที่ทุ่งนา เพื่อความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์

เดือน 1 เป็นเดือนก่อนเกี่ยวข้าว เดือนนี้ข้าวยังไม่แก่จัด เป็นประเพณีของทุกบ้านที่จะเกี่ยวข้าวมาทำข้าวเม่า เพื่อจุดธูปเซ่นไหว้บอกกล่าวบรรพบุรุษที่เสาผีเรือนเสียก่อน ส่วนบ้านที่มีศาลพระภูมิซึ่งไม่ได้ถือผีมอญก็จะนำมาเซ่นไหว้ที่ศาล ถือเป็นระเบียบเหมือนกันของชุมชน จากนั้นจึงนำมาคลุกมะพร้าวและน้ำตาล นำไปถวายพระที่วัด

เดือน 2 เกี่ยวข้าว นวดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้ง ซึ่งจะต้องทำในวันพฤหัสบดี

เดือน 3 ขึ้น 15 ค่ำ มีการเผาข้าวหลามทำบุญ ซึ่งเหมือนกับกลุ่มคนทั่ว ๆ ไป ระยะนี้เป็นช่วงว่างงาน ผู้ชายจะจักสาน ผู้หญิงจะทอผ้า หรืออาจจะมีการจัดขบวนผ้าป่า หาไม้ หาฟืน 

เดือน 5 สงกรานต์ ถือเป็นเดือนที่มีการจัดงานใหญ่ที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงว่างจากการทำงาน ประเพณีเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่จะดูกลมกลืนกันทั้งในกลุ่ม คนไทย คนลาว ชาวบ้านม่วงถือวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสิ้นสุดปีเก่า วันที่ 14 เป็นวันเนา คือวันที่อยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ โดยไม่จัดอยู่ในปีใดเลย และวันที่ 15 คือ วันขึ้นปีใหม่ของปีตามจันทรคติ

ลักษณะเด่นของประเพณีซึ่งยังคงเอกลักษณ์ของชาวมอญ คือ การส่งข้าวแช่ การเล่นสะบ้า หลุมมอญ ประเพณีปล่อยนกปล่อยปลา ค้ำโพธิ์ โรยทราย และปิดท้ายประเพณีด้วยการสรงน้ำพระ

1.ผู้ใหญ่สอางค์ พรมหมอินทร์

ได้รับเลือกให้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มสตรีอาสาประจำตำบลบ้านม่วง ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 เพราะว่าผลงานมากมายพอที่จะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่งของชุมชนมอญแห่งนี้ ผู้ใหญ่ได้ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว โดยได้รับการยกย่องจากบุรุษ และคนในชุมชนว่าเป็นสตรีที่มีความเก่ง เข้าได้กับทุกคน มีความเป็นกันเอง รวมทั้งเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือ ลูกบ้านอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือท่านได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านดีเด่นเกือบทุกปี เพราะท่านได้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญขึ้นเป็นอย่างมาก

2.นายจวน เครือวิชฌยาจารย์

มีความเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม (มอญศึกษา)

 

ทุนวัฒนธรรม

วัดคงคาราม จัดว่าเป็นวัดที่เก่าแก่วัดแรกของชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ประมาณ พ.ศ. 2320 

วัดม่วง/พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง

วัดม่วงเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตก ประวัติของวัดม่วงนั้นมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเขียนด้วยอักษรมอญ ระบุว่าวัดแห่งนี้เกิดขึ้นในสมัยกรุงอยุธยาตอนปลาย มีอายุนับจากปัจจุบันมากกว่า 300 ปีมาแล้ว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จัดตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยได้รับพระราชทานคำแนะนำจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ด้วยความร่วมมือระหว่างวัดม่วง ชาวบ้านม่วง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ได้ให้บริการความรู้เรื่องมอญ ทั้งแก่ชุมชนบ้านม่วงและชุมชนโดยรอบในละแวกใกล้เคียงทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สนใจ อย่างไรก็ดีหลังจากสร้างและเปิดพิพิธภัณฑ์แล้ว มีชาวบ้านเห็นคุณค่าและความสำคัญจึงนำเอาโบราณวัตถุทั้งทางโบราณคดีและชาติพันธุ์มาอุทิศให้กับทางวัด เพื่อให้เก็บไว้จัดแสดงอีกมากมาย จึงเกิดปัญหาที่จะต้องก่อสร้างและต่อเติมอาคาร รวมทั้งเพิ่มเติมเนื้อหาการจัดแสดงสอดคล้องกับสิ่งของที่ได้รับมา จึงมีการปรับปรุงการจัดแสดงเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ ควบคู่ไปกับขยายความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็น "ศูนย์มอญศึกษา" ด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ และบริษัทมติชน

โดยทางวัดได้สร้างอาคารสองชั้นหลังใหม่ขึ้น เชื่อมกับอาคารพิพิธภัณฑ์เดิม การจัดแสดงที่ปรับปรุงใหม่จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมและมอญศึกษา มีทั้งข้าวของต่าง ๆ แผนที่ ภาพเขียน งานกราฟิก โดยเนื้อหาหลักที่ปรับปรุง คือ อาคารชั้นบนเป็นเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติมอญและอารยธรรมมอญที่มีมิติลึกและความกว้างทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมมากไปกว่าเรื่องของการศึกษาท้องถิ่น ขณะที่ชั้นล่างจัดเป็นห้องประชุมสัมมนาและห้องสมุด เพื่อรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมอญ ซึ่งการจัดแสดงในชั้นบนอาจแบ่งออกเป็น 6 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันได้แก่ มอญในตำนาน (The Mon in the Myths)

โดยเล่าถึงความเป็นมา และความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างบ้านแปลงเมืองกับพระเกศธาตุ (ผม) จากตำนานหรือนิทานอันเป็นที่ยอมรับมาแต่โบราณกาล รวมไปถึงพุทธทำนายเรื่องหงส์คู่เล่นน้ำ มันเป็นที่มาของนครหงสาวดี เป็นต้น มอญในทางประวัติศาสตร์ (The Mon in the History) แสดงเรื่องราวของมอญในยุคต่าง ๆ ตั้งแต่ มอญยุคสุวรรณภูมิ ซึ่งความเป็นมอญและคนมอญ ยังซ้อนทับอยู่กับการเป็นคนกลุ่มหนึ่งในรัฐใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในประเทศพม่า มอญยุครามัญเทศ ซึ่งเป็นยุคที่มีรัฐมอญมั่นคงอยู่ท่ามกลางรัฐของกลุ่มชนชาติอื่น ๆ ไทยพม่า ไทยใหญ่ โดยมีเมืองหงสาวดีเป็นศูนย์กลาง และมีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมยิ่งกว่าสมัยใด ๆ มอญยุคผู้ชนะสิบทิศ อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ภาษามอญและจารึกมอญ (Mon Language and Inscription)

ในบรรดาจารึกต่าง ๆ ในไทยและพม่า ภาษามอญถือเป็นภาษาสำคัญเก่าแก่ของผู้คนในสังคมที่เป็นเมืองและรัฐ เพราะเป็นทั้งภาษาศักดิ์สิทธิ์ ภาษาทางราชการ และภาษากลาง ที่ใช้พูดจาสื่อสารในกลุ่มชนทุกระดับ ของที่จัดแสดงอาทิ แผ่นคัมภีร์ ฝีมือช่างมอญสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับอิทธิพลจากจีนและมุสลิม แผนคัมภีร์และไม้ประกับคัมภีร์ รูปลายทองสัตว์หิมพานต์ สมัยอยุธยาตอนปลาย คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น ประเพณีและวัฒนธรรมมอญ (Mon Tradition and Culture) จัดแสดงเรื่องราว ประเพณี 12 เดือน ของคนมอญในประเทศไทย ซึ่งอยู่บนหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาและการนับถือผี และจัดแสดงข้าวของ เครื่องมือเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับประเพณีและวัฒนธรรมมอญ อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เครื่องทองเหลือง ผ้าฝ้ายพิมพ์ลายห่อคัมภีร์ ผ้าฝ้ายทอพื้นบ้านห่อคัมภีร์ของชาวบ้านม่วง พระบฎ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น มอญอพยพ (The Mon Migration)

จัดแสดงแผนที่และเรื่องราวการอพยพมาสู่ไทยของคนมอญ 9 ระลอก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จนทำให้มอญกลายเป็นประชากรส่วนสำคัญของประเทศไทยมาจนทุกวันนี้ โดยคนมอญมักตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำ โดยเฉพาะจะหนาแน่นบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มอญในไทยและผู้นำทางวัฒนธรรม (The Mon in Thailand and Culture Hero) จัดแสดงประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตและประเพณีของมอญในไทย อาทิ มอญสามโคก มอญสมุทรสาคร มอญบ้านโป่ง-โพธาราม มอญพระประแดง ในส่วนผู้นำทางวัฒนธรรม จัดแสดงภาพวาดและเรื่องราวของผู้นำทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มกษัตริย์หรือผู้นำในอดีต อาทิ พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าจันสิทธา มะกะโท พระเจ้าราชาธิราช บุเรงนอง หลวงพ่ออุตตมะ พระครูวรธรรมพิทักษ์(อาจารย์ลม อดีตเจ้าอาวาสวัดม่วง)

นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งจากภายในและภายนอกขึ้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป อาทิงาน "สืบสานประเพณีกินอยู่อย่างมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง" ที่จัดขึ้น ณ วัดม่วง ในช่วงวันลอยกระทงเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอกิจกรรม การละเล่น และประเพณีในรอบปีของกลุ่มคนมอญในลุ่มน้ำแม่กลอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตคนมอญมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ชมและศึกษาผ่านจากงานนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์

การแต่งกาย เมื่อเทียบกับคนมอญที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่นี้ ลักษณะการแต่งกายของคนมอญคล้ายกับคนพม่า โดยเฉพาะผู้ชายจะนุ่งโสร่ง หรือ "สะส่ง" ส่วนเสื้อเป็นแบบคอกลมผ่าอกตลอด แขนทรงกระบอก และมีเสื้อตัวสั้นแบบแจ็กเก็ตสวมทับอยู่ข้างนอก และสมัยก่อนนิยมโพกผ้าที่ศีรษะด้วย แต่เมื่อยู่ในประเทศไทยนานก็หันมาไว้ผมแบบคนไทย ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้า "กานิน" ซึ่งคล้าย "สะส่ง" ของผู้ชาย แต่เล็กกว่าและมักเป็นสีพื้นผ้านุ่งแบบนี้เรียกว่า "ผ้าตาโกง" และเวลามีงานประเพณีที่สำคัญ ๆ ผู้หญิงชาวมอญจะมีผ้าคล้องคอด้วย ส่วนผมก็นิยมไว้ยาวและมักเกล้าเป็นมวยเช่นเดียวกับพม่า แต่จะเกล้าไปข้างหลัง ต่างจากพม่า ซึ่งจะเกล้าสูงขึ้นไปข้างบน แต่ในปัจจุบันการแต่งกายแบบชาวมอญก็ได้ถดถอยลงไป ส่วนมากปัจจุบันจะแต่งกายแบบชาวมอญต่อเมื่อตอนทำพิธีกรรมหรือมีประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมอญ

ชาวมอญในชุมชนบ้านม่วงค่อนข้างที่จะมีเอกลักษณ์ทางด้านภาษาอยู่พอสมควร ดังนั้นคนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุจึงมีความสามารถในการพูดภาษาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือ ภาษามอญ ซึ่งมักจะพบในการสนทนาระหว่างคนมีอายุด้วยกัน ส่วนคนเชื้อสายมอญรุ่นใหม่โดย ส่วนใหญ่จะไม่สามารถพูดภาษาดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ จะมีแต่เพียงลูกหลานเชื้อสายมอญบางส่วนเท่านั้นที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษามอญ เนื่องจากภายในครอบครัวจะใช้ภาษามอญในการสนทนาระหว่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารกันเพื่อใช้ถ่ายทอดการสนทนาและความเข้าใจที่ตรงกัน


การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดในชุมชนเรื่องของสตรี การศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานชนิดใดก็ตามจะต้องมีพื้นฐานมาจากการศึกษาแทบทั้งสิ้น การศึกษาของสตรีในชุมชนบ้านม่วงก็เริ่มที่จะสูงขึ้นมาทัดเทียมกับบุรุษ ทั้งนี้เพราะความคิดที่ว่าสตรีจะเรียนไปทำไม เมื่อแต่งงานแล้วก็ให้สามีเลี้ยงดูเริ่มที่จะหายไปจากสังคมไทยแล้ว ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษก็ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย


การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนี้มีความเจริญขึ้นมาก็เกิดจากการทำไร่ ทำนา มากกว่าการซื้อขายที่ดินเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของชุมชนเลยก็ว่าได้และเป็นรายได้ที่มากพอสมควร แต่รายได้เหล่านั้นก็ยังคงไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต จึงทำให้บุรุษมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกชุมชน รวมทั้งสตรีวัยรุ่นบางคนก็ต้องเข้าไปเรียนหนังสือบ้าง ไปทำงานส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวบ้าง จะกลับมารวมกันก็ต่อเมื่อมีเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเครือญาติ เพราะในอดีตมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่เมื่อเงินตราเข้ามามีความสำคัญในการดำรงชีวิต ทำให้ผู้คนมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานภายนอกชุมชน จึงทำให้ระบบความสัมพันธ์นี้เริ่มที่จะสูญหายไป เช่น ภาษา ที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่พูดภาษามอญกันแล้ว มีเพียงคนสูงอายุเท่านั้นที่สามารถสื่อสารกันได้ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ ที่ควรจะรักษาไว้ แต่เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มที่จะออกไปสู่เมืองใหญ่ มีการนำวัฒนธรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ชุมชน จึงทำให้เอกลักษณ์เหล่านี้ก็เริ่มหมดความสำคัญไปตามกาลเวลา แต่คนรุ่นเก่าก็ยังพยายามที่จะสืบทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ไปสู่ลูกหลานเพื่อให้สืบทอดต่อไป

จุดสนใจอื่น ๆ ในชุมชนบ้านม่วง เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ตลาดนัดวัดบ้านม่วง คัมภีร์โบราณสมุดข่อย

อิมธิรา อ่อนคำ. (2560). มอญ ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี: วิถีและพลัง. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา. 

วัชรินทร์ ขำฟัก. (2542). บทบาทสตรีกับการพัฒนาชุมชนกรณีศึกษาชุมชนบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

คลังข้อมูลชุมชน. (ม.ป.ป.). วัดม่วง-พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จ.ราชบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567. https://communityarchive.sac.or.th/community/WatMuang/data-set

จิรนันท์ คอนเซพซิออน. รอยอดตีแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ตอนที่ 2 วัดมอญ : วัดม่วง. สำนักศิลปากรที่ 1 กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567. https://www.finearts.go.th/

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/433

ไปด้วยกัน. (2563). วัดม่วง ราชบุรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567. https://www.paiduaykan.com/travel/

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง. (2564). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2566-2570). องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. 

อบต.บ้านม่วง โทร. 0-4221-9817