พุทธศาสนากับการแพทย์พื้นบ้านและภูมิปัญญาของคนพื้นถิ่น
วัดสลุดเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 โดยมีนายรอด นางแก้ว พุกรอด เป็นผู้ศรัทธาถวายที่ดินให้สร้างวัด เป็นเนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 38 ตารางวา เมื่อสร้างวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงตั้งชื่อว่า "วัดตารอด" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ถวายที่ดินเพื่อสร้างสัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดไปตามลำคลอง จึงได้ชื่อใหม่ว่าวัดสลุด
วัดสลุด มีอาณาเขตติดต่อดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองต้นตาลและโรงเรียนวัดสลุด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองสลุด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ซอยสมุทรศิริวัฒน์ 1
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยวัดสลุด
จากสถิติจำนวนประชากรและบ้านในพื้นที่ตำบลบางพลีใหญ่ ปี 2566 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 94,559 คน แบ่งเป็นชาย 44,399 คน และหญิง 50,160 คน มีบ้านทั้งหมดจำนวน 56,720 หลัง โดยเป็นประชากรในพื้นที่คลองสลุดจำนวน 3,129 คน แบ่งเป็นชาย 1,447 คน และหญิง 1,682 คน มีบ้านทั้งหมดจำนวน 2,104 หลัง
เนื่องจากตำบลบางพลีใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ดินอุดมสมบูรณ์จึงเหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงปลา มีคลองอยู่ทั่วไป เดิมจะพื้นที่ทำการเกษตร แต่ปัจจุบันพื้นที่เกษตรลดลงมาก เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรรตั้งอยู่ พื้นที่เกษตรจึงกลายเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร ตลอดจนมีการตัดถนนซอยต่าง ๆ
เดิมทีชุมชนวัดสลุดแห่งนี้มีหมอพื้นบ้านคอยรักษาผู้คน โดยจะใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในหมู่บ้านมาทำเป็นยารักษา หมอพื้นบ้านมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่มักบวชเรียนมาแล้วทั้งสิ้น ทำให้ผู้ได้รับการรักษาเกิดความไว้วางใจ เมื่อชุมชนวัดสลุดแห่งนี้ได้กลายเป็นชุมชนเมือง ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสังคม ส่งผลกระทบต่อหมอพื้นบ้านที่มีจำนวนลดลงไปตามลำดับ
หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ของชุมชนวัดสลุดจะเป็นเพศชาย เนื่องจากสมัยก่อนการบวชเรียนจะทำได้เฉพาะผู้ชายและในศาสนาพุทธเท่านั้น และจากการสำรวจยังพบว่าหมอพื้นบ้านทุกคนในชุมชนแห่งนี้ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธทั้งสิ้น อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการตัดสินใจเข้ารักษากับหมอพื้นบ้าน คือ หมอพื้นบ้านผ่านการบวชเรียนมาแล้ว นั่นหมายถึงผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีจิตใจดี มีศีลธรรม เหมาะที่จะรักษาผู้ป่วย ในขณะเดียวกันพุทธศาสนายังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนอีกด้วย นอกจากนี้หมอพื้นบ้านไม่เพียงแต่รักษาอาการป่วยตามร่างกายเท่านั้น แต่ยังรักษาอาการป่วยจากทางจิตใจด้วย สังเกตจากเวลารักษามักจะท่องคาถาขณะรักษา เสมือนเป็นการปลอบโลมจิตใจผู้ป่วยไปด้วย
ธัชกร ภัทรพันปี. (2565). การพัฒนากลุ่มอาชีพชุมชนต้นแบบในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ. คลังปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://cms.dru.ac.th/
ธีรวัฒน์ รังแก้ว. (2562). สวัสดิการชุมชนจัดการตนเอง สร้างสุขในชุมชน ตำบลบางพลีใหญ่. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://web.codi.or.th/
ระบบสถิติทางการทะเบียน. (2566). สถิติจำนวนประชากรและบ้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2567. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
ศุภชัย ชุ่มชื่น. (2562). ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านชาวชุมชนวัดสลุด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 38(5), 96-104.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ. (2560). แผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี (พ.ศ. 2561-2564) ขององค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดสมุทรปราการ. (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.oic.go.th/
Primary. (2554). วัดสลุด. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.m-culture.in.th/