Advance search

ตลาดใหญ่

ตลาดเก่า

ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน และเป็นชุมชนการค้าที่มีความคึกคักในยุคการทำเหมืองแร่

ตะกั่วป่า
ตะกั่วป่า
พังงา
ณัฏฐกิตต์ มงคลสิทธิชัย
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
21 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
21 ก.พ. 2024
ตลาดใหญ่
ตลาดเก่า


ชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน และเป็นชุมชนการค้าที่มีความคึกคักในยุคการทำเหมืองแร่

ตะกั่วป่า
ตะกั่วป่า
พังงา
82110
เทศบาลเมืองตะกั่วป่า โทร. 0-7642-4524
8.82941564118786
98.3649542927742
เทศบาลเมืองตะกั่วป่า

ชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนตลาดใหญ่และชุมชนเสนานุชรังสรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมบนชายฝั่งทะเลอันดามันมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องจนถึงยุคเมืองท่าโบราณ ในยุคนั้นตะกั่วป่ามีฐานะเป็นเมืองท่าโบราณแห่งหนึ่งระหว่างพ่อค้าอินเดียกับสุวรรณภูมิ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองตะกั่วป่าที่สำคัญเกิดขึ้นในยุคเหมืองแร่ดีบุก กระแสการทำเหมืองแร่ได้เคลื่อนย้ายแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ เมืองบริเวณริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ณ ช่วงเวลานั้น จึงเต็มไปด้วยคนจีนและวัฒนธรรมจีนที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนและแหลมมลายู เช่น สิงคโปร์ ปีนัง วัฒนธรรมที่ได้รับสืบทอด เช่น อาหาร ขนม ประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) โดยมีตลาดเก่า หรือตลาดใหญ่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ก่อนปี พ.ศ. 2492 ชุมชนแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นอำเภอตลาด มีตำบลในการดูแลรับผิดชอบ 2 ตำบล คือ ตำบลตลาดเหนือและตำบลตลาดใต้ในจังหวัดตะกั่วป่า ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญทางด้านศาสนา สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2475 โดยประมาณ มีการปรับปรุงพื้นที่โดยมีการรวมจังหวัดตะกั่วป่าและจังหวัดพังงาเข้าร่วมกันเป็นจังหวัดเดียว ในตอนนั้นจังหวัดตะกั่วป่ามีความเจริญรุ่งเรืองมากจนอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นจังหวัดตะกั่วป่าแทนที่จังหวัดพังงา แต่ด้วยเหตุผลบางประการของเจ้าเมือง ทำให้ท่านเสนอว่าจังหวัดตะกั่วป่าแม้จะได้เป็นเพียงอำเภอตะกั่วป่า ก็มิได้รับผลกระทบอะไรมากมายนัก เพราะมีความเจริญมาแต่เดิมอยู่แล้ว

ในทางกลับกันสำหรับจังหวัดพังงาซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ มีภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยนัก คือ อยู่บริเวณซอกเขา พร้อมทั้งขณะนั้นจังหวัดพังงาเองก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองมากนักจึงอาจทำให้พื้นที่นี้ได้รับความกระทบกระเทือนมากจนอาจไม่สามารถประคองตัวได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดพังงาได้รับแต่งตั้งแทนจังหวัดตะกั่วป่า และจังหวัดตะกั่วป่าก็ได้รับผนวกเข้าเป็นอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เทศบาลเมืองตะกั่วป่า แบ่งเขตการปกครองออกเป็นชุมชน ทั้งหมด 7 ชุมชน คือ ชุมชนเสนาราษฎร์ ชุมชนบ้านย่านยาว ชุมชนศรีเมือง ชุมชนบางมรา-ต่อตั้ง ชุมชนราษฎร์บำรุง ชุมชนตลาดใหญ่ และชุมชนเสนานุชรังสรรค์ โดยชุมชนตลาดใหญ่ มีอาณาเขต ดังนี้

  • ถนนศรีตะกั่วป่า บ้านเลขที่ 1 - 353 (เลขคี่)
  • ถนนราษฎร์บำรุง บ้านเลขที่ 2 - 356 (เลขคู่)
  • ถนนอุดมธารา, ซอยควนถ้ำ. ถนนหน้าเมือง ตลอดสาย

เทศบาลเมืองตะกั่วป่ามีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบริมน้ำ เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งคลองสายสำคัญของเมืองตะกั่วป่า คือ คลองตะกั่วป่า มีภูเขาที่สำคัญรอบเขตเทศบาล คือ เขาวังมรา เขาพระบาท และมีคลองสำคัญ คือ คลองตะกั่วป่า ในปัจจุบันคลองตะกั่วป่ามีลักษณะตื้นทำให้มีน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง

โดยภาพรวมอำเภอตะกั่วป่า ตั้งอยู่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม 2 ฤดู ทำให้ภูมิอากาศมีลักษณะร้อนชื้น คือ ช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมจะทำให้มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่ในช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมจะทำให้มีฝนตกชุก ซึ่งช่วงฤดูฝนจะยาวนานมากกว่าฤดูร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ฤดูกาล คือ

  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือนตุลาคม-เมษายน
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 

จากข้อมูลการสำรวจประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวน 470 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 1,142 คน โดยแบ่งเป็นชาย 528 คน และหญิง 614 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)

ชุมชนตลาดใหญ่เป็นเขตย่านการค้าที่สำคัญของอำเภอตะกั่วป่าและจังหวัดพังงามาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ขายของชำ ขายของแห้ง ขายขนมเต้าส้อ (ขนมขึ้นชื่อ) ขายยา เปิดร้านตัดผม ขายก๋วยเตี๋ยว หรือของกินท้องถิ่น เป็นต้น โดยเฉพาะบริเวณถนนอุดมธารา ในอดีตมีการค้าขายทางแม่น้ำอย่างคึกคักจนเป็นเหตุให้มีคำพูดเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “จับเส” มาจากภาษาจีน แปลว่า สิบ ส่วน เส แปลว่า สินค้า ดังนั้น ถนนอุดมธาราที่คนในพื้นที่เรียกว่า จับเส จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประชาชนแถบนี้แต่เดิมมีความรุ่งเรืองมาก ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่าน จึงทำให้เรือสินค้าต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่ดังกล่าว เช่น สินค้าเรือจากประเทศจีน ประเทศพม่า ซึ่งเข้ามาขายสินค้าหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น ข้าวสารและข้าวแป๊ะต่อ ทับทิม ยาเส้น น้ำตาลแดง ผ้าไหมและสินค้าอื่น ๆ

จากชุมชนยุคการค้า บ้านเรือนที่ค้าขายเป็นตลาดมาก่อน ปัจจุบันกลายเป็นที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีบ้างที่ค้าขาย เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ขายของชำ ขายขนมเต้าส้อ ของกินท้องถิ่น ส่วนคนรุ่นใหม่มักออกทำงานที่อื่นหรือต่างจังหวัด แต่กระนั้นเมื่อถึงเทศกาล ก็มักรวมตัวกันจัดกิจกรรม เช่น เทศกาลกินเจ ถนนสายวัฒนธรรม หรืองานตะกั่วป่าบ้านของฉัน ซึ่งสร้างโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่

วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่จะอยู่กันอย่างเรียบง่าย หากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวชุมชนค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงผู้สูงอายุนั่งอยู่บริเวณหน้าบ้านของตน เช้าตรู่จะมานั่งพูดคุยและดื่มกาแฟที่ร้านประจำชุมชน ส่วนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานในเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จะคึกคักก็ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยวัฒนธรรมหรือประเพณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองตะกั่วป่านั้นส่วนมากแล้วจะมีความคล้ายคลึงและผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น อาหาร ขนม และประเพณีถือศีลกินผัก (กินเจ) เป็นต้น

กิจกรรมและเทศกาลที่สำคัญ

  • งานถนนสายวัฒนธรรม จัดขึ้นทุกปี โดยจัดทุกวันอาทิตย์ ช่วงเวลา 15.00 - 20.00 น.  ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับฤดูกาลท่องเที่ยวของที่นี่
  • งานถือศีลกินผักตะกั่วป่า จัดขึ้นทุกปีช่วงเทศกาลกินเจ
  • งานลอยกระทง เนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้แม่น้ำ จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถาปัตยกรรม

ชุมชนตลาดใหญ่ มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม กล่าวคือ มีสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนแบบจีน และชิโนโปรตุกีส หลักฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความผสมผสานของเชื้อชาติไทยและจีนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ร่องรอยความรุ่งเรืองที่ยังคงมีให้สัมผัสตามบ้านเรือน

"หง่อคาขี่" ภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง ทางเดินกว้าง 5 ฟุตจีน หง่อคาขี่ คือ ซุ้มโค้งทางเดินเท้าหน้าอาคารเป็นช่องโค้งต่อเนื่องกันเป็นระยะ เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของอาคารรูปแบบชิโนโปรตุกีสนี้

และด้วยบริเวณถนนศรีตะกั่วป่าและถนนอุดมธารา มีอาคารเก่า สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสอยู่อย่างหนาแน่น มีคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ทำให้อาคารเหล่านี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนอนุรักษ์ประเภทตลาด-การค้า ทางภาคใต้ ของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ค่ายกำแพงเมืองเก่า

ตั้งอยู่บนถนนอุดมธารา มีการก่อสร้างถนนตัดผ่านไปบางส่วน โดยกำแพงเมืองเก่านั้นมีกำแพงสูงประมาณ 3 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำตะกั่วป่าบริเวณแยกสามเหลี่ยมคลองปิกับคลองตะกั่วป่า ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งที่ดีในการตั้งหอรบ เพื่อป้องกันเมือง เพราะที่ตั้งของเมืองตะกั่วป่า ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างไหล่เขากับตลิ่งของคลองด้านตะวันออก และด้านตะวันตกของเมืองเป็นภูเขา ดังนั้นทางเข้าสู่เมืองหลักจะต้องเข้าทางคลองทั้งสองนี้เท่านั้น เพราะเป็นบริเวณที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ป้องกันข้าศึกได้

ศาลเจ้าพ่อกวนอู

สถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน ตั้งอยู่บริเวณถนนอุดมธารตัดถนนศรีตะกั่วป่า ในแต่ละปีเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินผัก จะมีผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และพร้อมใจแต่งกายด้วยชุดสีขาว รับประทานอาหารที่ประกอบขึ้นจากผักและผลไม้ ซึ่งศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองตะกั่วป่า

อุโบสถบ้านหน้าเมือง

วัดหน้าเมือง หรือวัดปทุมธารา เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่า รูปแบบศิลปะปักษ์ใต้ เสาไม้เป็นแกน โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2478 เล่ากันว่าวัดหน้าเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นโดยท่านท้าว ธิดาพระยาตะกั่วป่า (ม่วง) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2320

หม้อสตีมไอน้ำเรือกลไฟ เป็นชิ้นส่วนของเรือกลไฟ ซึ่งพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) เข้าหุ้นกับพระยาวิชิตสงคราม (ทัตรัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ซื้อมา เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อใช้ปราบโจรสลัดและขนส่งสินค้า ภายหลังเสื่อมสภาพได้จมลงบริเวณลำน้ำตะกั่วป่า แสดงถึงความเจริญด้านพาณิชย์ของเมืองตะกั่วป่าในสมัยอดีต ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดหน้าเมือง หรือ วัดปทุมธารา

ศาลเจ้าบุ่นเท่าก๋งอ้าม 

ศาลเจ้าแห่งแรกของเมืองตะกั่วป่า ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือเก่าในอดีตของเมืองตะกั่วป่า หรือที่ชาวตะกั่วป่าเรียกกันว่า "จับเส" หรือ "จับเซ้" ซึ่งเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า "ท่าเรือ" ที่สร้างโดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ไหหลำ และกวางตุ้ง ภายในศาลเจ้ามีกระถางธูปที่รัชกาลที่ 6 ทรงประธาน

ตึกแถวย่านจับเส

ตึกเก่าสองชั้น บนถนนอุมดมธารา เป็นตึกที่พระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) สร้างไว้ให้ลูกหลาน ดินและปูนที่นำมาสร้างนั้นนำเข้าจากปีนัง ชาวตะกั่วป่าเรียกย่านนี้ว่า "ตึกแถวย่านจับเส" สามารถชมภาพเขียนพู่กันจีน ซึ่งมีอายุกว่าร้อยปีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ได้

ถนนสายวัฒนธรรม

จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม ของทุกปี ตั้งแต่เวลา 15.00 -20.00 ที่บริเวณถนนศรีตะกั่วป่าจะถูกเนรมิตย้อนความหลังครั้งเมืองตะกั่วป่ารุ่งเรือง โดยรวบรวมความงดงามของอดีตและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสและรู้จักตะกั่วป่ามากยิ่งขึ้น

บ้านขุนอินทร์

สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 เป็นบ้านอยู่อาศัยของ ร.อ.ท.ขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า และดำรงตำแหน่งนายอำเภอตะกั่วป่า เป็นอาคารรูปทรงชิโนโปรตุกีสประยุกต์

อาคารโรงเรียนเต้าหมิง 

สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2465 โดยสมาคมพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาดำเนินการเหมืองแร่ดีบุกสำหรับให้ลูกหลานชาวจีนได้เล่าเรียนภาษาจีน สร้างโดยช่างฝีมือชาวจีน อาคารรูปทรงชิโนโปรตุกีสประยุกต์รูปทรงแบบจีนหลังคามุงสังกะสี

ขนมเต้าส้อ

มรดกวัฒนธรรมอาหารชาวจีนฮกเกี้ยน ลักษณะคล้ายขนมเปี๊ยะ แต่ต่างกันตรงที่ขนาด ซึ่งเต้าส้อจะมีขนาดเล็กกว่า 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เมืองตะกั่วป่าตั้งอยู่ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีเสน่ห์ชวนค้นหาในด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม ในยุคเหมืองแร่ดีบุกที่เฟื่องฟูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เอกลักษณ์เฉพาะตัวและสเน่ห์ของเมืองเก่าตะกั่วป่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน คือ ลักษณะอาคาร บ้านเรือน ตึกแถวสองชั้นที่มีซุ้มโค้งอยู่เป็นแนว มีสีสันลวดลายประดับอย่างสวยงามแปลกตา เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นอกจากนี้ เย็นวันอาทิตย์บริเวณบนถนนศรีตะกั่วป่ายังจัดให้มีถนนคนเดินเมืองตะกั่วป่า นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินไปกับอาหาร ขนมพื้นบ้าน เข้าชมสักการะศาลเจ้าพ่อกวนอู สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองตะกั่วป่า ในบรรยากาศเมืองวัฒนธรรมเล็กๆ แต่มีเสน่ห์แห่งนี้


ด้วยลักษณะที่ตั้งชุมชนตลาดใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และติดกับแม่น้ำตะกั่วป่าที่ตื่นเขิน จึงเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูฝน คือ ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 

“บาบ๋า” กับประวัติศาสตร์เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หนึ่งในเขตแดนสามเหลี่ยมอันดามัน ประกอบด้วย กระบี่-พังงา-ภูเก็ต ตะกั่วป่า หรือ “ตักโกละ” (ตัก-โก-ละ) เมืองท่าโบราณริมฝั่ง อันดามันในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์ มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยเถระ ได้รจนา (ประพันธ์) เป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. 500 ความเป็นเมืองท่าสำคัญทางประวัติศาสตร์และปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เนื่องด้วยเมืองตะกั่วป่ามีความได้เปรียบทางต้นทุนวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าควรแก่การจดจำเล่าขาน ประกอบกับภูมิทัศน์ ทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกีส (ถนนศรีตะกั่วป่า) ที่แฝงด้วยเสน่ห์ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนเมืองตะกั่วป่า ซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวจีน หรือลูกครึ่งไทย-จีน ซึ่งในสังคมยุคนั้นมักเรียกลูกหลานไทย-จีนว่า “ลูกบาบ๋า”

ปัจจุบัน ชาวจีนหรือ “บาบ๋า” นับเป็นส่วนหนึ่งของประชากรเมืองตะกั่วป่า การเข้ามาของชาวจีนยุคนั้นส่วนใหญ่มาจากมณฑลทางภาคใต้ ในเขตมลฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง โดยประกอบอาชีพรับจ้างงานในเหมืองแร่หรือกรรมกร (กุลี) ที่เถ้าแก่ส่งนายหน้าไปว่าจ้างมาจากเมืองจีน หรือบริษัทจัดหางานของ ชาวจีนในปีนัง สิงคโปร์ โดยเถ้าแก่ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แต่ต้องปฏิบัติงานตามสัญญา คือ 3 ปี วิธีการแบบนี้เรียกว่า “กรรมกรประเภทจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า” แต่เมื่อทำครบสัญญาแล้ว สามารถเปลี่ยนนายจ้างใหม่หรือออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวได้

ในยุคนั้นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะแร่ดีบุก บวกกับความขยันมานะทำกินของชาวจีน ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย บ้างก็แต่งงานอยู่กินกับสตรีพื้นถิ่น มีลูกหลานสืบแซ่สกุล ลูกชายมักเรียกว่า “บาบ๋า” (baba) ลูกสาวเรียกว่า “ยอนย่า” "ย่าหยา" (Naonya) ความหมายคือลูกที่เกิดบนแผ่นดินแม่ (Local inborn)

นริศรา พงษ์จันทร์. (2558). โครงการพื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขุมชนตลาดใหญ่ (ตลาดเก่า) เมืองตะกั่วป่า. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม.

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา. (ม.ป.ป.). เมืองเก่าตะกั่วป่า / กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.phangngapao.go.th/

เอิงเอย. (2563). แจกแผนที่ 9 จุด เช็คอิน พังงา เยือนถิ่นตะกั่วป่า เมืองอะไรทำไมวินเทจขนาดนี้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://travel.trueid.net/

ANDAMAN365. (ม.ป.ป.). อัตลักษณ์และการแต่งกายชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://andaman365.blogspot.com/

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/

สำนักงานเทศบาลเมืองตะกั่วป่า. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566 - 2570) ของเทศบาลเมืองตะกั่วป่า. ค้นจาก https://www.takuapacity.go.th/