ชุมชนเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา ที่ตั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่บอกเล่าความเป็นมาของท้องถิ่น
บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนในอดีตมีต้นหมากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการตั้งเป็นชุมชนจึงใช้ชื่อว่า "ชุมชนสวนหมาก"
ชุมชนเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา ที่ตั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่บอกเล่าความเป็นมาของท้องถิ่น
"สวนหมาก" เป็นชื่อเก่าแก่คุ้นหูของผู้คนในเขตเมืองเก่าสงขลากันเป็นอย่างดี เนื่องจากบริเวณนี้ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีต้นหมากขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า สวนหมาก และต่อมาเมื่อมีผู้คนเขามาอยู่อาศัย สร้างบ้านเรือนลงหลักปักฐานเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชน พร้อมกับพัฒนาการการขยายตัวของชุมชน และการเติบโตของเมืองสงขลา ซึ่งชุมชนแห่งนี้ได้แยกตัวออกมาจากชุมชนวัดดอนรักเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกันทางด้านทิศใต้ และมาตั้งชุมชนใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว ชุมชนในพื้นที่แห่งนี้จึงได้ถูกเรียกชื่อว่า "ชุมชนสวนหมาก" ตามลักษณะของสภาพแวดล้อมไป โดยชุมชนสวนหมากเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับกำแพงเมืองเก่าสงขลาทางด้านนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และบริเวณใกล้กันนั้นยังเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดสงขลาหลังเก่า ซึ่งในปัจจุบันถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา นับได้ว่าชุมชนสวนหมากเป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีโบราณสถาน และแหล่งข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาเรียนรู้
ชุมชนสวนหมาก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 1,974.30 ตารางเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มลาดเอียง มีน้ำขัง และตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา โดยชุมชนมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนไทรงาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนจะนะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนทะเลสาบสงขลา
ชุมชนสวนหมาก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น โดยในชุมชนมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 700 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรแบ่งเป็น ประชากรชาย จำนวน 485 คน ประชากรหญิง จำนวน 537 คน และมีประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 1,022 คน
ชุมชนสวนหมาก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลนครสงขลา และตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจอีกพื้นที่หนึ่งของจังหวัด ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย ที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ประชากรบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปด้วย และเนื่องจากพื้นที่ตั้งชุมชนสวนหมาก อยู่ในบริเวณริมทะเลสาบสงขลา ประชากรบางส่วนจึงประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือประมง ทั้งยังมีการรวมกลุ่มของผู้คนในชุมชนตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพ เช่น
- กลุ่มอาชีพแม่ค้าหน้าประมงจังหวัดสงขลา
- กลุ่มอาชีพงานฝีมือ (ทำเรือประมงจำลอง)
- กลุ่มอาชีพแม่ค้าโต้รุ่งหน้าพิพิธภัณฑ์
ประชากรชุมชนสวนหมากมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 150,300 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 57,807 บาท/ปี
1.นายเชน บัวจีน ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่าง/งานฝีมือ (ช่างไม้)
2.นายนิรันดร์ สุยสุทธิ์ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่าง/งานฝีมือ (ทำกรงนก)
3.นางธัญญลักษณ์ วรรณจิตต์ ปราชญ์ชุมชนด้านการประกอบอาหาร
4.นางประหยัด บัวจีน ปราชญ์ชุมชนด้านการประกอบอาหาร
5.นายสมบูรณ์ วรรณจิตต์ ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธี
6.นายสมบูรณ์ สิดปิยะ ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธี
วัดแจ้ง
วัดแจ้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาวนาน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระเจ้าจอมจันทร์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นทายาทสกุล ณ สงขลา มีศักดิ์เป็นทวดของเจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศร์ และพระยามานวราชเสวี ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (เจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้น) ท่านมีบ้านอาศัยอยู่ติดกับวัดแจ้ง จึงได้บริจาคที่ดินสร้างบัว (สถูปเจดีย์) เพื่อบรรจุอัฏฐิตระกูล ณ สงขลา และมอบที่ดินนั้นให้เป็นศานสมบัติของวัดแจ้งสืบมา
กำแพงเมืองเก่าสงขลา
กำแพงเมืองเก่าสงขลา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง กำแพงนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2379 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยทางกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งลงมาให้สร้างกำแพงเมืองและป้อม แต่ก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ เกิดเหตุการณ์หัวเมืองมลายูก่อกบฏ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2381 ได้ยกทัพมาเผาเมืองจะนะ และเข้ามาตีเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) จึงได้เข้ารักษาเมืองต้านทัพมลายูไว้จนทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ยกลงมาช่วยตีทัพกบฏมลายูจนแตกพ่ายกลับไป และช่วยสร้างกำแพงเมืองสงขลาจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2385
โครงสร้างกำแพงเมืองสงขลาก่อด้วยศิลาก้อนสอปูน ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมรอบเมืองสงขลา ได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน กำแพงมีความยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ 1200 เมตร กว้าง 456.50 เมตร กำแพงสูง 5 เมตร หนา 2 เมตร มีใบเสมาและป้อมประตู 8 ป้อม แต่ละป้อมมีปืนใหญ่กระสุน 4 นิ้ว ประจำการป้อมละ 3-4 กระบอก มีประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่ 10 ประตู มีประตูเล็ก 10 ประตู โดยรอบ ถัดออกจากแนวกำแพงเมืองเป็นคูเมือง โดยคู่เมืองทางด้านทิศเหนือคือคลองน้อย (คลองหน้าเมือง) ซึ่งขุดเชื่อมออกไปยังอ่าวไทย ปัจจุบันกำแพงเมืองเก่าสงขลา คงเหลือแต่กำแพงด้านถนนจะนะ ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา และที่ถนนนครใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตัวอาคารมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2421 โดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เพื่อใช้เป็นบ้านพัก ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทางราชการได้ซื้ออาคารดังกล่าวจากพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ใช้เป็นศาลาว่ามณฑลนครศรีธรรมราช และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ใช้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา จนถึงปี พ.ศ. 2496 จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลาไปยังถนนราชดำเนินในปัจจุบัน ทำให้ตัวอาคารถูกทิ้งร้างอยู่นานหลายปี
ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้เริ่มบูรณะอาคารหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรเสร็จเรียบร้อย จึงได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนสวนหมาก เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. (ม.ป.ป.). ประวัติและบทบาทหน้าที่. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา กรมศิลปากร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.finearts.go.th/songkhlamuseum
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). วัดแจ้ง. สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
Thailand Tourism Directory. (ม.ป.ป.).กำแพงเมืองเก่าสงขลา. [ออนไลน์]. ได้จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
Tourism Authority of Thailand. (ม.ป.ป.). กำแพงเมืองเก่าสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://thai.tourismthailand.org/