Advance search

หลีกเร้นความวุ่นวายจากป่าปูน ล่องแพตามเขื่อนวชิราลงกรณสู่หมู่บ้านกลางน้ำ "ปิล๊อกคี่" สัมผัสความเงียบสงบและงดงามของทรัพยากรธรรมชาติที่หลายคนถวิลหา

หมู่ที่ 4
บ้านปิล๊อกคี่
ปิล๊อก
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
อบต.ปิล๊อก โทร. 0-3454-0524
วิไลวรรณ เดชดอนบม
15 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 ก.พ. 2024
บ้านปิล๊อกคี่

ความเป็นมาของชื่อเรียกบ้านปิล๊อกคี่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ปิล๊อก" เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า แม่น้ำ สายน้ำ ส่วนคำว่า "คี่" เป็นภาษาไทย แปลว่า หนึ่ง หรือหนึ่งเดียว รวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน แปลว่า แม่น้ำสายเดียว

ส่วนอีกที่มาหนึ่งว่ากันว่าเมื่อประมาณ 100-200 ปีก่อน พื้นที่แถบนี้เป็นเขตอิทธิพลของชาวมอญ คำว่า "ปิล๊อก" จึงน่าจะมาจากภาษามอญว่า "เปิงล๊อก" หมายถึง ลูกอ๊อด ส่วน "คี่ เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ต้นน้ำ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง ต้นน้ำที่มีแต่ลูกอ๊อด ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อครั้งที่ชุมชนแห่งนี้ถูกค้นพบในระยะแรก พบลูกอ๊อดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว 


หลีกเร้นความวุ่นวายจากป่าปูน ล่องแพตามเขื่อนวชิราลงกรณสู่หมู่บ้านกลางน้ำ "ปิล๊อกคี่" สัมผัสความเงียบสงบและงดงามของทรัพยากรธรรมชาติที่หลายคนถวิลหา

บ้านปิล๊อกคี่
หมู่ที่ 4
ปิล๊อก
ทองผาภูมิ
กาญจนบุรี
71180
14.82047962
98.40742305
องค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อก

มู่บ้านปิล๊อกคี่เริ่มมีผู้มาตั้งรกรากอยู่ถาวรตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. 2527 เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณทำให้พื้นที่เดิมที่ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านจึงย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและชาวมอญซึ่งอพยพมาจากฝั่งประเทศเมียนมาข้ามชายแดนมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2514 ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความขัดแย้งกับทหารเมียนมา จึงได้หลีกหนีมา เมื่อคิดว่าตนเองปลอดภัยแล้วจึงได้อาศัยอยู่ ณ บ้านปิล๊อกคี่แห่งนี้มาจนปัจจุบัน

พัฒนาการและเหตุการณ์ที่สำคัญ

  • พ.ศ. 2514 ชาวมอญและปกาเกอะญออพยพจากเมียนมาเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากหนีภัยสงครามความขัดแย้งกับทหารเมียนมามาที่บ้านปิล๊อกคี่
  • พ.ศ. 2517 อาจารย์เดวิด สาลี เข้ามาประกาศอภิบาลและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ทำหน้าที่หลักในการเทศนา สอนพระคัมภีร์ รวมถึงสอนภาษาปกาเกอะญอและภาษาไทยให้กับคนในชุมชน
  • พ.ศ. 2527 การสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) ทำให้เกิดอุทกภัยแก่หมู่บ้านใกล้เคียง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจึงต้องอพยพออกจากพื้นที่ โดยรัฐได้จัดสรรพื้นที่บริเวณตำบลท่าขนุนให้กับชาวบ้านที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์และมีสัญชาติไทยเท่านั้น ชาวบ้านที่ไม่มีชื่อในทะเบียนหรือผู้ไม่มีสัญชาติจึงไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ จึงต้องอพยพมาอยู่หมู่บ้านปิล๊อกคี่จนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ.2528 สภาคริสตจักรจากอำเภอสังขละบุรี เข้ามาก่อตั้งศูนย์เด็กเล็ก โดยรับเด็กอายุตั้งแต่ 2-5 ปี ขึ้นไป
  • พ.ศ. 2529 ตำรวจตระเวรชายแดน เข้ามาตั้งฐานทางทิศเหนือของหมู่บ้านปิล๊อกคี่
  • พ.ศ. 2530 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปิล๊อกคี่เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ โดยได้เปิดโรงเรียนชั่วคราว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เด็กในชุมชนรู้ภาษาไทย มีความสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้
  • พ.ศ. 2533 หมู่บ้านปิล๊อกคี่ได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ผู้นำคนแรกจากการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน คือ นายจำนง จิตประกล่ำ
  • พ.ศ. 2539 ก่อสร้างศูนย์เด็กเล็กขึ้นใหม่ และเปลี่ยนการบริหารภายในศูนย์เด็กเล็กจากเดิม คือ สภาคริสตจักร มาขึ้นตรงต่อองค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อกคี่แทน
  • พ.ศ. 2539 เกิดโรคระบาด คือ โรคมาลาเลียและโรคขาดสารอาหาร ในปีนั้นมีผู้คนเสียชีวิตเนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
  • พ.ศ. 2540 ก่อตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นโดยหลวงพ่อมโน เป็นเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. 2544 เริ่มมีการเผยแผ่ความรู้ด้านการทอผ้ากะเหรี่ยง โดยผู้ที่นำการทอผ้าเข้ามาในหมู่บ้าน คือ นางเกสร มวลพฤกษา ที่ไปเรียนต่อในด้านพระคัมภีร์ทางศาสนาคริสต์ที่อำเภอสังขละบุรี เห็นการทอผ้าที่นั่น จึงได้นำความรู้ด้านการทอผ้ามาเผยแผ่ในหมู่บ้านปิล๊อกคี่
  • พ.ศ. 2545 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรีปรับเปลี่ยนภารกิจหลัก ประกอบกับไม่มีครูอาสาและไม่มีผู้ประสานงานประจำหมู่บ้าน จึงยุติการให้บริการการเรียนการสอน ทำให้บุตรหลานของประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการศึกษา ราษฎรบ้านปิล๊อกคี่จึงได้ร่วมกันถวายฎีกากราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่หมู่บ้านปิล๊อกคี่ 
  • พ.ศ 2549 ราษฎรบ้านปิล๊อกคี่จำนวน 7 ราย ร่วมกันมอบที่ดินรอบบริเวณฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ รวมเป็นพื้นที่ 37 ไร่ 2 งาน
  • พ.ศ. 2550 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้อนุมัติจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 พร้อมทั้งได้เริ่มเปิดการเรียนการสอน โดยใช้อาคารเรียนของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านปิล๊อกคี่เป็นอาคารเรียนชั่วคราว

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านปิล๊อกคี่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันตกของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดเขตชายแดนประเทศเมียนมา พื้นที่แต่เดิมนั้นตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม แต่เมื่อ พ.ศ. 2522 มีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำค่อย ๆ ท่วมบริเวณหมู่บ้านโดยรอบ เป็นเหตุให้ชาวบ้านโยกย้ายจากหมู่บ้านเดิมมายังหมู่บ้านปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของอำเภอทองผาภูมิ โดยเป็นบริเวณที่ราบเชิงเขา มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นป่าดิบชื้น บริเวณที่ราบเชิงเขาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านส่วนใหญ่ มีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยเขย่ง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าขนุน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศเมียนมา

การตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณฝั่งทิศตะวันตก เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ในช่วงฤดูแล้งน้ำประปาจะไม่ไหลชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อย่างสะดวก ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้หลังคาทำด้วยใบเต้าล้านตากแห้ง แต่บางหลังจะเป็นกระเบื้องยกทรงสูง และนิยมยกใต้ถุนให้สูงเพื่อใช้ประโยชน์

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านปิล๊อกคี่ ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,888 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 940 คน ประชากรหญิง 948 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 482 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่คือชาวมอญและชาวปกเกอะญอที่อพยพมาจากเมียนมาเมื่อปี 2514 และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปิล๊อกคี่มาจนปัจจุบัน

ปกาเกอะญอ, มอญ

ชาวบ้านปิล๊อกคี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีการทำไร่มันสำปะหลังและปลูกข้าวไร่ แต่การปลูกข้าวไร่นั้นจะนิยมปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่นิยมขาย ส่วนอาชีพรองลงมา คือ การทอผ้ากะเหรี่ยง การเก็บผักกูด และปลูกผักสวนครัวขาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • การปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจะนิยมปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 
  • การปลูกมันสำปะหลัง นับว่าเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะทำเป็นมันตากแห้ง เนื่องจากพื้นที่ปลูกมันนั้นอยู่บนภูเขาสูง การขนย้ายค่อนข้างลำบาก เริ่มปลูกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มถอนและตากแห้งไว้ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม และจะมีพ่อค้าคนกลางจากภายนอกเข้ามารับซื้อภายในหมู่บ้าน
  • การทำประมง เนื่องจากหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขื่อนวชิราลงกรณ มีแม่น้ำไหลผ่าน จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรสัตว์น้ำ การทำประมงจึงนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชาวบ้าน แต่จะเป็นการทำประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเท่านั้น คือ การออกหาปลาด้วยเครื่องมือหาปลาที่ไม่ล้างผลาญ เช่น ไซ แห อวน
  • การทอผ้ากะเหรี่ยง เป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่ชาวนิยมทำในช่วงเว้นว่างจากการทำเกษตรกรรม มีทั้งที่เป็นผ้าดิบ ตัดเป็นเสื้อ ผ้าถุง และกระเป๋าย่าม ลายผ้าที่นิยมทอ เช่น ลายน้ำไหล ลายข้าวโพด ลายข้าวหลามตัด ลายคัด ฯลฯ 
  • ร่อนทอง หมู่บ้านปิล๊อกคี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีแร่ทองคำ ชาวบ้านมักจะไปร่อนทองเพื่อนำสะเก็ดทองมาขายหารายได้เสริมในยามที่มีเวลาว่าง แต่ในปัจจุบันนี้แร่ทองคำนับว่ามีน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก
  • กรีดยาง จะกรีดในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนตุลาคม เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวต้นยางจะเริ่มผลัดใบน้ำยางไม่ค่อยมี จะเป็นช่วงพักหน้ายาง
  • เก็บมะม่วงหิมพานต์ ชาวบ้านจะนิยมปลูกไว้เป็นสวนและเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงหิมพานต์สุกเต็มที่ จากนั้นชาวบ้านจะนำไปขายที่ทองผาภูมิ โดยคิดราคาเป็นกิโลกรัม
  • เก็บมะขามเปียก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่มะขามเริ่มสุก ชาวบ้านจะเก็บและปอกเปลือกเอาเม็ดออก ทำเป็นมัดเป็นก้อนและส่งขาย 
  • เก็บสับปะรด ชาวบ้านนิยมปลูกสับปะรดไว้รับประทานเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีมากจะนำไปแบ่งขาย ซึ่งจะเริ่มเก็บในเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม 
นอกจากอาชีพดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ภายในชุมชนบ้านปิล๊อกคี่ยังมีการประกอบอาชีพรับจ้าง ทั้งรับจ้างก่อสร้าง รับจ้างทำงานเกี่ยวกับการเกษตร รวมถึงเรือรับจ้าง สำหรับการท่องเที่ยวในเขื่อนวชิราลงกรณ โดยการคิดราคาเรือรับจ้างจะมีทั้งที่คิดต่อคนและแบบเหมาซึ่งจะอยู่ที่ราคาประมาณรอบละ 600-1,000 บาท นับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้ค่อนข้างดีพอสมควร

ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาคริสต์ รองลงมาคือศาสนาพุทธ ร้อยละ 20 สาเหตุที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์มากกว่าศาสนาพุทธ เนื่องจากผู้นับถือศาสนาพุทธและนับถือผีส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่ปิล๊อกคี่ตั้งแต่แรก จนในสมัยต่อมาได้มีประชากรที่อพยพหนีภัยมาจากประเทศเมียนมาเข้ามาเรื่อย ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนมากเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภายหลังอาจารย์เดวิด สาลี เข้ามาเป็นผู้อภิบาลพร้อมฟื้นฟูเผยแพร่พระคัมภีร์ ชาวพุทธบางคนก็หันมานับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน

  • เทศกาลวันคริสต์มาส คือ การจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงวันประสูติของพระเยซูคริสต์ ถือว่าเดือนแห่งความรื่นเริง กลุ่มอนุชนจะไปร้องเพลงนมัสการตามบ้านทุกหลัง จนกว่าจะถึงวันจัดงานจริง โดยวันคริสต์มาสของหมู่บ้านปิล๊อกคี่จะจัดขึ้นในวันที่ 29–31 ธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
  • ประเพณีกวนข้าวยาฮู เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวปกาเกอะญอ จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคม เชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์และการให้ทาน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษามอญ ภาษาปกาเกอะญอ และภาษากลาง

ภาษาเขียน : อักษรมอญ อักษรโรมัน และอักษรไทย


เขาแหลม

เขื่อนวชิราลงกรณ

เขื่อนวชิราลงกรณ หรือเขื่อนเขาแหลม เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นแม่น้ำแควน้อย จุดประสงค์หลักเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทาน บรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเพราะพันธ์ุน้ำจืด โดยบริเวณด้านหน้าเขื่อนจะมีสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ เป็นสวนตกแต่งให้เป็นแบบต้นไม้พุ่มที่มีความสวยงาม บริเวณเหนือเขื่อนมีทิวทัศน์งดงามเหมาะสำหรับการล่องเรือ และในเขื่อนยังมีแพพักให้บริการด้วย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). เขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม). สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/

คมชัดลึกออนไลน์. (2564). ปิล๊อกคี่"ชุมชนกลางน้ำ"(เขื่อนเขาแหลม)ทองผาภูมิ. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.komchadluek.net/

สมลักษณ์ ชินบุตร (2557). วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของชาวบ้านปิล๊อกคี่ หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี. (2562). หมู่บ้านสารสนเทศชุมชนดีเด่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://kanchanaburi.cdd.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลปิล๊อก. (2565). ข้อมูลสภาพทั่วไป. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://pilok.go.th/

Precha is happy. (2563). การผจญภัยของเจ้าปรีชา: ภารกิจสำรวจเส้นทางสู่หมู่บ้านกลางน้ำ ปิล๊อกคี่ จ.กาญจนบุรี. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://lifeventurecommunity.com/

อบต.ปิล๊อก โทร. 0-3454-0524