จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า บ่อนวัวชน สู่การเข้ามาของผู้คนเพื่อแสวงหาทางเลือกในการใช้ชีวิต กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ในอดีตชุมชนบ่อนวัวเก่าเคยเป็นบ่อนวัวชน ซึ่งได้เลิกกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี เดิมสถานที่แห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า บ้านนอกสวน สันนิษฐานว่าเป็นชื่อหมู่บ้านก่อนที่จะเป็นบ่อนวัวชน
จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า บ่อนวัวชน สู่การเข้ามาของผู้คนเพื่อแสวงหาทางเลือกในการใช้ชีวิต กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ในอดีตชุมชนบ่อนวัวเก่าเคยเป็นบ่อนวัวชน ซึ่งได้เลิกกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี เดิมสถานที่แห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านนอกสวน” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อหมู่บ้านก่อนที่จะเป็นบ่อนวัวชน คนรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เล่ากันว่า ช่วงแรกที่เข้ามาอยู่ก็มีบ่อนวัวเปิดกิจการอยู่แล้วรอบ ๆ บ่อนวัวมีสภาพเป็นที่รกร้าง และยังใช้เป็นที่หลบซ่อนเล่นการพนันนานาชนิด สามารถอำพรางเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ครอบครัวแรกที่เข้ามาอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2502 เข้ามาอยู่กับญาติ ที่ทำหน้าที่เลี้ยงวัวชนเฉพาะคนเลี้ยงวัว ทางบ่อนจะสร้างที่พักให้เช่นเดียวกับบ่อนวัวชนทั่วไป จากนั้นครอบครัวอื่น ๆ ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ กิจการวัวชนกำลังเฟื่อง เจ้าของบ่อนขอเช่าที่จากทางจังหวัด ทางจังหวัดนอกจากอนุมัติให้ดำเนินการตั้งบ่อนวัวชนแล้ว ทางจังหวัดยังยินดีที่จะให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยโดยไม่คิดค่าเช่าใด ๆ ทั้งสิ้น การทำมาหากินของชุมชนในขณะนั้น ส่วนใหญ่ถีบสามล้อบริการ เล่ากันว่าบางคนสามารถทำอาชีพนี้ส่งลูกเรียนถึงระดับอุดมศึกษา ยุคนั้นจะเห็นได้ว่าคนงานที่ไปรับจ้างปอกหมึก เลือกปลานอกจากจะได้รับค่าจ้างแล้วยังจะได้รับปลาหมึกกลับบ้านอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตการมีน้ำใจต่อกัน สืบจากประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
ในปี พ.ศ. 2514 มาสร้างบ้านเพิ่มอีก กิจการบ่อนวัวชนก็หยุดไป เมื่อบ่อนวัวชนร้างผู้คนก็กลับเพิ่มทวีคูณ สามารถขอเลขที่บ้านต่อเทศบาลได้ ประจวบกับสภาพวิกฤตในชนบท โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาพันธุ์ก็ค่อนข้างจะหายากขึ้น ไม่พอกับการเพิ่มของประชากร ประกอบกับการกำหนดนโยบายอนุรักษ์สัตว์น้ำบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้หลายหมู่บ้านต้องประสบกับภาวะเดือดร้อน หมดหนทางทำมาหากิน ส่วนคนที่ทำนาก็ประสบภัยแห้งแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตข้าวที่ได้ต่ำ ราคาข้าวเปลือกลดลง ต่อมาเมื่อส่วนราชการดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว มีนโยบายโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างถนนหนทางตัดผ่านหมู่บ้านทำให้การเดินทางติดต่อระหว่างเมืองกับชนบทสะดวกมากขึ้น คนที่หมดหวังกับการทำมาหากินในชนบทก็เดินทางเข้ามาแสวงโชคในเมือง ขณะที่รัฐยังไม่ได้กำหนดนโยบายที่เด่นชัดสำหรับรองรับที่อยู่ของคนเหล่านี้
ชุมชนบ่อนวัวเก่า นับเป็นแหล่งหนึ่งของเมืองสงขลาที่เหมาะสมกับคนที่ว่างงาน คนมีรายได้น้อยเข้ามาใช้ชีวิตดิ้นรนทำมาหากิน นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ฝึกหัดการประกอบอาชีพต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตคนเมืองยากจน อาชีพถีบสามล้อบริการที่เคยเฟื่องฟูในยุคก่อนต้องประสบกับสถานการณ์มอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และในช่วงนี้เองการรถไฟฯ ซึ่งมีที่ดินมากมายในพื้นที่สงขลาได้เข้ามาปิดป้ายแสดงอาณาเขตของการรถไฟ แต่ชาวบ้านก็วางเฉย ขอเพียงได้อยู่อาศัยเป็นพอ ต่อมาการรถไฟได้เตือนให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ มีการเดินสำรวจ เขียนหมายเลขตามฝาบ้าน และออกข้อกำหนดห้ามต่อเติมบ้านเรือน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นบริเวณใจกลางชุมชนบ่อนวัวเก่า ซึ่งไหม้บ้านไปหลายหลังและโดนระงับไม่ให้สร้างใหม่ ในที่สุดก็ปล่อยพื้นที่นั้นไว้เป็นที่ทิ้งขยะกองใหญ่โตอยู่กลางชุมชน ต่อมาทางชุมชนได้พัฒนาบริเวณนี้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและศาลาชุมชน
และในปี พ.ศ. 2531 ทางเทศบาลได้สำรวจประชากรที่อยู่อาศัยในขณะนั้นมี 177 ครอบครัว 154 หลังคาเรือน ประชากรกว่า 1,000 คน การย้ายถิ่นของคนในชุมชนนี้มาจากอำเภอรอบนอก เช่น อำเภอสิงหนคร, สทิงพระ, ระโนด, จะนะ และจังหวัดอื่น ๆ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช, พัทลุง, สุราษฎร์ธานี เมื่อทำการศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน ต่อมาทางเทศบาลได้ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการพัฒนาชุมชน เลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน การทำกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มเด่นชัดขึ้น ชาวบ้านได้มองเห็นถึงความสำคัญในการอยู่ร่วมกัน การสามัคคีช่วยเหลือกันในการพัฒนาชุมชน
ชุมชนบ่อนวัวเก่า ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบใจกลางเมืองสงขลา เป็นเส้นทางเดินรถไฟในอดีต ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของการรถไฟ มีวัดและโรงเรียนในบริเวณใกล้ชุมชน มีถนนสายสำคัญตัดผ่าน การคมนาคมมีความสะดวก ชุมชนบ่อนวัวเก่ามีพื้นที่ทั้งหมด 88,878.50 ตารางเมตร โดยมีอาณาเขตชุมชน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนปะละท่า
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล/กำแพงสนามฟุตบอล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนสระเกษ/ถนนชัย-เพชรมงคล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนสระเกษ ซอย 1 /ซอยชัย-เพชรมงคล-สนามฟุตบอล
จำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 1,749 คน แบ่งเป็นชาย 844 คน และหญิง 905 คน มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น 35 คน เป็นชาย 15 คน และหญิง 20 คน คนพิการ รวมทั้งสิ้น 4 คนเป็นเพศชาย มีจำนวนครัวเรือน 620 ครัวเรือน
ลักษณะประชากรในชุมชนโดยเฉลี่ยจัดอยู่ในกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้างต่าง ๆ เช่น ผู้หญิงรับจ้างปอกปลาหมึกและกุ้ง ผู้ชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ออกเรือประมงหาปลา หรือขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มแม่บ้านที่ไม่ได้ทำงานมีรายได้จากการขายหวยหุ้น ซึ่งเป็นที่นิยมในชุมชนทั้งกลุ่มชายและหญิง การที่ชุมชนมีเศรษฐกิจนอกระบบนั้นความจริงก็เป็นภาพสะท้อนของเศรษฐกิจระบบตลาด แต่ถูกบังคับให้หลบซ่อน เพราะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยศีลธรรม แต่ก็เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญแหล่งหนึ่งและมีส่วนช่วยลดปัญหาการว่างงานโดยรวมได้ มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ส่วนสภาพครอบครัวในชุมชนเป็นครอบครัวเดี่ยว มีการรวมกลุ่มในชุมชน ในรูปกลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ ด้านแหล่งเงินทุนของคนในชุมชนมีที่พึ่งจากการกู้เงินออมทรัพย์และการกู้นอกระบบในอัตราร้อยละ 24 ต่อเดือน เช่น หากกู้มา 1,000 บาท ใช้ระบบส่งคืนวันละ 80 บาท ภายใน 20 วัน ส่วนแหล่งเงินกู้นอกระบบมาจากเจ้าของทุนในชุมชน ที่มีจำนวน 2 กองทุน ดังนี้
- กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ่อนวัวเก่า มีงบประมาณ 35,000 บาท
- กองทุนหมู่บ้านชุมชนบ่อนวัวเก่า มีงบประมาณ 253,000 บาท
ด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองเป็นระบบอุปถัมภ์ ในรูปแบบพรรคช่วยชุมชนด้านการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน รวมทั้งการสร้างสาธารณสมบัติให้กับชุมชน และชุมชนช่วยพรรคในการเป็นฐานเสียง
บุคคลสำคัญในชุมชน ได้แก่
1.นายปรีชา ไพรสุวรรณ มีความสามารถในด้านประเพณีท้องถิ่น
2.นายประวิทย์ ทองนุ่น มีความสามารถ ช่างไม้ ช่างแกะ และหัตถกรรม
3.นางจิตร รักขา มีองค์ความรู้ความสามารถ ยาสมุนไพร
4.นางน้อย มะลิทอง มีองค์ความรู้ความสามารถ ในการถนอมอาหาร
5.นางขิน เมืองจันทร์ มีองค์ความรู้ความสามารถในการจัดทำอาหาร
6.นายฉิ่นท้อง คงสุจริต มีองค์ความรู้ความสามารถในการตั้งศาลพระภูมิ-ดูดวง
7.นายสมโชค ศรีแก้วแฝก มีองค์ความรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำ
8.นางถนอมศรี ไพรสุวรรณ มีองค์ความรู้ความสามารถ เป็นผู้นำ อสม.
9.นายปราโมทย์ ดำวงศ์ มีองค์ความรู้ความสามารถ ช่างไฟฟ้า และช่างไม้ทุกอย่าง
แหล่งทุนเศรษฐกิจในชุมชนบ่อนวัวเก่า
- กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ่อนวัวเก่า มีงบประมาณ 35,000 บาท
- กองทุนหมู่บ้านชุมชนบ่อนวัวเก่า มีงบประมาณ 253,000 บาท
ทุนกายภาพชุมชนบ่อนวัวเก่า
- วัดชัยมงคล
- วัดสระเกษ
- สถานีรถไฟ
- ตลาดรถไฟ
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบ่อนวัวเก่า
- สนามกีฬาชุมชนบ่อนวัวเก่า
จุดแข็งของชุมชนเมื่อเทียบกับชุมชนอื่น ได้แก่
- มีการดูแลสุขอนามัย ระบบสาธารณูปโภค
- มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
- มีกลุ่มออมทรัพย์ที่อยู่อาศัยของชุมชน
- มีแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน
จุดอ่อนของชุมชนเมื่อเทียบกับชุมชนอื่น ได้แก่
- ขาดความสามัคคีในชุมชน
- สภาพที่ดินเป็นของการรถไฟ
- ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี
- ชาวบ้านส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, หัวหน้าโครงการ (2546). ชีวิตอิสระบนอานมอเตอร์ไซด์ ของคนจนในชุมชนบ่อนวัวเก่า เทศบาลนครสงขลา. รายงานวิจัยย่อยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
เทศบาลนครสงขลา. (2562). ข้อมูลพื้นฐานชุมชน. เทศบาลนครสงขลา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.songkhlacity.go.th/
เทศบาลนครสงขลา. (2560). แผนพัฒนาชุมชน. เทศบาลนครสงขลา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.songkhlacity.go.th/
Google Earth. (2566). พิกัดชุมชนบ่อนวัวเก่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://earth.google.com