Advance search

บ้านหลุก

หมู่บ้านหัตถกรรมด้านการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง

นาครัว
แม่ทะ
ลำปาง
นิติพัฒน์ บุญชู
13 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
22 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
22 ก.พ. 2024
บ้านหลุก

สืบเนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูง มีลำน้ำจางอยู่ต่ำกว่าหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้ใช้หลุบวิดน้ำมาใช้ภายในหมู่บ้าน ต่อมาคำว่า “หลุบ” ได้เพี้ยนไปเป็นคำว่า “หลุก” จนกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านหัตถกรรมด้านการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง

นาครัว
แม่ทะ
ลำปาง
52150
เทศบาลตำบลนาครัว โทร. 0-5429-9077
18.1310374
99.5307915
เทศบาลตำบลนาครัว

หมู่บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง และเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูง มีลำน้ำจางอยู่ต่ำกว่าหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้ใช้หลุบวิดน้ำมาใช้ภายในหมู่บ้าน ต่อมาคำว่า “หลุบ” ได้เพี้ยนไปเป็นคำว่า “หลุก” จนกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านในปัจจุบัน

และเนื่องจากนายจันทร์ดี แก้วชุ่ม เป็นผู้ริเริ่มงานสลักไม้ในหมู่บ้านหลุก ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้การกสลักไม้มาจากบรรพบุรุษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2506 คุณจันทร์ดีได้เดินทางไปที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่นั่นเขาได้เห็นงานไม้แกะสลักเป็นรูปช้างและม้าวางขายอยู่ที่ตลาดแม่สาย คุณจันทร์ดีจึงซื้อช้างและม้าแกะสลักมาอย่างละหนึ่งตัวเพื่อนำมาเป็นแบบในการแกะสลัก เขาได้ทดลองการแกะสลัก “ไม้จามจุรี” หรือ “ไม้ฉำฉา” เป็นรูปช้างและรูปม้าตามตัวอย่าง หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็สามารถแกะสลักไม้ที่สวยงามได้ในที่สุด ต่อมาคุณจันทร์ดีก็ได้ทดลองแกะสลักรูปหัวเก้ง หัวกวาง และสัตว์อื่น ๆ จนสามารถแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ได้หลายชนิด

เนื่องจากผลงานของคุณจันทร์ดีมีความสวยงาม จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็นและเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเรื่อย ๆ จนคุณจันทร์ดีไม่สามารถแกะสลักไม้ได้ทันตามความต้องการ นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายการทำไม้แกะสลักในบ้านหลุก เสียงตอกไม้เริ่มดังขึ้นเมื่อคุณจันทร์ดีได้ชวนให้คนในหมู่บ้านมาหัดแกะสลัก เขาได้สอนขั้นตอนการแกะสลักไม้อย่างละเอียดให้กับผู้ที่มาศึกษาโดยเริ่มจากการแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ตามลำดับ ทั้งคุณจันทร์ดีและชาวบ้านที่มาเรียนการแกะสลักไม้ต่างก็ได้ผลิตผลงานไม้แกะสลักออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับการแกะสลักตามแบบหรือตามความต้องการของลูกค้า ต่อมาช่างแกะสลักแต่ละคนก็ได้ไปถ่ายทอดความรู้การแกะสลักให้กับบุคคลในครอบครัวและเพื่อนบ้าน จนสมาชิกส่วนใหญ่ของหมู่บ้านหลุกได้ทำงานแกะสลักไม่เป็นอาชีพเสริม คุณจันทร์ดีเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2548 ด้วยโรคชรา คงเหลือไว้แต่ความรู้และผลงานการแกะสลักไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบ

ในปี พ.ศ. 2545 หมู่บ้านหลุกได้รับการเลือกให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมล้านนาต้นแบบเพื่อการยกระดับหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาและเปิดสอนการแกะสลักให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านหลุกและผู้ที่สนใจโดยมีครูช่างที่ถนัดการแกะสลักไม้เป็นรูปต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันไปให้ความรู้

หมู่บ้านหลุกอยู่ห่างจากอำเภอเมืองลำปางประมาณ 17 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 498 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังหมู่บ้านหลุกสามารถเดินทางได้ด้วยทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ

เทศบาลตำบลนาครัว มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 43.89 ตารางกิโลเมตร (27,430.76 ไร่) เป็นเนื้อที่ร้อยละ 4.7 ของพื้นที่อำเภอแม่ทะ มีพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดลำปางประมาณ 30 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้างมีภูเขาและป่าโปร่งทางด้านตะวันออกและมีแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ที่เป็นแหล่งธรรมชาติอยู่มาก โดยมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

จากข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ ณ กันยายน พ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรของตำบลนาครัวเรือนว่ามีทั้งหมด 1,983 ครัวเรือน และมีประชากรรวมทั้งหมด 7,309 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 3,628 คน หญิง 3,681 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 214 คน/ตารางกิโลเมตร

ชาวบ้านหลุกแต่ละคนจะประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไปแต่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็จะมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการทำงานอื่นในยามว่าง เช่น การแกะสลักไม้ การทำตะกร้า การทำดอกไม้จากเศษไม้และการทำไม้เสียบธนบัตร เป็นต้น เมื่อถึงฤดูกาลทำนาช่างแกะสลักบางคนก็จะพักงานแกะสลักไปปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว แต่บางคนก็ยังคงทำงานแกะสลักควบคู่ไปด้วย อีกทั้งชาวบ้านหลุกยังมีกลุ่มองค์กรที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ภายในชุมชน ได้แก่

กลุ่มหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว

บ้านหลุกใต้เป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ในอดีตชาวบ้านหลุกใต้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านหลุกใต้ได้กลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมด้านการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพแกะสลักในส่วนของการบริหารจัดการชุมชนได้มีความพยายามที่จะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และยังประสานงานกับหน่วยงานการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ในการนำแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้านให้มากขึ้น มีการขยายตลาดส่งออกไม้แกะสลัก บ้านหลุกใต้อย่างต่อเนื่องไปยังแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ฯลฯ และมีการต่อยอดเพื่อให้เป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ขยายผลอาชีพการแกะสลักของคนในชุมชนสู่การยกระดับหมู่บ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านศึกษาดูงาน มีการจัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อพบปะกันในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนก่อกำเนิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุที่เน้นการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในการแกะสลักไม้ เมื่อมีคนมาศึกษาดูงานมากขึ้นจึงพัฒนาบ้านหลุกใต้ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งจากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนและเป็นการป้องกันการรั่วไหลของแรงงานในหมู่บ้าน เน้นการประชาสัมพันธ์หมู่บ้านโดยเข้าร่วมกิจกรรม Road Show ในงานแสดงสินค้าที่หน่วยงานราชการได้จัดขึ้นและส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ชาวบ้านหลุกส่วนใหญ่จะตื่นไปตลาดสดภายในหมู่บ้านเพื่อหาซื้อของมาทำอาหารตั้งแต่ตีสี่ถึงตีห้าหลังจากที่รับประทานอาหารเช้าและทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วก็จะแยกย้ายไปทำงานของตน คนที่ทำอาชีพแกะสลักเป็นอาชีพหลักก็จะนั่งทำงานแกะสลักไม้ที่บ้านบางคนก็อาจจะมาทำที่ศูนย์ โดยทุก ๆ วันจะมีช่างแกะสลักประจำมารับอุปกรณ์การแกะสลักไม้จากที่ศูนย์เพื่อกลับไปแกะสลักให้เป็นรูปต่าง ๆ ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ภายในศูนย์แกะสลักนั้นจะมีการใช้เลื่อยยนต์ตัดไม้ตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาประมาณ 09:00 น. เนื่องจากเป็น ช่วงเวลาที่อากาศยังไม่ร้อนมากนัก อีกทั้งการใช้เลื่อยยนต์ยังมีเสียงดังหากทำในตอนกลางวันก็อ่านไปรบกวนสมาธิของช่างแกะสลักคนอื่นได้ ส่วนช่างแกะสลักที่มาทำงานที่ศูนย์จะนั่งแกะสลักจนถึงเวลาประมาณ 17:00 น. และเนื่องจากงานแกะสลักนั้นเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการแกะสลักมาก ทำให้ไม่สามารถแกะสลักได้เสร็จภายในวันเดียว ช่างจึงจะกลับมาทำต่อในวันรุ่งขึ้นหรือทำที่บ้านของช่างแต่ละท่านโดยใช้บริเวณ หน้าบ้าน ลานบ้าน เป็นต้น

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวบ้านหลุกมีการจัดงานตามประเพณีทางศาสนา และที่บ้านหลุกแห่งนี้ยังมีวัฒนธรรมประเพณีอันสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ โดยมีตารางกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ดังนี้

  • เดือนมกราคม : ประเพณีไหว้ตาลข้าวจี่ / สรงน้ำพระธาตุวัดบ้านหลุก
  • เดือนกุมภาพันธ์ : ประเพณีไหว้ผีเจ้าบ้าน ขึ้น 5 ค่ำเดือน 5
  • เดือนมีนาคม : วันมาฆบูชา
  • เดือนเมษายน : 15 เมษายน แห่ไม้ค้ำศรีวัดบ้านหลุก 17 เมษายน ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เลี้ยงส่งเจ้าบ้าน
  • เดือนพฤษภาคม : สรงน้ำพระธาตุดอยผาปูน และวันวิสาขบูชา 15 ค่ำเดือน 6
  • เดือนกรกฎาคม : วันอาสาฬหบูชา 15 ค่ำเดือน 8 และแห่เทียนพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8
  • เดือนตุลาคม : ประเพณีตาลเปรต (ออกพรรษา) 15 ค่ำ เดือน 11 และตาลก๋วยสลาก
  • เดือนพฤศจิกายน : ยี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทง 15 ค่ำ เดือน 12
  • เดือนธันวาคม : ประเพณีตานไม้ข้าวจี่ - ข้าวหลาม - ข้าวใหม่

1.นายจันทร์ดี แก้วชุ่ม

เป็นผู้ริเริ่มงานสลักไม้ในหมู่บ้านหลุก ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้การแกะสลักไม้มาจากบรรพบุรุษตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2506 คุณจันทร์ดีได้เดินทางไปที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่นั่นเขาได้เห็นงานไม้แกะสลักเป็นรูปช้างและม้าวางขายอยู่ที่ตลาดแม่สาย คุณจันทร์ดีจึงซื้อช้างและม้าแกะสลักมาอย่างละหนึ่งตัวเพื่อนำมาเป็นแบบในการแกะสลัก เขาได้ทดลองการแกะสลัก “ไม้จามจุรี” หรือ “ไม้ฉำฉา” เป็นรูปช้างและรูปม้าตามตัวอย่าง หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็สามารถแกะสลักไม้ที่สวยงามได้ในที่สุด ต่อมาคุณจันทร์ดีก็ได้ทดลองแกะสลักรูปหัวเก้ง หัวกวาง และสัตว์อื่น ๆ จนสามารถแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ได้หลายชนิด

2.นายบุญศรี คำมาวัง

ผู้มีความถนัดด้านการทำม้าโยก สำหรับคุณบุญศรีแล้วการทำไม้แกะสลักเป็นสิ่งที่สร้างรายได้เลี้ยงดูเขาและครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เค้าจึงรู้สึกรักและผูกพันกับงานสลักไม้มาก ผลงานม้าโยกของเค้าทุกชิ้นจะต้องมีคุณภาพดี ได้มาตรฐานและจะถูกเก็บรักษาอย่างดีก่อนนำออกขาย หากสินค้าชิ้นไหนไม่ได้คุณภาพก็จะไม่นำมาขายเพราะถือเป็นการไม่เคารพลูกค้าและอาชีพของตน ปัจจุบันยังมีผู้ทำม้าโยกไม่มากนักจึงทำให้สินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการในบางครั้ง คุณบุญศรีจึงต้องการที่จะถ่ายทอดการทำม้าโยกให้กับผู้ที่สนใจต่อไป

3.นายโสภณ จรัสรัตน์

ผู้มีความถนัดด้านการแกะสลักช่างไม้ สำหรับเขาแล้วการแกะสลักไม้เป็นรูปช้างนั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความละเอียดมาก โดยเริ่มจากขั้นตอนในการตัดไม้เพื่อขึ้นโครงซึ่งจะต้องประมาณให้ไม้มีขนาดพอดีและสมส่วนนอกจากนั้นยังต้องแกะสลักรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะการแกะสลักรอยพับรอยย่นของหนังช้างให้เป็นธรรมชาติและเหมือนจริงและดูมีชีวิตชีวาให้มากที่สุด สำหรับเขาแล้วการทำงานแกะสลักนี้เป็นอาชีพของชาวบ้านหลุกมานาน เขาจึงตั้งใจอยากจะถ่ายทอดความรู้ให้ผู้คนสนใจได้นำไปใช้สร้างอาชีพหาเลี้ยงตนและครอบครัว ทั้งยังเป็นการสืบทอดวิชาการแกะสลักไม้ไม่ให้สูญหายไปด้วย

4.นายเฮือน โสภาแปง

ผู้มีความถนัดด้านการแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ตัวใหญ่ ด้วยความที่เขาได้เห็นการทำงานแกะสลักมาตลอดทำให้เขาได้ซึมซับวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ในการแกะสลัก เขาเล่าว่าการแกะสลักไม้ให้มีความสวยงามเป็นธรรมชาติสมจริงนั้นช่างแกะสลักจะต้องใช้สมาธิ จินตนาการและใช้ประสบการณ์ในการแกะสลัก ดังนั้นเขาจึงอยากถ่ายทอดวิธีการ ประสบการณ์และเทคนิคในการแกะสลักที่เขามีให้กับผู้คนที่เห็นถึงความงดงามและมีความรักในงานหัตถกรรมไม้แกะสลัก

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดบ้านหลุก เป็นศาสนสถานที่มีศิลปะเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ทั้งยังเป็นวัดที่ใช้ในการทำกิจกรรมทางศาสนาของผู้คนในชุมชน ผู้ที่มาเที่ยวชมจึงสามารถสัมผัสกับวิถีชีวิตในการทำบุญตามแบบพื้นบ้านภายในวัดมีอาคารเสนาสนะที่เก่าแก่ ได้แก่ กุฏิไม้สักซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านตามแบบภาคเหนือ สร้างจากไม้สักทั้งหลังภายในกุฏิมีงานศิลปกรรมเก่าแก่คือ “ซุ้มประตูห่างวัน” ซึ่งเป็นซุ้มประตูห้องทางทิศตะวันออกตัวซุ้มทำมาจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับแก้วจีนและมีลายดอกบัวบาน “ซุ้มประตูหางหงส์”เป็นซุ้มประตูทางทิศตะวันตกทำจากไม้แกะสลักลงรักเขียนสีมีลวดลายเป็นพญาลวงซึ่งเป็นสัตว์คล้ายมังกรที่มีเขาและปีก ลำตัวของพญาลวงนั้นจะเกี่ยวกันอยู่แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างเพดานปิดบังซุ้มประตูห่างวันและซุ้มประตูหางหงส์ไปแล้ว คงเหลือให้เห็นแต่เพียงเสารับซุ้มหรือเสาขอมเท่านั้น ภายในวัดบ้านหลุกยังมีอาคารเสนาสนะที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือหอธรรมหรืออาคารเรียน โรงเรียนปริยัติธรรมเก่า หอธรรมนี้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2493 ในการก่อสร้างนั้นได้มีการขนก้อนปูนจากบนดอยลงมาป่นเพื่อใช้ก่ออิฐและใช้ฉาบ ในอดีตหอธรรมแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ศึกษาธรรมของพระภิกษุและสามเณรแต่ในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นที่เก็บของวัด
  • สะพานไม้เก่า (ขั้วไม้มุง) หมู่บ้านหลุกเป็นหมู่บ้านที่มีแม่น้ำจางขั้นกลางทำให้หมู่บ้านต้องแบ่งออกเป็นสองฝากแม่น้ำ ทำให้เมื่อถึงฤดูน้ำหลากชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำจะต้องตัดขาดจากโลกภายนอกเพราะไม่สามารถข้ามมาอีกฝั่งนึงได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2515 ท่านพระครูจริยคุณก็ได้เห็นถึงความยากลำบากในการสัญจรข้ามน้ำของชาวบ้านและมีความคิดที่จะสร้างสะพานข้ามลำน้ำจางขึ้น ท่านจึงไปปรึกษากับชาวบ้านและมีมติว่าจะช่วยกันสร้างสะพานไม้เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมา ชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสะพานไม้ที่ทำมาจากเสาไม้และปูพื้นด้วยไม้ไผ่สานขึ้นถึง 2 ครั้งแต่สะพานก็ต้องเสียหายไปในไปในฤดูน้ำหลากทั้งสองครั้ง แต่ท่านพระครูก็ไม่ละความพยายามที่จะสร้างสะพานข้ามลำน้ำจางนี้ให้ได้ ท่านจึงสร้างสะพานซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเดิมโดยเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาคอนกรีตขนาดใหญ่จำนวน 12 ต้นสะพานไม้หลังนี้สร้างเสร็จแล้วทำบุญฉลองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2519 โดยใช้ชื่อว่า “สะพานธรรมจริยาคุณ” (ราษฏร์อนุสรณ์) และได้ทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยได้รับงบประมาณจากโครงการหมู่ OTOP เพื่อการท่องเที่ยว
  • พระธาตุดอยผาปูน (พระธาตุอุโมงค์ เสตังฆมนี) พระธาตุดอยผาปูนเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่ชุมชนที่อยู่ในความดูแลของวัดบ้านหลุก สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระธาตุเก่าแก่ที่ชาวบ้านถือว่าเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านประดิษฐานอยู่บนดอยผาปูน ที่ดอยผาปูนแห่งนี้ยังมีรอยพระบาทข้างซ้ายเหยียบก้อนหินผาอีกด้วยใน เดือนเมษายนของทุกปีที่ที่หมู่บ้านจะมีการจัดประเพณีสักการะพระธาตุและพิธีสรงน้ำรอยพระบาทเพื่อให้ชาวบ้านและผู้ที่ศรัทธาได้มาสักการะ ภายในถ้ำผาปูนแห่งนี้ยังมีจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นอำเภอแม่ทะได้ในมุมกว้างโดยเฉพาะในตอนเย็นเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนี้ที่ดอยผาปูนยังมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสไม่ว่าจะเป็นหน้าผา 9 แห่งบ่อน้ำสามพี่น้องและภูผาที่มีสัณฐานรูปสัตว์ต่าง ๆ         
  • ป้างงานหัตถกรรม (ป้าง เป็นภาษาถิ่น แปลว่า ลาน) เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางหัตถกรรมท้องถิ่นที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สืบทอดกันมายาวนานซึ่งป้างงานหัตถกรรมนี้จะเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านมารวมตัวกันทำงานหัตถกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลัก การสานตะกร้าและการทำดอกไม้ โดยป้างงานหัตถกรรมนี้จะกระจายอยู่ทั่วไปภายในหมู่บ้านนักท่องเที่ยวจึงสามารถเดินหรือปั่นจักรยานเที่ยวชมการทำงานหัตถกรรมของแต่ละป้างได้ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจยังสามารถทดลองแกะสลักไม้หรือทำหัตถกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย ป้างไม้แกะสลักจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านโดยเฉพาะบ้านที่อยู่เลาะเลียบลำน้ำจาง โดยจะมีการรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อมาทำงานแกะสลักไม้อันเป็นงานที่สืบทอดกันมานานกว่า 40 ปี
  • ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดบ้านหลุก ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดบ้านหลวงจัดขึ้นในเดือนมกราคม ในทุกปีจะตรงกับเดือนสี่เป็ง (นับแบบพื้นเมือง) มีการสรงน้ำพระธาตุและการเปลี่ยนผ้าห่มของพระธาตุวัดบ้านหลุกพระภิกษุสามเณรในวัดบ้านหลุกและสมาชิกในชุมชนมีการเตรียมสิ่งของและจัดเตรียมงานสรงน้ำพระธาตุ ทำให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมและได้ร่วมกันทำบุญ
  • ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรี ประเพณีแห่ไม้ค้ำศรีจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปีซึ่งแต่ละปีจะมีกำหนดวันไม่ตรงกัน โดยจะมีกิจกรรมสรงน้ำพระในวัดบ้านหลุกและมีจำนวนสามหมู่บ้านที่มีการเข้าร่วมพิธีการแห่ไม้ค้ำศรีไปยังวัดบ้านหลุก โดยจะนำไม้ค้ำศรีไปค้ำต้นโพธิ์ของวัดเพื่อความเป็นสิริมงคลและมีวัตถุประสงค์เพื่อซ่อมแซมหรือสมทบทุนให้กับวัดบ้านหลุกหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชนบ้านหลุก 
  • ประเพณีไหว้ผีเจ้าบ้าน ประเพณีไหว้ผีเจ้าบ้านเป็นประเพณีซึ่งจะมีการอัญเชิญวิญญาณพ่อบ้านหรือวิญญาณบรรพบุรุษผู้คอยปกปักรักษาหมู่บ้านให้มาเข้าทรง สมาชิกในหมู่บ้านก็จะมีการเอาของไปเซ่นไหว้บูชาให้กับพ่อบ้านเพื่อให้ผีเจ้าบ้านปกป้องรักษาหมู่บ้านต่อไป
  • ประเพณีตาลไม้ข้าวจี่ข้าวหลามข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่จะจัดขึ้นในทุกเดือนพฤศจิกายน โดยแต่ละบ้านจะมีการนำเอาข้าวใหม่มาทำข้าวหลามแล้วนำไปรวมกันที่วัด จากนั้นจะนำเอาไม้มาทำให้มีรูปทรงคล้ายองค์พระธาตุ แล้วนำไปทำพิธีเพื่อเป็นการบูชาข้าวใหม่และเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านสามารถปลูกข้าวสำเร็จได้ด้วยดี  ทั้งยังเป็นการทำบุญข้าวใหม่ให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สภาวะความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างที่จะตกต่ำทำให้ความต้องการซื้อผลผลิตสินค้าการแกะสลักไม้น้อยลง รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อระบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่สภาพการเงินไม่ค่อยคล่องตามสภาวะเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยวเกิดการเปรียบเทียบในสินค้าซึ่งเป็นสินค้าจากบ้านหลุกจากที่อื่น ๆ เช่น บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวเริ่มมองในเส้นทางการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นซึ่งบ้านหลุกห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ

และจากสภาวะการเติบโตของความเป็นเมืองที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ ทำให้พลเมืองรุ่นหลังภายในหมู่บ้านเลือกที่จะเดินทางเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมภายในเมือง ทำให้ภายในหมู่บ้านขาดปัจจัยการผลิตคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือและสามารถจะสืบสานภูมิปัญญาต่อไปได้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นจึงต้องคิด วิธีการแก้ไขไม่ให้เกิดการไหลของทรัพยากรพลเมืองออกไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมภายในเมือง สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ของผู้คนภายในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะในปัจจุบันชาวบ้านในแต่ละชุมชนมีวิถีชีวิตที่ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น การพึ่งพาอาศัยกันลดน้อยลงรวมไปถึงเรื่องการเมืองการปกครองทำให้การพัฒนาการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภายในชุมชนไม่มีประสิทธิภาพภาพ

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแกะสลักไม้บ้านหลุกพบว่ามีผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความสำคัญและช่วยเหลือในด้านการประชาสัมพันธ์ของชุมชนแกะสลักไม้บ้านหลุก ให้มีการพัฒนาเส้นทางการเข้าสู่ชุมชนแกะสลักไม้หรือเส้นทางเชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีระยะทางใกล้เคียงกันพร้อมทั้งส่งเสริมเพิ่มทักษะการตลาดและการทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนสนับสนุนงบประมาณและจัดหาทุนเข้ามาช่วยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

กิตติมศักดิ์ กลิ่นหมื่นไวย. (2561). แนวทางการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวโดยมีส่วนร่วมของชุมชนกรณีศึกษา: ชุมชนสลักไม้บ้านหลุก ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง. 7(1), 100-114.

จิรัชยา ปัญญา. (2561). การออกแบบสื่อและพื้นที่เพื่อสืบสานวัฒนธรรมชุมชนหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านหลุก. วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

แผนที่และสาระสนเทศน์. (2567). แผนที่ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. สืบค้นได้จาก  http://oss101.ldd.go.th/web_thaisoilinf/north/Lamphang/

Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านหลุก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps