Advance search

บ้านสี่กั๊ก, บ้านสี่กั๊กหนองเนิน

ชุมชนชาวไทดำที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางภาษาผ่านชั้นเรียนไทดำ

หมู่ที่ 4
บ้านหนองเนิน
หัวถนน
ท่าตะโก
นครสวรรค์
อบต.หัวถนน โทร. 0-5638-7060
ไทดำ
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
19 เม.ย. 2023
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
19 เม.ย. 2023
บ้านหนองเนิน
บ้านสี่กั๊ก, บ้านสี่กั๊กหนองเนิน

สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย ๆ


ชุมชนชาวไทดำที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางภาษาผ่านชั้นเรียนไทดำ

บ้านหนองเนิน
หมู่ที่ 4
หัวถนน
ท่าตะโก
นครสวรรค์
60160
15.603580
100.400456
องค์การบริหารส่วนตำบลหัวถนน

หมู่ที่ 4 บ้านหนองเนินเดิมมีชื่อว่า “บ้านหนองบัวน้อย” โดยเป็นชื่อที่ตั้งตามลักษณะหนองน้ำในบริเวณใกล้เคียง ที่ตั้งของชุมชนเดิมอยู่ค่อนทางทิศเหนือของหมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันหนองน้าดังกล่าวถูกไถกลบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปจนหมด จากการบอกเล่าสภาพพื้นที่ของบ้านหนองบัวน้อยมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีบ่อน้ำโพงสำหรับอุปโภคบริโภค ในช่วงแรกที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านหนองบัวน้อยจะเป็นชุมชนของคนไทย ที่เข้ามาจับจองพื้นที่ก่อนหน้า (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 103)

คนไทดำอพยพเข้ามายังพื้นที่ตำบลหัวถนน ประมาณ พ.ศ. 2485 ได้ทำการถากถางจับจองบ้างก็ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม และอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยมาถึงปัจจุบัน คนในชุมชนมีการเคลื่อนย้ายเรือนมายังที่ตั้งในปัจจุบันเพราะประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากสภาพพื้นที่มีเส้นทางน้ำจากลำคลองท่าตะโกไหลเชื่อมต่อกับบึงบอระเพ็ดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลผ่านไปยังลำคลองเพื่อไหลไปรวมกันที่บึงบอระเพ็ด บริเวณที่ชาวบ้านอพยพมาตั้งบ้านเรือนมีลักษณะเป็นเนินเตี้ย ๆ อยู่ทางทิศใต้ของชุมชนเดิม จึงถูกเรียกว่า “บ้านหนองเนิน” (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 104)

สำหรับ “บ้านสี่กั๊ก” มีการพัฒนาขึ้นภายหลัง และเป็นชุมชนที่ขยายตัวจากประชากรบ้านหนองเนินที่เพิ่มจำนวนขึ้น จนที่ดินไม่เพียงพอต่อการปลูกสร้างเรือน สมาชิกบางส่วนจึงเคลื่อนย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนทางทิศตะวันตกของบ้านหนองเนิน ห่างออกไปราว 900 เมตร พื้นที่ของหมู่บ้านทั้งสองส่วนถูกเชื่อมต่อกันด้วยถนนขนาดเล็ก สำหรับชื่อ “สี่กั๊ก” หมายถึง สี่แยก ดังนั้นบ้านหนองเนินกับบ้านสี่กั๊กนับเป็นชุมชนเดียวกัน ที่เมื่อนับรวมอายุของบ้านหนองบัวน้อยและบ้านหนองเนินเข้าด้วยกัน พบว่าชุมชนแห่งนี้อาจมีอายุของการตั้งถิ่นฐานมากกว่า 100 ปี (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 104)

การเข้าถึงบ้านหนองเนินก่อนการตัดถนนสายนครสวรรค์ – ท่าตะโก - ไพศาลี ต้องเดินทางด้วยเกวียน หรือขับรถวิ่งลัดทุ่ง สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่โดยรวมมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม สลับกับพื้นที่ป่าเบญจพรรณที่เต็มไปด้วยไม้สัก มะค่า แดง ประดู่ และไผ่ ที่เหมาะสมกับการปลูกสร้างเรือน บริเวณใกล้เคียงกันยังมีภูเขาสระนางแก้วที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่นิยมขึ้นไปหาอาหาร และวัตถุดิบในการจักสานเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการดำรงชีวิต ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านหาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่วนน้ำในการทำการเกษตรจะเป็นใช้น้ำฝนตามฤดูกาล และน้ำจากคลองท่าตะโก (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 104)

สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่โดยรวมมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม สลับกับพื้นที่ป่าเบญจพรรณที่เต็มไปด้วยไม้สัก มะค่า แดง ประดู่ และไผ่ ที่เหมาะสมกับการปลูกสร้างเรือน บริเวณใกล้เคียงกันยังมีภูเขาสระนางแก้วที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่นิยมขึ้นไปหาอาหาร และวัตถุดิบในการจักสานเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการดำรงชีวิต ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านหาจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่วนน้ำในการทำการเกษตรจะเป็นใช้น้ำฝนตามฤดูกาล และน้ำจากคลองท่าตะโก (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 104)

รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนช่วงหลังจากที่ตั้งเป็นบ้านหนองเนินแล้วนั้น ลักษณะชุมชนในระยะแรกกระจุกตัวเป็นกลุ่มอยู่รวมกันในหมู่เครือญาติ ทำให้เรือนแต่ละหลังไม่มีการสร้างรั้ว วิธีการบ่งบอกเขตที่ดินใช้แนวต้นไม้เป็นหลัก ทั้งในพื้นที่บ้านหนองเนินและบ้านสี่กั๊ก การขยายตัวของชุมชนในระยะต่อมาเป็นการขยายตัวตามเส้นทางสัญจรที่พื้นที่โดยรอบยังเป็นที่ว่าง ต่างกับในพื้นที่ของชุมชนบ้านหนองเนินกับบ้านสี่กั๊ก ที่มีเรือนพักอาศัยหนาแน่น เรือนที่สร้างในช่วงเวลาดังกล่าวมักมีทิศทางการหันทางเข้าหลักหรือหน้าเรือนสัมพันธ์กับทางสัญจร ลักษณะของที่ดินที่ปลูกเรือนไม่มีข้อกำหนดตายตัว ในบริเวณใกล้เคียงกับเรือนอาจมีการขุดบ่อน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคหรือเลี้ยงปลา บางบ่อที่มีสภาพเอื้อออำนวยก็จะเลี้ยงผา หรือ ไข่น้ำ คือ พืชมีดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดอาศัยลอยอยู่บนผิวน้ำ มีรูปร่างรีค่อนข้างกลม ขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละต้นมีสีเขียว ไม่มีราก ไม่มีใบ สามารถนำมาประกอบอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมไทดำได้ สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรจะมีการขุดลำเหมืองผันน้ำเข้ามาจากคลองท่าตะโก สำหรับการกักน้ำจะใช้การทำฝายและประตูน้ำเป็นส่วน ๆ (วาสนา แก้วคำ, 2559)

ศูนย์กลางของหมู่บ้านคือ วัดหนองเนิน โรงเรียนบ้านหนองเนิน และศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นไทดำ บ้านหนองเนิน ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าแฮ่วเดิม ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองเนิน ป่าแฮ่วเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ไม่มีการแบ่งพื้นที่ตามระดับศักดิ์ หรือสถานภาพทางสังคม ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนไปสู่บ้านสี่กั๊กทำให้ป่าแฮ่วถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ประกอบกับพิธีศพมีการเปลี่ยนมาใช้เมรุที่วัดมากขึ้น บทบาทในฐานะพื้นที่ทางพิธีกรรมของป่าแฮ่วจึงลดความสำคัญลง ดังนั้น เมื่อชุมชนมีความต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรม ป่าแฮ่วจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นวัด (วัดหนองเนินย้ายมาจากบริเวณที่ตั้งประปาหมู่บ้านหนองเนินทางทิศเหนือของหมู่บ้าน) โรงเรียน และพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม (บำรุง ขำอิ่ม, 2558 อ้างถึงใน ปรียานุช คำสนอง, 2562: 106-107)

ไทยแลนด์ เพชรต้อม ได้กล่าวว่า การสร้างวัด โรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม คือ วิธีการแก้ปัญหาเรื่องข้อห้ามที่เกี่ยวกับพื้นที่ป่าแฮ่วให้สามารถนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากคนไทดำเชื่อว่า วัด ที่เป็นศาสนสถาน กับสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการหรือตราครุฑ มีอำนาจเหนือกว่าผีหรือสิ่งอัปมงคล สามารถข่มอำนาจสิ่งที่ไม่ดีได้ สำหรับศูนย์การเรียนรู้คือการสร้างพื้นที่เพื่อในการแสดงออกถึงตัวตนทางวัฒนธรรม เผยแพร่องค์ความรู้ของไทดำสำหรับบุคคลภายนอกและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทดำยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกับพื้นที่ “ข่วง” ที่ใช้ในการทำกิจกรรมสำหรับคนในชุมชนให้ได้ทำความรู้จักกับคนภายนอก (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 107)

จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลหัวถนน (2566) ระบุว่า บ้านหนองเนินมี 233 หลังคาเรือน ประชากร 865 คน  (ชาย 414 คน หญิง 451 คน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ 

ประชากรประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะไทยและไทดำ โดยไทดำที่บ้านหนองเนินบางส่วนอพยพย้ายถิ่นมาจากบ้านวังหยวก ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ และบางส่วนอพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีหรือนครปฐม 

ไทดำ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เนื่องจากคนไทดำที่อาศัยอยู่ในบ้านหนองเนินและบ้านสี่กั๊กส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่อพยพย้ายถิ่นมาจากบ้านวังหยวก ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ และบางส่วนอพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีหรือนครปฐม ทำให้รูปแบบวัฒนธรรมไทดำมีลักษณะที่ผสมผสานกันกับวัฒนธรรมอื่นในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐาน ประชากรส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณบ้านหนองเนิน แล้วจึงกระจายตัวไปยังพื้นที่บ้านสี่กั๊ก สัมภาระทางวัฒนธรรมเด่นชัดและยังปรากฏในรูปของพื้นที่ทางความเชื่อของทั้งสองหมู่บ้านคือ ศาลผีประจำหมู่บ้าน ศาลผีบ้าน หรือศาลเจ้าพ่อตาเตี่ย ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ โดยแต่ละหมู่บ้านมีศาลเป็นของตนเอง ตามพื้นฐานความเชื่อไทดำว่า ผีบรรพชนได้ติดตามลูกหลานมาเพื่อปกป้องคุ้มครองในพื้นที่ หรือชุมชนแห่งใหม่ที่พวกเขาตั้งถิ่นฐาน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 105)

ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งศาลให้ผีบรรพชนได้สิงสถิต ความเชื่อเรื่องศาลผีประจำหมู่บ้านสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงถิ่นฐานเดิมที่จังหวัดเพชรบุรี สำหรับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ การเสนผีบ้าน หรือการเซ่นไหว้ศาลผีประจำหมู่บ้าน ที่สมาชิกของชุมชนจะรวมกันประกอบ ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองในการอยู่อาศัย การเสนผีบ้านมีเจ้าจ้ำเป็นผู้ประกอบพิธี (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 105)

นอกจากนี้ คนไทดำบ้านหนองเนินจะให้ความเคารพผีบรรพชนของตนเองแล้ว พวกเขายังให้ความเคารพนับถือบุคคลในอดีตที่ไม่ใช่คนไทดำ ดังที่ ไทยแลนด์ เพชรต้อม กล่าวถึงหลวงพี่ดำ หรือนายดำ เป็นคนไทยไม่ใช่พระสงฆ์ ที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านหนองเนิน นายดำเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ชาวบ้านจึงให้ความเคารพเป็นอย่างมาก เมื่อเสียชีวิตชาวบ้านก็นับถือนายดำเป็นผีที่คอยปกป้องดูแลคนในชุมชน เมื่อจะทำพิธีกรรมใด ๆ ก็ต้องมีการบอกกล่าวให้รับทราบเช่นเดียวกับเจ้าพ่อตาเตี่ย แต่ไม่มีการสร้างศาลสำหรับเป็นที่สิงสถิต ดังเช่น ศาลผีประจำหมู่บ้าน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 106)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน) (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2559) อาคารศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งอยู่ด้านหน้าเรือนไทดำจำลอง ตั้งอยู่ในบริเวณสนามด้านหน้าโรงเรียนบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ อาคารร่วมรุ่นเงินทุนสนับสนุนจากจังหวัดนครสวรรค์เช่นเดียวกับศูนย์อนุรักษ์ไทดำบ้านวังหยวก แต่ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน) สร้างขึ้นก่อน ในราว พ.ศ. 2553 แบบแปลนอาคารมีความเหมือนกัน นั่นคือทางเข้าอยู่กึ่งกลาง เมื่อเข้าสู่ภายในอาคาร ผู้ชมจะพบห้องกั้นย่อยอยู่เบื้องหน้า ที่นี่ไม่ได้จัดแสดงอะไรและมีห้องน้ำที่ให้บริการแก่ผู้มาเยือนติดกัน ส่วนพื้นที่ปีกซ้ายและขวาของอาคาร ใช้สำหรับจัดแสดง

ในส่วนการจัดแสดงภายในศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น การนำเสนอยังพอสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของคนที่จัดการในเบื้องแรกอยู่บ้าง เนื้อหาจากการบอกเล่าของลุงทั้งสอง พอจะจับความสำคัญได้สองเรื่องสำคัญนั่นคือเรื่องพิธีกรรมงานศพ “นี่เตรียมตัวก่อนตาย [เครื่องประกอบในพิธีศพเพื่อบอกดวงวิญญาณผู้ตายกลับเมืองแถน] ผู้เฒ่าเตรียมก่อนตายไว้ล่วงหน้า ถ้าคนไม่เตรียม ก็หาซื้อ อันนี้เป็นผู้ชายขี่หงส์ เขยหรือหมอทำหน้าที่บอกทางให้ไปแถน มีเรือนอยู่ [จัดแสดงไว้ที่พื้นที่ปีกขวาของอาคาร] ไว้หลังหนึ่ง แต่ถ้าเป็นผู้หญิง จะเป็นรูปหัวปลี ส่วนนั่นเรียกว่าร่ม” ในส่วนของพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายพอแสดงให้เห็นความซับซ้อน และความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในครัวเรือนที่ต่างจะต้องทำหน้าที่ในการส่งผู้ตายกลับยังเมืองกำเนินของบรรพชน

อีกส่วนหนึ่งเป็นการกั้นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 6 x4 เมตร มีไม้ไผ่ตีไว้เป็นแผงกั้น โดยลุงไทยแลนด์บอกว่านี่เป็นการจำลองการนับถือผีหรือที่เรียกว่า “กะล้อห่อง” (การถอดเสียงเป็นตามที่ผู้เขียนได้ยิน) “คนโซ่งนับถือผีเรือน กะล้อห่อง อันนี้เป็นปานเผื่อน (ลักษณะคล้ายถาดที่ทำจากไผ่สานตาห่างๆ ขนาดใหญ่ให้พอใส่ใส่อาหารเป็นแครื่องเซ่น) เวลา “เสน” หรือการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษจะมีหมู ผลไม้ หมอเซ่นเป็นผู้ประกอบพิธี” พ่อไทยแลนด์ได้ชี้ให้เห็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวลักษณะคล้ายกับไม้รวกที่เหลาเป็นด้ามขนาดเล็กเท่าไม้ลูกชิ้น และที่ปลายของไม้จับมีเชือกห้อยผูกติดกับไม้ไผ้ที่ตัดเป็นแว่นขนาดเล็ก “นี่เรียกว่าไต้” เป็นตัวแทนของสมาชิกผู้ชายในครอบครัว “ชายหนึ่งคน มีหนึ่งชุด มีสิบคน ก็มีสิบชุด ส่วนของผู้หญิงจะเรียก ‘หอหย้า’(ไม่มีตัวอย่างในศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น)”

การส่งเสริมการเรียนรู้อักษรไทดำ (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2559) บ้านหนองเนิน-บ้านสี่กั๋กเป็นชุมชนไทดำในตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก ชุมชนพยายามสืบทอดและฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมไทดำ แม้ในปัจจุบันลูกหลานจะออกเดินทางไปศึกษาต่อหรือทำมาหากินนอกชุมชน แต่งานสำคัญอย่างพิธีเสนเรือนและพิธีกรรมของของผู้วายชนม์ในครอบครัวและเครือญาติคงเป็นทำหน้าที่ในการผสานให้ผู้คนร่วมสืบสานวัฒนธรรมดังกล่าว ผู้เขียนไม่มีโอกาสในร่วมในพิธีสำคัญในระดับครอบครัวทั้งสองประเภท แต่จากการสังเกตการณ์ชั้นเรียนภาษาไทดำที่ชุมชนเริ่มต้นเมื่อสามปีก่อน ก็แสดงให้เห็นความพยายามของชุมชนกับการฟื้นฟูมรดกภาษาเขียนไทดำไว้เป็นสำคัญ 

อาจารย์วิเชียร เชื่อมชิต ให้สัมภาษณ์ถึงความพยายามในการส่งเสริมการเรียนรู้อักษรไทดำให้กับเด็กรุ่นใหม่ “คงต้องกล่าวย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2546 ที่มีการรวมตัวของผู้ที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ มาจากการกินเลี้ยงกันในหมู่ชาวไทดำบ้านโพธิ์ประทับช้าง และทางผู้สูงอายุขอให้ตนทำหน้าที่เป็นประธานชมรม จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียง 3-4 แห่ง คนไม่มาก จากนั้นได้ขอให้สมาชิกช่วยกระจายข่าวและเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกไทดำภาคเหนือ

พอปีหลัง ๆ เริ่มมีการจัดงานไทดำทั่วไป เริ่มรู้จักหมู่บ้านนั้น จนมีสมาชิกในปัจจุบันกว่า 30 กว่าชมรมทั่วภาคเหนือ การจัดตั้งเป็นไปตามข้อบังคับและมีการประชุมสามเดือนครั้ง ครั้งที่แล้วประชุมที่บ้านวังหยวก นครสวรรค์ ชมรมละ 3-5 คน กรรมการนิดหน่อย ร่วมแล้วกว่าร้อยคน เมื่อคนมาร่วมประชุม ต่างแต่งกายอย่างนี้ [เครื่องแต่งกายแบบไทดำ]โดยไม่ต้องนัดหมาย ไม่ต้องบอกการแต่งกายอย่างไร ก็รู้กันหมด ไม่เขินกันแล้ว ใครไม่แต่งก็ว่าแปลก การประชุมแต่ละครั้งจะมีประเด็นในการพูดคุยต่างๆ นานา รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรม ทั้งจากผมเองและผู้รู้ สำหรับผมแล้ว ผมเน้นเรื่องอักษรไทดำ ภาษาเขียน ภาษาพูดพอพูดได้แล้ว”  ปัจจุบันมีคุณลุงไทยแลนด์ เพชรต้อม และคุณลุงพลอย แซ่หุย ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาเขียนไทดำให้เด็ก

 นอกจากภาษาไทยแล้ว ในชุมชนยังมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85) และยังมีการเรียนการสอนอักษรไทดำ


กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีระบบความเชื่อเกี่ยวข้องกับผี ขวัญ และระบบโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับศักดิ์ต่างๆ ที่กำหนดบทบาทหน้าที่พึงกระทำหรือห้ามกระทำต่อกัน ระบบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่คนไทดำนำติดตัวมากจากถิ่นฐานเดิมในจังหวัดเดียนเบียน ประเทศเวียดนาม และเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเพชรบุรีแล้วอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ระบบดังกล่าวก็ติดตัวกลุ่มชนไปในรูปแบบของ “สัมภาระทางวัฒนธรรม” จนเกิดการปฏิสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ มีการยอมรับเอาประเพณี ความเชื่อที่แตกต่างมาไว้กับตัว ความเชื่อทางศาสนาพุทธมาปรากฏขึ้นภายหลังจากไทดำเข้าไปอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีแล้วระยะหนึ่ง

ภายในชุมชมไทดำมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับชุมชนชาวไทยภาคกลาง ที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตรกรรมที่ผูกพันกับน้ำ แต่เมื่อศึกษาลงลึกพบว่าชุมชนเหล่านี้มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมไทดำกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลางของไทย และความเชื่อของศาสนาพุทธสอดแทรกอยู่ในการดำเนินชีวิต รวมถึงมีการสร้างพื้นที่ที่สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มในลักษณะที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84-85)

จากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน และมีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดึงดูดให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ดังเห็นได้จากวัฒนธรรมไทดำได้สอดประสานเข้ากับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือตามอิทธิพลของวัฒนธรรมหลัก นั่นคือศาสนาพุทธ ยกตัวอย่างเช่น ในพิธีศพมีการสวดศพโดยพระสงฆ์ร่วมกับการทำเรือนแฮ่ว (เรือนจำลองที่สร้างขึ้นอาศัยในภพหน้าสำหรับผู้ตาย) การปาดตงเซ่นไหว้บรรพชนยังคงดำเนินทุก 5 วัน 10 วัน ควบคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญ มีการนับมื้อประกอบด้วย มื้อฮับ มื้อฮาย มื้อเมิง มื้อเปิ๊ก มื้อกั๊ด มื้อคด มื้อฮ่วง มื้อเต๋า มื้อก๋า มื้อก๋าบ (วิไล สระทองหล, 2558) มีวันที่เหมาะสมสำหรับพิธีกรรมของผู้ต๊าว และผู้น้อย ร่วมกับการนับวันตามข้างขึ้นข้างแรมเพื่อใช้กำหนดวันมงคลและวันพระ ในชุมชนมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ ร่วมกับภาษาไทย (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85)

ในเวลาเดียวกันวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิมยังถูกแสดงออกในช่วงเวลาที่สำคัญ เช่น การเข้าร่วมพิธีกรรมตามความเชื่อโดยผู้เข้าร่วมก็มักจะแต่งกายด้วยชุดไทดำ เป็นต้น สำหรับวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สามารถเห็นได้จากบริเวณรอบ ๆ เรือนที่จะมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บเอาไว้ โดยเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้จะใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม แสดงถึงภูมิปัญญาสืบทอดจากถิ่นฐานเดิม และพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85-86)

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรม คือ การซ้อนทับของพื้นที่ทางวัฒนธรรม เนื่องจากการลดบทบาทความสาคัญของพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม จนนาไปสู่การปรับเปลี่ยนที่ดินไปใช้งานในบริบทใหม่ รวมถึงการนำพื้นที่ไปเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 30-40 ปี ที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกัน ไทดำเองยังยึดถือข้อปฏิบัติ ประเพณีพิธีกรรม ตามความเชื่อดั้งเดิม ควบคู่กับการประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธ แสดงการเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามาในวิถีชีวิต และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรักษาวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่ม (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 199) 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2559). "ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (ไทดำบ้านหนองเนิน)." ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1452

ปรียานุช คำสนอง. (2560). "พลวัตพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในจังหวัดนครสวรรค์." วารสาร มทร. อีสาน ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 4, 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2560): 77-90.

ปรียานุช คำสนอง. (2562). “พลวัตเรือนพื้นถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน กับรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการดำรงตัวตนทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษากลุ่มไทดำ จังหวัดนครสวรรค์” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2524). การเล่นคอนลาวโซ่งที่บางกุ้ง. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

องค์การบริหารส่วนตำบลหัวถนน. (2566). "ประวัติความเป็นมา." (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.huathanon.go.th/history.php

อบต.หัวถนน โทร. 0-5638-7060