ภายในชุมชนมีโรงเรียนวัดหัวฝาย ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภายในชุมชนยังมีวัดหัวฝายซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการทำกิจกรรม และมีกลุ่มอาชีพการทำขิง เป็นผลิตภัณฑ์หมู่บ้าน
ภายในชุมชนมีโรงเรียนวัดหัวฝาย ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภายในชุมชนยังมีวัดหัวฝายซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการทำกิจกรรม และมีกลุ่มอาชีพการทำขิง เป็นผลิตภัณฑ์หมู่บ้าน
"ชุมชนบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง" ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่ 5 ตำบลบ้านดง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้เป็นกิ่งอำเภอแม่เมาะ และจึงได้เป็นหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง กิ่งอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอแม่เมาะ จึงได้เป็นหมู่ 1 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อมาได้มีการแยกหมู่บ้านเมื่อปี 2546 จึงได้เป็น หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นับตั้งแต่นั้นมา ทั้งนี้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่งจึงมีความสอดคล้องกับหมู่บ้านหัวฝาย และจากการสอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นคนในท้องถิ่นท่านได้เล่าความดังนี้
สมัยพญาธรรมเลิศ อุสสา และมีนางเพย (ภรรยา) พร้อมทั้งคณะผู้ติดตามได้อพยพกันมาจากตัวเมืองมายัง พื้นที่บริเวณทุ่งนาบ้านหัวฝายและได้สร้างบ้านไว้พักอาศัยรวมกัน 4-5 ครอบครัว และได้มีการสร้างฝาย เพื่อใช้ ในการทำการเกษตร หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ตอนบนของหัวฝาย จึงเรียกขานกันมาว่าบ้านหัวฝายต่อมาได้มาสำรวจพื้นที่ และได้ทำการสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2296 ชื่อ วัดหัวฝาย และตั้งที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับวัด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมวัดหัวฝาย จากนั้นประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นสาเหตุให้แยกออกเป็นสองหมู่บ้านโดยมีบ้านหัวฝายเป็นหมู่ที่ 1 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่งเป็นหมู่ที่ 8 โดยบ้านหัวฝายหมู่ที่ 8 นั้น มีลักษณะติดกับทุ่งนาจึงมีการตั้งชื่อขึ้นว่าหัวฝายหล่ายทุ่ง
บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง ม.8 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานประมาณ 200 กว่าปี เริ่มแรกเป็นครอบครัวที่หลบหนีจากการเสียภาษีบุคคลปีละ 4 บาท สมัยเจ้าเมืองลำปาง แต่ต่อมามีบริษัทเอเซียติกของฝรั่งเศส เข้ามาทำไม้ แล้วทำเลที่ทำกินดีจึงพากันมาอยู่ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น และตั้งเป็นหมู่บ้านมีวัดและสถานที่สำคัญขึ้น และเดิมที่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่งเป็นหมู่บ้านเดียวกับหมู่ที่ 1 ต่อมาเมื่อ 6 ปี ที่ผ่านมาได้แยกเป็นหมู่ 8 มีจำนวนครัวเรือน ณ ปัจจุบัน 119 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 331 คน อยู่ห่างจากศูนย์ราชการอำเภอแม่เมาะ 22 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่เมาะประมาณ 23 กิโลเมตร ปัจจุบันมี ว่าที่ ร.ต.ธนพงษ์พันธุ์ เกี๋ยงแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นกำนันตำบลบ้านดง
การเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์สำคัญ
- พ.ศ. 2546 นายเดิน วงศ์ใน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
- พ.ศ. 2550 นายบุญทอง ใจมา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สอง
- พ.ศ. 2553 นายคำผาย จีระเดช เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สาม
- พ.ศ. 2563 ถึง ปัจจุบัน ว่าที่ รต.ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้าน
- พ.ศ. 2564 ถึง ปัจจุบัน ว่าที่ รต.ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว เป็นกำนันตำบลบ้านดง
ประวัติวัดหัวฝาย
วัดหัวฝาย ตั้งอยู่เลขที่ 80 หมู่ที่ 1 บ้านหัวฝาย ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จากการค้นพบและค้นคว้าป้ายอันเก่าแก่ของวัดเป็นภาษาพื้นเมืองภาคเหนือและได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ปรากฏว่าวัดหัวฝายได้ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2296 โดยมีท่านพญายาธรรมเลิศอุสสาเป็นผู้ริเริ่มจัดสร้างขึ้น แต่สิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่ได้ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้มีการบรูณะจัดสร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยมีพ่อหน้อยสา แม่คำใส เตชะเต่ย เป็นผู้นำชาวบ้านบูรณะขึ้นมาใหม่และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2485 โดยมีพระภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาสและรักษาการแทนเจ้าอาวาสจำพรรษาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2296 ดังนี้
- พระภิกษุยอด พ.ศ. 2296
- พระภิกษุเหมย พ.ศ. 2296
- พระภิกษุโอต พ.ศ. 2296
- พระภิกษุแกริ พ.ศ. 2296
- พระภิกษุแก้ว พ.ศ. 2296
- พระภิกษุหวัน พ.ศ. 2296
- พระภิกษุเสาร์ พ.ศ. 2296
- พระภิกษุบุญมา พ.ศ. 2296
- พระภิกษุบุญเป็ง พ.ศ. 2296
- พระอธิการหนิ้ว สิริธโร พ.ศ. 2474
- พระภิกษุสุชาติ สุธิโร พ.ศ. 2521
- พระภิกษุศรีมั่ง สุจิตโต พ.ศ. 2523
- พระครูรังสิตธรรมภิราม เจ้าคณะตำบลบ้านดง
- พระศรีมูล ฐานธมฺโม
- พระอุดม อานนฺโท พ.ศ. 2536
- พระรัตนโชติ สุทธสิโร
- พระวีละ สุทธจิตโต พ.ศ. 2538
- พระสมพล ธรรมทินโน พ.ศ. 2542
- พระนิคม สุระสิตโต พ.ศ. 2547
- พระสมบรูณ์ ภูริวฒฺโก
- พระอธิการมูล วิชากโร พ.ศ. 2551 ถึง ปัจจุบัน
ประวัติโรงเรียนวัดหัวฝาย
โรงเรียนวัดหัวฝาย ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1 - ป.6 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหัวฝายเป็นที่เรียนชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 นายหวัน วงศ์หลานบาง ได้บริจาคที่ดินจำนวน 21 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา ให้เป็นสมบัติของโรงเรียน ทางคณะกรรมการศึกษาและราษฎรจึงช่วยกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นสถานที่เรียน โดยมี นายทา ธิสาระ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2492 ทางการได้แต่งตั้งให้ นายนวล ใจคำลือ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2497 ทางการได้แต่งตั้งให้ นายคำ ปัญทโชติ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2504 ทางการได้แต่งตั้งให้ นายถวิล ค่าทอง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และได้ทำการรื้อย้ายอาคารเรียนร่วมกับคณะกรรมการศึกษาราษฎร ในหมู่บ้านได้สร้างอาคารไม้ชั้นเดียวแบบ ป.1 ขนาด 3 ห้องเรียน โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ
- พ.ศ. 2522 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสร้างโรงฝึกงานแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 1 หลัง บ้านพักครู 1 หลัง
- พ.ศ. 2524 คณะกรรมการโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน และคณะครู นักการภารโรง ได้ร่วมจัดสร้างอาคารเรียนเอนกประสงค์ขนาด 9 x 4 เมตร ขนาด 4 ห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนวัสดุและแรงงานจากชุนชน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ
- พ.ศ. 2525 ได้แต่งตั้งให้นายสุรินทร์ เป๊กสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่และได้รับการจัดสรรงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก ขนาด 5 ห้องเรียน 1 หลัง
- พ.ศ. 2527 ได้รับการจัดสรรงบประมาณรื้อย้ายบ้านพักครูแบบองค์การจากโรงเรียนเดิมมาสร้างในปัจจุบัน
- พ.ศ. 2528 ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก กสช. สร้างถังเก็บน้ำฝน จำนวน 6 ถัง และงบประมาณจากทางราชการ สร้างเรือนเพาะชำ แบบ พ.1 งบประมาณ 15,000 บาท
- พ.ศ. 2529 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก สปช. สร้างสนามฟุตบอล งบประมาณ 100,000 บาท
- พ.ศ. 2531 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปางได้แต่งตั้งให้นายจีรวัฒน์ วงศ์แก้วเขียว มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ในปีงบประมาณ 2533
- พ.ศ. 2532 คณะครูร่วมกับผู้ปกครองนักเรียนได้จัดหาทุนทรัพย์สร้างอาคารเรียนจำนวน 1 หลัง
- พ.ศ. 2536 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปาง ได้แต่งตั้งให้ นายทองคำ ยะโส มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2539 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดลำปาง ได้แต่งตั้งให้นายเชิดศักดิ์ เสริมสุข มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2540 นายเดชวิทย์ หล้าปาวงค์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
- พ.ศ. 2541 นายศรายุทธ ประไพย์ ได้รับคำสั่งย้ายจากสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดลำปาง มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปรับปรุงตำแหน่งเป็นผู้อำนายการโรงเรียน ในปี 2546
- พ.ศ. 2551 ได้เปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
- พ.ศ. 2552 นายพีรพงษ์ ลี้ตระกูล ได้รับคำสั่งย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
ภายในโรงเรียนประกอบด้วยพื้นที่ใช้ประโยชน์ ดังนี้
- อาคารอเนกประสงค์ จำนวน 1 หลัง ใช้เป็นสถานที่ประชุมและรับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน
- บ้านพักครู จำนวน 2 หลัง ปรับปรุงเป็นธนาคารขยะ/ร้านค้าโรงเรียน/ห้องกีฬา/และห้องเกษตรกรรม
- ส้วม จำนวน 3 หลัง
- สนามบาสเกตบอล 1 สนามใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียน
- สนามตะกร้อ 1 สนาม ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักเรียน
- สนามฟุตบอล 1 สนาม ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านดง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านดง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ่อเหมือง ตำบลแม่เมาะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านดง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดง
การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคม สามารถเดินทางได้สะดวก โดยห่างจากตัวอำเภอแม่เมาะประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดลำปางประมาณ 40 กิโลเมตร
จากข้อมูลการสำรวจข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง จำนวน 354 หลังคาเรือน แต่จากการสำรวจของชุมชนพบว่ามีครัวเรือนทั้งสิ้นจำนวน 255 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 466 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 222 คน หญิง 244 คน ทั้งนี้ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเดิม ปัจจุบันได้มีการย้ายไปอยู่ในพื้นที่อพยพใหม่ ยังไม่ได้ก่อตั้งหมู่บ้าน มีครัวเรือนบางส่วนที่ยังคงย้ายมาและยังใช้บ้านเลขที่เดิม และมีบางครัวเรือนที่ย้ายไปอยู่หมู่บ้านท่าสี (แต่เป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว) บางครัวเรือนที่ย้ายมาไม่ได้สร้างบ้านในพื้นที่ใหม่ บางครัวเรือนก็เสียชีวิต ดังนั้นจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของหมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง ยังไม่มีความแน่นอน 100 %
ส่วนใหญ่ประขากรในพื้นที่เป็นชาวเหนือ (คนเมือง) คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
โครงสร้างองค์กรชุมชน
รายชื่อคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8
ลำดับ | ชื่อ-สกุล | ตำแหน่ง |
1 | ว่าที่ร้อยตรีธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว | ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน/กำนัน |
2 | นายติ๊บ ก๋องป้อ | ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
3 | นางสายทอง วงค์แก้วมูล | ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
4 | นายดวงจันทร์ พรหมหมั้น | สารวัตรกำนัน |
5 | นางสาวสุพิน บุญเจริญ | สารวัตรกำนัน |
6 | นางกันยา กันเอ้ย | สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล |
7 | นางบุญทอง บุญเจริญ | ประธานกลุ่มผู้สูงอายุ |
8 | นางคำปัน ตั๋นสืบ | ประธานกลุ่ม อสม. |
9 | นางปี๋ จีระเดช | ประธานกลุ่มแม่บ้าน |
10 | นางสาวปิยะฉัตร กันเอ้ย | ประธานกลุ่มเยาวชน |
11 | นายเทพาย แก้วตา | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
12 | นายเกียร์ติศักดิ์ เกี๋ยงแก้ว | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
13 | นายจำนง ใจคำลือ | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
14 | นายอนันต์ ปิยะสืบ | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
15 | นายทัศ งามสวย | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
16 | นายดำรง วงค์แก้วมูล | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
17 | นางบุญมี วงศ์เปี้ย | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
18 | นางสายณารินทร์ เกี๋ยงแก้ว | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
19 | นายสมศักดิ์ ตื้อใจมา | คณะกรรมการหมู่บ้าน |
กลุ่มอาชีพ
ประชาชนในหมู่บ้านหัวฝายหลายทุ่ง มีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม คือ ดํารงชีวิตแบบเรียบง่ายมีน้ำใจเกื้อหนุนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีความคิดที่เหมือนกัน จึงทําให้เกิดการรวมกลุ่มทํากิจกรรมตามอาชีพ โดยหมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง มีกลุ่มองค์กรชุมชนและกลุ่มอาชีพ จํานวน 18 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
- กลุ่มฌาปนกิจศพ
- กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ
- กลุ่มกองทุนวันละบาท
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน
- กลุ่ม อสม.
- กลุ่มเกษตรกรผสมผสาน
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มทำขิงผง
- กลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้า
- กลุ่มทอตุง
- กลุ่มจักสานเถาวัลย์
- กลุ่มธนาคารจัดการขยะชุมชน
- กลุ่มเลี้ยงไส้เดือน
- กลุ่มทำปุ๋ยหมัก
- กลุ่มทำน้ำยาเอนกประสงค์
การรวมกลุ่มดังกล่าวช่วยให้หมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง มีแหล่งส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้านมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยให้ประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมตั้งกองทุนสวัสดิการ สร้างฐานเอื้ออารีเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายรับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ลำดับ | ชื่อกลุ่ม | ประธานกลุ่ม |
1 | กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต | ว่าที่ร้อยตรีธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว |
2 | กลุ่มฌาปนกิจศพ | นางสายทอง วงค์แก้วมูล |
3 | กลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะ | นายเทพาย แก้วตา |
4 | กลุ่มกองทุนวันละบาท | นางปี๋ จีระเดช |
5 | กลุ่มกองทุนหมู่บ้านเงินล้าน | นายสมศักดิ์ ตื้อใจมา |
6 | กลุ่ม อสม. | นางคำปัน ตั๋นสืบ |
7 | กลุ่มเกษตรกรผสมผสาน | ว่าที่ร้อยตรีธนพรพันธ์ เกี้ยงแก้ว |
8 | กลุ่มผู้สูงอายุ | นางบุญทอง บุญเจริญ |
9 | กลุ่มแม่บ้าน | นางปี๋ จีระเดช |
10 | กลุ่มเยาวชน | นางสาวปิยะฉัตร กันเอ้ย |
11 | กลุ่มทำขิงผง | นางกันยา กันเอ้ย |
12 | กลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้า | นางปี๋ จีระเดช |
13 | กลุ่มทอตุง | นางศรี เตชะเตย่ย |
14 | กลุ่มจักสานเถาวัลย์ | นางคำปัน เต็มสืบ |
15 | กลุ่มธนาคารจัดการขยะชุมชน | นางกันยา กันเอ้ย |
16 | กลุ่มเลี้ยงไส้เดือน | ว่าที่ร้อยตรีธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว |
17 | กลุ่มทำปุ๋ยหมัก | นางสุพิน บุญเจริญ |
18 | กลุ่มทำน้ำยาอเนกประสงค์ | นางแก้ว วงค์แก้วมูล |
ประชากรบ้านหัวฝายหลายทุ่ง มีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติตั้งแต่หมู่บ้านเดิม (บ้านหัวฝาย) โดยให้ความเคารพและนับถือต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อเกิดเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีงามกับคนในชุมชน
1.ว่าที่ รต. ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว (กำนันสมนึก) เกิดปี พ.ศ. 2522
มีบิดาชื่อ นายแก้วมูล เกี๋ยงแก้ว (เสียชีวิต) มารดาชื่อนางศรีคำ เกี๋ยงแก้ว เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนาวนพี่น้องทั้งหมด 2 คน เป็นชาย 2 คน
ประวัติการศึกษา
- อนุบาล-ประถมศึกษา ปีที่ 6 โรงเรียนวัดหัวฝาย
- มัธยมศึกษา 1-3 โรงเรียนวิสุทธิ์วิทยากร
- ปวช.-ปวส. โรงเรียนลำปางเทคโนโลยี
- ปริญญาตรี มหาลัยชีวิต (สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน)
ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน
- เป็นรองประธาน รสทป.ตำบลบ้านดง
- เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน
- เป็นกรรมการอาสาสมัครเกษตร
- เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข
- เป็นอาสาพัฒนาชุมชน
- เป็นคณะกรรมการสภาองค์การชุมชน
- เป็นคณะกรรมการ สพก.เครือข่าย บ้านดง
- เป็นกองกำลังอาสารักษาดินแดน
- เป็นหมอดินอาสาพัฒนาชุมชน
- ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน
- ได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลบ้านดง
ความสามารถพิเศษ
มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการเกษตรผสมผสาน และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้เป็นอย่างดี
2.นายอรุณวัชช์ วงค์อะทะ (ตม) เกิดปี พ.ศ. 2509 มีบิดาชื่อ นายบุญ วงค์อะทะ (เสียชีวิต) มารดาชื่อ นางมูล วงค์อะทะ เป็นบุตรคนที่ 8 ในจำนาวนพี่น้องทั้งหมด 12 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 7 คน
ประวัติการศึกษา
- จบชั้น ป.4 โรงเรียนวัดหัวฝาย
- บวชเณร (ตอนอายุ 13 ปี) 4 พรรษา
- อุปสมบท (ตอนอายุ 25 ปี) 4 พรรษา
ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน
- เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน (มาหลายรุ่นสมัย)
- เป็นกรรมการวัดหัวฝาย
- เป็นตัวแทนของผู้นำเกี่ยวกับแกนนำการอพยพ
3.นายเพทาย แก้วตา (ทาย) เกิดปี พ.ศ. 2504 อายุ 63 ปี มีบิดาชื่อ นายทวาย แก้วตา (เสียชีวิต) มารดาชื่อ นางประเทือน แก้วตา (เสียชีวิต) เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนาวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน
ประวัติการศึกษา
- เรียนจบชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านสวนขวัญ ตำบลลาดยาว อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติการทำงานในหมู่บ้าน
- เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ. 2544
- เป็นประธานกลุ่มรถอีแต๋นปี พ.ศ. 2549
- เข้าร่วมกลุ่มชาวนานำร่องปี พ.ศ. 2551 และได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกลุ่ม
- ได้รับรางวัลเกษตรดีเด่นในปี พ.ศ. 2551
- ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกลุ่มธนาคารรักษ์แม่เมาะปี พ.ศ. 2552
ความสามารถพิเศษ
มีความรู้ทางด้านการเกษตร สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำให้ชาวบ้านที่สนใจในการทำการเกษตรทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยชนิดอื่น ๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญและชำนาญการ
ทุนสังคม
การวางแผนชุมชน
บ้านหัวฝายหลายทุ่ง มีการวางแผนร่วมกันโดยคนในชุมชนร่วมกันสะท้อนปัญหา จัดลำดับความสำคัญ สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โครงการที่เกินศักยภาพของหมู่บ้านจะส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง จัดสรรงบประมาณดำเนินการตามความสำคัญของโครงการที่หมู่บ้านได้จัดลำดับสำคัญไว้
ด้านสาธารณสุข
สุขภาพของคนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหารรสจัด เค็มจัด และกินของสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นต้น อีกทั้งยังมีสถานพยาบาลที่รับรักษาคนในชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสี โรงพยาบาลแม่เมาะ (สวัสดิการสำหรับคนในชุมชนฟรี ทั้งนี้ยังมีการจัดการ ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพของคนในชุมชนอีกด้วย) และหากต้องรักษานอกเหนือไปกว่านั้นทางโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสีและโรงพยาบาลแม่เมาะจะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลลำปาง หรือโรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี เพื่อทำการรักษาต่อไป
ทุนกายภาพ
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้พื้นที่ป่าชุมชนในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การเก็บหน่อไม้ในพื้นที่ป่าเพื่อนำไปขายเพิ่มรายได้ในครัวเรือน และมีการเลี้ยงสัตว์ภายในพื้นที่ป่า ชุมชน และมีการใช้ทรัพยากรทางน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ขาม อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเพื่อการเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนโดยกันเป็นเขตป่าชุมชน ป่าเฉลิมพระเกียรติและการอนุรักษ์ป่า และการปลูกต้นไม้เพื่อส่งเสริมการหวงแหนรักษาป่าไว้ในชุมชน
คนในชุมชนพูดภาษาเหนือในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น หรือเรียกว่า "คำเมือง" ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยกลางได้ชัดเจน สื่อสารได้ตรงกัน
ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง มีแนวทางและวิธีการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ให้เป็นหมู่บ้านจัดการตนเองโดยใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิด ความเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาหมู่บ้านผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน มีการประชุมหมู่บ้านเดือนละครั้งเพิ่มศักยภาพ โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ศึกษาดูงาน ทำให้คนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์ตามที่ทุกคนถนัด เกิดความรู้สึกรักชุมชน และทำงานเพื่อชุมชนการบริหารจัดการในหมู่บ้าน
ปัญหาและการบริหารจัดการของหมู่บ้าน
ปัญหาในหมู่บ้านที่พบบ่อย คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด พบการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวัยรุ่น และวัยทำงานมากพอสมควร การแก้ไขไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเท่าที่ควร ปัญหาการทะเลาะ เบาะแว้ง วิธีดำเนินการ ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยโดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมด้วย ถ้าไม่สามารถ ไกล่เกลี่ยได้จะส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาสุขภาพพบผู้ป่วยเป็นโรคตามฤดูกาล สาเหตุเกิดจากการขาดการ ดูแลสุขภาพ ขาดความรู้ความเข้าใจ พฤติกรรมในการบริโภคอาหารแบบเปลี่ยนจากวิถีชีวิตเดิม เนื่องจากต้อง รีบเร่งทำงาน ทำให้คำนึงถึงคุณภาพโภชนาการอาหารน้อยลง เกษตรกรบางส่วน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถสนับสนุนเกษตรกรได้ครบถ้วนทุกราย ทำให้มีเงินทุนไม่เพียงต่อต่อการลงทุน และพื้นที่หมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ทิ้งมูลดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (แม่เมาะ) ทำให้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่น, กลิ่น, เสียง ส่งผลให้ในช่วงฤดูหนาว ฤดูร้อน มักประสบ ปัญหาความเดือดร้อนจากสภาวะแวดล้อมอยู่เป็นประจำ
ทิศทางการพัฒนาผู้ใหญ่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง มีแนวคิดการบริหารจัดการหมู่บ้านโดยยึดรูปแบบการมี ส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน เน้นความหลากหลายของกลุ่มและช่วงอายุ มีคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะทำงาน ฝ่ายต่าง ๆ โดยคณะกรรมการหมู่บ้านแต่ละฝ่ายแกนนำร่วมกันจัดทำข้อมูลปัญหา และความต้องการของประชาชนนำเข้าสู่เวทีประชาคมหมู่บ้าน ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและนำเสนอแผนโครงการที่ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นเครื่องมือในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิธีการทำงานเน้นการรวมกลุ่มกันทำงาน เน้นการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้รู้จักพึ่งพาตนเอง
ในชุมชนบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง มีจุดสนใจอื่น ๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวป้าหอย และร้านน้ำ ชา กาแฟ อคิณคอฟฟี่
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานภายใต้โครงการ การขับเคลื่อนแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
รายงานประกอบการฝึกภาคปฎิบัติ ครอบครัวและชุมชน หมู่บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง 2554
รายงานการวิจัยชุมชนตำบลบ้านดง จังหวัดลำปาง
ธนพงษ์พันธ์ เกี๋ยงแก้ว, กำนันตำบลบ้านดง, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566
เพทาย แก้วตา, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566
อรุณวัชช์ วงค์อะทะ ปราญช์ชาวบ้าน, สัมภาษณ์, กรกฎาคม 2566