ชุมชนและวัดเก่าแก่แห่งเมืองสงขลากับพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสัมคมจากอดีตถึงปัจจุบัน
เนื่องจากบริเวณชุมชนและวัดตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีป้อมหอรบอยู่บนกำแพงเมือง
ชุมชนและวัดเก่าแก่แห่งเมืองสงขลากับพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสัมคมจากอดีตถึงปัจจุบัน
ชุมชนวัดหัวป้อมมีที่มาจากวัดหัวป้อม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมานานนับหลายร้อยปี อยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาเมื่อมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกราก จนกลายเป็นชุมชนเกิดขึ้นในภายหลัง โดยประชาชนส่วนใหญ่มาจากนอกพื้นที่จังหวัดสงขลา มาจากท้องถิ่นอื่นหรือจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากที่หยุดให้บริการเดินรถไฟไปแล้วเนื่องจากไม่ได้รับความนิยม ปัจจุบันชุมชนวัดหัวป้อม ได้รับการดูแล พัฒนาในด้านสาธารณูปโภค โดยการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลนครสงขลา และโดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระดับคุณภาพชุมชนตามโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (คติการมหาชน)
ชุมชนวัดหัวป้อม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ขอชุมชนทั้งหมด 136384.70 ตารางเมตร สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ อยู่ใกล้กับทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย มีถนนสายหลักของเมืองสงขลาตัดผ่านทางด้านทิศตะวันตก โดยชุมชนมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเทศบาล 1
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนทะเลหลวง ซอย 20
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
ชุมชนวัดหัวป้อม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการอยู่อาศัยของประชากรอย่างหนาแน่นและแออัด โดยมีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 423 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรแบ่งเป็น ประชากรชาย จำนวน 637 คน ประชากรหญิง จำนวน 704 คน มีประชากรรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,341 คน
ชุมชนวัดหัวป้อม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ในเขตการปกครองของเทศบาลนครสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลัก และนอกจากนี้ประชากรบางส่วนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป อีกทั้งประชากรชุมชนวัดหัวป้อมยังมีการรวมกลุ่มของสมาชิกทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า และกลุ่มจักสาน โดยชุมชนวัดหัวป้อมมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 234,144 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 59,983
ชุมชนวัดหัวป้อมมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนในชุมชน ดังนี้
- กองทุนออมทรัพย์ มีงบประมาณ 270,000 บาท
- กองทุนสัจจะวันละบาท มีงบประมาณ 500,000 บาท
- กองทุนออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย มีงบประมาณ 200,000 บาท
- กองทุนออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย มีงบประมาณ 100,000 บาท
1.นางธนพร ลัดดาวัลย์ ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย
2.นางเย็น ปานทองมาก ปราชญ์ชุมชนด้านงานฝีมือ/หัตถกรรม (สานตะกร้าจาก)
3.นายลอย สุลาตะโก ปราชญ์ชุมชนด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม (ทำว่าว)
4.นายสมพร ศรีวิเชียร ปราชญ์ชุมชนด้านอาหารพื้นถิ่น (ทำขนมเจาะหู)
5.นายเอิบ ปานทองมาก ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนพิธี
วัดหัวป้อมใน
วัดหัวป้อมใน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2325 เดิมชื่อวัดหัวป้อม เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณมุมกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาการเดินทางคมนาคมมีความเจริญขึ้นได้มีการตัดเส้นทางรถไฟผ่านพื้นที่ วัดจึงถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีทางรถไฟกั้น เมื่อวัดถูกแยกออกเป็นสองวัด ได้เรียกชื่อใหม่ว่า วัดศรีษะป้อมใน แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกกันมากนัก ต่อมาจึงกลับมาใช้ชื่อว่า "วัดหัวป้อมใน" และวัดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เรียกว่า "วัดหัวป้อมนอก" มาจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่ตั้งวัดหัวป้อมใน เป็นพื้นที่ราบ มาทางรถไฟตัดผ่านทางด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันยกเลิกการให้บริการไปแล้ว อุโบสถวัดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 15.8 เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง 12 เมตร ยาว 18 เมตร มีกุฏิสงฆ์จำนวน 13 หลัง มีหอระฆัง อาคารเรียนพระปริยัติธรรมกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร และอาคารอื่น ๆ
วัดหัวป้อมนอก และนิราศเทพา
วัดหัวป้อมนอก เดิมเป็นวัดเดียวกับวัดหัวป้อมใน ใช้ชื่อว่า "วัดหัวป้อม" ก่อนที่เส้นทางรถไฟจะตัดผ่านและแยกออกเป็นสองวัดมาจนถึงปัจจุบัน
ก.แสงจันทร์ หรือนายกระจ่าง แสงจันทร์ เป็นข้าราชการครู โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ได้สร้างประพันธ์เรื่อง "นิราศเทพา" ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2460 ในครั้งที่ไปทำสำมะโนครัวที่อำเภอเทพา มีข้อความในบทประพันธ์ตอนหนึ่งว่า "...ลงบันไดไคลคลาอุราเศร้า ให้ง่วงเหงาเปล่าอกระหกระเหิน จนมาถึงสถานีไม่มีเพลิน ก้มหน้าเมินขึ้นรถไฟครรไลลา กระทั่งถึงวัดโรงวาศอนาถเนตร แสนเทวษมิได้สิ้นถวิลหา เหมือนเขาวาดรูปมิตรมาติดตา ทัศนาสิ่งทั้งหลายมิได้ยล อินยิเนียร์เปิดแตรแซ่สนั่น แม้เสียงฉันก้องฟ้าเวหาหน จะกล่าวคำอำลากลางอรญ ให้ยุบลทราบกรรณของขวัญใจ มาถึงวัดท่าทางยิ่งหมางจิต ดำริคิดในอุราน้ำตาไหล อยู่ร่วมห้องครองกันไม่ทันไร จะต้องไปสู่ป่าวัดท่าทาง..."
จากบทประพันธ์ สันนิษฐานว่า "วัดท่าทาง" ที่ปรากฏในบทประพันธ์ คือ วัดหัวป้อมนอก เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟ สมัยนั้นหากนั่งรถไฟออกจากสถานีสงขลาลงใต้ มุ่งหน้าไปหาดใหญ่ จะผ่านด้านหลังวัดโรงวาสทางขวามือ จากนั้นจะผ่านทางแยกไปท่าเรือไฟริมทะเลสาบสงขลา แล้วจะผ่านวัดท่าทางอยู่ทางซ้ายมือ ทางฝั่งตะวันออกของทางรถไฟ จากข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดจึงเรียกว่าวัดท่าทางนั้น อาจเป็นเพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ข้างทางรถไฟ ซึ่งปัจจุบันทางฝั่งตะวันตกของทางรถไฟกลายเป็นชุมชนไปแล้ว และวัดท่าทางในนิราศนั้นก็น่าจะเป็นวัดหัวป้อมนอก ที่ตั้งอยู่ถนนริมทางรถไฟ ตำบลบ่อย่าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน
ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้. (ม.ป.ป.). วัดหัวป้อมใน. กลุ่มส่งเสริมการศาสนาและวัฒนธรรม ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.me-fi.com/
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนวัดหัวป้อม เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
Hatyaifocus. (2560). วัดท่าทาง จาก นิราศเทพา. เรื่องราวหาดใหญ่ Hatyaifocus. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/