
ชุมชนขนาดใหญ่ริมทะเลอ่าวไทย กับตำนานเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และภูมิทัศน์ชุมชนที่น่าสนใจ
มาจากตำนานท้องถิ่นที่กล่าวถึงเรื่องราวของนายแรง ที่จะเดินทาไปร่วมสร้างพระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราช เมื่อมาถึงปากน้ำเมืองสงขลา ทราบข่าวว่าพระบรมธาตุสร้างเสร็จแล้ว นายแรงจึงเสียใจมากและได้จมเรือและตัวเองลงที่ปากน้ำพร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากถึงเก้าแสน ภายหลังชาวจีนได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น "เก้าเส้ง/เก้งแสง" และเป็นที่มาของชื่อชุมชนในปัจจุบัน
ชุมชนขนาดใหญ่ริมทะเลอ่าวไทย กับตำนานเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และภูมิทัศน์ชุมชนที่น่าสนใจ
ชุมชนเก้าเส้ง ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นชุมชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยความร่วมมือของ หน่วยงานต่าง ๆ เช่น เทศบาลนครสงขลา องค์การยูนิเซฟร่วมกับประชาชนในชุมชนเก้าเส้ง แรกเริ่มการตั้งบ้านเรือนของประชาชนในชุมชนเก้าเส้งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ บริเวณแหลมสน ต่อมาจอมพลสฤกษิ์ ธนเริชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มาตรวจเยี่ยมราชการ จึงได้มีบัญชาให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณแหลมสน ย้ายมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุบริเวณเก้าเส้งหรือเก้าแสนจนถึงปัจจุบัน
ตามตำนานเรื่องเล่าท้องถิ่น เก้าเส้งหรือเก้าแสน เป็นลักษณะภูเขาหินเตี้ย ๆ มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม ทางด้านที่ติดทะเลมีหินอยู่ก้อนหนึ่ง ลักษณะเป็นก้อนเกือบกลมมนคล้ายจะกลิ้งตกลงไปในทะเล หินก้อนนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “หัวนายแรง” เรื่องของนายแรงนั้นมีนิทานท้องถิ่นประกอบว่า สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างเจดีย์พระบรมธาตุที่นครศรีธรรมราช นายแรงซึ่งเป็นคนใจบุญใจกุศล ได้เรี่ยไรแก้วแหวนเงินทองมากมาย บรรทุกสำเภาเพื่อไปบรรจุพระบรมธาตุ เมื่อสำเภามาถึงปากน้ำเมืองสงขลา (สมัยก่อนปากน้ำอยู่ที่เก้าเส้ง) ชาวเรือที่มาจากนครศรีธรรมราชแจ้งว่า สร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุเสร็จแล้ว เมื่อนายแรงทราบดังนั้นด้วยความเสียใจจึงได้จมเรือและกลั้นใจตายที่เรือพร้อมทรัพย์สมบัติจำนวนเก้าแสน ภายหลังคนจีนได้เรียกเสียงเพี้ยนไป เป็น ”เก้าเส้ง” “เก้าแสง” ที่หินหัวนายแรงโดยเฉพาะข้างใต้หินนั้น เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว มีช่องพอล่วงมือลงไปได้ เมื่อล้วงลงไปจะพบเงินเหรียญมากมาย แต่นำขึ้นมาไม่ได้ เชื่อว่าหากใครผลักหินหัวนายแรงให้ตกลงได้จะ ได้มีทรัพย์สินที่นายแรงนำมาทั้งหมด
ชุมชนเก้าเส้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 28,360.50 ตารางเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่ง ระบายน้ำได้ดี โดยชุมชนเก้าเส้งมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนหลังเก้าแสน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน ซอยทำไก่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน ซอย 2
ชุมชนเก้าเส้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีประชากรอยู่อาศัยร่วมกันจำนวนมาก โดยมีครัวเรือนทั้งหมดจำนวน 496 ครัวเรือน มีประชากรในชุมชนแบ่งเป็น ประชากรชาย จำนวน 720 คน ประชากรหญิง จำนวน 760 คน และมีประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 1,480 คน
ชุมชนเก้าเส้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีการประกอบอาชีพของสมาชิกในชุมชนที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับราชการ และอาชีพค้าขาย เป็นอาชีพหลัก และนอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป บางครอบครัวก็ปลูกผักสวนครัวเป็นอาชีพเสริม และไว้กินในครัวเรือน และเนื่องด้วยชุมชนอยู่ติดกับพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ผู้คนในชุมชนบางส่วนจึงยึดอาชีพประมงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยประชากรในชุมชนเก้าเส้งมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 181,910 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 84,999 บาท/ปี ทั้งยังมีการรวมกลุ่มของสมาชิกในแต่ละอาชีพเพื่อสร้างรายได้และทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกัน ได้แก่ กลุ่มประมง และกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ
ชุมชนเก้าเส้งมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนในชุมชน ดังนี้
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย มีงบประมาณ 7,000,000 บาท
- กลุ่มสัจจะ มีงบประมาณ 7,000,000 บาท
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้านละล้าน มีงบประมาณ 2,000,000 บาท
ชุมชนเก้าเส้ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม และมีมัสยิดประจำชุมชน คือ มัสยิดชุมชนเก้าเส้ง และมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับความเชื่อ ตามปฏิทินวันสำคัญทางศาสนา ดังนี้
- วันฮารีรายอ
- วันเข้าสุนัต
- วันถือศีลอด
- วันอาชูรอ
- วันเมาลิด
1.นายสะแม หมานสิทธิ์ ปราชญ์ชุมชนด้านงานฝีมือ (ช่างไม้/ช่างก่อสร้าง)
2.นายเดอเล๊าะ ปอโด๊ะ ปราชญ์ชุมชนด้านงานฝีมือ (ช่างเหล็ก)
3.นายแจ้ง ทองมาก ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตรชุมชน (เพาะปลูกผักสวนครัว)
4.นางสาวธัญศธร อันจันทร์ ปราชญ์ชุมชนด้านแพทย์แผนไทย/สมุนไพร
5.นายบันลือ ศิลปะสานน์ ปราชญ์ชุมชนด้านแพทย์แผนไทย/สมุนไพร
6.นายล่าสิ จันทร์ประดิษฐิ์ ผู้นำชุมชนด้านศาสนพิธี (โต๊ะอีหม่าม)
7.นายยะหมีน นิยมเดชา ผู้นำชุมชนด้านศาสนพิธี (คอเต็บ)
หาดเก้าเส้ง
หาดเก้าเส้ง อยู่ทางตอนใต้ของชายทะเลเมืองสงขลา เป็นหาดทรายที่ต่อเนื่องมาจากหาดชลาทัศน์ถึงโค้งอ่าวเล็ก ๆ ที่มีหมู่บ้านชาวประมงไปสุดปลายหาดที่โขดหินสูงคล้ายภูเขา สีของเม็ดทรายที่เก้าเส้งไม่ขาวมากนัก แต่ภาพรวมของหาดนี้สร้างความโดดเด่นไม่น้อยกว่าที่อื่น ทั้งจากธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมงของที่นี่ ที่นอกจากจะยืนหยัดในอาชีพชาวประมงท้องถิ่นท่ามกลางชุมชนเมือง และยังเป็นแหล่งสร้างเรือกอและเรือประมงพื้นบ้านที่มีลวดลายสีสันสวยงาม
หาดเก้าเส้ง อยู่ทางทิศใต้ของหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีเสน่ห์ในพื้นที่ เช่น วิถีชีวิตของคนที่นี่ที่ยังคงรักษาความเป็นชาวประมงเอาไว้ ชายหาดมีโขดหินระเกะระกะอยู่ริมทะเล และมีหินก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหินอื่น ซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า "หัวนายแรง" ภูมิทัศน์ของเขาเก้าเส้ง เป็นเขาหินมีต้นไม้เล็กน้อยซึ่งแตกต่างจากภูเขาริมทะเลอื่น ๆ ของสงขลา มีพื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย โดยมีก้อนหินใหญ่ที่ตั้งเด่นอยู่ที่ปลายสุดเป็นลักษณะสำคัญ ทิวทัศน์จากบริเวณหัวนายแรงนี้สามารถมองไปเห็นเกาะหนูเกาะแมวได้อยู่ลาง ๆ
จังหวัดสงขลา. (ม.ป.ป.). ที่เที่ยว: หาดเก้าเส้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhla.go.th/
ฐานข้อมูลศิลปวัฒธรรม CECS. (2556). เก้าเส้ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก http://culture.skru.ac.th/culture/
เทศบาลนครสงขลา. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนเก้าเส้ง เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/