ข้าวพันธุ์ล้านนาสู่สินค้าขึ้นชื่อของบ้านสามขา
ชุมชนบ้านสามขาไม่ปรากฏปีที่ก่อตั้งชุมชนที่แน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าคนกลุ่มแรกอพยพมาจากบ้านเหล่านาปล้อง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง โดยชุมชนมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเชื้อสายชาติพันธุ์ แบ่งข้อมูลเป็น 2 กลุ่มดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ร้อยละ 20 เชื่อว่ากลุ่มของตนสืบเชื้อสายมาจาก “ลั้วะ” ตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษกลุ่มลั้วะอพยพมาจากบ้านเหล่าหนองปล้อง การเข้ามาครั้งแรกเกิดจากการรวมกลุ่มล่าสัตว์แล้วเห็นสภาพพื้นที่บริเวณนี้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานจึงได้ชักชวนให้กลุ่มญาติของตนมาตั้งรกรากตรงบริเวณนี้ ในตอนแรกอพยพมาประมาณ 20 ครอบครัว
- กลุ่มที่ 2 ร้อยละ 80 เชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจาก “คนเมือง”หรือ “ลาวเหนือ” โดยมีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อนี้จากจารึกใบลานที่สืบทอดมา
มีตำนานเล่าว่าต่อกันมาเกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อ “บ้านสามขา” โดยตำนานเล่าว่ามีชาวบ้านคนหนึ่ง ออกไปล่าสัตว์ ได้เก้งตัวใหญ่แต่เอากลับบ้านคนเดียวไม่ไหวจึงใช้มีดตัดเพียงขาหลังไปขาเดียว ส่วนที่เหลือหวังไว้ว่าจะพาเพื่อนบ้านมาเอาในวันรุ่งขึ้น แต่พอกลับมาในตอนเช้ากลับไม่พบเก้งที่ฆ่าไว้เมื่อคืนนี้สังเกตเห็นรอยงูใหญ่ลากไปเป็นทางจึงเดินตามรอยนั้นไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่ง ปรึกษากันตกลงได้ว่าจะจับงูใหญ่ด้วยการตกงูเมื่อหย่อนเบ็ดแล้วก็พากันกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นพากันมาดูเบ็ด พบว่างูติดเบ็ดแล้วแต่ดึงขึ้นมาไม่ไหว จึงไปเกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดึงเบ็ด ยกเว้นแม่หม้ายคนหนึ่งไม่ได้มาช่วย ชาวบ้านใช้ช้างสามพราย ควายสามตัวผูกต่อกันแล้วขับให้ช้างเดินก่อนตามด้วยควายจึง เอางูขึ้นมาได้แล้วผูกเกวียนอีกสามเล่มขนเอางูกลับหมู่บ้านจากนั้นก็จัดการแบ่งเนื้องูกินเหล้า สังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน ยกเว้นแม่หม้ายที่ไม่ได้ออกมารับส่วนแบ่งเพราะไม่ได้ช่วย มีเทวดาแปลงกายมาเป็นคนแก่มาเข้าฝันหญิงหม้ายบอกว่าหากได้ยินเสียงอะไรก็อย่าลงจากบ้านเด็ดขาด พอตกดึกหญิงหม้ายก็ได้ยินเสียงคล้ายแผ่นดินถล่มแต่ก็ไม่กล้าออกไปเพราะนึกถึงคําเตือนของคนแก่ในฝัน เมื่อถึงรุ่งเช้าหญิงหม้ายออกมานอกบ้านเห็นแผ่นดินยุบตัวเป็นวงกว้างบ้านเรือนชาวบ้านหายหมด เหลือแต่บ้านของตน ด้วยความกลัวจึงเก็บเอาของมีค่าหนีขึ้นไปอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งถ้ำแห่งนั้น ปัจจุบันก็ยังอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำย่าเถ็ก” หมู่บ้านที่แผ่นดินถล่มนั้นชาวบ้านเรียก “โป่งหล่ม” และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสามขา” ตามเก้งที่เหลือสามขาซึ่งเป็นต้นเหตุของตำนานบ้านสามขามาจนถึงปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อบ้านนายาบ หมู่ 7ตําบลหัวเสือ อําเภอแม่ทะ จังหวัดลําปาง
- ทิศใต้ ติดต่อบ้านดอนไฟ หมู่ 7 ตําบลดอนไฟ อําเภอแม่ทะ จังหวัดลําปาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อภูหลวง (ป่าชุมชนบ้านสามขา)
- ทิศตะวันตก ติดต่อบ้านห้วยมะเกลือ หมู่ 4 ตําบลหัวเสือ อําเภอแม่ทะ จังหวัดลําปาง
บ้านสามขาอยู่ติดกับดอยหลวง ในเวลาหน้าหนาวอากาศจะหนาวจัด มีหมอกหนาตอนเช้า แต่เวลาหน้าร้อนนั้นอากาศจะเย็นสบาย เนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบล้อมไปด้วยป่าหนาทึบและภูเขา มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปีจากประปาดอย หรือประปาไม่ไผ่และมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านสามขา ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 620 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 300 คน ประชากรหญิง 320 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 241 ครัวเรือน
การประกอบอาชีพมักประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำไร่ เนื่องด้วยทรัพยากรทางธรรมชติของดินมีความุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเกษตร ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านจะเก็บไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนมากกว่าจำหน่าย นอกจากฤดูกาลทำไร่ทำนาแล้วชาวบ้านยังประกอบอาชีพเสริมเพื่อเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทาง เช่น การทอผ้า แกะสลักผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น ประชากรบางส่วนประกอบอาชีพอื่น เช่น รับราชการ อาจกล่าวได้ว่าแม้ความเจริญเข้ามาสู่หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านสามขายังยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีปฏิทินการเกษตรที่แน่ชัด
ปฏิทินทางการเกษตรของชุมชนบ้านสามขา
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | ปลูกถั่วลิสง หอมแดง หอมขาว พืชผักเพื่อบริโภค |
กุมภาพันธ์ | เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ปลูกไว้ |
มีนาคม | - |
เมษายน | พักหน้าดิน |
พฤษภาคม | - |
มิถุนายน | ลงกล้า เพื่อเตรียมไว้สำหรับนาดำ |
กรกฎาคม | - |
สิงหาคม | เป็นช่วงดูแล บำรุงข้าวให้เติบโต และออกรวง |
กันยายน | - |
ตุลาคม | - |
พฤศจิกายน | เก็บเกี่ยวข้าวบางส่วน และเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภค |
ธันวาคม | เก็บเกี่ยวข้าว |
ประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อของชุมชนบ้านสามขา นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการเคารพผีที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษมาเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีภายในชุมชน เกิดเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชนบ้านสามขา เป็นประเพณีประจำเดือนในรอบปี ดังปฏิทินในรอบปีต่อไปนี้
เดือน | ประเพณีปฏิบัติ |
มกราคม | - บุญข้าวจี่หรือบุญข้าวใหม่ |
กุมภาพันธ์ | - บุญเบิกป่า |
มีนาคม | - บวชเณรภาคฤดูร้อน |
เมษายน | - บุญสงกรานต์ - บุญไม้ค้ำศรี - บุญบั้งไฟ |
พฤษภาคม | - บุญวิสาขบูชา - บุญบวชป่าและสืบชะตาป่า |
มิถุนายน | - เลี้ยงผีฮงหลวง อาฮักอาเก้า ผีขุนน้ำ |
กรกฎาคม | - บุญเข้าพรรษา |
สิงหาคม | - เข้าพรรษาไม่จัดงานมงคล |
กันยายน | - เข้าพรรษาไม่จัดงานมงคล |
ตุลาคม | - บุญกฐิน |
พฤศจิกายน | - งานลอยกระทง |
ธันวาคม | - บุญน้ำเหล้า ข้าวใหม่ |
ข้าวสายพันธุ์ดีบ้านสามขา “ข้าวหอมล้านนา”
บ้านสามขา หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ยึดอาชีพเกษตรกรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายหลังมีเกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกข้าวสายพันธุ์ดี “ข้าวหอมล้านนา” เริ่มเก็บเกี่ยวกันตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน กระบวนการปลูก การดูแล เก็บเกี่ยว แปรรูป เป็นระบบอินทรีย์ กลุ่มชุมชนมีกติกา ผ่านการทำประชาคมว่าจะไม่มีการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช โรคพืช รวมถึงปุ๋ยเคมี
ข้าวหอมล้านนา เป็นข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ข้าวหอมนิลและข้าวป่าออไรซานิวารา ปรับปรุงสายพันธุ์โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง ลักษณะเด่น ลำต้นสูง 100 เซนติเมตร มีอายุสั้นเพียง 105 วัน มีระบบรากที่ดี มีความต้านทานโรคและแมลง เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมื่อนำมาหุงจะมีกลิ่นหอม นุ่ม อร่อย มีจุดเด่นคือ ข้าวหอมล้านนาเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะต้นข้าวเจริญเติบโตช่วยประหยัดน้ำ มีอายุสั้น จึงลดจำนวนวันที่ต้องให้น้ำและมีระบบรากที่ดี จึงไม่ต้องใช้น้ำมาก กับมีความแข็งแรงเหมือนข้าวน้ำ จึงต้านทานโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูข้าว การปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียว ช่วยลดปริมาณเมล็ดพันธุ์และช่วยเพิ่มผลผลิต จนสู่กระบวนการแปรรูปข้าวหอมล้านนา ภายใต้ชื่อ OTOP ข้าวหอมล้านนาบ้านสามขา ที่มีคุณภาพความปลอดภัยในการบริโภค
ข้าวหอมล้านนา บ้านสามขา - Kao Hom Lanna Baansamkha. (2565). กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอเม่ทะ จังหวัดลำปาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/
จำนงค์ จันทร์จอม, หัวหน้าโครงการ (2547). รูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
พรพิมล ชำรัมย์. (2556). การจัดการป่าชุมชนในฐานะที่เป็นทรัพยากรวัฒนธรรม กรณีศึกษา: บ้านสามขา หมู่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
มูลนิธิชีวิตไท. (2562). ข้าวอินทรีย์ “หอมล้านนา” บ้านสามขา ลำปาง เพื่อคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.landactionthai.org/
MGR Online. (2551). บ้านสามขา หมู่บ้านในนิทาน ตำนานคนกับป่า. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://mgronline.com/