วิถีชีวิตชุมชนมีความสัมพันธ์กับสายน้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
สรรพยาเป็นตำนานทางวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ มีต้นสมุนไพรรักษาโรคหลายชนิด ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติบนเขาสรรพยา จึงเป็นที่มาของชื่อ อำเภอสรรพยาและชุมชนสรรพยา ในปัจจุบัน
วิถีชีวิตชุมชนมีความสัมพันธ์กับสายน้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ในจังหวัดชัยนาทก็มีชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างชุมชนตลาดโรงพักเก่าในอำเภอสรรพยา ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่หลอมรวมคนทั้งชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นจุดแข็งของชุมชนนี้ ที่มีรากวัฒนธรรมอันหลากหลายและยาวนานสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต จนถึงยุคปัจจุบัน
สถานีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา หรือโรงพักเก่าสรรพยา ตั้งอยู่ในอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นอาคารเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2444 หรือ ร.ศ. 120 ในสมัยของพันตำรวจเอกพระยาสกลสรศิลป์ ผู้บังคับการมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งตรงกับสมัยของพระยาศรีสิทธิกรรม ดำรงตำแหน่งนายอำเภอสรรพยา โรงพักแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 47 วา ติดถนนสายเล็ก ๆ ภายในชุมชนตลาดสรรพยา สถาปัตยกรรมงามย้อนยุคทรงปั้นหยา รูปแบบอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง เสาไม้เต็ง ฝาเป็นไม้กระยาเลย ส่วนพื้นเป็นไม้ตะแบก โครงสร้างไม้ประดับ เชิงชายด้วยไม้แกะสลัก และทาสีขาวสะอาดตา
จุดเปลี่ยนแปลงของอาคารโรงพักดั้งเดิม เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 มีการสร้างโรงพักแห่งใหม่ริมคลองชลประทาน ใกล้กับที่ว่าการอำเภอสรรพยา ทำให้อาคารเดิมถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ และค่อย ๆ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ชาวบ้านในพื้นที่จึงต้องการให้ทำการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ โดยเฉพาะสันนิษฐานว่าที่นี่เป็นอาคารโรงพักเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังเหลืออยู่ในสภาพเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 หน่วยงานราชการในท้องถิ่นมีแนวคิดที่จะร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณะและปรับปรุงอาคารดังกล่าว เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสรรพยา
ภายหลังได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อาคารจึงได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561
ปัจจุบันโรงพักเก่าสรรพยา เป็นอาคารอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวและเรียนรู้ ด้านบนเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการภาพเก่าของย่านสรรพยา มีตู้เก็บปืน เอกสารกฎหมาย และมีนิทรรศการภาพถ่ายครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2498 และภาพการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
โรงพักเก่าสรรพยา ตั้งอยู่บริเวณตลาดเก่าสรรพยา หมู่ 4 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โรงพักแห่งนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 47 วา ติดถนนสายเล็ก ๆ ภายในชุมชนตลาดสรรพยาอาคารโรงพักของตำรวจ เป็นอาคารสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี และถือว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศ สามารถเดินทางโดยการเดินทางรถยนต์โดยสารธรรมดา และรถยนต์โดยสารปรับอากาศ กรุงเทพฯ - วัดสิงห์ สาย 19 โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเมืองชัยนาท
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอตาคลี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอสรรคบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอสรรคบุรี และอำเภอเมืองชัยนาท
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
อำเภอสรรพยาอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดชัยนาท มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่อำเภอ สภาพบ้านเรือนราษฎรส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เนื่องจากการคมนาคมในอดีตอาศัยทางน้ำเป็นหลัก สังเกตจากสภาพชุมชนปรากฏว่ามีชุมชนหนาแน่น เป็นทั้งย่านการค้าและที่อยู่อาศัยหลายแห่ง แต่ในปัจจุบันมีถนนสายชัยนาท-สิงห์บุรี และสายเอเชีย ตัดผ่าน มีสะพานสรรพยาเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้ประชาชนนิยมใช้การคมนาคมทางบกเป็นหลัก
จำนวนประชากรชุมชนสรรพยา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,144 คน แบ่งเป็นชาย 565 คน หญิง 579 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 642 ครัวเรือน
สรรพยาเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงมีความเรียบง่ายของวิถีชีวิต ดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสถึงความน่ารักของชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ชุมชนเก่าตลาดสรรพยา โดยชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนที่นี่ได้ตลอดทั้งปี คือ น้ำตาลโตนด เป็นน้ำตาลที่มีความสดใหม่ทุกวัน และยังมีผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนในชุมชนที่มีความสนใจด้านงานจักสาน โดยการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มสมาชิกขึ้น เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นการระดมความคิด ทางด้านการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ และในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แรกของเดือน ที่นี่จะมีตลาดกรีนดี หรือ ตลาดโรงพักเก่าสรรพยาเป็นตลาดที่ไม่ใช้โฟมในการใส่อาหารแห่งแรกในชัยนาท บรรยากาศคึกคัก มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของสินค้าและอาหารท้องถิ่นต่าง ๆ มากมาย
วิถีชีวิตชุมชนมีความสัมพันธ์กับสายน้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีทุนทางวัฒนธรรมหลากหลาย ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีการบริหารจัดการโดย “ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรรพยา” ที่มีสมาชิกประกอบด้วยบุคลากรที่มาจากหลายภาคส่วน ประชาชนในชุมชน ได้รับการพัฒนาจากหลายหน่วยงาน มีความพร้อมจึงได้ร่วมกันจัดงานถนนคนเดิน โดยใช้แนวคิด “ตลาดกรีนดี” (Green Market) งดใช้โฟม และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในชื่องานว่า “เที่ยววิถีชุมชนคนสาปยา” ตอนย้อนรอยโรงพักบอกรักสรรพยา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยา ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนเก่าซึ่งหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้นับวันก็มีแต่จะเลือนหายไปจึงได้ร่วมกันทำนุบำรุง และส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าเพิ่มทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยบูรณาการร่วมกับ องค์ความรู้ด้านการจัดการ “แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว” เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รากเหง้าของชุมชนตามแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรมบนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและแสดงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น ในปี 2558-2560 ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยาร่วมกับเทศบาลตำบลสรรพยา จัดกิจกรรมถนนคนเดินในช่วง “งานเล่าขานตำนานเมืองสาปยา (สรรพยา) อัฏฐมีบูชารำลึก” ปีละ 1 ครั้ง ที่บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ความยาวประมาณ 500 เมตร ถนนดังกล่าว เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากวัดสรรพยาวัฒนาราม ถึง อาคารโรงพักเก่าสรรพยา ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงพักสามแยก ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ระหว่างทางเดินจะมีภาพเขียนสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนในอดีตจำนวน 3 ภาพ ศาลเจ้าสรรพยาปึงเถ่ากงมา และที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งย่านค้าขายสำคัญของอำเภอสรรพยา สภาพบ้านเรือนมีทั้งเรือนแถวไม้ อาคารบ้านเรือนสมัยเก่าและสมัยปัจจุบัน
1.เง็กลั้ง จันทรวรรณกูร เป็นผู้นำวัยเก๋าแห่งตลาดสรรพยา เป็นผู้ที่ทำให้ตลาดเก่าสรรพยาได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทุนวัฒนธรรม
วัดสรรพยาวัฒนาราม
ตั้งอยู่ในตลาด ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ภายในวัดปรากฏร่องรอยศิลปะสมัยอยุธยาหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถหลังเก่า พระวิหาร ศาลาพระพุทธ หลวงพ่อพุทธสำเร็จ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าวัด และผู้คนยังนิยมมาสักการะรูปหล่อหลวงปู่เฟื่อง หรือพระปลัดเฟื่อง ธมฺมโชติ อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่สอง ซึ่งเคร่งครัดพระธรรมวินัย ที่มรณภาพนานแล้ว แต่ญาติโยมยังศรัทธาเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์เรื่องคงกระพันและของหายได้คืน เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัดเสาธงหิน หรือวัดวังหิน และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวันสรรพยาวัฒนาราม เมื่อปี พ.ศ. 2495 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่
- วิหารน้อย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมี 4 ห้อง กว้าง 500 เมตร ยาว 11.50 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่ว ก่อเป็นซุ้มโค้งรูปกลีบบัว
- ประติมากรรมปูนปั้นหรือ “พระฉาย” คือองค์พระพุทธเจ้าประทับเงาพระองค์บนหน้าผา
- พระพุทธรูปประทับนอนหงายในหีบพระบรมศพ พร้อมฝาหีบลงรักปิดทอง ลายพรรณพฤกษา โดยมีพระสาวกกำลังนมัสการพระบรมศพ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ และหายากคู่บ้านคู่เมืองสรรพยามาช้านาน
- หลวงพ่อพุทธสำเร็จ พระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าวัด ชื่อเต็ม คือ พระพุทธสามัคคีศรีสรรพยาประชานาท จุดเด่นอยู่ที่จำนวนพระสำริดองค์เล็กที่ประกอบรวมกันเป็นองค์หลวงพ่อพุทธสำเร็จ จำนวนพระที่ใช้สร้างหลวงพ่อพุทธสำเร็จมีทั้งสิ้น 137,000 องค์
- อุโบสถ(หลังเก่า) วิหาร และกลุ่มเจดีย์สวยงามภายในวัด
อาหาร
ลาบปลาร้า สรรพยาเป็นแหล่งผลิตปลาร้าชื่อดังอันดับหนึ่งของประเทศไทย ปลาร้าที่นี่ รสชาติดี กลิ่นหอม เมื่อนำมาผสมกับเครื่องสมุนไพรพื้นบ้านเวลาตักใส่ปากเคี้ยวลิ้นจะสัมผัสถึงความอร่อย กลิ่นของสมุนไพรจะติดอยู่ที่ปลายลิ้น จนนักท่องเที่ยวต้องซื้อปลาร้ากลับไปกินที่บ้าน
ตลาดโรงพักเก่าสรรพยามีพัฒนาการของตลาดนัดชุมชนที่เป็นตลาดเก่าและฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของตลาดย้อนยุคถนนคนเดิน ซึ่งการดำรงอยู่ของตลาดนัดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเกิดจากกระบวนการที่สำคัญ 5 ประการ คือ
- สืบค้นอัตลักษณ์เด่นของตลาดนัดชุมชน
- สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย
- กำหนดแนวทางการบริหาร จัดการตลาด
- จัดกิจกรรมตลาดย้อนยุคถนนคนเดิน และ
- ตรวจสอบและประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินงาน
มีการฟื้นฟูตลาดนัดภายในชุมชน ส่งผลให้ผู้ค้าสามารถเลือกตลาดขายสินค้าได้มากขึ้นทำให้ย่านการค้าแห่งนี้มีกระแสเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน บุคลากรด้านการท่องเที่ยวและคนในชุมชนสรรพยาได้รับการพัฒนา จากหลายหน่วยงานจนมีความพร้อมประกอบกับพื้นที่มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่าง หลากหลาย คนในชุมชนจึงร่วมกับ เทศบาลตำบลสรรพยาและที่ปรึกษาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันฟื้นฟูตลาดขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ ของตลาดย้อนยุคถนนคนเดินภายใต้แนวคิด “ตลาดกรีน ดี (Greenmarket) คือ งดใช้โฟมและพลาสติก มุ่งใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เขาสรรพยา
เดิมเป็นภูเขาโดดเดี่ยวกลางทุ่งนาที่ไม่มีใครรู้จัก กระทั่งชาวบ้านค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถาน จึงได้รับความสนใจมากขึ้นและมีการสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและเป็นชื่อที่มาของอำเภอสรรพยา เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้
“เขาสรรพยา” จากหลักฐานมุขปาถะ เรื่องเล่าและตำนานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึงความเก่าแก่ของชื่อบ้านนามเมืองที่ย้อนกลับไปได้กว่าพันปี ในสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียโบราณในพื้นที่ภาคกลาง จากหลักฐานชื่อนามสถานที่ที่ปรากฏในตอนหนึ่งของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน หนุมานตามหาสมุนไพร ณ เขาสรรพยา เมื่อพระลักษมณ์ต้องศรอินทรชิต หนุมานจึงต้องไปเชิญภูเขานี้มา เนื่องจากมีสมุนไพรชื่อ “สังกรณีตรีชวา” ชื่อเขาสรรพยาจึงกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองมานับแต่โบราณ
ครั้นถึงสมัยอยุธยา “เขาสรรพยา” ได้ปรากฏชื่ออีกครั้งใน รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปนครสวรรค์เพื่อรับช้างเผือก โดยเขาสรรพยากลายเป็นเส้นทางสุดท้ายที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานทางวรรณกรรม เรื่อง“นิราศนครสวรรค์”
ในปัจจุบันเมื่อได้ไปเยือนเขาสรรพยา หากเดินตามบันไดขึ้นเขาราว 200 ขั้น จะพบงานแกะสลักนูนต่ำเป็นรูปหนุมานบนหินขนาดใหญ่ พร้อมด้วยถ้ำน้ำมนต์หรือถ้ำพระฉาย ซึ่งชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญ ผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาเก็บใช้ประโยชน์ เมื่อมองจากจุดชมวิวด้านบน จะเห็นท้องนาที่มีต้นตาลเรียงรายดูสวยงามสบายตา
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (2564). โรงพักเก่าสรรพยา. (ออนไลน์). สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จากจาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
จริยา สุพรรณ. (2566). รูปแบบการพัฒนาตลาดนัดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท. วารสารชุมชนวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. 17 (1), 169-181.
สรรพยา จ.ชัยนาท. (2564). ทะเบียนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยาปี 2564 มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้. (ออนไลน์). สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จากจาก https://sapphaya.org/9931-2/
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ชุมชนตลาดเก่าโรงพักสรรพยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.thailandvillageacademy.com/