Advance search

บ้านน้ำซุ้ม

ชุมชนชาวม้งขนาดเล็กท่ามกลางหุบเขาในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน หมู่บ้านถูกโอบล้อมด้วยป่าเขาอันสมบูรณ์งดงาม มีการท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน

หมู่ที่ 8
น้ำซุ้ม
บ้านปง
หางดง
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
17 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.พ. 2024
บ้านน้ำซุ้ม

บริเวณหมู่บ้านมีถ้ำแห่งหนึ่งมีน้ำซึมไหลออกจากโขดหินเขาหรือผนังถ้ำตลอดเวลา ภายในมีแอ่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านน้ำซุ้ม” ตามสภาพแวดล้อม ซึ่ง “น้ำซุ้ม” ก็เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก “น้ำซึม” นั่นเอง


ชุมชนชาวม้งขนาดเล็กท่ามกลางหุบเขาในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน หมู่บ้านถูกโอบล้อมด้วยป่าเขาอันสมบูรณ์งดงาม มีการท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนาด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน

น้ำซุ้ม
หมู่ที่ 8
บ้านปง
หางดง
เชียงใหม่
50230
การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำซุ้ม โทร. 08-2556-8312
18.78225
98.8261
เทศบาลตำบลบ้านปง

บ้านน้ำซุ้ม ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวม้งที่ได้เดินทางอพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ต่อมาได้ย้ายครอบครัวและตั้งบ้านเรือนที่บ้านม้งดอยปุย ตําบลสุเทพ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2512 ชาวม้งชื่อว่า นายเลาซาง เลาเสอ (ตระกูลแซ่จางหรือแซ่จันทร์) และนายแก้ว แซ่ย่าง ได้เข้าไปล่าสัตว์ หาของป่าในป่าแห่งหนึ่ง (ที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน) พบว่าป่าแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมดีและอุดมสมบูรณ์เป็นอันมาก มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการเกษตร เป็นอาณาเขตที่เหมาะแก่การเพาะปลูกทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่ว นายเลาซาง เลาเสอ และนายแก้ว แซย่าง จึงได้อพยพครอบครัวเข้ามายังพื้นที่ดังกล่าวนี้เพื่อมาทำการเพาะปลูกและสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นที่มาของบ้านน้ำซุ้มในปัจจุบัน ในระยะแรกของการก่อตั้งชุมชนนั้น บ้านน้ำซุ้มยังคงเป็นส่วนหนึ่งของหมู่ที่ 3 บ้านแม่ฮะ ตำบลปงผาง ก่อนแยกออกมาใน พ.ศ. 2540 แล้วรวมเป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านห้วยกว้างซึ่งแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากบ้านแม่ขนิลเหนือ เพิ่มเป็นหมู่ที่ 8 บ้านน้ำซุ้ม ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนชื่อ เรียก “บ้านน้ำซุ้ม” นั้นเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตามสภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน คำว่า “น้ำซุ้ม” มาจาก “น้ำซึม” เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านมีถ้ำน้ำซึมไหลออกจากโขดหินเขาหรือผนังถ้ำตลอดเวลา ใกล้กันนั้นมีปากถ้ำสามารถลอดเข้าไปได้ สภาพภายในถ้ำมีอากาศเย็น มีแอ่งเก็บน้ำที่เกิดขึ้นเอง ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้เพื่ออุปโภคและบริโภคได้ และได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนี้มาโดยตลอด จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านน้ำซุ้ม” 

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านน้ำซุ้ม อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เป็นระยะทาง 46 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอหางดง 30 กิโลเมตร มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ลาดเชิงเขาในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน เป็นบริเวณที่มีภูเขาล้อมรอบสลับกันไป โดยบ้านน้ำซุ้มแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มบ้าน ตามลักษณะสภาพแวดล้อม ได้แก่ บ้านสามหลัง บ้านน้ำซุ้ม และบ้านห้วยกว้าง มีอาณาเขต ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่ขนิลเหนือ ตำบลบ้านปง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทุ่งโป่งใต้ ตำบลบ้านปง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเก๊าเดื่อ ตำบลบ้านปง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ขนิลใต้ และบ้านน้ำแพร่

ลักษณะทางกายภาพ

บ้านน้ำซุ้มมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-990 เมตร บ้านเรือนของประชาชนทั้ง 3 กลุ่มบ้านอยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่บ้านน้ำซุ้มล้อมรอบด้วยภูเขา เนินเขาหลังหมู่บ้านเป็นแหล่งเพาะปลูกของชาวบ้าน ภูเขารอบหมู่บ้านจึงเป็นที่ราบโล่งเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ไร่กะหล่ำปลี ผักกาดขาว พริก มะเขือเทศ ฟักทอง ฯลฯ ส่วนลำไย ส้ม และลิ้นจี่จะอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำลงมา

สภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากบ้านน้ำซุ้มตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน และอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จัดอยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่นและมีฝนตกปานกลาง มีสภาพอากาศร้อนในช่วงเวลากลางวันและอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม สําหรับในช่วงเวลากลางคืนอากาศค่อนข้างหนาวและจะหนาวมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และมีลมพัดตลอดทั้งปี

  • ฤดูร้อน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี ในช่วงฤดูกาลนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่หยุดการเพาะปลูกโดยเฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่สูง เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอสําหรับการเพาะปลูก
  • ฤดูฝน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม เป็นช่วงฤดูกาลที่ชาวบ้านทําการเพาะปลูกพืชผักทางการเกษตรทั้งเพื่อการบริโภคและจําหน่าย เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในการเกษตร
  • ฤดูหนาว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและงานเทศกาลและงานสําคัญต่าง ๆ ของชาวม้ง

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • ทรัพยากรดิน ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินเหนียวและเป็นดินด่าง มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูงที่มีธาตุอาหารต่าง ๆ สูง เหมาะเป็นพื้นที่สําหรับการเพาะปลูก เช่น ข้าวไร่ ข้าวโพด ลิ้นจี่ กะหล่ำปลี ฟักทอง ผักกาด มะเขือ ฯลฯ
  • ทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำซุ้มมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ กลุ่มบ้านน้ำซุ้มใช้นำน้ำจากถ้ำน้ำซุ้ม ลําห้วยที่อยู่ปลายเขา กลุ่มบ้านสามหลังมีแหล่งน้ำ เรียกว่า ห้วยหม่อง และจากถ้ำน้ำซุ้ม และกลุ่มบ้านห้วยกว้างใช้น้ำจากห้วยและน้ำประปาภูเขา นอกจากนี้ ในชุมชนยังมีการสร้างแท่งเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ ห้วยเก็บน้ำ มีการจัดระบบในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการ การเปิด-ปิดการใช้น้ำเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ โดยการจัดการระบบแหล่งน้ำเป็นความรับผิดชอบของแต่ละกลุ่มบ้าน
  • ทรัพยากรป่าไม้ มีลักษณะเป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณปะปนเล็กน้อย มีการกําหนดเขตพื้นที่ทํากินและพื้นที่ป่าที่ชัดเจน ชาวบ้านไม่สามารถที่จะขยายพื้นที่ทํากินเพิ่มได้ ในอดีตพื้นที่ป่าได้ถูกบุกรุกจนเกิดความเสื่อมโทรมไปมาก ต้นไม้ใหญ่ถูกหักโค่น แต่ปัจจุบันชาวบ้านให้ความสําคัญเรื่องการดูแลป่าไม้มากขึ้น ประกอบกับมาตรการการดูแลอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ป่าไม้บริเวณพื้นที่บ้านน้ำซุ้มเริ่มกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีป่าชุมชนซึ่งเป็นป่าไม้สักที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านน้ำซุ้ม ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,235 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 599 คน ประชากรหญิง 636 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 212 ครัวเรือน ชาวบ้านในชุมชนคือชาวม้งที่อพยพมาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ก่อนไปอาศัยอยู่ที่บ้านดอยปุย แล้วจึงมีบางส่วนแยกตัวออกมาอาศัยอยู่ที่บ้านน้ำซุ้มจนปัจจุบัน 

ปัจจุบัน บ้านน้ำซุ้มแยกออกเป็น 3 กลุ่มบ้าน โดยแต่ละกลุ่มบ้านมีสายตระกูลต่าง ๆ อาศัยอยู่ ดังนี้

  • กลุ่มบ้านสามหลัง : ตระกูลแซ่ลี
  • กลุ่มบ้านน้ำซุ้ม : ตระกูลแซ่จางหรือแซ่จันทร์ แซ่โซ้ง แซ่ย่าง ตแซ่ห่าง แซ่ว่าง แซ่กือ แซ่วื้อ และแซ่เฮ่อ
  • บ้านห้วยหว้าง : ตระกูลแสงท้าว แซ่ว่าง และแซ่โซ้ง 

ม้ง

ประชากรชาวบ้านน้ำซุ้มมีอาชีพหลักอยู่ 2 อาชีพ คือ อาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเย็บกระเป๋าในครัวเรือน โดยการทำเกษตรนั้นมีการปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ข้าวไร่ (ข้าวดอย) ข้าวโพด กะหล่ำปลี ฟักทอง มะเขือ พริก แตงดอย ส้ม นอกจากนี้ ยังมีอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป

ปัจจุบัน บ้านน้ำซุ้มกำลังเปิดหมู่บ้านเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน เน้นการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สัมผัสบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติ โดยจัดพื้นที่ลานกางเต็นท์ให้นักท่องเที่ยวได้เช่าพื้นที่พักค้างแรม เนื่องจากหมู่บ้านยังไม่มีบริการที่พักหรือโฮมสเตย์ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ คือ ถ้ำตั๊กแตน และยังมีทุ่งดอกไม้ (ดอกคอสมอส) ที่ชาวบ้านปลูกกันเอง เป็นจุดไฮไลท์การท่องเที่ยวของชุมชน ซึ่งจะมีการเก็บค่าบริการเข้าชมเพื่อเป็นรายได้และหักส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลทุ่งดอกไม้ต่อไป

สถานที่ท่องเที่ยวชุมชน

  • ไร่รักษาวิว 360 องศา (ทุ่งดอกคอสมอส)
  • ถ้ำตั๊กแตน
  • สวนส้มโจลี
  • ม่อนเวียงคำฟ้า
  • ภูวาหยี

ความเชื่อเรื่องผี

ชาวม้งมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษ เชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีความสำคัญและมีบทบาทอยู่ในสังคม โดยเฉพาะ “ด๊าและเน้ง” หรือ ผีดีและผีร้าย "เน้ง" คือ ผีฝ่ายดี ส่วน "ด๊า" นั้นเชื่อว่าเป็นทั้งผีดีและผีร้าย โดยด๊าฝ่ายดีนั้นเป็นผีที่อยู่อาศัยภายในบ้าน ห้ามลบหลู่ ต้องเซ่นไหว้บูชาอย่างสม่ำเสมอ การเซ่นไหว้มักจะใช้หมู่หรือไก่แล้วแต่กรณี ส่วนด๊าฝ่ายร้ายเป็นผีที่อยู่ตามป่าเขา เชื่อว่ามักก่อให้เกิดภัยพิบัติหรือเรื่องไม่ดีแก่มนุษย์

ความเชื่อเรื่องขวัญ

ชาวม้งเชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติอย่างหนึ่ง เมื่อขวัญบางส่วนออกจากร่างจะเกิดอาการเจ็บป่วย และเมื่อขวัญออกจากร่างทั้งหมดจะเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผี จึงเป็นที่มาของการมัดขวัญหรือพิธีเรียกขวัญ ผู้นำประกอบพิธีกรรม คือ หมอผีหรือเน้ง เป็นผู้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าอาการที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผีชนิดใด หรือเกิดจากสาเหตุใด เพื่อหาวิธีบรรเทารักษา

ประเพณีปีใหม่ม้ง (น่อ เป๊ โจ่วห์)

ประเพณีปีใหม่ม้งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สําคัญของชาวม้งทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับที่บ้านน้ำซุ้ม ชาวม้งมีความเชื่อว่า การร่วมฉลองปีใหม่จะนํามาซึ่งความสุขและชีวิตที่ดี โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจะได้พบและพูดคุยกันอย่างเปิดเผยหลังจากที่ทํางานหนักมาทั้งปี มีกิจกรรมการแสดงการละเล่นของชาวม้ง เช่น ตีลูกข่าง เล่นลูกช่วง นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นชาวม้งยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น วันปัดรังควาน (ลือโต) พิธีมัดมือ พิธีการคารวะและขอพรจากผู้อาวุโส โดยปกติเทศกาลปีใหม่ของชาวม้งจะมีขึ้นช่วงหลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคมตามปฏิทินจันทรคติ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาม้ง (สื่อสารภายในชุมชน) ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน แต่มีการยืมอักษรโรมันมาใช้เทียบแทนการออกเสียง 


พัฒนาการและเหตุการณ์สำคัญของบ้านน้ำซุ้ม

  • ก่อน พ.ศ. 2510 ยังคงเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ทำไร่เลื่อนลอยของคนพื้นเมือง

  • พ.ศ. 2510-2518 นายเลาซาง เลาเสอ และนายแก้ว แซย่าง ได้อพยพครอบครัวจากบ้านม้งดอยปุยมาตั้งรกรากที่บ้านน้ำซุ้ม เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสร้างเพิงพักเล็ก ๆ เป็นที่พักชั่วคราวสำหรับมาดูแลไร่สวนในช่วงต้นฤดูฝน-ปลายฤดูหนาว แต่เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลและการเดินทางที่ยากลำบาก จึงย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากในบริเวณนี้อย่างถาวร

  • พ.ศ. 2527 การศึกษาเริ่มเข้ามาในชุมชน โดยในสมัยนั้นต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนวัดประชาเกษม บ้านแม่ฮะ และโรงเรียนบ้านแม่ขนิล ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านน้ำซุ้มประมาณ 5 กิโลเมตร

  • พ.ศ. 2530 เริ่มมีการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ หรือเปลี่ยนจากการเพาะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนมาเป็นการปลูกเพื่อขายเป็นวัตถุประสงค์หลัก เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

  • พ.ศ. 2532 เริ่มมีการตัดเย็บเป็นอาชีพเสริม เช่น เสื้อชนเผ่า กระเป๋า โดยครอบครัวแรกที่ทำการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อนำไปขาย คือ ครอบครัวของนายนำพล แสงท้าว อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านน้ำซุ้ม

  • พ.ศ. 2535 มีเครื่องสูบน้ำเครื่องแรก ได้รับบริจาคมาจากชาวต่างชาติ เป็นเครื่องสูบน้ำพลังงานน้ำมันดีเซลสำหรับสูบน้ำจากถ้ำน้ำซุ้มส่งต่อไปยังหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านมีน้ำอุปโภคและบริโภคอย่างสะดวก โดยมีการเก็บค่าบริการการใช้น้ำเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาและค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

  • พ.ศ. 2537 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขยายพื้นที่ติดตั้งฟ้าเข้าสู่ชุมชนบ้านน้ำซุ้ม

  • พ.ศ. 2538 มีการเรียนการสอนสำหรับผู้ใหญ่ ดำเนินการโดยโครงการศูนย์การเรียนรู้แม่ฟ้าหลวงและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

  • พ.ศ. 2540 บ้านน้ำซุ้มแยกออกจากบ้านแม่ฮะ รวมกับบ้านห้วยกว้างที่แยกออกจากบ้านแม่ขนิลเหนือ เพิ่มเป็นหมู่ที่ 8 บ้านน้ำซุ้ม ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และมีการเลือกตั้งผู้นำชุมชนคนแรก คือ นายนำพล แสงท้าว

  • พ.ศ. 2548 ได้รับงบประมาณพัฒนาหมู่บ้านในการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมจากถนนดินเป็นถนนคอนกรีต ทำให้การเดินทางเข้า-ออกบ้านน้ำซุ้มสะดวกขึ้น การเรียนการสอนสำหรับผู้ใหญ่ยุติลง

  • พ.ศ. 2551 ศาสนาคริสต์เผยแผ่เข้ามาในชุมชน มีการสร้างโบสถ์คริสต์ในหมู่บ้านขึ้น 1 แห่ง คือ คริสตจักรนิมิตรแห่งบ้านน้ำซุ้ม ขณะเดียวกันโรงเรียนวัดประชาเกษมก็ได้ขยายสาขาเข้ามาตั้งในชุมชน ใช้ชื่อว่า โรงเรียนวัดประชาเกษม (สาขาน้ำซุ้ม-ห้วยกว้าง) ส่งผลให้เด็ก ๆ เยาวชนในชุมชนไม่ต้องเดินไปโรงเรียนด้วยทางระยะทางหลายกิโลเมตรอีกต่อไป


ออบขาน

ถ้ำตั๊กแตน ถ้ำงามแห่งออบขาน

ถ้ำตั๊กแตน ฉายาถ้ำงามแห่งออบขาน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ติดกับพื้นที่การเกษตรชุมชนบ้านน้ำซุ้ม เป็นถ้ำโบราณขนาดกลางที่ถือว่าเป็นถ้ำที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด เป็นถ้ำที่คนส่วนมากยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก มีเรื่องราวเล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า ในอดีตนั้นได้มีเจ้าผู้ครองนครท่านหนึ่งได้อพยพพาครอบครัวและบริวารมาหลบภัยในถ้ำแห่งนี้ และภายในถ้ำใกล้ทางออกจะมีหินที่มีรูปร่างคล้ายช้าง 3 เชือก มีช้างตัวผู้ ตัวเมีย และลูกช้างอยู่ติดกัน ซึ่งมีเรื่องเล่ากันมาอีกว่า เมื่อศัตรูได้พยายามตามมาจนถึงหน้าปากถ้ำและพยายามจะเข้ามาทำร้ายเจ้านครและบริวารที่หลบอยู่ภายในถ้ำ ช้างป่า 3 เชือก พ่อ แม่ ลูก ได้วิ่งเข้ามาปกป้องเจ้านครและบริวาร โดยการทำให้ตัวกลายเป็นหินปิดปากถ้ำ เจ้านครและบริวารจึงได้รอดพ้นจากภยันตรายในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวต่อมาอีกว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งได้มาจำพรรษา ณ ถ้ำแห่งนี้ และหายเข้าไปในถ้ำจนชาวบ้านได้ขึ้นมาช่วยกันค้นหาแต่ไม่พบ ต่อมาทุกคนได้ยินว่าพระธุดงค์ยังมีชีวิตอยู่และท่านได้เล่าว่า ท่านเดินเข้าไปในถ้ำเพื่อจะสำรวจความลึกของถ้ำและเที่ยวชมความงดงามภายในถ้ำ ทว่า เมื่อเดินเข้าไปเรื่อย ๆ เหมือนทางไม่สิ้นสุด จนท่านเดินมาโผล่ที่ปากถ้ำถ้ำหนึ่ง คือ ถ้ำเชียงดาว ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเชียงดาว ทำให้ผู้คนเล่าขานต่อกันมาว่าถ้ำแห่งนี้เสมือนเป็นประตูมิติที่สามารถเชื่อมทางให้ไปยังที่ต่าง ๆ ได้

ถ้ำตั๊กแตนเมื่อก่อนนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ เครื่องครัว หม้อ ไหอยู่ภายในถ้ำ แต่เมื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและความเจริญเริ่มเข้ามา เริ่มใช้รถไถเข้ามาไถกลบและบดดิน จึงทำให้หม้อ ไห เครื่องปั้นดินเผาได้ถูกทำลายแหลกละเอียดสลายไป ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้จึงได้สูญหายไปจนแทบจะไม่เหลืออะไรให้ชมแล้ว จะมีก็แต่ความงดงามตามธรรมชาติภายในถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยงดงามตามประสาธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้มาแวะเที่ยวชมมนตร์เสน่ห์แห่งความลึกลับ เงียบสงบ ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติ

บ้านน้ำซุ้ม การท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2565). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/bannamsoom/

ปัทมา มะหะมิง. (2556). วิถีชีวิตคนบนดอยกับอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน : กรณีศึกษา ชาวไทยภูเขาชาติพันธุ์ม้งบ้านน้ำซุ้ม หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่. ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม.ป.ป.). แผนที่บริเวณชุมชน. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://earth.google.com/