ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ที่อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ท่ามกลางสังคมเมืองที่มีพลวัต ทำให้คงอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น และมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าเอาไว้ได้
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ฤดูน้ำหลากกระแสน้ำที่พัดพามาจากทางเหนือ เมื่อมาถึงบริเวณบ้านทรายหรือ บ้านพวนมักจะมีความรุนแรง ทำลายกัดเซาะตลิ่งพังทะลายทุกๆ ปี จึงเรียกชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า "บ้านบางน้ำเชี่ยว" ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ที่อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ท่ามกลางสังคมเมืองที่มีพลวัต ทำให้คงอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น และมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าเอาไว้ได้
ชุมชนบางน้ำเชี่ยวแต่เดิมมีชื่อว่า "บ้านทราย" หรือ "บ้านพวน" เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ฤดูน้ำหลากกระแสน้ำที่พัดพามาจากทางเหนือ เมื่อมาถึงบริเวณบ้านทรายหรือ บ้านพวนมักจะมีความรุนแรง ทำลายกัดเซาะตลิ่งพังทะลายทุกๆ ปี จึงเรียกชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า "บ้านบางน้ำเชี่ยว"
ในปี พ.ศ. 2369-2380 มีชาวไทยพวนหรือชาวพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณตำบลบางน้ำเชี่ยว โดยล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นบกที่อำเภอพรหมยุรี จังหวัดสิงห์บุรี คนส่วนหนึ่งลงหลักปักฐานในบริเวณนี้และรวมกลุ่มกันจนกลายเป็นหมู่บ้าน แต่คนบางส่วนแยกออกไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในจังหวัดอื่น การอพยพของชาวพวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอนู่ในไทยมีผลอันเนื่องมาจากการที่อาณาจักรอยู่ในสภาวะสงครามระหว่างอาณาจักรในศึกเจ้าอนุวงศ์ และหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวยากหมากแพง ชาวพวนมีการอพยพเข้ามาในไทยเป็นระลอก มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายออกไปในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย
เมืองพวนเป็นอาณาจักรโบราณหนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานกว่าพันปี จากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์การอพยพ แบ่งการอพยพของชาวพวนออกเป็น 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2322 เมืองพวนตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรี แต่ยังไม่มีการกวาดต้อนชาวพวน เข้ามา และครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2369-2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2369 ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการกวาดต้อนชาวลาวพวนและชาวลาวเวียงจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันชาวไทยพวนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ เพราะมีชีวิตผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม
นอกจากชาวไทพวนที่ตั้งรกรากที่อำเภอพรหมบุรีจนกลายเป็นหมู่บ้านไทพวนบางน้ำเชี่ยวแล้ว ยังมีชาวไทพวนบางส่วนที่เมื่อขึ้นบกและอาศัยอยู่ที่อำเภอพรหมบุรีได้ประมาณ 1 ปีและเห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำมาหากิน ระหว่างที่อยู่ใหม่กับที่อยู่ดั้งเดิมที่เมืองพวน จากเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในที่เขตดอนป่าเขา ขณะที่พื้นที่อำเภอพรหมบุรีเป็นท้องทุ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ในฤดูฝนมีน้ำมาก พวกเขารู้สึกไม่สันทัดในการทำมาหากินทางน้ำ เมื่อมองเห็นเขาสามยอด เขาพระงาม เขาพุคา เขาวงพระจันทร์ในเขตจังหวัดลพบุรีที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเดิมที่เมืองพวน จึงได้พากันย้ายหลักแหล่งไปตั้งบ้านเรือนใหม่
ชุมชนบางน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากจังหวัดสิงห์บุรีเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,250 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และมีคลองส่งน้ำชลประทานผ่านพื้นที่จากเหนือจรดใต้มีระบบชลประทานกระจายทั่วพื้นที่ จึงเหมาะกับอาชีพเกษตรกรรม ลักษณะภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทศบาลต่างๆ ในภาคกลางโดยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู
บ้านพวน ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อยู่ในการปกครองของเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว มีจำนวนประชากรทั้งหมดจำนวน 463 ครัวเรือน มีประชากรรวมทั้งหมดจำนวน 954 คน
ไทยพวนประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านพวนประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม เช่นเดียวกันกับประชากรส่วนใหญ่ของตำบลบางน้ำเชี่ยว ตัวอย่างเช่น การทำนา ทำสวนผลไม้ ไม้ล้มลุก พืชผัก และเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้สามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง ได้แก่ นาปี และนาปรัง
- ฤดูปลูกข้าวนาปี ทำการเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม
- ฤดูปลูกข้าวนาปรัง ทำการเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนเมษายน
นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ มีการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรอง ตัวอย่างเช่น โค กระบือ สุกร ไก่ เป็นต้น
ชาวบ้านบางน้ำเชี่ยวมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตตามปฏิทินชุมชมดังนี้
- ประเพณีกำฟ้า เดือนมกราคม : การทำบุญตักบาตร บวงสรวงบูชาเทวดา การประกวดเผาข้าวหลาม การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เดือนธันวาคม : การกวนข้าวทิพย์โดยนำนมข้าว และส่วนผสมต่าง ๆ กวนเข้าด้วยกันโดยสาวพรหมจารี
- ประเพณีลอยกระทง เดือนพฤศจิกายน : รณรงค์การจัดทำกระทงลอยจากวัสดุธรรมชาติ การประกวดหนูน้อยนพมาศและมหรสพต่าง ๆ
- ประเพณีสงกรานต์ เดือนเมษายน : ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การจัดการแข่งขันกีฬา และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
- ประเพณีเข้าพรรษา เดือนกรกฎาคม : ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
- ประเพณีออกพรรษา เดือนตุลาคม : ทำบุญตักบาตรและฟังธรรม ทำบุญ ตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งและถวายผ้าจำนำพรรษา
1.หลวงพ่อนาค วรคุณ
อดีตเจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง เป็นผู้ก่อตั้งอาคารพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมคืออาคารเรียนหลังแรกของชุมชนในนามโรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านศรัทธาเคารพนับถือมาก ในตอนนั้นจัดการเรียนการสอน 4 ชั้น คือ ป.1-4 อาคารเรียนหลวงพ่อนาค แม้จะเก่าทรุดโทรมไปบ้าง แต่โรงเรียนและชุมชนใช้งานมาต่อเนื่องตลอดร้อยปี ในปีหลัง ๆ แม้ไม่ได้ใช้เป็นห้องเรียนแล้ว แต่มีการปรับพื้นที่ให้เป็นห้องสมุด และใช้เป็นที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับโรงเรียนของนักเรียน เป็นห้องประชุม และใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ตั้งอยู่ภายในอาคารเรียนเก่าอายุกว่า 100 ปี ของโรงเรียนวัดกุฎีทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งล่าสุด พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่ย้ายที่ตั้งมากว่า 4 ครั้งแล้ว เนื่องมาจากมีปัญหาหลายสาเหตุ อาทิ น้ำท่วม การจัดสรรปันที่ภายในวัดไม่ลงตัว เกิดปัญหาขึ้นภายในทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและโยกย้ายอาคารที่ทำการพิพิธภัณฑ์มายังอาคารเรียนหลังเก่าที่ชื่อ “อาคารหลวงพ่อนาค วรคุณ”
2.อาจารย์ไชยวัฒน์ สุคันธวิภัติ
ข้าราชการเกษียณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกุฎีทอง และหนึ่งในทีมที่ร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์และทำกิจกรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมชาวพวนของชุมชน และเป็นผู้เขียนแบบ ทางวัดสนับสนุนงบประมาณทำตู้จัดแสดง
3.นาวาเอกเถลิง ศิริพงษ์พันธุ์
เป็นประธานชมรมไทยพวน มีความคิดที่จะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของที่ถูกทิ้งไว้ตามบ้าน เพราะเห็นว่ามีวัฒนธรรมประเพณีของคนพวนที่ยังอยากจะอนุรักษ์ไว้ จึงหารือกับพระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฏีทอง ทำพิพิธภัณฑ์โดยใช้พื้นที่ของวัด
- วัฒนธรรมไทยพวน
- วัดกุฎีทอง
- ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง
- วัดอุตตะมะพิชัย
- ประเพณีกำฟ้า
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์
- ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น ข้าวปุ้น
- แม่น้ำเจ้าพระยา
มีการรวมตัวกันของกลุ่มชาวไทยพวนอาวุโสที่บางน้ำเชี่ยวอย่างเข้มแข็งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อพยายามฟื้นฟูรักษาความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรมกลุ่มตนที่กำลังถูกเพิกเฉยและเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยผู้อาวุโสกลุ่มนี้รักและผูกพันกับท้องถิ่น เข้าใจถึงธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเห็นความจำเป็นในการทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลมรดกวัฒนธรรมของชุมชนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนและลูกหลานในท้องถิ่นในการทำงาน และร่วมกันหาแนวทางฟื้นฟูและสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป
ในชุมชนบางน้ำเชี่ยวมีสถานที่ที่น่าสนใจในชุมชนอีหลายแห่ง เช่น บ้านเกิดอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศศิลป์ เรือนไทยพวนรูปแบบดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่เพียง 2 หลังในชุมชน และด้านอาหารพื้นถิ่น อาทิ แกงจานน้ำเสอ แกงแค แจ่วซู่ลู่ (ลาบปลา) หลามมะเขือ เป็นต้น
มนัสนันท์ กองแก้ว. (2555). การดำเนินนโยบายอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ชาวไทยพวน กรณีศึกษาเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). บางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://communityarchive.sac.or.th/community/BangNamChiaw
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). การสงวนรักษาและฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมไทพวนบ้านบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://24communities.sac.or.th/bangnamchiew/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). ไทยพวน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/179
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2562). ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/321
amazing THAILAND. (2566). กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว
Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. https://www.google.com/maps/