ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยอีค่าง
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยอีค่าง
ในอดีตการตั้งถิ่นฐานในช่วงแรก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ มีการตั้งบ้านเรือนเป็นแนวยาวจากดอยปูปอเดาะจนถึงห้วยอีค่างมีชื่อว่า “แดลอพะทอ” หรือบ้านยาว บ้านห้วยอีค่างกับบ้านทุ่งหลวงยังเป็นหมู่บ้านเดียวกันมีเพียง 20 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนในบริเวณนี้ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2100 อายุประมาณ 448 ปี มีพื้นที่ ทั้งหมด 9,725 ไร่ โดยชาวปกาเกอะญอได้อพยพมาจากแม่ฮ่องสอนและเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยอีค่างต่อจากชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ประมาณปี พ.ศ. 2486 (ช่วงการเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2) ที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายและแยกย้ายออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ เช่น บ้านทุ่งหลวง (หมู่ที่ 2 ตำบล แม่วิน) บ้านห้วยทราย บ้านห้วยข้าวลีบ (หมู่ 8 ตำบลแม่วิน) บ้านห้วยตอง (หมู่ 10 ตำบลวิน) บ้านโป่งสมิตร พร้อมกับทิ้งซากวัดเก่า และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เอาไว้ที่ห้วยอีค่าง เนื่องจากเกิดการระบาดของอหิวาตกโรค ชาวปกาเกอะญอเห็นว่าทำเลพื้นที่ในชุมชนบ้านห้วยอีค่างเหมาะกับการอยู่อาศัยและทำกิน จึงได้เข้าตั้งรกรากในพื้นที่บ้านห้วยอีค่างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน บ้านห้วยอีค่างแห่งนี้เรียกชื่อตามภาษาปกาเกอะญอว่า “คลิซูถ่า” และต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ได้ถูกจัดตั้งเป็นหมู่บ้านถาวรตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
ลักษณะของพื้นที่ตั้งเป็นหมู่บ้านห้วยอีค่างอยู่ท่ามกลางหุบเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงที่มีความลาดชันมีที่ราบเล็กน้อย มีดอยสำคัญรายรอบหมู่บ้าน คือ ดอยกะโจ๊ะ ดอยม่อนยะ ดอยเต่อปอเหอ ดอยเดอะว่อ ดอยพระบาทปอกุเดพูโซวตู ดอยตะเกะย่าลู ดอยชนา ดอยช้างน้อย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยสายเล็กหลายสายที่ไหลมารวมกันลงสู่ลำห้วยอีค่างแล้วไหลลงสู่ลำน้ำแม่เตียนและลงไปยังลำน้ำแม่วางตามลำดับ สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีป่าสนเขาผสมป่าเต็งรังเป็นส่วนใหญ่ มีป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ
อาณาเขต
บ้านห้วยอีค่าง หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในตําบลแม่วิน อําเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ห่างจากอําเภอแม่วาง ไปทางทิศใต้ 50 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ 90 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านมอนยะ หมู่ 13 ตำบลแม่วิน, บ้านแม่ขะปู อำเภอสะเมิง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยตอง หมู่ 10 ตำบลแม่วิน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านทุ่งหลวง หมู่ 2 ตำบลแม่วิน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านห้วยขาวลีบ หมู่ 8 ตำบลแม่วิน
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์
- ฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม
ประชากร
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านห้วยอีค่าง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 570 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 277 คน ประชากรหญิง 293 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 125 ครัวเรือน
ระบบเครือญาติ
บ้านห้วยอีค่างมีความเป็นอยู่แบบพี่น้องแบบเครือญาติ ต่างมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวกะเหรี่ยงลักษณะครอบครัวเดี่ยว เมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายสู่ขอฝ่ายชายและฝ่ายชายจะไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงระยะหนึ่งแล้วค่อยแยกออกไปสร้างบ้านบริเวณใกล้เคียงกับครอบครัวฝ่ายหญิง ยึดมั่นการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียว ชายเป็นใหญ่ในเรื่องกิจการชุมชนนอกบ้าน ส่วนหญิงเป็นใหญ่ภายในบ้าน นับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดา ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงาน แต่งานส่วนใหญ่จะตกหนักที่ฝ่ายหญิง ให้ความสำคัญกับบุพการีที่ต้องให้การดูแลเมื่อแก่ชรา โดยเฉพาะลูกสาวคนสุดท้องถึงแม้จะแต่งงานแล้วก็จะต้องอยู่กับพ่อแม่ไปตลอด
หมอผีหรือ “ฮีโข่” (ภาษาสะกอ) ซึ่งเป็นตำแหน่งสืบทอดจากบรรพบุรุษทางบิดา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการตัดสินและกำหนดทิศทางพฤติกรรมของชุมชน หมอผีจะต้องเป็นเพศชายและมีเพียงคนเดียวในหมู่บ้านเป็นผู้นำโดยประเพณีหรือธรรมชาติของชุมชน เรื่องที่สำคัญหมอผีจะเป็นผู้ตัดสินใจโดยมีกลุ่มผู้อาวุโสในชุมชนเป็นที่ปรึกษา
ปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง หมู่ที่ 1 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะหัวใจสำคัญของหมู่บ้านและสังคมก็คือแหล่งน้ำ ลำน้ำที่สำคัญของหมู่บ้านห้วยอีค่าง คือ ลำน้ำหรือลำห้วยแม่เตียนจากเหมืองฝายระบายน้ำเขาสู่ลำเหมืองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกษตรกรรม ชาวกะเหรี่ยงทำการเกษตร 2 รูปแบบ คือ การทำการเกษตรเพื่อยังชีพ และการทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ ลักษณะของการเกษตรเพื่อยังชีพของชาวกะเหรี่ยงได้แก่ การทำไร่ การปลูกข้าวไร่การทำนาขั้นบันได ส่วนการทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้เกษตรกรชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ ปลูกพืชเมืองหนาว ได้แก่ การปลูกผัก การปลูกพันธุ์ไม้ดอกประเภทต่าง ๆ การเลี้ยงสัตว์ การปลูกกาแฟและการผลิตสินค้าชุมชน เช่น การทอผ้ากะเหรี่ยง สินค้ากาแฟ เป็นต้น
ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของชุมชนบ้านห้วยอีค่างตามความเชื่อดั้งเดิมแล้ว ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อในเรื่องการถือผี ผีมีอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นผีเจ้าที่ ผีป่า ผีไร่ ผีนา และอีกสารพัดผี ผีที่ชาวกะเหรี่ยงให้ความสำคัญมากก็คือผีเจ้าที่เจ้าทาง และผีบรรพบุรุษ เรื่องขวัญ และพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกันดังนี้
- ผีเจ้าที่เจ้าทาง ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดในการคุ้มครองแผ่นดิน แม่น้ำ ลำธาร โขดหิน ต้นไม้ ไร่นา ทุกพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ ต้องจัดให้มีศาล และจัดพิธีบูชาปีละ 2 ครั้ง ซึ่งคนทั้งหมู่บ้านจะต้องเข้าร่วม
- ผีบ้านผีเรือน ซึ่งก็คือวิญญาณของบรรพบุรุษนั่นเองที่จะคอยคุ้มครองดูแลสมาชิกในครอบครัวให้อยู่อย่างเป็นสุข
- ขวัญ ตามความเชื่อของกะเหรี่ยง ขวัญ คือ วิญญาณที่อยู่ประจำตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของคนมีประมาณ 3 ขวัญ ที่สำคัญก็คือขวัญศีรษะ หู ตา คอ และข้อมือ หากขวัญออกจากร่างอาจจะจากการกระทำของผีหรือขวัญหนีไปแล้วหลงทางจะทำให้เจ้าของร่างกายเจ็บป่วยต้องแก้ด้วยการทำพิธีเรียกขวัญให้กลับสู่ร่าง
- พฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ เช่น ไก่สีดำมีลูกเป็นสีขาว หมูตกลูกเป็นเพศเดียวกันหมดทั้งครอก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ชาวกะเหรี่ยงถือเป็นเหตุอุบาทว์อย่างร้ายแรงที่จะนำเภทภัยมาสู่ชุมชนจะต้องนำสัตว์เหล่านี้ไปฆ่าทิ้งให้หมด
ชั่วชีวิตของชาวกะเหรี่ยงจะผูกพันอยู่กับความเชื่อดังที่กล่าวมานี้ หากใครประพฤติผิดทำนองคลองธรรมของชุมชนหรือล่วงเกินต่อผีจะทำให้ผีโกรธและลงโทษ โรคภัยเจ็บป่วยเกิดจากผี ต้องแก้ด้วยการทำพิธีเลี้ยงผีด้วยไก่ และเหล้าเพื่อขอขมาทุก ๆ ผีที่เกี่ยวข้อง ความเชื่อในเรื่องผีของชาวกะเหรี่ยงนี้นับเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไปในตัว ชาวกะเหรี่ยงจึงได้ชื่อว่าเป็นชาวเขาที่เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงได้หันมานับถือศาสนาคริสต์และพุทธเพิ่มมากขึ้นจึงพบว่าบางหมู่บ้านมีทั้งถือผี ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามครรลองของชนเผ่า
ศาสนาพุทธ แบบดั้งเดิม (เคารพจิตวิญญาณบรรพชน) และศาสนาคริสต์นอกจากนี้ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน ทำให้ชาวบ้านรู้จักพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ การดูแล และรักษาป่าเป็นอย่างดี หากพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ หรือ เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะทำการอนุรักษ์ โดยมีพิธีที่เรียกว่า “หลื่อป่า” เป็นการไหว้เจ้าป่า เจ้าเขา ให้ช่วยปกปักรักษา ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ห้ามใครบุกรุก ทำลาย หรือ ล่าสัตว์ เด็ดขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับตนเองและครอบครัว
นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกการสร้างจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ ในนิทาน เรื่องเล่า และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น สมัยก่อนเมื่อมีเด็กเกิดในหมู่บ้าน พ่อ/แม่จะต้องนำรกเด็กมาใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกกับต้นไม้ไว้ ต้นไม้ต้นนั้นจะเป็น”เดปอ” (ขวัญ) ของลูก ต้องอนุรักษ์ไว้ชั่วชีวิตและประเพณีที่สำคัญ เช่น
- ประเพณีปีใหม่ หมายถึง การเริ่มต้นของฤดูกาลเกษตร จะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แต่ละปีไม่ตรงกันโดยคนกำหนดวัน คือ หมอผี (ฮีโข่) และเป็นผู้ที่ต้องทำพิธีให้กับบ้านทุกหลัง
- พิธีทำขวัญพืชไร่ (เปี้ยงเค่อ) เป็นการเลี้ยงผี เพื่อให้ผีช่วยเหลือพืชไร่ที่ปลูกใหม่ให้เจริญเติบโต พิธีเรียกขวัญข้าว (โก๊ะบือเร่)
- พิธีกรรมเลี้ยงผี ด้วยความเชื่อที่ผูกพันอยู่กับผี การเลี้ยงผีจึงมีอยู่เป็นระยะตลอดปี เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น โดยมีเหล้าและไก่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการทำพิธี
ปฏิทินชุมชนบ้านห้วยอีค่าง
- เดือนมกราคม วางภารกิจจากการทำไร่ ทำนา
- เดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลขึ้นปีใหม่ทำพิธีผูกข้อมือ
- เดือนมีนาคม ทำการถางไร่ และตากไร่
- เดือนเมษายน ทำการเผาไร่ และใส่เมล็ด ฝักเขียว ข้าวโพด พืชผัก
- เดือนพฤษภาคม เริ่มปลูกข้าวไร่ปลูกผัก และพิธีกรรมเลี้ยงผีฝาย การซ่อมแซมฝาย
- เดือนมิถุนายน เริ่มปลูกข้าวนา
- เดือนกรกฎาคม เริ่มปลูกข้าวนา
- เดือนสิงหาคม ทำพิธีกรรมเลี้ยงผี อาทิเช่น ผีไร่ ผีนา ผีน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของการทำการเกษตร
- เดือนกันยายน ดูแลไร่ นา ไม่ให้มีศัตรูพืช และวัชพืช
- เดือนตุลาคม ทำการเกี่ยวข้าวไร่พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว
- เดือนพฤศจิกายน ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จสิ้นฤดูกาล
- เดือนพฤศจิกายน - มกราคม ทำการปลูกพืชเศรษฐกิจ แปลงพืชเมืองหนาว เช่น ไม้ดอก ผักสลัด เป็นต้น
- เดือนธันวาคม พิธีผูกข้อมือเรียกขวัญเด็ก
ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง ต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน
บ้านห้วยอีค่าง เป็นหนึ่งในชุมชนที่ยกระดับเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการของโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ หรือ “Food Bank” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยเริ่มดำเนินการร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันบ้านห้วยอีค่าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าธรรมชาติกว่า 6,000 ไร่ มีความหลากหลายพันธุ์พืชกว่า 275 ชนิด และเพาะปลูกพืชท้องถิ่นไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรและบริเวณครัวเรือนกว่า 98 ชนิด
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชุมชนต้นแบบ Food Bank ที่มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่นและมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีดังนี้
ปัจจัยที่ 1 วิถีชีวิต ประเพณีและความเชื่อ
ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน ทำให้ชาวบ้านรู้จักพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ การดูแล และรักษาป่าเป็นอย่างดี หากพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ หรือ เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะทำการอนุรักษ์ โดยมีพิธีที่เรียกว่า “หลื่อป่า” เป็นการไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาให้ช่วยปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ห้ามใครบุกรุก ทำลาย หรือ ล่าสัตว์ เด็ดขาด
ปัจจัยที่ 2 ความเข้มแข็ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
- ด้านการป้องกันรักษา เช่น การกันลาดตระเวนป้องกันการลักลอบการตัดไม้ในฤดูฝน และการเกิดไฟป่าในฤดูร้อน การทำแนวกันไฟ การตั้งคณะกรรมการ และกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนร่วมกัน
- ด้านการฟื้นฟู เช่น การเพาะกล้าไม้แลกเปลี่ยนกันในชุมชน การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำ การทำความสะอาดแหล่งต้นน้ำในชุมชน และการปล่อยสัตว์น้ำ เป็นต้น
- ด้านการต่อยอด เช่น การถ่ายทอดภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นจากผู้รู้ สู่เยาวชนเด็กรุ่นใหม่ การแปรรูปพืชอาหาร พืชสมุนไพร และพืชสีย้อมธรรมชาติ เป็นต้น
ปัจจัยที่ 3 บทบาทของผู้นำชุมชน
การมีผู้นำที่มีจิตใจเป็นนักพัฒนา มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ เป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชาวบ้าน มีความเสียสละ กล้าหาญ และน่าเชื่อถือ สามารถชักนำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองการณ์ไกล สามารถประสานงานกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยที่ 4 การสนับสนุนและการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
- ด้านงบประมาณ สำหรับบริหารจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์ฯ เช่น การทำแนวกันไฟ การปลูกป่า การทำฝายชะลอน้ำ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ เป็นต้น
- ด้านวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกพืช เมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ปลา กล้าไม้ อุปกรณ์ในการทำโรงเรือนเพาะกล้าไม้ แปลงรวบรวมพืช และอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อยอด/แปรรูปพืชท้องถิ่นต่าง ๆ
- ด้านองค์ความรู้ เช่น การรวบรวมข้อมูลผู้รู้ การใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่น การแปรรูปพืชอาหาร/พืชสมุนไพร/พืชสีย้อม การจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนให้ชัดเจน และ การจัดทำสื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ เผยแผ่ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น
ปัจจุบันชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชุมชน โดยมีฐานการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่าไม้ และ คน ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง
- การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พืชท้องถิ่น เพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชน
- การรวบรวมความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น
- การย้อมสีธรรมชาติและงานหัตถกรรมของชุมชน
- การใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรในการดูแลสุขภาพ
- การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าผู้หญิง
- การอนุรักษ์ป่าเดปอทู ตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ
สภาพทางเศรษฐกิจบ้านห้วยอีค่าง มีฐานะทางเศรษฐกิจและรายได้ของประชากรในหมู่บ้านห้วยอีค่างโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงฐานะยากจน เพราะการผลิตผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะเก็บไว้เพื่อยังชีพ และการทำพิธีกรรมตามความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม รายได้ของเกษตรกรชาวกะเหรี่ยงจะมาจากการปลูก พืชผักเมืองหนาว, ไม้ดอก, กาแฟ ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดฤดูกาลทำไร่ ทำนาแล้ว ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะปานกลางถึงยากจน
ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี กลับมาอยู่ในหมู่บ้านและรวมกับชุมชนในการพัฒนาวิชาชีพ อาทิเช่น การปลูกกาแฟ การเพาะพันธุ์ ต้นไม้และไม้สวยงามจําหน่าย การสร้างกลุ่มเยาวชนให้เข้มแข็ง สร้างกลุ่มวิชาชีพเช่นกลุ่มผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ การเลี้ยงปลา รวมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจําหน่ายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนใน รูปแบบการผลิตแบบเดิม ๆ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าของชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายของการผลิตที่ชัดเจนด้วยการได้รับความรู้ เทคนิค วิธีการสมัยใหม่ผสมผสานกับความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอย่างลงตัว
เชียงใหม่นิวส์. (2565). ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง ชุมชนต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.chiangmainews.co.th/
พิชญาลักษณ์ พบร่มเย็น (2565). สิทธิในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนบ้านห้วยอีค่าง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลักคณา พบร่มเย็น. (2554). สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากธรรมชาติ บ้านห้วยอีค่าง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://k-rc.net/
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). (2565). “ชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่าง” ชุมชนต้นแบบธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) บนพื้นที่สูง. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.hrdi.or.th/