วัฒนธรรมลาวครั่ง การปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหม มีพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งที่จัดแสดงโบราณวัตถุ
วัฒนธรรมลาวครั่ง การปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหม มีพิพิธภัณฑ์ลาวครั่งที่จัดแสดงโบราณวัตถุ
หมู่บ้านกุดจอกมีประวัติศาสตร์มาเป็นระยะเวลานานโดยเริ่มจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความขัดแย้งในอาณาจักรลาวและสงครามระหว่างไทยและลาว เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนลาวหลายเผ่าพันธุ์ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย บางกลุ่มก็ โยกย้ายไปเขตญวน บางพวกก็โยกย้ายเข้ามาในประเทศไทย และบางพวกก็ถูกกวาดต้อนมาอยู่ภาคกลางตามท้องถิ่นต่างๆ ทำให้เห็นว่าชาวลาวนั้นขยับขยายไปอยู่ตามกระจุกเป็นหมู่บ้านต่างๆทั่วไทย ในช่วงรัชกาลที่2 ถึงรัชกาลที่ 3 และในช่วงรัชกาลที่ 3 ก็แสดงให้เห็นว่าลาวในสมัยนั้นมีการควบคุมให้อยู่ในระบบมูลนายและทำให้ทราบว่าการอยู่อาศัยที่บริเวณนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีเป็นเมืองหลักหลักฐานทางจดหมายเหตุที่ได้กล่าวมา มีการกล่าวถึงครัวลาวภูครั่งในช่วงรัชกาลที่ 2 แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นชาวลาวใด เสียงพูดเป็นเช่นไร ทราบแต่ว่า ลาวภูครั่งเป็นหัวเมืองลาวอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาวในปัจจุบัน) และปรากฏหลักฐานในปีพ.ศ.2358 ในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่าชาวลาวภูครั่งอยู่ที่นครชัยศรี แต่จากจดหมายเหตุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องการส่งส่วยครั่งจากจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ก็เป็นไปได้ว่าลาวครั่ง ซึ่งมีเสียงพูดคล้ายคลึงกับคนแถบจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย อาจถูกเรียกรวมว่า เป็นลาวที่ส่งส่วยครั่งหรือครั่งเป็นสิ่งของที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มนี้ก็ว่าได้ โดยลาวครั่งเป็นคนลาวมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2427 ผู้นำกลุ่มลาวครั่ง ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเขากระจิว จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันคือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) มายังบริเวณบ้านกุดจอก ซึ่งแต่เดิม เป็นป่า ได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมบึงที่มีดอกจอกขึ้นอยู่เต็มบึง ตามภาษาของชนกลุ่มนี้เรียก "บึง" ว่า "กุด" จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านกุดจอก"
สภาพแวดล้อมของชุมชนเป็นแบบชนบท โดยการเดินทางจากกรุงเทพมาหมู่บ้านกุดจอก ระยะทางประมาณ 215 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นไป การเดินทางสามารถเดินได้โดยรถยนต์ส่วนตัว โดยบ้านกุดจอกนั้น มีพื้นที่ว่าการอำเภอ มีวัดศรีสโมสร เป็นวัดที่สำคัญของชุมชนมีพระพุทธรูปที่เก่าแก่เป็นพระพุทธรูปตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
ลักษณะภูมิประเทศมีพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ หรือประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ประมาณร้อยละ 98 สภาพพื้นดินเดิมมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และดินดาน ร้อยละ 2 ในพื้นที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ 2 แห่ง คือ บึงกุดจอก ในอดีตประชาชนในหมู่บ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภคได้ส่วนมากใช้ในการเกษตรกรรมตลอดทั้งปี แต่ในปัจจุบันมีความเจริญเข้ามามากขึ้น มีน้ำประปาใช้ ทำให้บึงกุดจอกถูกลดความสำคัญลงไป แต่ก็ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำรองยามจำเป็น ส่วนแหล่งน้ำทางธรรมชาติแห่งที่สอง คือ บึงอู่เข้าหรือบึงกุด เข้าปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นแหล่งน้ำที่ผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน
กลุ่มชาวลาวครั่ง ได้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั้งในภาคกลาง และทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย บ้านกุดจอก หมู่ 1 มีประชากรทั้งสิ้นราว 460 คน เป็นผู้ชาย 220 คน ผู้หญิง 240 คน มีครัวเรือน 125 ครัวเรือน เฉลี่ยนประชากรต่อพื้นที่ 120 คน/ตารางกิโลเมตร เฉลี่ยหลังคาเรือน ต่อพื้นที่ 31 หลังคาเรือน/ตารางกิโลเมตร
ชาวบ้านพื้นที่ในชุมชนรวมถึงชาวลาวครั่งด้วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ทำไร่อ้อย ไร่สำปะหลัง เลี้ยงวัว เมื่อเว้นว่างจากการทำนา ทำไร่ ก็จะมีการจักสาน ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายทอผ้า ในปัจจุบันผ้าทอก็ยังเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก เนื่องจากมีลวดลายที่วิจิตรบรรจง และมีสีสันที่สวยงามแสดงถึงเอกลักษณ์ของกลุ่ม จนทำให้ชาวลาวครั่งสามารถยึดเอามาเป็นอาชีพได้ ยังมีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพและรายได้ ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านกุดจอก กลุ่มข้าวซ้อมมือบ้านกุดจอก กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มท าไม้เฟอร์นิเจอร์ และมีโรงงาน อุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการในพื้นที่จำนวน 1 แห่ง คือ โรงงานไฟแช็คแก๊ส
ชีวิตประจำวันของชาวลาวครั่ง เป็นในแบบยุคแห่งการปรับให้เข้ากับโลกาพิวัฒน์ โดยอาหารการกินนั้น เน้นการกินข้าวเหนียวกับปลาน้ำจืด ด้วยความที่สภาพภูมิศาสตร์นั้นเป็นแบบท้องนา จึงทำให้ชาวลาวครั่งนั้นมีความถนัดในการจับปลาด้วยสุ่ม ส่วนการกินก็มักจะทำเป็นเมนูแกงเปอะหน่อไม้ ลาบ แบบฉบับของลาวครั่ง แต่ก็มีความเหมือนชาวอีสานประเทศไทยเหมือนกัน ส่วนการแต่งกายชาวลาวครั่งจะเน้นการแต่งกายที่เรียบง่าย ผ้าถุง กางเกงโสร่ง เสื้อคอกลม แต่หากมีวันงานสำคัญก็มักจะใส่เสื้อฉลุ เพื่อเข้าร่วมงานพิธีพื้นเมือง มีพิธีความเชื่อการเลี้ยงผี พิธีการทำขวัญข้าว และพิธีสงกรานต์
ทุนวัฒนธรรม
- พิพิธภัณฑ์ลาวครั่ง
ตั้งอยู่ภายในชุมชน โดยภายในจัดแสดงพวกวัตถุโบราณต่างๆ เช่น พระพุทธรูป เครื่องถ้วย คัมภีร์ทางศาสนา ใบลาน โดยเนื้อหาในใบลานนั้นจารึกด้วยอักษรขอม อักษรไทยน้อย อักษรธรรมอีสาน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เล่าถึงธรรมเนียมการทอผ้าซิ่นเพื่อถวายเป็นผ้าห่อคัมภีร์ ในแต่ละโซนนั้นจำลองการจัดวัตถุที่แตกต่างกันออกไป บางห้องที่จัดแสดงวัตถุที่มี หมอนอิง หมอนขิด แสดงงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ครั่ง สะท้อนการขิดลาย และกลายเป็นวัตถุที่แสดงความเป็นชาติพันธุ์ รูปทรงของหมอนแตกต่างจากรูปทรงของหมอนในภาคกลาง เพราะเป็นสามเหลี่ยมทรงสูง ที่สามารถใช้ได้ทั้งในแนวตั้งสูง หรือในแนวนอน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เชื่อมโยงชั้นของหมอนกับบรรดาศักด์ของผู้ที่เคยครอบครองหรือป้ายประวัติที่เกี่ยวข้องกับประเพณีการปฏิบัติในช่วงสงกรานต์และเข้าพรรษา มีตู้ที่แสดงขวดน้ำและปั้นชา วัตถุเกี่ยวข้องกับภาชนะใส่น้ำ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ตั้งข้อสังเกตุถึงขวดน้ำที่น่าจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ อาจสะท้อนให้เห็นฐานะทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนแต่เดิม คณโฑดินเผา มีลวดลายคล้ายมังกร อาจจะเชื่อมโยงกับกลุ่มคนจีนจำนวนหนึ่งที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานกับลาวคั่ง ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีชุมชนทอผ้าให้ผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านได้เห็นการทอผ้าของชาวลาวครั่ง โดยมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่งเองโดยเฉพาะ
การพูดที่มีคำลงท้าย จึงทำให้เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนภาษาอื่นๆ ทั่วไป เช่น คิดไม่ออกในภาษาไทย ภาษาลาวครั่งจะต้องพูดว่าคึดบ่ออกเทีย, ดีไหมละในภาษาไทย ภาษาลาวครั่งจะต้องพูดว่าดีบ่เก๊าะ เป็นต้น ส่วนระบบเสียงภาษาของลาวครั่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- พยัญชนะ
ในภาษาลาวครั่งมี 20 หน่วยเสียง ซึ่งในภาษาลาวครั่งจะไม่ค่อยพบคำควบกล้ำ ปรากฏแค่บางคำ เช่น ควาย เป็นต้น
- หน่วยเสียงสระ
สระในภาษาลาวครั่งมี 18 หน่วยเสียง และสระประสมอีก 6 หน่วยเสียง เดิมทีภาษลาวครั่งไม่มีเสียงสระเอือ เช่นคำว่า เกลือ จะออกเสียงว่า เกีย, เสือ จะออกเสียงว่า เสีย เป็นต้น
- หน่วยเสียงวรรณยุกต์
มี 5 หน่วยเสียง ซึ่งหน่วยเสียงวรรณยุกต์ของภาษาลาวครั่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็ยังคงมี 5 หน่วยเสียงแสดงให้เห็นว่า ภาษาลาวครั่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตนเอง มีความโดดเด่นและไม่เหมือนคนกลุ่มอื่น
วิถีการดำรงชีวิตสมัยใหม่ทำให้ส่งผลต่อภาวะหนี้สินของเกษตรกร การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทำให้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ฤดูกาล การแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่ผิดธรรมชาติและทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงกว่าเดิม การแข่งขันทางด้านการตลาดของสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาต่ำ เช่น ข้าวจากประเทศเวียดนาม การเปิดประเทศเพื่อรวมกลุ่มอาเซียน อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของจังหวัด อาทิแรงงานต่างด้าว อาชญากรรม โรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ การกีดกันทางการค้า ส่งผลต่อการส่งออกของสินค้าภาคการเกษตร การกัดเซาะและพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำทำให้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาการย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครมาทำการเกษตรต่อแล้วส่วนใหญ่จะย้ายเข้าตัวเมืองใหญ่ทำให้ละทิ้งถิ่นฐานดั้งเดิม
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2556). พิพิธภัณฑ์ลาวคั่ง บ้านกุดจอก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1274
อรณิชา ภมรเวชวรรณ. (2560). อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของชาวลาวครั่ง : กรณีศึกษาชุมชนลาวครั่งหมู่บ้านกุดจอก จังหวัดชัยนาท. ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Thailandtourismdirectory. (2564). ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/attraction/81230